Skip to main content
sharethis

ขอ สธ.เพิ่มอัตราพนักงานเปลและอัตราเงินเดือนตำแหน่งพนักงานเปลให้ รพ.ทั่วประเทศ

นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ว่า ผู้ป่วยที่เดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ไม่ได้รับความสะดวกและได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากโรงพยาบาลมีพนักงานเปลที่มีหน้าที่ดูแลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนชรา จึงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ญาติต้องช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกันเองด้วยความยากลำบาก และจากการสอบถามเรื่องอัตราเงินเดือนในตำแหน่งพนักงานเปล พบว่า มีอัตราเงินเดือนเพียง 9,000 - 10,000 บาท เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีอัตราเงินเดือนที่น้อยมาก ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาเพิ่มอัตราพนักงานเปลให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลอื่นที่มีอัตราไม่เพียงพอในการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และขอให้พิจารณาเพิ่มอัตราเงินเดือนตำแหน่งพนักงานเปลของโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรดังกล่าวด้วย

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 10/3/2567

ประชุมบอร์ดประกันสังคมนัดแรก ที่ประชุมรับหลักการ ปรับสัดส่วนอนุกรรมการทำหน้าที่บอร์ดประกันสังคมประจำจังหวัดเพิ่มสัดส่วนผู้ประกันตนและนายจ้าง ขณะข้อเสนอการถ่ายทอดสดการประชุม ที่ประชุมขอไปทีละขั้นตอน

วันที่ 9 มี.ค. 2567 หลังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่ากังวลว่ากองทุนประกันสังคมกำลังเสี่ยงจะล้มละลายในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า จึงมีแนวคิดจะขยายอายุเกษียณผู้ประกันตน พร้อมเพิ่มเพดานการเก็บเงินสมทบ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกันตนผ่านโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนจากกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่าน X โดยยืนยันว่า จุดยืนทีมประกันสังคมก้าวหน้า ไม่มีเรื่องการบังคับเพิ่มเงินสมทบ หรือ การขยายอายุเกษียณ โดยวิธีการที่จะทำให้ประกันสังคมยั่งยืนของกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า จุดยืนคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายเพื่อจูงใจให้แรงงานกลุ่มใหม่ ๆ เข้าประกันสังคมรวมถึงการดึงเงินจากรัฐที่ค้างจ่ายเข้าประกันสังคม

ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เรียกร้องให้ช่วยดูแลเรื่องการลงทุนของเงินประกันสังคม ขณะที่บางคนเสนอให้สามารถใช้สิทธิได้ว่า จะเลือกรับเป็นบำนาญหรือบำเหน็จ ซึ่งต้องรอดูว่า เรื่องนี้จะมีความคืบหน้าอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ รมว.แรงงานระบุว่า เป็นประเด็นเร่งด่วนที่อาจต้องหารือกับบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำหน้าที่หลังได้รับการเลือกตั้ง

ขณะที่การประชุมบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่นัดแรก เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา หลังได้รับการเลือกตั้ง โดยมีวาระสำคัญในการประชุม คือ หลักเกณฑ์การคัดเลือกอนุกรรมการจังหวัด ซึ่งจะเป็นโครงสร้างหลักในการขับเคลื่อนประเด็นด้านนโยบายของประกันสังคม รวมถึงประเด็นเรื่องการเปิดเผยให้กองทุนมีความโปร่งใส ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ

เกศนคร พจนวรพงษ์ โฆษกทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้กล่าวสรุปการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมครั้งที่ 1 ประจำวันที่ 8 มี.ค. 2567 ซึ่งมีประเด็นการประชุมที่สำคัญที่สุดสองเรื่อง คือ

1.) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม

ในส่วนของการแต่งตั้งอนุกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยคณะอนุกรรมการนี้จะทำหน้าที่เป็นบอร์ดประกันสังคมประจำจังหวัด ทำหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆที่บอร์ดประกันสังคมมอบหมาย สะท้อนปัญหาภายในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาด้านการบริการ การวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพของผู้ประกันตน การจ่ายประโยชน์ทดแทน รวมถึงข้อเสนอในระดับจังหวัด

โดยในสูตรเดิมของการแต่งตั้งอนุกรรมการ จะใหึผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและจะมีสัดส่วนฝั่งผู้ประกันตนต่อนายจ้างต่อภาครัฐ โดยประมาณอยู่ที่ผู้ประกันตน 15% นายจ้าง 15% ภาครัฐและหน่วยงานภายนอก 70% โดยจำนวนอนุกรรมการจะขึ้นอยู่กับขนาดของจังหวัด

