Skip to main content
sharethis

‘สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ’ บุกสภา ร่อนแถลงการณ์ถึง ‘ปลอดประสพ-กมธ.ประมงฯ’ ค้านกฎหมายประมงฯ ฉบับใหม่ ฉะยกเลิกการคุ้มครองประมงพื้นบ้าน-ชุมชนประมงท้องถิ่นหดเขตทะเลชายฝั่งลงต่ำกว่า 1.5 ไมล์ทะเล เอื้อประโยชน์ให้ประมงพาณิชย์เข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือหนักทำนายทุนครอบงำ “ประมงพื้นบ้าน”  ซ้ำเลิกโทษจำคุก-ลดค่าปรับพวกเหนือกฎหมายได้ประโยชน์ ขณะที่ ‘เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ’ห่วงกฎหมายใหม่ละเลยประเด็นการคุ้มครองแรงงาน-ใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย ชี้ยกเลิกควบคุมการขนถ่ายแรงงาน-สัตว์น้ำกลางทะเลส่อ ‘เข้าข่ายกักขังในทะเล’ เปิดช่อง ‘ค้ามนุษย์’หลังให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณตีความเหตุจำเป็นรับฝากคนเรือได้ 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เข้ายื่นแถลงการณ์ข้อกังวลต่อการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ถึงนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ผ่านนายพงษ์สรณัฐ ทองลี เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และนายวิริภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญฯ คนที่สอง เป็นตัวแทนรับหนังสือ 

โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงพ.ศ. .... และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นั้น เครือข่ายสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ เห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงตามความเหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร  แต่จากร่างกฎหมายที่มีการเผยแพร่รับฟังความเห็นของรัฐสภา เรามีข้อกังวลใจและเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก จึงขอนำเรียนข้อกังวลและข้อเสนอถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. มีการยกเลิก ข้อกำหนดวัตถุประสงค์ "เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น" ถือเป็นการลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้านหรือการประมงขนาดเล็กลง ทั้งที่ทุกฝ่ายทราบดีว่า ชาวประมงพื้นบ้าน กับชาวประมงพาณิชย์ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ควรมีมาตรการ ปกป้องส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเอาไว้เป็นการเฉพาะที่มีมาตรการแตกต่างจากการประมงพาณิชย์การกำหนดวัตถุประสงค์ช่วยเหลือการประมงแบบรวม ๆ โดยที่ขีดความสามารถต่างกัน ไม่มีการกำหนดให้ต้องปกป้องชุมชนท้องถิ่น แต่ยังคงกำหนดให้รัฐบาลต้องมีแผนในการส่งเสริมการประมงในน่านน้ำ มีแผนส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำ มีแผนส่งเสริมการเพาะเลี้ยง มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง แต่ไม่มีแผนการส่งเสริมการประมงพื้นบ้านทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการประมงทั้งหมด ข้อเสนอ คือ ให้คงเนื้อหามาตรา 4 (2) ไว้ เช่นเดิม ส่วนที่เพิ่มเติม ให้กำหนดเป็น (3)

2. มีการกำหนดให้สามารถลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกให้น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล เช่นนี้เท่ากับเปิดให้ประมงพาณิชย์สามารถเข้ามาทำการประมงใกล้เขตทะเลชายฝั่งมากขึ้น และการแก้ไขเขตทะเลชายฝั่งให้หดแคบลงน้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล (น้อยกว่า 2,800 เมตร) เป็นการถดถอยล้าหลัง ยิ่งกว่า ปี พ.ศ. 2515 (ประกาศ ห้ามอวนลากอวนรุนเข้า 3,000 เมตร) และลดเขตอำนาจรับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดลงด้วย ทำให้พื้นที่สำหรับอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลงจนส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำ และส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากร และทำการประมงด้วยเครื่องมือศักยภาพต่ำ

