Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-เผา ทรัพย์สินราชการ และเอกชนกว่า 40 จุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เบนาร์นิวส์ รายงานว่าเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-เผา ทรัพย์สินราชการ และเอกชนกว่า 40 จุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุให้มีแรงงานชาวเมียนมาเสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 22 มี.ค. (กลางดึกวันพฤหัสบดีต่อเนื่องวันศุกร์) ที่ผ่านมา 

แม่ทัพภาคที่ 4 เชื่อเป็นการก่อเหตุของแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบรุ่นใหม่ที่ต้องการทำลายโครงการรอมฎอนสันติสุข ด้าน นักสิทธิมนุษยชนเชื่อ เป็นความพยายามของบีอาร์เอ็นเพื่อตอบโต้เหตุวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 2 รายในปัตตานี เมื่อ 14 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา

พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมาเป็นความพยายามสร้างสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอน

“มีคนบางกลุ่มบิดเบือนว่า ก่อเหตุช่วงนี้จะได้บุญ คนร้ายสร้างสถานการณ์ครั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นการก่อกวนช่วงรอมฎอน ไม่ได้หวังในชีวิตของพี่น้องประชาชน เช่น ที่อำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี คนร้ายใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าไล่พนักงานก่อนจะวางเพลิง หรือจับเจ้าหน้าที่ รปภ. มัดไว้ แล้วก่อเหตุ มีเพียงแรงงานก่อสร้างปั๊มน้ำมันที่อำเภอมายอ รายเดียวที่ถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต” พล.ท. ศานติ กล่าว

“กลุ่มก่อเหตุน่าจะเป็นเยาวชนที่ไปฝึกจากต่างประเทศกลับมาสร้างสถานการณ์ เคยบอกแล้วว่า ช่วงรอมฎอนสันติสุข ไม่อยากให้เกิดเหตุ แต่บีอาร์เอ็นไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้ หลังจากนี้จะได้มีการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด และวางมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม” พล.ท. ศานติ ระบุ

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวกับสื่อมวลชนว่า รู้สึกเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ และสั่งการให้ แม่ทัพภาคที่ 4 เร่งดูแลแล้ว โดย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. จะลงพื้นที่ทันที 

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาคที่ 4 สรุปรายงานในวันนี้ พบเหตุความไม่สงบทั้งหมดอย่างน้อย 40 จุดใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดยะลา จำนวน 11 จุด จังหวัดปัตตานี จำนวน 20 จุด จังหวัดนราธิวาส จำนวน 7 จุด และ จังหวัดสงขลา จำนวน 2 จุด

เหตุความไม่สงบเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 01.00 น. ของวันศุกร์ ในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง อ.จะแนะ อ.สุไหงปาดี อ.แว้ง อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เป็นการวางเพลิงอาคารของเอกชน ทำลายทรัพย์สินของราชการ และกล้องวงจรปิด ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีการขับรถยนต์แหกด่านตรวจ ทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 1 นาย

พื้นที่ อ.เมือง อ.ไม้แก่น อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง อ.ยะรัง อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.โคกโพธิ์ อ.มายอ และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการวางระเบิด วางเพลิงเผาร้านสะดวกซื้อ อาคารเอกชน ทรัพย์สินราชการ  เสาสัญญาณโทรศัพท์ และยางรถยนต์ มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นแรงงานผู้หญิงชาวเมียนมา ในพื้นที่ อ.มายอ

พื้นที่ อ.บันนังสตา อ.กาบัง อ.ธารโต อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.เมือง จ.ยะลา มีการวางเพลิงเผาอาคารเอกชน ทรัพย์สินราชการ และเสาสัญญาณโทรศัพท์ มีการจับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมัด แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

“ตีหนึ่งกว่าๆ ชาวบ้านร้องตะโกนว่า ไฟไหม้ๆ ไฟลุกจนน่ากลัว มีเสียงระเบิดจากกองไฟ แต่โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร ชาวบ้านช่วยกันเอาของมีค่าออกมาจากจุดเกิดเหตุ ยังไม่รู้ว่าใครทำ แต่ชาวบ้านอาจเป็นแพะ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุจะต้องมีชาวบ้านเป็นแพะรับบาป” นายอิสมาแอ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ อ.บันนังสตา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

และ พื้นที่ อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา จ.สงขลา มีการเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต 

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า เหตุที่เกิดขึ้นสะท้อนความเห็นที่ต่างกันของฝ่ายรัฐบาลไทย และกลุ่มก่อความไม่สงบ

“อาจมองได้ว่า เป็นการก่อเหตุในวาระครบรอบกรณีตากใบ ปี 2547 กับการตอบโต้การวิสามัญในวันที่ 14 มี.ค. สิ่งนี้สะท้อนว่า ต่างฝ่ายก็ไม่ยอมกัน ไม่มีความอดทนอดกลั้น ทหารมองว่า บีอาร์เอ็นจะใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนรอมฎอน แต่ก็ไม่ได้มองว่าการบังคับใช้กฎหมายโดยมีการใช้ความรุนแรง คือ จุดเริ่มต้นของกรณีที่เกิดขึ้นนี้” น.ส. อัญชนา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม จ.ปัตตานี ได้เข้าปิดล้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงในพื้นที่ อ.สายบุรี โดยได้มีการปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความไม่สงบ 2 ราย และจับกุมผู้ต้องสงสัยอีก 2 ราย ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่จริงใจที่จะยุติความรุนแรง

“ผู้ได้รับผลกระทบคือ ประชาชน สิ่งสำคัญคือ หลังจากนี้การเจรจาของทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงประชาชน JCPP ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ต้องให้ความเคารพกัน และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจต่อกันของคู่เจรจา ซึ่งตอนนี้ประชาชนมองไม่เห็นความจริงใจนั้นจากทั้งสองฝ่าย” น.ส. อัญชนา กล่าว

กรณีที่เกิดขึ้นอยู่ในห้วงเดือนแห่งการถือศีลอด ตามที่นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศว่า วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มี.ค. 2567 ซึ่ง ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า จะใช้แผน “รอมฎอนสันติสุข” ที่เป็นแนวทางสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6-7 ก.พ. 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และระบุว่า ฝ่ายไทยจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ แต่ก็ยังมีเหตุวิสามัญฆาตกรรม

สำหรับแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายไทยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต

ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ช่วงวันที่ 11 ก.พ. - 11 มี.ค. 2567 หรือหนึ่งเดือนก่อนเดือนรอมฎอน มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 13 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บ 9 ราย

ในปี 2565 คณะพูดคุยฯ เคยริเริ่มกำหนดช่วงหยุดยิง “รอมฎอนสันติสุข” เมื่อวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. โดยอนุญาตให้ผู้มีหมายจับคดีความมั่นคงเดินทางกลับบ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัว ในห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งปีนั้น คณะพูดคุยฯ แถลงว่า แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม รอมฎอนสันติสุขไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ ม.ค. 2547 ถึง พ.ย. 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net