Skip to main content
sharethis

หน้าตาที่ยังพร่าเลือนของกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย
ธิติกมล สุขเย็น

ในกระแสอันเชี่ยวกรากของระบบทุนนิยม เบื้องหน้าคือการแข่งขันด้านเศรษฐกิจที่ดุเดือดเลือดพล่าน โดยใช้เม็ดเงินเป็นตัวตั้ง หากแต่เบื้องหลังสนามดังกล่าวมีเพียงกระดาษไม่กี่แผ่นที่มาจากการตกลงร่วมกันโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

TK-FL คืออะไร? ทำไมต้องคุ้มครอง?
องค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น (Traditional Knowledge)หรือเรียกย่อว่า TK หมายถึงพื้นฐานความรู้ความสามารถ วิธีการ หรือเทคโนโลยีที่มีการถ่ายทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน รวมทั้งเทคโนโลยีหรือวิธีการใดๆ ที่ใช้ระบบชีววิทยา หรือสิ่งมีชีวิต หรืออนุพันธ์ของสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสินค้าและบริการ เช่น การทำไวน์กระชายดำ การทำมีดอรัญญิก การทอผ้าไหม การทำไม้แกะสลัก เป็นต้น

ส่วนการแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน (Expression of Folklore) หรือ FL หมายถึง งานสร้างสรรค์ของกลุ่มคนในชุมชนบนพื้นฐานทางวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม โดยสะท้อนความคิดและความคาดหวังของชุมชนนั้น ตัวอย่างเช่น การแสดงพื้นบ้าน เรื่องเล่าพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เครื่องแต่งกายพื้นบ้าน

แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองถึง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไข พ.ศ. 2535 แต่ทั้งหมดนี้ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นซึ่งต้องนำมาพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กฎหมายทั้งสามฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยได้อย่างเพียงพอ เช่น ไม่มีการคุ้มครองวัฒนธรรมในส่วนที่เป็นท่ารำ องค์ความรู้ต่างๆ นอกเหนือจากการแพทย์แผนไทย เช่น เครื่องจักรสาน ลวดลายผ้า รวมถึงไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการนำทรัพยากรพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์

ขณะที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 ได้กำหนดให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและชาติ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หัวหน้าโครงการศึกษาการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น Traditional Knowledge และวัฒนธรรมพื้นบ้าน Folklore ในสถานการณ์สากล เสนอว่า "ประเทศไทยแม้จะมีรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก ซึ่ง TK-FL จำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อการเคารพ โดยสิทธิการรับรู้ของชุมชนเป็นการคุ้มครองส่งต่อระหว่างคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง"

หลังจากได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลมาแล้ว บัณฑูรและคณะได้เสนอกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะยกร่าง โดยมีหลัก 2 ประการสำคัญคือ เพื่อเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น ยุทธศาสตร์การแข่งขันภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยการนำอาหารไทยหรือขนมไทยบรรจุลงในผลิตภัณฑ์และนำออกขายสู่ตลาด

เช่นเดียวกับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เห็นว่า
สิทธิทางปัญญากระแสหลักไม่สามารถคุ้มครองสิทธิภูมิปัญญาได้ เพราะมีความแตกต่างกัน จึง ต้องหากฎหมายพิเศษเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้การคุ้มครอง ทั้งนี้กฎหมายที่สร้างขึ้นต้องคิดให้รอบด้านว่าจะเป็นอย่างไรมีลักษณะแบบไหน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ควานหาคำตอบในปัญหาและข้อจำกัดทางกฎหมาย
"จำเป็นต้องเร่งคุ้มครองTK-FL เพราะมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เช่น สิทธิบัตรสำหรับการใช้ขมิ้นชันเป็นยาสมานแผล สิทธิบัตรกรรมวิธีการควบคุมเชื้อราที่อยู่บนพืช โดยการใช้น้ำมันที่สกัดมาจากสะเดา เครื่องหมายการค้าข้าว "จัสมาติ" สิทธิบัตรเกี่ยวกับเปล้าน้อยและกวาวเครือของไทย

