Skip to main content
sharethis

‘คณะก้าวหน้า’ กวาดที่นั่งบอร์ดประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างได้เกือบทั้งหมด แน่นอนว่าเป็นชัยชนะ แต่ก็แค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เพราะมีความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้ามากมายที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าบอร์ดฝ่ายลูกจ้างจะผลักดันนโยบายที่ประกาศไว้ได้แค่ไหน ‘ประชาไท’ พูดคุยถึงหนทางไปสู่เป้าหมายและอุปสรรคที่ต้องเจอ

การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่จบไปเดือนกว่าแล้ว แต่การประกาศผลการเลือกตั้งของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กลับประกาศผลอย่างล่าช้าและมีการนับคะแนนตกหล่นสำหรับผู้สมัครบางคน อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นเรื่องทางระเบียบกฎหมายที่จะต้องดำเนินกันต่อไป

ส่วนตอนนี้ ‘ประชาไท’ อยากชวนผู้อ่านไปรับฟังนโยบายของบอร์ดประกันสังคมจากคณะก้าวหน้าว่าพวกเขามีแนวทางการทำงานอย่างไรต่อจากนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิต่างๆ ของผู้ประกันตน

งานที่รออยู่

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน หนึ่งในบอร์ดประกันสังคมจากคณะก้าวหน้าที่ได้รับเลือกกล่าวว่า ในระยะสั้นสิ่งที่คณะก้าวหน้าสามารถทำได้ทันทีคือการเปิดเผยข้อมูลการประชุมทุกครั้งให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ

ขณะที่ในระยะกลางและระยะยาวจะทำการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้ เช่น สิทธิการลาคลอด ค่าทำคลอดบุตร เป็นต้น พร้อมกับมุ่งผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับผู้ประกันตน ธนพงษ์อธิบายว่าการบริหารการลงทุนควรจะให้สิทธิประโยชน์แก่งผู้ประกันตนเป็นหลักไม่ใช่นายทุน อีกทั้งปัจจุบันอำนาจตัดสินใจก็อยู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นอกจากสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ต้องแก้ไข คณะก้าวหน้ายังมีนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การประกันการว่างงาน การเพิ่มค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน (แฟ้มภาพ)

นโยบายต่างๆ เหล่านี้ ธนพงษ์ยอมรับว่าไม่สามารถลุล่วงได้ภายใน 2 ปีของการอยู่ในตำแหน่งบอร์ดประกันสังคม แต่เป็นการมองระยะยาวถึงการเลือกตั้งรอบหน้าด้วย ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ธนพงษ์ต้องแก้ไขในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือเรื่องจำนวนคนผู้มาใช้สิทธิ์

“การเลือกตั้งที่ผ่านมา มันมีปัญหาเรื่องคนลงทะเบียนบ้าง การหยุดงานบ้าง มันอาจจะไม่ได้สะดวกกับผู้ประกันตนทั่วไป เรามองว่าภายในระยะของเราสองปีนี้ เราจะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการเลือกตั้งได้ง่ายที่สุด”

pain point ของประกันสังคมสำหรับผู้พิการ

ในส่วนของนลัทพร ไกรฤกษ์ กรรมการประกันสังคมอีกคนหนึ่งจากคณะก้าวหน้าซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นสิทธิของคนพิการกล่าวว่า เรื่องผู้พิการกับประกันสังคมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือผู้ประกันตนที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานจนทำให้เป็นผู้พิการกับผู้พิการอยู่แล้วที่เข้าสู่สิทธิประกันสังคม ทั้งสองส่วนนี้มีสภาพปัญหาที่ต่างกันอยู่

นลัทพรกล่าวว่าผู้ประกันตนที่กลายเป็นคนพิการจากการทํางานซึ่งจะต้องได้รับการเยียวยาตามกฎระเบียบของประกันสังคม โดยทางสำนักงานประกันสังคมจะดูความรุนแรงว่าเป็นคนพิการที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองหรือใช้ชีวิตได้หรือไม่ แล้วจึงเยียวยาไปตามขั้นตอน

