Skip to main content
sharethis

วันที่ 7 พ.ย. เจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศต่างๆ 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการตกลงที่จะใช้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (the Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) มาใช้คุ้มครองสิทธิแรงงานสตรีข้ามชาติในภูมิภาค


 


แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังเจ้าหน้าที่อาวุโสสรุปการประชุมระดับภูมิภาคซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อพัฒนาสตรีแห่ง สหประชาชาติ (United Nations Development Fund for Women - UNIFEM) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 49 ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจ ให้กับรัฐบาลต่างๆในภูมิภาคเกี่ยวกับการนำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบมาใช้ในการคุ้มครองแรงงานสตรีข้ามชาติ


 


ทั้งนี้ ในปัจจุบันอัตราการย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานของผู้หญิงในภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ย้ายถิ่นทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แรงงานเหล่านี้มักเป็นแรงงานไร้ฝีมือและทำงาน


ในระดับล่างและมักตกอยู่ในสภาวะเปราะบางและเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและการถูกแสวงผลประโยชน์ในทุกรูปแบบจากนายจ้าง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และประเทศไทย


                           


แถลงการณ์ร่วมระบุว่าผู้เข้าร่วมประชุมตกลงที่จะจัดทำรายงานระดับประเทศเกี่ยวกับปัญหาของแรงงานสตรีข้ามชาติและรายงานเกี่ยวกับนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการของอนุสัญญาฯ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมยังตกลงจะจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานสตรีข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือที่ทำงานในระดับล่าง เช่น คนรับใช้ในบ้านและจะพยายามดำเนินมาตรการต่างๆตามข้อแนะนำของคณะกรรมการอนุสัญญาฯในการคุ้มครองสิทธิแรงงานสตรีข้ามชาติ


 


"อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการอนุสัญญาฯสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาแรงงานสตรีข้ามชาติได้ การจัดทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาแรงงานสตรีข้ามชาติเสนอต่อคณะกรรมการของอนุสัญญาฯและการกำหนดมาตรการต่างๆในการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอนุสัญญาฯถือเป็นหัวใจของการนำอนุสัญญานี้มาใช้ในการคุ้มครองสิทธิแรงงานสตรี " ดร .จีน ดีคุนนา ผู้อำนวยการสำนักงานกอง ทุนเพื่อพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


 


นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมยังตกลงที่จะพัฒนาการทำงานของหน่วยงานต่างๆภายในประเทศที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานต่างด้าวหญิงตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพการค้าในการจัดทำรายงานระดับประเทศเสนอต่อคณะกรรมการอนุสัญญาฯ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมยังตกลงที่จะใช้กรอบอนุสัญญาฯในการหารือเพื่อกำหนดความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศต้นทางและประเทศที่จ้างงาน


 


ในระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมาตการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวที่ใช้ปฏิบัติในประเทศตน เช่น ประเทศบรูไนมีการจัดปฐมนิเทศให้แก่นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวซึ่งนายจ้างจะได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อบังคับตลอดจนบทลงโทษในกรณีที่นายจ้างทำผิดต่อแรงงาน นอกจากนี้บรูไนยังจัดเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลแก่แรงงานต่างด้าวหญิงที่ไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านในระหว่างการเซ็นสัญญาจ้างงานเพื่อให้แรงงานได้ตระหนักถึงสิทธิที่ตนเองพึงได้และเจ้าหน้าที่ยังแจกเบอร์โทรศัพท์สายด่วนแก่แรงงานในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเมื่อถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ อีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีกฎหมายเอาผิดนายจ้างที่ไม่จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยให้กับแรงงานต่างด้าว


 


นุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบเป็นอนุสัญญาที่จัดทำขึ้นโดยสหประชาชาติ และได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ในปัจจุบัน มีประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯทั้งสิ้นจำนวน 184 ประเทศ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ (accession) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2528


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net