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าเห็นชัดว่าสัดส่วนตามสูตรนี้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะสัดส่วนของภาครัฐและหน่วยงานภายนอกค่อนข้างมากกว่าผู้ประกันตนและนายจ้างอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งน่ากังวลว่าจะไม่สามารถสะท้อนความต้องการของผู้ประกันตนและนายจ้างได้ตามวัตถุประสงค์ของคณะอนุกรรมการ

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจึงเสนอต่อที่ประชุมว่า ให้มีการปรับสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้างให้เพิ่มมากขึ้น โดยมติที่ประชุมรับหลักการ 1 – 3 คน เพิ่มขึ้นเป็น 3 – 5 คน โดยฝ่ายผู้ประกันตนจะเปลี่ยนเงื่อนไขให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่สังกัดอยู่ในสมาชิกองค์กรแรงงานหรือในสหภาพแรงงาน

2.) การเปิดเผยและถ่ายทอดสดการประชุมบอร์ดประกันสังคมต่อสาธารณชน

การเปิดเผยและถ่ายทอดสดการประชุมบอร์ดประกันสังคมให้แก่สาธารณะ ทางทีมประกันสังคมก้าวหน้ามีการเสนอให้มีการเปิดเผยการประชุมให้โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ การถ่ายทอดสดการประชุม เปิดเผยมติในการประชุม และแจ้งวาระการประชุมล่วงหน้าให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ

โดยเบื้องตนที่ประชุมรับหลักการ แต่จะค่อย ๆ ขยับไปทีละขั้นตอน เช่น อาจจะมีการทำสื่อเผยแพร่การประชุม และอาจจะมีการแถลงหลังการประชุม เพื่อจะรับทราบผลตอบรับแล้วค่อยปรับไปตามความเหมาะสม

ด้าน นลัทพร ไกรฤกษ์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกคณะอนุกรรมการ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เวลามาก เพราะสามารถกำหนดโดยคณะอนุกรรมการ และสามารถปรับได้เลยในการแต่งตั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งก็หวังว่าจะมีสัดส่วนได้ตามที่กำหนดใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสมเพิ่มขึ้น

ชลิต รัษฐปานะ บอกว่า ในฐานะที่ได้รับเลือกมาจากผู้ประกันตน ไม่ว่าทำสิ่งใดก็จะมีผู้ประกันตนจับตา และถือว่าการทำงานนี้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทีม ที่เวลาดำเนินการอะไรจะต้องบอกผู้ประกันตน

“ทางที่ประชุมค่อนข้างกังวลหลายเรื่อง เพราะต้องพูดชื่อบริษัท ต้องพูดชื่อคน ก็เกรงว่าจะไปผิดข้อกฎหมายอะไรสักอย่าง ก็คล้ายคลึงกับสภาฯ ดังนั้น ยังมีข้อกังขาอยู่เยอะเรื่องการถ่ายทอดสด แต่ทางทีมก็สนับสนุนให้โปร่งใสที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได ไม่ได้มองแค่ว่ากองทุนเท่านั้นที่จะโปร่งใสอย่างเดียว แต่ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมความเป็นเจ้าของกองทุนได้อย่างแท้จริงด้วย”

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 19 มี.ค. นี้

ที่มา: The Active, 9/3/2567

คนไทยเรียนจบแค่ ม.3 มีกว่า 20 ล้านคน แนะรัฐกู้วิกฤตทักษะแรงงานไทย

8 มี.ค. 2567 หลังจากที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ ธนาคารโลก (World Bank) ได้เผยแพร่ผลสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยพบว่าไทยเผชิญวิกฤตเยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดแคลนทักษะหรือมีทักษะพื้นฐานชีวิต ได้แก่ 1.การอ่านออกเขียนได้ 2.ทักษะด้านดิจิทัล และ 3.ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ต่ำกว่าเกณฑ์ในสัดส่วนที่สูง โดยปัญหาดังกล่าวคาดว่าได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1%

ทั้งนี้ 5 สถาบันวิชาการ ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ได้ร่วมกันวิเคราะห์นโยบายจากต่างประเทศในการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตทุกช่วงวัยที่ประสบความสำเร็จ และหารือกันถึงทางออกในการกู้วิกฤตทักษะคนไทย ในเวทีวิชาการ “Fostering Foundation Skills in Thailand กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การกู้วิกฤตทักษะคนไทยต้องทำเป็นระบบใหญ่ จริงจังและทุ่มเททรัพยากร ตัวอย่างรูปธรรมสำคัญ เช่น การทำ National Skill Program เป็นวาระแห่งชาติ โดยโปรแกรมนี้ต้องมีลักษณะเป็นขนมชั้น 3 ชั้น คือ