นลัทพร ไกรฤกษ์

“แต่เท่าที่ได้ลองคุยมากับหลายคนที่เป็นคนพิการจากอุบัติเหตุจากการทํางานก็พบว่าหลายคนจนปัจจุบันผ่านมาประมาณสองสามปีแล้วก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา ยังคงอยู่ในขั้นตอนรอนายจ้างมาเซ็นรับทราบว่าเป็นคนพิการ ตามขั้นตอนเมื่อประกันสังคมอนุมัติเงินเยียวยาซึ่งจะได้ประมาณ 2,400 บาทต่อเดือนตลอดชีวิตแต่ปรากฏว่าในตามขั้นตอนนี้นายจ้างจะต้องมาเซ็นรับทราบด้วย แต่พอนายจ้างไม่มาเซ็นก็ทําให้ผู้ประกันตนยังไม่สามารถได้รับเงินชดเชย นี่ก็ประมาณหนึ่งปีแล้วหลังจากที่หมอรับรองให้เป็นคนพิการ”

นอกจากผู้ประกันรายได้ดังกล่าวจะไม่ได้รับเงินเยียวยาแล้ว กลับยังต้องส่งเงินประกันสังคมต่อไปทั้งที่ไม่มีงานทำ เนื่องจากเกรงว่าถ้าไม่ส่งจะทำให้หมดสิทธิรับเงินเยียวยา

ไม่เพียงกระบวนการที่ไร้ประสิทธิภาพแล้ว การกำหนดว่าผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องเป็นผู้พิการรุนแรงนั้นค่อนข้างไม่รัดกุม เพราะว่าในประเทศเมืองไทยผู้พิการไม่รุนแรงก็โดนให้ออกจากงานเหมือนกัน มองอีกมุมหนึ่งผู้พิการที่นั่งวีลแชร์แต่ยังสามาารถออกไปทํางานได้ ทว่า ด้วยสภาพแวดล้อมก็อาจทำให้เป็นผู้พิการรุนแรงได้ นลัทพรยกตัวอย่างว่า

“เช่นถ้าบ้านเขาอยู่อยู่ชั้นสองเราก็คิดว่าคนเหล่านี้เป็นคนพิการรุนแรงเหมือนกัน เพราะเขาไม่สามารถลงจากบ้านได้ ดังนั้น เราคิดว่าจะต้องมีการพิจารณาเกณฑ์ใหม่หรือควรมีมาตรการใหม่ไหมที่ทําให้เขาไม่หลุดออกจากการทํางาน พี่คนหนึ่งที่ต้องใช้เวลารักษาตัวนานก็เป็นเหตุผลของการเลิกจ้างแล้วไม่จําเป็นต้องพิการรุนแรง”

สิทธิสวัสดิการที่ไม่เข้าใจความพิการ

ในส่วนของผู้พิการที่สมัครเป็นผู้ประกันตนก็เผชิญปัญหาอีกแบบหนึ่ง โดยปกติผู้พิการจะมีสิทธิ์สำหรับผู้พิการอยู่แล้ว แต่เมื่อมีสิทธิประกันสังคมก็กลายเป็นว่าสิทธิคนพิการใช้ไม่ได้

“จริงๆ เขายังมีสิทธิ์นะแต่ว่าเมื่อเราไปโรงพยาบาลเวลาเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์สิทธิประกันสังคมจะขึ้นก่อนและสิทธิคนพิการจะใช้ไม่ได้ อันนี้ตัวเองก็เจอเหมือนกัน เราไปกายภาพอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งเคยใช้สิทธิคนพิการมาตลอดเลย แล้ววันรุ่งขึ้นเราก็ไปเหมือนเดิมปรากฏว่าเขาแจ้งว่าเราไม่มีสิทธิ์แล้วเพราะว่าเราเป็นสิทธิ์ประกันสังคม ไม่สามารถใช้สิทธิคนพิการได้ ซึ่งเราคิดว่าส่วนนี้กระทบคุณภาพชีวิตของคนพิการเพราะว่าสิทธิทั้งสองสามารถเบิกและใช้สิทธิ์ได้ต่างกัน”

เธออธิบายต่อว่าในสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนไม่สามารถทำกายภาพบําบัดได้อย่างต่อเนื่อง ทำได้เฉพาะกายภาพบําบัดที่มีไว้สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยเท่านั้น เช่น ขาหัก แขนหัก เป็นต้น ซึ่งเป็นการกายภาพระยะสั้น แต่สำหรับผู้พิการจำวนหนึ่งการจะออกไปใช้ชีวิตได้ต้องอาศัยการกายภาพต่อเนื่องเพื่อให้ร่างกายคงสภาพได้ นอกจากนี้สิทธิประกันสังคมผู้พิการก็ไม่สามารถเบิกอุปกรณ์ต่างๆ ได้ เช่น วีลแชร์ เบาะลม เครื่องช่วยฟัง เป็นต้น ทำให้ช่วงสองปีที่ผ่านมาผู้นพิการที่เป็นผู้ประกันตนจึงเปลี่ยนกลับไปใช้สิทธิผู้พิการแทน นลัทพรแสดงความเห็นว่า

