Skip to main content
sharethis

กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ศึกษาแนวทางบริหารจัดการประกันสังคม แทงสวน แนะแยกกองทุนดูแลแรงงานต่างชาติออกจากกองทุนดูแลแรงงานไทย ให้ความคุ้มครองคำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน ขณะที่ 'ทีมประกันสังคมก้าวหน้า' มีนโยบายปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคมด้วย

11 มี.ค.2567 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า การประชุมวุฒิสภาที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบาย : การประกันสังคมกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การแรงงาน วุฒิสภา พิจารณาเสร็จแล้ว

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธาน กมธ. กล่าวชี้แจงรายงานว่า จากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม ประจำปี 2567 มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนกว่า 13.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานต่างด้าวกว่า 1.4 ล้านคน ในขณะที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศกว่า 2.2 แสนคน ซึ่งเป็นลักษณะผิดกฎหมายกว่า 2 หมื่นคน สำหรับระบบประกันสังคม มีกองทุนประกันสังคมมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท ยังเป็นระบบไตรภาคีที่รัฐบาลเข้าร่วมในการจ่ายเงินสมทบด้วย ซึ่งจากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบพบว่าการประกันสังคมของต่างประเทศ รัฐบาลจะไม่ร่วมจ่ายเงินสมทบ และนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่เป็นการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานสากลแล้ว แต่ละประเทศยังกำหนดสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้มีความแตกต่างกันระหว่างแรงงานต่างชาติและพลเมืองของประเทศตนเอง ในด้านการคุ้มครองแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาและคุ้มครองแรงงาน เป็นการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนขั้นพื้นฐานเป็นหลัก เน้นการช่วยเหลือให้สามารถเดินทางกลับไทยได้เป็นสำคัญ ยังไม่ได้คุ้มครองให้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงด้านอื่นๆ และไม่สามารถให้ความคุ้มครองเรื่องการทำงานในต่างประเทศได้  รายงานดังกล่าวจึงมุ่งเน้นศึกษาแรงงาน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในไทย และกลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อออกแบบระบบการบริหารจัดการด้านประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม การทันต่อเศรษฐกิจโลก ความคุ้มค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สอดคล้องหลักสากล

ณรงค์ รัตนานุกูล เลขานุการ กมธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น พบอุปสรรคคือประกันสังคมไม่ได้แยกกลุ่มคนไทย-ต่างชาติ ออกจากกัน ทำให้สิทธิประโยชน์บางประการไม่เหมาะสม อีกทั้งแม้จะมีกองทุนคนไทยไปทำงานต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ให้ความคุ้มครองป้องกันตามหลักประกันสังคม โดย กมธ.มีข้อเสนอว่า กรณีแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ควรแบ่งแยกกองทุนเพื่อบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติไว้เป็นประเภทหนึ่ง โดยแยกจากกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานไทย รัฐบาลควรทบทวนและปรับวิธีการจ่ายเงินสมทบจากแบบไตรภาคีเปลี่ยนเป็นแบบทวิภาคี คือ นายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ โดยรัฐบาลไม่ต้องร่วมจ่ายเงิน ส่วนการจ่ายสิทธิประโยชน์แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศกรณีช่วยเหลือเมื่อประสบทุกข์ภัยในต่างประเทศ ต้องจำกัดวงเงินสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์เป็นจำนวนที่แน่นอน นอกจากนี้ ประเด็นแนวคิดให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับตามกฎหมายไทยด้วยหรือไม่นั้น กมธ.เห็นว่า ในมิติหนึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ดีขึ้น มีการสะสมเงินออมและเกิดสิทธิระยะยาว สามารถต่อยอดสิทธิการประกันสังคมตามปกติเมื่อกลับมาทำงานหรืออยู่อาศัยในประเทศไทย แต่ในอีกมิติหนึ่ง ผู้ซึ่งเดินทางไปทำงานในต่างประเทศย่อมได้รับการดูแลคุ้มครองตามระบบกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว จึงอาจไม่ต้องการเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ เพราะจะทำให้เกิดภาระสองทางพร้อมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 6 อันดับแรก ในการเลือกคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งมีนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ มุ่งเน้นการสร้างระบบประกันสังคมที่เท่าเทียม ขยายสิทธิประโยชน์ในแต่ละด้าน ตลอดจนมีการปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม โดยนโยบายหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ การปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net