เริ่มจากชั้นกลาง คล้ายกับที่อินโดนีเซียทำ คือมีคูปอง มีระบบกลไกตลาด ให้คนที่รู้เรื่องทักษะจริงหรือรู้ว่าตลาดต้องการอะไรเป็น Suply Side เป็นผู้แจกคูปอง เป็นทักษะเฉพาะทาง ทักษะอาชีพต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องทำขนานใหญ่ ต้องกล้าลงทุน 

“ในอินโดนีเซียเขาทำเรื่องนี้เริ่มต้นที่ 5 ล้านคน ของไทยต้องวางเป้าหมายมากกว่านั้น อาจกำหนดกลุ่มเป้าหมายเลยว่าคนไทยทุกคนที่เรียนไม่เกิน ม.3 ความรู้ไม่มากนัก ตามโลกไม่ทัน คาดว่าน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านคน แน่นอนว่าต้องค่อย ๆ เริ่ม และมีการประเมินระหว่างทาง โดยประเภทของทักษะอาจเป็นเฉพาะทางก็ได้ แต่ต้องมีความหลากหลายรองรับเพียงพอ”

ส่วนชั้นล่าง หรือชั้น 1 ควรมีโครงการที่เป็น Skill Program ที่ส่งเสริมเรื่องทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับทุกคน “ชั้นกลาง” หรือทักษะเฉพาะทาง สำหรับ “ชั้นบน” ต้องเป็นพื้นที่เฉพาะของกลุ่มเปราะบาง เช่น ประชากรนอกระบบ เด็กที่ออกนอกระบบ กลุ่มคนจน 15% ล่างสุดของประเทศ คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ

กลุ่มนี้ต้องการการดูแลพิเศษด้วยโปรแกรมที่ออกแบบเฉพาะ โดยการเสริม Foundation Skills ที่โยงกับกลุ่มคนยากจนขาดแคลนโอกาสที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรเป็น 3+2 ได้แก่ ทักษะดิจิทัล ทักษะรู้หนังสือ และทักษะอารมณ์และสังคม แล้วควรเพิ่มความรู้ทางการเงิน (financial literacy) และมีตัวย่อยคือความรู้ในการลงทุน (Investment literacy)  เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ในการลงทุนจะลดการใช้จ่ายเงิน ลดการซื้อหวย ลดการดื่มเหล้า จะทำให้เงินนี้ออกดอกออกผลได้  

นอกจากนี้ยังมีตัวแถมที่สาม คือเรื่อง สุขภาพ และมาตราเสริมเรื่องอินเทอร์เน็ต โดยการมีอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับคนกลุ่มเปราะบาง  เพราะจะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้อย่างมาก

ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า คำถามที่ว่าเราต้องลงทุนอย่างไรหรือใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ เพื่อกู้วิกฤตทักษะประชากร คำตอบคือ “ใช้ให้เต็มที่ที่สุด” แต่ใจความสำคัญคือเราต้องทำอย่างชาญฉลาด ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

“ผมคำนวณดูอินโดนีเซียใช้ 9,000 บาทต่อคน ลองใช้ตัวเลขนี้กับคนไทย ด้วยตัวเลขผู้ที่การศึกษาต่ำกว่า ม 3 ราว 20 ล้านคน ใช้เงินน่าจะไม่ถึงแสนล้าน จริง ๆ อาจไม่ต้องใช้ถึงแสนล้าน เพราะทักษะแบบนี้โดยหลักการไม่จำเป็นต้องถูกฝึกใหม่ทุกปี

ดังนั้นงบประมาณจะประมาณ 60,000 ล้าน ประเด็นเรื่องเวลา คนจนไม่มีเวลาเรียนถึง 16 ปี ถ้าเราทำ platform ดี ๆ เด็กจากครอบครัวยากจนเรียน 6 ปี ไม่ถึง 10 ปี สามารถเก่งเรื่องทักษะพื้นฐานชีวิต ก็สามารถหาความรู้ด้วยตัวเองได้”

ดร.แบ๊งค์​ ​งาม​โชติ​อรุณ ​ผู้​อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียสามารถพัฒนา​ทักษะ​แรงงาน​หลังวิกฤตโควิด​19 ระบาดด้วยโครงการชื่อ Kartu Prakerja (Pre-employment card) หรือเรียกย่อ ๆ​ ว่า Prakerja