3. มีการกำหนด ให้กรรมการภาคประชาชนในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาจากการแต่งตั้ง โดยระบุให้เป็นอำนาจโดยตรงของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ไม่มีหลักประกันว่าจะมีการสรรหาคัดสรรอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมและครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้จริง และควรมีสัดส่วนจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่แสวงหากำไรอยู่ด้วย เราเสนอให้ แก้ไขให้มีกลไกการ สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดใหม่ และกระจายอำนาจให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดกำหนดแผนการจัดการทรัพยากรประมงระดับจังหวัดบนฐานข้อมูล ระบบนิเวศน์ในพื้นที่ และควรกำหนดเขตรับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่ง

4. มีการเปิดช่องให้กลุ่มทุนประมงพาณิชย์ สามารถแทรกแซงครอบงำ "ประมงพื้นบ้าน" ได้  โดยฝ่ายบริหารไม่สามารถกำกับควบคุม ปกป้องสิทธิประโยชน์ของชุมชนประมงท้องถิ่นได้ โดยปัจจุบันมีการเปิดช่องให้ "อวนลากคู่ อวนลากเดี่ยว อวนล้อมจับ อวนปั่นไฟจับปลากะตัก อวนล้อมจับกะตัก เรือคราดทุกชนิด ที่ใช้กับเรือต่ำกว่าสิบตันกรอส ซึ่งเดิม เป็นประมงพาณิชย์ให้ถือเป็นประมงพื้นบ้าน และสามารถมีใบอนุญาตประมงดังกล่าวได้ไม่จำกัดจำนวน โดยจงใจตัดคำว่า "จะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้" ที่มีในกฎหมายเดิมทิ้งไป 

5. เอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องการละเมิดกฎหมาย โดยนอกจากยกเลิกการจำคุกแล้ว ยังลดอัตราค่าปรับในการทำผิดให้น้อยลง และให้ประกันเรือออกไปทำประมงได้ซ้ำอีก ทั้งที่กฎหมายประมงฉบับ 2558 ได้ยกเลิกการลงโทษ "จำคุก" ทั้งหมดไปแล้ว และเปลี่ยนเป็นลงโทษด้วยการ "ปรับ" ในอัตราที่สูงขึ้นแทนอย่างเดียว เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดให้หลาบจำ การที่ร่างกฎหมายประมงใหม่กำหนดให้ลดค่าปรับลง และเมื่อจ่ายค่าปรับแล้ว ให้ถือว่ายุติคดี กล่าวคือไม่ต้องส่งฟ้องศาล ไม่ต้องรับโทษริบเรือ หรือใด ๆ อีก และสามารถให้ญาติ ที่เป็น "ข้าราชการ" หรือ สินทรัพย์ ไป "ประกันเรือ"ออกไปทำประมงได้ปกติ โดยไม่ต้องถูกกักไว้ ระหว่างรอค่าปรับซึ่งจะยิ่งส่งเสริมการทำความผิดไม่สนใจผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน อีกต่อไป  

ขณะที่นายปิยะ แย้มเทศ  นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เราเห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 แต่เราเห็นว่าต้องแก้ให้เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อเรือประมงขนาดเล็ก โดยเรามองว่าในเรื่องเจตนารมณ์ วิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายของการแก้กฎหมายในครั้งนี้ ซึ่งกฎหมายเดิมในมาตรา 4 (2) เขียนชัดเจนว่าต้องการช่วยเหลือสนับสนุนประมงพื้นบ้านและองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น แต่ร่างกฎหมายของพรรคการเมืองตัดเรื่องนี้ทิ้งไป ดังนั้นเราจำเป็นต้องยื่นหนังสือถึงนายปลอดประสพและกมธ.วิสามัญฯ ทั้งคณะเพื่อให้ทบทวนในเรื่องนี้   เรากังวลเรื่องการให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสามารถลดหรือเพิ่มแนวเขตการทำประมง  หากเพิ่มๆ ได้ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล ส่วนถ้าลดๆ ได้น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล  เราต้องการให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจเต็มในการกำหนดเขต 12 ไมล์ทะเล และบริหารจัดการว่าเครื่องมือประเภทใดควรอยู่ใน 12 ไมล์ทะเลนี้ แต่ถ้าไปมองว่า 3 หรือ 1.5 ไมล์ทะเลเป็นเขตของประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ มันจะเป็นการแย่งชิงพื้นที่มากกว่ามองเรื่องการบริหารจัดการ 