“ผู้พิการก็มีอยู่สองสิทธิ จริงๆ อันไหนต้องเบิกจากสิทธิ์ไหนก็ใช้สิทธินั้น หมายถึงว่าถ้าจะขอเครื่องช่วยฟังแล้วสิทธิประกันสังคมไม่มีก็เบิกจ่ายสิทธิคนพิการเหมือนเดิมหรือถ้าจะไปทําฟันสิทธิคนพิการไม่มีก็ไปเบิกจากประกันสังคม เราคิดว่ามันควรทําได้เลย”

ช่องโหว่ในกติกาทำผู้พิการเข้าไม่ถึงสิทธิ์

ในประเด็นผู้พิการยังมีปัญหาในเชิงกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ทำให้ผู้พิการไม่สามารถเป็นผู้ประกันตนได้ นลัทพรอธิบายว่าการจ้างงานคนพิการสามารถจ้างได้โดยไม่ต้องมีประกันสังคมซึ่งก็คือจ้างเหมารายชั่วโมงหรือรายวัน แม้ว่าผู้พิการจะถูกจ้างเหมา 28 วันต่อเดือน แต่ก็ไม่นับเป็นการจ้างรายเดือนที่จะทำให้ผู้พิการมีฐานะเป็นพนักงานประจำ ซึ่งนายจ้างมักเลือกวิธีนี้และจ่ายค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

ผู้พิการกลุ่มนี้จึงไม่มีสิทธิเช่นผู้ประกันตนทั่วไป ขณะเดียวกันผู้พิการก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการได้รับสิทธิสวัสดิการ ยอมให้เป็นการจ้างรายวันแต่ทำสัญญา 1 ปี นลัทพรแสดงความเห็นว่างานหนึ่งที่ต้องทำคือการให้ความรู้และเห็นความสำคัญของสิทธิประกันสังคมแก่ผู้พิการ

“ผู้พิการรู้สึกว่าประกันสังคมไม่จําเป็นด้วยเพราะสิทธิคนพิการครอบคลุมมากกว่า เช่น รักษาโรงพยาบาลไหนก็ได้ที่ใกล้บ้าน แล้วก็เบิกอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างตัวหนูเองปัจจุบันมีประกันสังคมและมีสิทธิคนพิการ แต่ไม่เคยใช้สิทธิประกันสังคมเลยเพราะโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมมันอยู่ไกลมาก แล้วก็ไม่มีประวัติการรักษาเรามาก่อน ประกันสังคมไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความพิการของเราที่เรา”

นลัทพรกล่าวว่าผู้พิการก็ถือเป็นแรงงานที่ควรมีสิทธิสวัสดิการเช่นคนทำงานทั่วไป แต่ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายทำให้คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงสิทธิ ดังนั้น งานที่เกี่ยวข้องอีกประการหนึ่งจึงอยู่ที่การแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ด้วย

สร้างมาตรฐานที่เท่าเทียม

แน่นอนว่าสำหรับผู้ประกันตนสิทธิที่พวกเขาคำนึงถึงและมีโอกาสใช้บ่อยที่สุดคือสิทธิด้านสวัสดิการสุขภาพ จากประเด็นของนลัทพรคำถามจึงถูกส่งต่อมายัง พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ทีมนโยบายสาธารณสุข ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ที่ผ่านมาประเด็นใหญ่ประการหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือการรวมกองทุนประกันสังคมในส่วนสิทธิด้านสุขภาพกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และประสิทธิภาพในการบริหาร

พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร

พญ.ชุตินาถ อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วในประเทศที่มีสวัสดิการสุขภาพให้แก่ประชาชนจะใช้ระบบใดระบบหนึ่งไปเลย ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคมหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ของไทยกลับมา 3 สิทธิ์ซ้อนกันคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ส่งผลให้มีการบริหารจัดการแตกต่างกัน