โดยโครงการนี้ คือ ความร่วมมือที่ภาครัฐและเอกชน ช่วยกันสร้างเครื่องมือพัฒนา​ทักษะ​แรงงานที่สามารถแรงจูงใจให้​ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อยากเข้ามาเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะของตัวเองอย่างเป็นระบบ และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สามารถปรับทักษะของประชาชนได้มากถึง 17.5 ล้านคน​  ในเวลาเพียง 3 ปี และเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด19

ดร.แบ๊งค์ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ โครงการนี้สามารถสร้างทักษะที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคเอกชน สามารถสร้างระบบตลาดความรู้หรือแพลตฟอร์ม (Platform and Marketplace) ที่มีคุณภาพช่วยจัดการเรียนรู้ ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ มีระบบคัดสรรผู้ให้บริการอบรมทักษะ ทั้งภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน

โดยระบบดังกล่าว มีความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ มีระบบฐานข้อมูลประชาชนแยกตามรายได้ และข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการประเมินทักษะก่อนเรียนและแนะนำวิชาเรียนที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกเรียนอะไรหรือปรับทักษะใด และสามารถสร้างแนวทางกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วม เรียนจนจบหลักสูตรและสอบผ่าน

โดยการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินเครดิตทุนการศึกษาให้กับผู้สอนเพียง 30% และกำหนดให้ได้รับเครดิตอีก 70% ได้หากสามารถผลักดันให้ผู้เรียนสามารถเรียนจนจบหลักสูตรและสอบผ่านมีการจ่ายเงินให้ผู้เรียนเพื่อระบบประเมินและติดตามผล

“หลังดำเนินโครงการ Prakerja​ เพียงปีเดียว ก็สามารถสร้างกลไกในการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง​ที่อยู่ล่างสุดของสังคม​ และดึงเอกชนมาร่วมทำงาน​ มีผู้ผลิตเนื้อหามากถึง 181 หน่วยงาน สามารถสร้างสรรค์วิชาทั้งสิ้น 1,957 รายการสำหรับผู้เรียนราว 5.9 ล้านคนต่อปี” ดร.แบ๊งค์กล่าว

ขณะที่ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ระบุว่า เวลาพูดถึงภาพรวมระบบการศึกษาจะพูดถึงเด็กและเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียนภายใต้ระบบการศึกษาภาคบังคับ 15 ปีเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคน แต่ไทยยังมีเด็กเยาวชนวัยแรงงานที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนจำนวนมากถึง 20.2 ล้านคน และมีกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา ไม่อยู่ในระบบการจ้างงาน อยู่บ้านเฉย ๆ เรียกว่ากลุ่ม NEET (Youth not in education , employment , or training) ราว 1.3 ล้านคน หรือราว 14.8%

ทั้งนี้ การจะทำให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางนโยบายต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนทุกช่วงวัย แผนการพัฒนาการศึกษาต้องมีมุมมองกว้างกว่าเขตรั้วโรงเรียน การศึกษาตลอดชีวิตเรื่องการทำงานต้องมีการเชื่อมโยงทั้งแนวตั้ง เช่น หน่วยจัดการเรียนรู้ มาตรฐาน การประเมิน คุณภาพผู้สอน และแนวนอน เช่น หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ รัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น หลักสูตร โอกาสของตลาดแรงงาน

“โจทย์นี้ใหญ่มาก คงทำงานด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ ไทยต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่มาทำเรื่องนี้เหมือนอินโดนีเซียที่มี Prakerja เป็นเจ้าภาพทำงานกับดีมานด์ซัพพลาย ใช้กลไกตลาดสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยากปรับทักษะ มีการคัดเลือกหลักสูตรต่าง ๆ เชื่อมโยงการทำงานทั้งแนวนอนและแนวตั้ง คือทำทุกช่วงวัย มองตั้งแต่เด็กเยาวชนที่อยู่ในระบบ 15 ปีแรก จนถึงกลุ่มที่ต้องมีชีวิตอยู่อีก 50 ปีหลัง การออกแบบกลยุทธ์ของประเทศไทยต้องมีการเชื่อมต่อกันระหว่างช่วงวัยและระบบการศึกษาลักษณะต่าง ๆ ทั้ง ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และอื่น ๆ”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/3/2567

แรงงานประท้วง ทวงค่าจ้าง หลัง ITD ค้างจ่าย-ให้ไม่ครบหลายงวด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดการชุมนุมของแรงงานต่างด้าว ภายในไซต์งานของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อป เมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD โดยมีรายงานว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระอยู่