นายปิยะ กล่าวว่า นอกจากนั้นเรายังกังวลเรื่องบทกำหนดโทษ ซึ่งพ.ร.ก.การประมง 2558 นั้น ระบุว่ามีค่าปรับ 5 เท่า ที่อาจเป็นเงินหลายล้านบาท โดย กมธ.วิสามัญฯ ชุดนี้เห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไป จึงอยากปรับลดลง ซึ่งเราเห็นด้วยว่ามันสามารถปรับลดลงได้ แต่ควรมีมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น ลักลอบจับปลาได้ 1 ล้านบาท  ควรมีค่าปรับ 3 ล้านบาท หรือในกรณีที่จับปลาไม่ได้เลย ก็ควรมีมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน  ส่วนในเรื่องอำนาจของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดและที่มาของคณะกรรมการฯ ควรมีสัดส่วนและมีวาระการประชุมต่อปีที่ชัดเจน คณะกรรมการฯ ต้องรู้บทบาทและอำนาจหน้าที่ว่าเข้ามาเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวม ไม่ใช่เข้าไปเพื่อเพิ่มอำนาจหรือสิทธิประโยชน์ให้กับอาชีพของคนที่คณะกรรมการฯ  รวมถึงมีข้อห่วงใยเรื่องการเปลี่ยนแปลงนิยามการประมงพื้นบ้าน ที่ให้ 7 เครื่องมือ เช่น อวนลากคู่ อวนลากเดี่ยว อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากระตัก หรือคราดหอยประเภทต่างๆ เข้ามาทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง โดยอาศัยอำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้านได้ 

“เราอยากให้มีความเข้าใจที่ตรงกันว่า เราอยากให้แก้กฎหมาย แต่แก้แล้วมันต้องมีความยั่งยืนและสร้างมาตรฐานที่มันเป็นสากล”นายปิยะ กล่าว 

นายปิยะ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะมีการยื่นหนังสือถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อทวงถามถึงข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้าน 18 ข้อ เช่น การสนับสนุนน้ำมันราคาต่ำ การทำท่าเทียบเรือ เรื่องบ้านริมน้ำ เรื่องประมง เรื่องกองทุน เป็นต้น ข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้านที่ผ่านมามันยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังมีความลักลั่นและความเหลื่อมล้ำของการทำประมงพาณิชย์อยู่ ซึ่งประมงพาณิชย์เรียกร้องไป 19 ข้อและได้รับการแก้ไขไปแล้ว 18 ข้อ จึงต้องมีมาตรฐานในการแก้ปัญหาให้คนในประเทศอย่างเท่าเทียมกันด้วย 

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group : MWG)  กล่าวว่า  ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อสังเกตและข้อกังวลใจ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบต่อการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานในงานประมงต่อการพิจารณาการแก้ไขร่างพระราชกำหนดการประมง ดังนี้ 

1. การตัดการแสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการคุ้มครองแรงงานและการใช้แรงงานประมงที่ผิดกฎหมายในมาตรา 4(4) ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่ามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานประมงอยู่แล้ว อาจจะทำให้ละเลยประเด็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานและการป้องกันการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในส่วนอื่น ๆ ของกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศคู่ค้า และมาตรการการค้าระหว่างประเทศได้ให้ความสนใจ การบัญญัติข้อความเจตนารมณ์ของกฎหมายว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานและการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานประมงอย่างผิดกฎหมาย จึงเป็นรากฐานที่สำคัญอันหนึ่งของการพัฒนาการประมงของไทยอย่างยั่งยืน 

