Skip to main content
sharethis

สกสว. - สภาพัฒน์ อัปสกิลการท่องเที่ยวรายได้สูงด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนุนใช้ AI เมนูนวัตกรรม พร้อมผลักดันแผนท่องเที่ยวต้องเร่งแจ้งเกิดก่อนปี 2570 

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เร่งนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงและมีความยั่งยืนของไทย ผ่านการหารือในเวทีเสวนาการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ครั้งที่ 1: ในประเด็น “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืน” เพื่อนำผลการหารือไปวางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สำหรับขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 และแผนด้าน ววน. เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศได้อย่างเหมาะสม โดยได้รับเกียรติจาก คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมปาฐกถาพิเศษภายในงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีข้อตกลงความร่วมมือกับ สศช. ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ โดยการเสวนาครั้งนี้จะเป็นการหารือในประเด็น “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ เพื่อนำไปใช้วางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สำหรับขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 และแผนด้าน ววน. เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 1 ในจำนวนทั้งหมด 9 ครั้ง ระหว่างเดือน มี.ค. - มิ.ย. 2567 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่องว่างความรู้ (gap of knowledge) ของอุตสาหกรรมสำคัญ นำเสนอประเด็นโจทย์วิจัยสำคัญและข้อเสนอเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยและความคาดหวังต่อการสนับสนุนจากระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันควรจะมีการจัดทำ “เมนู” ที่ผ่านการวิจัย และมีนวัตกรรมที่ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ต่อยอดเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว 

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI การออกแบบเพื่อดึงดูดคน Gen Z ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันต่อสถานการณ์การศึกษาในปัจจุบัน และการศึกษาแนวโน้มการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในอนาคต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม 

ขณะที่ นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษเรื่องแนวทางขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หมุดหมายที่ 2 : ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องใกล้เคียงช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 แต่ค่าใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำกว่า จึงเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น 
โดยหมุดหมายที่ 2 มุ่งให้ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย 3 เป้าหมายหลัก คือ 1. ยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง 2. เพิ่มการพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศและกระจายรายได้สู่พื้นที่ 3. บริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยมี 6 กลยุทธ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อน สำหรับอุปสรรคและความท้าทายของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะต้องอาศัยการพัฒนามาตรฐานทางด้านการท่องเที่ยวในด้านสินค้าและบริการให้เป็นระดับสากล มีแรงจูงใจ มาตรการทางการเงิน เพิ่มความเชื่อมั่นทางด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ 

“การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นต้องอาศัยองคาพยพจากทุกท่าน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ การนำงานวิจัยเข้ามาช่วยในมิติต่าง ๆ เช่น การยกระดับสินค้าและบริการ เพื่อให้งานวิจัยตอบโจทย์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

จากนั้นเป็นการรายงานสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช และ ผศ.ดร.อรรธิกา พังงา ประธานและคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยชี้ประเด็นในภาควิชาการเกี่ยวกับปัจจัยในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งโจทย์วิจัยสำคัญที่ควรดำเนินการก่อนปี 2570 ได้แก่ Tourism BCG Model, Safety and Security, Tourism City Branding, Innovation and Digital Technology for Tourism, High Service Quality และ Tourism Soft Power นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนแผน ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระหว่าง สกสว. บพข. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

ปิดท้ายด้วยการเสวนาโดยผู้แทนจากภาคท่องเที่ยวทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ โดยมีรองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้อำนวยการองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย(TEATA) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งต่างเห็นถึงความสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นเศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน ทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการท่องเที่ยวและดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับสมดุล ลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ มิติสังคม โดยการกระจายความเจริญทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ การต่อยอดอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมิติสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมาติและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net