“สิทธิมันควรจะพัฒนาเท่าเทียมกันในแต่ละสิทธิ์ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มีแต่สิทธิ์ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อตามให้ทันกับสิทธิข้าราชการ ขณะที่สิทธิประกันสังคมทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการแพทย์ในสํานักงานประกันสังคมว่าจะประกาศให้ใช้สิทธิอะไรบ้าง เมื่อเขาไม่อัพเดทก็เลยกลายเป็นว่าเมื่อเทียบกับสิทธิ์ 30 บาทแล้วสิทธิประกันสังคมได้น้อยลง”

เธอยกตัวอย่างเรื่องยาว่าประกันสังคมไม่มีการกำหนดว่าต้องใช้ยาตัวใดเหมือนกับ สปสช. ที่มีการจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ ปล่อยให้แต่ละโรงพยาบาลกําหนดเองว่าจะยาตัวใดให้คนไข้ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิ เพราะโรงพยาบาลก็จะพยายามประหยัดต้นทุนของตนเองให้มากที่สุดจึงเลือกใช้ยาที่มีราคาถูก ส่วนยาราคาแพงก็อาจต้องมีการขออนุมัติเป็นรายกรณีทําให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้น้อยลง

ทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำภายในสิทธิด้วย เพราะระหว่างโรงพยาบาลกันเอง โรงพยาบาลหนึ่งให้ยามาก อีกโรงพยาบาลให้ยาน้อย แต่ผู้ประกันตนก็ไม่รู้ข้อมูลว่าเราได้ยาน้อยกว่าโรงพยาบาลข้างเคียง เหล่านี้เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งจากปัญหาจำนวนมากที่ดำรงอยู่ซึ่งความเหลื่อมล้ำ ความยากลำบากในการใช้สิทธิของผู้ประกันตนที่มาจากฐานคิดที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้ประกันตนเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นผลจากการที่ผู้ประกันตนขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและนโยบายของสำนักงานประกันสังคม พญ.ชุตินาถ ตั้งข้อสังเกตว่า

“การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนน้อยเกินไป สํานักงานประกันสังคมไม่เปิดช่องทางให้ผู้ประกันสามารถบอกได้ว่าอยากเห็นอะไร เขาไม่มีเวทีรับฟังเหมือน สปสช. สํานักงานประกันสังคมแทบไม่มีการเปลี่ยนนโยบายเลย เปลี่ยนแต่ละครั้งก็ต้องได้รับการกระตุ้นจากข้างนอกแรงมาก อย่างที่สามารถเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลได้ 72 ชั่วโมงก็เกิดจาก คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) สั่งลงมา แต่สิ่งที่เกิดจากผู้ประกันตนตรงๆ แทบไม่มี

“อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการบริหารงาน เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนบริหารประชุมเรื่องอะไรกัน อย่างที่บอกว่าปัญหาของสํานักงานประกันสังคมทุกอย่างมันลึกลับดํามืดมาก ไม่เปิดเผยโปร่งใสด้วย เลยกลายเป็นว่าสิทธิทุกอย่างหยุดนิ่ง แล้วอาจจะมีเรื่องผลประโยชน์ของโรงพยาบาลคู่สัญญาด้วยทําให้การพัฒนาสิทธิประโยชน์มากขึ้นหมายถึงรายรับของโรงพยาบาลลดลง มันก็เลยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลซ์ระหว่างผู้ประกันตนกับผู้ให้บริการ”

ในเบี้องต้นมาตรฐานการรักษาจะต้องทำให้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินรูปแบบไหนหรือกองทุนประเภทใด

‘รวมกองทุน’ หรือไม่ต้องฟังเสียงผู้ประกันตน

ส่วนการรวมกองทุนประกันสังคมด้านสิทธิการรักษาเข้ากับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการพูดถึงใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 10 ซ้ำในมาตรา 66 ยังกำหนดว่าจะต้องทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี หากไม่แล้วเสร็จให้ขยายเวลาได้ครั้งละ 1 ปี แต่ผ่านมา 20 กว่าปีสิ่งนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น

ความสุ่มเสี่ยงต่อการล้มของกองทุนประกันสุขภาพอยู่ที่จำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในท้ายที่สุดจะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของกองทุน ซึ่ง พญ.ชุตินาถกล่าวว่าถ้าไม่มีการเพิ่มจำนวนการเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ไม่เพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบ เงินกองทุนประกันสังคมที่ใช้กับการดูแลสุขภาพ ค่าคลอดบุตร เงินเกษียณ และอื่นๆ จะไม่เพียงพอในระยะยาวอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ทางคณะก้าวหน้าวางแผนว่าทางสํานักงานประกันสังคมจะต้องจัดเวทีพูดคุยกับผู้ประกันตนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยนำข้อมูลมาแผ่ออกเพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าประกันสังคมจะไปต่อในแนวทางใดจึงจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนมากที่สุด คำตอบว่าจะรวมกองทุนหรือไม่ อย่างไร จึงยังต้องรอฟังเสียงผู้ประกันตนก่อนว่าต้องการอย่างไร