PPTV ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแรงงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหลายจังหวัด ได้ข้อมูลตรงกันว่า หลายไซต์งานเจอปัญหาเรื่องการจ่ายค่าจ้างตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ปรากฎว่าช่วงเดือนธันวาคม 2566 บริษัทจ่ายค่าจ้างไม่ครบตามจำนวน บางแห่งได้รับเพียง 40-70% ของค่าจ้าง และแจ้งว่าจะจ่ายส่วนที่เหลือให้ในงวดต่อไป

ต่อมาช่วงเดือนมกราคม 2567 แรงงานก็เจอปัญหาซ้ำอีก โดยได้รับค่าจ้างไม่ตรงตามวันที่กำหนด จากเดิมที่ได้ทุกวันที่ 5 และ 20 ของทุกเดือนก็ถูกเลื่อนออกไปอีก 2-3 วัน กระทั่งงวดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 แรงงานหลายไซต์งานไม่ได้รับค่าจ้าง และเลื่อนมาจนชนงวดวันที่ 5 มีนาคม 2567 แต่สุดท้ายบางไซต์งานก็ยังไม่มีการจ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด ทำให้เกิดการประท้วงชุมนุมจากแรงงานบางแห่ง

แรงงานหลายคน เปิดเผยกับ PPTV ว่า การค้างจ่ายค่าจ้างส่งผลกระทบโดยตรงกับแรงงาน บางรายไม่มีเงินจ่ายค่างวดรถ ค่าที่พัก ทำให้ต้องไปกู้เงินจากที่อื่นมาจ่าย รวมถึงต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้น

เมื่อตรวจสอบไปที่เพจเฟซบุ๊กของบริษัท ยังพบผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ในลักษณะทวงค่าจ้าง แจ้งเรื่องการผิดนัดชำระค่าจ้าง ในโพสต์ต่างๆ อีกด้วย

ขณะที่การตรวจสอบความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย ยังพบว่า ไซต์งานบางแห่ง ยังมีการนำข้าวสาร อาหารแห้ง มาแจกจ่ายให้กับคนงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.45 น. PPTV ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่า ทางสำนักงานใหญ่ยังไม่ได้รับรายงานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีข้อมูลเพิ่มเติม จะแจ้งรายละเอียดกับสื่อมวลชนในภายหลัง

ที่มา: PPTV, 8/3/2567

“กลุ่มแรงงานหญิง” บุกยื่นหนังสือทำเนียบ เนื่องในวันสตรีสากล เรียกร้องเพิ่มวันลาคลอด -ยกเลิก กม.เลือกปฏิบัติ-อุดหนุนงบแจกผ้าอนามัยฟรี ตัวแทนรับผิดหวังถูก จนท.สกัด ไม่ให้ใกล้ทำเนียบ

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง พร้อมเครือข่ายสตรี นัดรวมตัวยื่นหนังสือ เนื่องในวันสตรีสากล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องคุ้มครองไม่ให้ผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลหลากหลายทางเพศ ถูกกระทำรุนแรงหรือปฏิบัติไม่เป็นธรรม 6 ข้อ ประกอบด้วย

1.ให้รัฐบาลต้องรับประกันสิทธิลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างตลอดการลา และจัดวันหยุดให้คู่ชีวิตทุกเพศลาเพื่อเลี้ยงลูกได้อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงจัดให้มีสวัสดิการแม่และเด็กอย่างเหมาะสมถ้วนหน้า

2. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องทำหน้าที่เป็น “หลักประกัน” สิทธิแรงงานของแรงงานหญิงและแรงงาน ทุกเพศ ด้วยการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

3. ยกเลิกนโยบาย กฎหมาย ธรรมเนียม ที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การตรวจครรภ์ก่อนเข้าทำงาน, การตีตราผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์เป็นคนบาปหรืออาชญากร, การตีตราผู้ขายบริการทางเพศ

5. รัฐบาลและนายจ้างต้องเพิ่มสิทธิลาเมื่อมีประจำเดือน อย่างน้อยเดือนละ 2 วัน และเพิ่มวันลารับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ทุกประเภท เช่น การยุติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การตรวจครรภ์การฝากครรภ์ และการข้ามเพศ

6. รัฐบาลและนายจ้างต้องอุดหนุนงบประมาณการแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรี ขยายบริการยุติการตั้ง ครรภ์ที่ปลอดภัยและบริการอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ และจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะที่ถูก สุขลักษณะสำหรับแรงงานสตรี และแรงงานทุกเพศที่ทำงานบนท้องถนน

ทั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้การอยู่ การยุติความรุนแรงทางเพศ เพศสภาพ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายตามกับที่ขายตามหลักสิทธิพื้นฐานมนุษยชน