นอกจากนี้ยังมีการนำภาพจิตกรรมฝาผนังไปพิมพ์ลงบนพรมเช็ดเท้า และการนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไปตกแต่งสถานที่ไม่เหมาะสม" บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หัวหน้าโครงการศึกษาฯ กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

สำหรับประเภทของ TK-FL โครงการศึกษาฯ ได้อธิบายไว้ว่า หมายถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและศาสนา ภาษาและวรรณกรรม ศิลปกรรมและโบราณคดี การละเล่นดนตรีและพักผ่อน ชีวิตความเป็นอยู่และวิทยาการ

นอกจากนี้ คณะโครงการศึกษาฯ สรุปข้อจำกัดกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาว่า ปรัชญาของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งเน้นการคุ้มครองผลิตผลทางความคิดของมนุษย์ที่เป็นสิ่งใหม่ แต่สำหรับ TK- FL มีคุณลักษณะเป็นสิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณชนอยู่แล้วหรือเป็นการค้นพบ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวไม่อาจคุ้มครองได้

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญามุ่งให้สิทธิแก่ปัจเจกบุคคล ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดการคุ้มครองTK-FL ซึ่งเป็นสิทธิหรือสมบัติร่วมของชุมชน ทั้งยังให้สิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ทรงสิทธิในระยะเวลาช่วงหนึ่ง เมื่อหมดอายุคุ้มครองก็จะกลายเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองTK-FL ที่เน้นให้มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเคารพ รับรู้ถึงสิทธิของชุมชนโดยไม่จำกัดระยะเวลา

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เนื้อหาของความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมีความเป็นธรรม ในการให้การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเหมาะสม อันจะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาโจรสลัดชีวภาพจากการกระทำของบรรษัทข้ามชาติได้อีกทางหนึ่งจึงจำเป็นต้องวางกรอบกติกาเพื่อยกร่างกฎหมายคุ้มครอง TK-FL ซึ่งขณะนี้ยังไร้คำตอบที่ชัดเจน

บทเรียนกฎหมายไทย ตั้งครรภ์หลายปี
เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายแต่ละฉบับของไทยเข้าข่ายวัวหายล้อมคอกอยู่เป็นประจำ เนื่องจากกระบวนการขั้นตอนที่ยืดเยื้อและปกคลุมไปด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มนักการเมือง ทำให้กฎหมายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ต้องใช้เวลายาวนานเป็นพิเศษหรือบางครั้งอาจเงียบหายไปในกลีบเมฆหากประชาชนไม่ลุกขึ้นทวงถาม

สำหรับประเด็นการคุ้มครอง TK-FL อภิงคญฎา วงษานุทัศน์ จากสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า "กระบวนการกฎหมายใช้เวลานาน 4-5 ปี ปัญหาอยู่ที่ฐานข้อมูลรวมถึงสิทธิสาธารณะของชาติและประชาชน ซึ่งต้องไม่ให้ไปริดรอนผลประโยชน์ของชาติและสิทธิส่วนบุคคล"

โดย อภิงคญฎา กล่าวต่อว่า "เจอปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เพราะเทคโนโลยีของไทยยังอ่อนแอมาก ขณะที่กระแสขับเคลื่อนตอนนี้ยังน่าเป็นห่วง ทั้งประเทศไทยยังมีลักษณะเอื้ออาทรสูงทำให้การเจรจาบนเวทีโลกไม่ง่ายนัก"

สิ่งที่น่าสนใจจุดประเด็นการคุ้มครอง TK-FL ไม่ใช่ในแง่กฎหมายของไทยและของแต่ละประเทศเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในความเอื้ออาทรของอีกหลายประเทศที่จะต้องเข้าใจวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาของประเทศอื่นๆ ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net