2. การยกเลิกการควบคุม การขนถ่ายกลางทะเลของสัตว์ทะเลที่จับได้ และการขนถ่ายลูกเรือกลางทะเลระหว่างการประมง โดยมีการแก้ไขแก้ไขมาตรา 87 ให้เรือประมงที่จดแจ้งต่อศูนย์ควบคุมเรือเข้าออกสามารถขนถ่ายสัตว์น้ำได้เช่นเดียวกับเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ  และยังได้แก้ไขมาตรา 92 ให้เรือประมงทีได้จดแจ้งสามารถนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามายังท่าเทียบเรือได้ จากการแก้ไขทั้งสองมาตราข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายเปิดโอกาสให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำได้ทั้งประมงในและนอกน่านน้ำไทย ในอดีตการไม่ควบคุมในทั้งสองประเด็นนี้ ทำให้เกิดการควบคุมแรงงานประมงให้ทำงานอยู่บนเรือเป็นเวลานาน ในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการกักขังในทะเล ซึ่งกลายเป็นที่มาของการบังคับใช้แรงงานซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทะเล เมื่อต้องทำการค้าขายกับผู้ค้าในหลายประเทศ 

3.การรายงานคนประจำเรือ (Crew List) และการแก้ไขรายชื่อลูกเรือหลังจากออกจากท่า โดยการแก้ไขมาตรา 82 โดยกำหนดให้เรือประมงไม่จำเป็นต้องแจ้งจำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาตตามมาตรา 83 ของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง ยิ่งไปกว่านั้นยังได้บัญญัติมาตรา 83/1 ในร่างของพรรคฝั่งรัฐบาลรวมถึงร่างของพรรคก้าวไกล โดยมีข้อความว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็น เรือประมงที่จะออกจากฝั่งเพื่อไปทำการประมง สามารถรับฝากคนประจำเรือหรือลูกเรือที่มีใบอนุญาตและหนังสือประจำตัวแล้วออกไปกับเรือเพื่อนำส่งให้กับเรือประมงลำอื่นที่ได้รับอนุญาตแล้วได้” ซึ่งจะส่งผลให้มีการนำคนงานขึ้นเรือเพิ่มเติมได้หลังจากการตรวจสอบที่ท่าเรืออย่างเป็นทางการแล้วเสร็จ ซึ่งจะเปิดโอกาสต่อความเป็นไปได้ในการค้ามนุษย์และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานรวมถึงการใช้แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อีกทั้งเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณที่ต้องมาตีความว่าเป็นเหตุจำเป็น

4.ในเชิงการบริหารจัดการการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการมาตรการทางการปกครอง มีข้อสังเกตที่ว่า การตัดผู้แทนจากกระทรวงแรงงานออกจากคณะกรรมการตามมาตร 112 เดิม ทำให้คณะกรรมการในร่างกฎหมายใหม่ไม่มีผู้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งอาจนำมาซึ่งข้อจำกัดไม่สามารถใช้มาตรการทางปกครองได้หากมีกรณีละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นบนเรือประมงเนื่องจากคณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจในบริบทการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งการกระจายอำนาจให้แก่นักการเมืองท้องถิ่นในเขตทำประมง อาจทำให้อำนาจในการตรวจสอบผู้กระทำความผิดเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากโดยปกติแล้วผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น จากการช่วยเหลือและดำเนินคดีค้ามนุษย์ในเรือประมงในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ต้องหาที่เป็นผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมถึงคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่ใช้เรือประมงในการขนย้ายผู้อพยพ ก็ได้มีการดำเนินคดีกับนักการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่ระดับเทศบาลไปจนถึงนักการเมืองหลายระดับ

“จากข้อสังเกตข้างต้น เครือข่ายองค์กรองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและองค์กรภาคี ยืนยันในหลักการการแก้ไขปัญหาประมงทะเลไทย ต้องวางบนฐานของการลดทอนความยุ่งยากของระบบราชการ เคารพและคุ้มครองในสิทธิแรงงาน ทำการประมงที่รักษาสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน เพื่อให้กิจการประมงและอาหารทะเลไทยยืนหยัดในเวทีการค้าระหว่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะนำประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อจะไปมุ่งไปสู่การประมงไทยที่ยั่งยืนและยืนยันในหลักการการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานประมงที่ผิดกฎหมายต่อไป”ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าว 

ขณะที่นายพงษ์สรณัฐ กล่าวว่า จะส่งข้อเรียกร้องของภาคประชาชนไปให้ กมธ.วิสามัญฯ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของรัฐสภาพร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายต่างๆ อย่างเต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net