ด้าน น.ส.ติมาพร เจริญสุข ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานสตรี ระบุว่าก่อนหน้านี้พรบ.เรื่องลาคลอดถูกบรรจุเข้าไปในสภาแล้ว ให้กลุ่มแรงงานมีหวัง ซึ่งไม่หวังที่จะได้วันหยุดถึง 180 วัน แต่ขอให้เป็นจุดเริ่มต้น ที่ไม่ใช่แค่ 98 วัน เพราะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูบุตร

ขณะที่ น.ส.ชนฐิตา ไกรศรีกุล ตัวแทนกลุ่มฯเราตระหนักในเรื่องของ คำจำกัดความที่กว้างขึ้น ของคำว่าวันสตรี วันนี้จึงรวมถึงข้อเรียกร้อง ของทั้งกลุ่มสตรีและของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไว้ด้วยกัน พร้อมยอมรับว่ารู้สึกผิดหวัง ที่ถูกกันไว้ไม่ให้เข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีการประสานงานมาอย่างถูกต้อง ซึ่งที่จริงแล้ว ข้อเรียกร้องในวันนี้เป็นสิทธิ์ที่กลุ่มแรงงานสตรีควรจะได้ แต่ท่าทีการรับมือของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8/3/2567

สอวช. ถกพัฒนากำลังคนแรงงานทักษะสูง ตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ในหัวข้อ “STEMPlus Platform การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย” โดยมีผู้แทนจาก สอวช. กรมสรรพากร สำนักเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่สำคัญ.

ในช่วงแรก ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงที่มาและความจำเป็นของ STEMPlus Platform กำลังคนสมรรถนะสูง ว่า จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าจำนวนแรงงานบางสาขาไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน จึงได้ออกแบบ STEMPlus Platform ขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความต้องการระหว่างผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และภาครัฐ นำไปสู่ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและอนาคต จากการดำเนินงานรับรองหลักสูตรฝึกอบรมและการจ้างงานทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ หรือ STEM มาตรการ Thailand Plus Package ผ่าน STEMPlus Platform มีการรับรองการจ้างงานทักษะสูงด้าน STEM แล้ว 5,725 ตำแหน่งงาน และมีเป้าหมายให้มีการจ้างงาน STEM เพิ่มขึ้นถึง 10,000 ตำแหน่งงานภายในปี 2567 ขณะที่หลักสูตรฝึกอบรมผ่านการรับรองแล้วกว่า 800 หลักสูตร ซึ่งมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในทักษะที่อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการแล้วกว่า 80,000 ราย และคาดว่ากำลังแรงงานของไทยจะได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นถึง 100,000 ราย ภายในปี 2567 นี้

อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้แนะนำ STEMPlus Platform บริการที่ช่วยตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และบุคคลทั่วไป อาทิ การขอรับรองการจ้างงานทักษะสูงด้าน STEM และการขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร มาตรการ Thailand Plus Package การแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน การเผยแพร่หลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. การฝากประวัติสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ และสถิติกำลังคนด้าน STEM รวมทั้งแนะนำสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ที่ สอวช. ได้รับความไว้วางใจจากกรมสรรพากรในการพิจารณารับรองการจ้างงาน STEM และการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดคล้องตามมาตรการ มาเป็นระยะที่ 3 ต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 พร้อมทั้งแนวทางการยื่นคำขอฯ ให้ผ่านการรับรอง

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและสิทธิประโยชน์สนับสนุน” โดยมี นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ร่วมด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. นางสาวเสาวคนธ์ มีแสง ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร และ ผศ.ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายกานต์ ได้กล่าวชื่นชมโครงการ STEMPlus ที่ช่วยพัฒนาบุคลากรทักษะสูงเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งได้นำเสนอแพลตฟอร์มนี้ต่อเครือข่ายนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ จากผลจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD World Competitiveness Center ล่าสุด พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับดีขึ้นในทุกปัจจัย ทั้งสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของธุรกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในด้านการศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีอันดับที่ลดลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องมาหารือกัน เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงกติกาโดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่ในทุกอุตสาหกรรมจะต้องคำนึงถึงและปรับตัว การพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เมื่อภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้อย่างแน่นอน