ถึงที่สุดแล้ว พญ.ชุตินาถมองว่าความมั่งคั่งของกองทุนอาจไม่ใช่คำตอบสำคัญที่สุดเพราะมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนให้ได้นานที่สุด สิ่งที่ต้องคิดให้หนักคือเมื่อผู้ประกันตนถึงวัยเกษียณจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด เพราะมันจะวนกลับมาที่ปัญหาสุขภาพและเงินที่ต้องใช้ไปกับการดูแลรักษาสุขภาพจะโตขึ้นเรื่อยๆ

ธนพงษ์เสริมว่าในอนาคตหากมีบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทบวกกับเงินบำนาญจากประกันสังคมอีก 5,000 บาท เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ คนรุ่นลูกก็จะต้องรับภาระตรงนี้ส่วนหนึ่งขณะที่ต้องดูแลลูกของตน หมายความว่าคนวัยทำงานในเวลานี้และในอนาคตจะต้องแบกคนสองรุ่นพร้อมๆ จุดนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ประกันสังคมรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องร่วมกันมองหาทางออก

เป้าหมายเดียวกัน แม้เสียงต่างกัน 7 ต่อ 14

ถึงตรงนี้เรามองเห็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขแล้ว ทว่า ยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงนั่นก็คือเสียงของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างมี 7 เสียง ฝ่ายนายจ้าง 7 เสียง และฝ่ายรัฐอีก 7 เสียง เท่ากับจำนวนเสียงของฝั่งลูกจ้างคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเสียงทั้งหมด การผลักดันนโยบายต่างๆ จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อสุดท้ายแล้วต้องวัดกันด้วยคะแนนเสียง

ประเด็นนี้อาจเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ธนพงษ์มองว่านโยบายต่างๆ ที่จะผลักดันออกมาหากลูกจ้างได้ประโยชน์ ฝ่ายนายจ้างเองก็ย่อมได้ประโยชน์ด้วย ทั้งในแง่การทำงาน ความรู้สึกมั่นคง หรือแม้กระทั่งการลดต้นทุนของบริษัท เชายกตัวอย่างว่าบางบริษัทพนักงานเรียกร้องให้บริษัทซื้อประกันสุขภาพให้แก่พนักงานทุกคนเพราะสิทธิของประกันสังคมไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าสามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้ครอบคลุมมากขึ้น นายจ้างก็สามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงได้

“เรามองในบริบทการทำงานที่ดี ที่มีความความสุขในการทํางานเชื่อมโยงกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เขาก็จะไม่มีความเครียดในการทำงาน นายจ้างก็น่าจะได้ประโยชน์หลายอย่าง” ธนพงษ์กล่าว

ขณะที่นลัทพรเห็นคล้ายกันกับธนพงษ์ว่าคณะกรรมการประกันสังคมทั้ง 21 คนล้วงมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสวัสดิการที่ดีของลูกจ้าง ถ้าเกิดกองทุนประกันสังคมให้ประโยชน์กับลูกจ้างโดยที่นายจ้างไม่ต้องเสียอะไร แต่ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทํางานได้ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดี มันก็เป็นประโยชน์กับฝั่งนายจ้างด้วย เราอาจจะมีภาพของนายจ้างที่ดูโหดร้ายและเอาเปรียบแต่...

“หนูคิดว่าก็มีนายจ้างหลายคนที่อยากจะให้ลูกจ้างมีสวัสดิการที่ดี อันนี้ก็น่าจะเป็นช่องทางให้ได้ทํางานร่วมกันที่จะคิดว่าลูกจ้างจะมีสวัสดิการ มีการคุ้มครอง จะทําให้เขมีคุณภาพชีวิตแล้วก็ทํางานได้ดี หนูก็คิดว่ามันคือเป้าหมายเดียวกัน หวังว่ามันจะไม่ได้เป็นความขัดแย้งที่รู้สึกว่าต้องเป็นขั้วตรงข้าม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net