ด้าน ดร.กิติพงค์ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับประเด็นท้าทาย 4 อย่าง ได้แก่ 1. การเติบโตทางเศรษฐกิจช้า โดยเฉลี่ยในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 3.2% เท่านั้น 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กระทบต่อเรื่องการค้าและการลงทุน บริษัทส่วนใหญ่เริ่มสร้าง green profile เวลาจะทำความร่วมมือ จึงต้องคำนึงในเรื่องนี้ ถ้าเราเข้าไปอยู่ในกติกาโลกก็ต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้ด้วย 3. การกระจายรายได้ ยังมีกลุ่มประชากรที่อยู่ฐานของพีระมิด โดยเฉพาะคนที่อยู่ในต่างจังหวัดและชนบท ยากต่อการขยับ เราต้องทำให้กลุ่มเหล่านี้พัฒนาขึ้น และ 4. การพัฒนาคน ที่ต้องพัฒนาแรงงานทักษะสูง เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ชูพลังศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นที่หนึ่งในระดับภูมิภาคได้ใน 8 ฮับ ได้แก่ 1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว 2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ 3. ศูนย์กลางเกษตรกรรมและอาหาร 4. ศูนย์กลางการบิน 5. ศูนย์กลางการขนส่ง 6. ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต  7. ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และ 8. ศูนย์กลางการเงิน

ด้าน นางสาวเสาวคนธ์ ได้พูดถึงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนากําลังคน อาทิ การส่งเสริมการลงทุนด้วยการหักรายจ่ายการลงทุนระบบอัตโนมัติ (automation) สนับสนุนการจ้างงานทักษะสูง  โดยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% สำหรับผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ หักรายจ่ายการจ้างงานผู้มีทักษะสูงด้าน STEM ได้ 1.5 เท่า และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการหักรายจ่ายการส่งพนักงานในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างในหลักสูตรทักษะสูงได้ 2.5 เท่า

ขณะที่ ดร.อรรถวิทย์ กล่าวว่า ในแวดวงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เราได้เตรียมรับมือกับวิกฤติด้านเทคโนโลยีมาแล้วกว่า 10 ปี และติดตามสถานการณ์ด้านดิจิทัลมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าวิกฤติด้านดิจิทัลต้องมาแน่ และยิ่งในสถานการณ์ภาวะโลกเดือด สังคมผู้สูงอายุ อัตราเกิดลดลง ยิ่งต้องเร่งวางแผนพัฒนาเด็กที่มีอยู่น้อยให้มีคุณภาพสูง ซึ่งศาสตร์ทางด้านดิจิทัล จะเป็นการเพิ่มผลิตภาพการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ได้มากที่สุด แต่ที่ผ่านมาหลักสูตรต่างๆ ไม่ได้ถูกปรับปรุงมากว่า 30 ปี ดังนั้นเพื่อสนองตอบการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างแบบเดิม จึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ที่มา: เดลินิวส์, 7/3/2567

ภูมิใจไทย แจงเหตุคว่ำร่าง กม.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล หวั่นทำระบบนิเวศ ศก.พังทลาย

นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (6 มี.ค.) มีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไว้อย่างชัดเจนว่า  แรงงานเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพ การดูแลลูกจ้างต้องควบคู่กับนโยบาย SME ที่ต้องดูแลนายจ้างด้วย แรงงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกัน SME ก็ต้องได้รับการดูแล มาตรการที่จะต้องช่วยให้พวกเขาสามารถอยู่ด้วยกันเป็นระบบนิเวศ

นายภราดร กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เอง พวกตนจึงไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับของนายเซียได้ เนื่องจากแรงงานเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่การแก้ไขเฉพาะส่วน จะทำให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งผู้ประกอบการ SME ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจพังทลายลงได้ ในขณะที่ยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่จะมารองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ต้นทุนด้านแรงงานที่สูงขึ้นทันที ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะแก้กฎหมายให้เป็นไปตามที่พรรคก้าวไกลปรารถนาได้ ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมาย จะต้องมองให้รอบด้าน ไม่ใช่มองเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

ที่มา: แนวหน้า, 7/3/2567

IOM ชม รมว.แรงงาน ดูแลคุ้มครองสวัสดิการแรงงานเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน ฝากดันแรงงานทักษะไทยส่งออกตลาดต่างประเทศ

วันที่ 6 มี.ค. 2567 เวลา 09.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางสาวเจอรัลดีน อองซาร์ค (Ms. Geraldine Ansart) หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) และคณะผู้แทนจาก IOM ประจำประเทศไทยในโอกาสเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะและหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการที่กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในปี พ.ศ. 2567 เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ตลอดจนความร่วมมือในการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ และการดำเนินงานว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตลอกจนหารือแนวทางความร่วมมือระหว่าง IOM กับกระทรวงแรงงาน ในปี 2567 โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงานขอขอบคุณหัวหน้าคณะของ IOM ที่มาเข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในวันนี้ ประเทศไทยมีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีระยะทางยาวหลายกิโลเมตร ทำให้มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงาน รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงพยายามป้องกันดูแลไม่ให้มีการลักลอบเข้ามา เช่นเดียวกันกระทรวงแรงงานได้กำชับให้กรมการจัดหางานร่วมมือกับสถานประกอบการช่วยสอดส่องดูแลในทุกมิติ ไม่ให้นายจ้างกดขี่ข่มเหงแรงงาน ไม่ว่าสถานประกอบการขนาดใหญ่หรือเอสเอ็มอี นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้หากับรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรเมื่อมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่แบบผิดกฎหมาย แต่เมื่อเข้ามาแล้วเราต้องทำให้เขาถูกกฎหมาย ต้องหางาน และดูแลให้ดีที่สุด ในตรงนี้เราไม่สามารถกีดกันได้ โดยเราคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ให้สถานประกอบการ Up skill แรงงานของตัวเองไม่ว่าแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว เราทำในลักษณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าแรงงานไทยเราเป็นแรงงานที่มีทักษะความสามารถด้านการเกษตร หาก IOM คิดว่าประเทศไทยสามารถรองรับแรงงานไทยในภาคเกษตรแบบฤดูกาลได้กระทรวงแรงงานขอรับการช่วยสนับสนุนจาก IOM ในเรื่องนี้

“รัฐบาลไทยพยายามทำทุกวิถีทางในการยกฐานะของแรงงาน ไม่ว่าแรงงานที่เราส่งออกไปทำงานต่างประเทศก็ดี แรงงานที่เรารับเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ดี เราเคารพในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน” นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า

ด้าน นางสาวเจอรัลดีน อองซาร์ค (Ms. Geraldine Ansart) หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เปิดโอกาสให้คณะ IOM ได้เข้าพบเพื่อหารือในวันนี้ IOM ประทับใจในการยึดหลักสิทธิมนุษยชนแก่แรงงานข้ามชาติของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและชื่นชมการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทย ที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหลายๆ ประเทศได้ โดยเฉพาะในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของแรงงานข้ามชาติให้มีหลักประกันสังคม อย่างไรก็ตาม จากการหารือในวันนี้เราพร้อมสนับสนุนข้อมูลและประสานการทำงานกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา IOM ได้ร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ เอกชน สมาคมต่างๆ หลายองค์กรในประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานให้แรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันก็พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือแรงงานไทยให้การไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทยเป็นการโยกย้านถิ่นฐานที่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 6/3/2567

สภาฯ รับหลักการ 2 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปัดตก 1 ร่างฯ ฉบับของ ‘เซีย’

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 6 มี.ค. 67 มีการพิจารณาอภิปรายร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมี นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่มีสาระสำคัญ อาทิ ทำงานหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน ลาพักร้อนไม่น้อยกว่า 10 วันต่อปี ลาไปดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณารวมกับร่างพ.ร.บ. ทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือการเพิ่มสิทธิลูกจ้างหญิง สามารถลาคลอดได้ 180 วัน และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทยกับคณะ เป็นผู้เสนอ

หลัง สส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อภิปรายยาวนานกว่า 9 ชั่วโมง จนเวลา 20.05 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าสู่ขั้นตอนการลงมติรับหลัก โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปแยกลงมติเป็นรายร่าง ผลลงมติ ดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย สส. นายเซีย กับคณะ เห็นด้วย 149 เสียง ไม่เห็นด้วย 252 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย สส.วรรณวิภา กับคณะ เห็นด้วย 394 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย สส.วรศิษฎ์ กับคณะ เห็นด้วย 401 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง

โดยสรุป คือ ที่ประชุมสภาฯ มมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ น.ส.วรรณวิภา และ นายวรศิษฎ์ เสนอ แต่ไม่เห็นชอบร่างฉบับของนายเซีย ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 36 คน มีสัดส่วนของสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เสนอเวลาแปรญัตติ 15 วัน และที่ประชุมยังเห็นชอบ ให้ใช้ร่างฯ ฉบับที่ สส.พรรคภูมิใจไทย เสนอ เป็นร่างหลักในการพิจารณา

ที่มา: Workpoint Today, 6/3/2567

‘เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาILO8798‘ เข้าสภายื่น ‘กมธ.แรงงาน’ ให้รัฐสนับสนุน เร่งดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98

ที่รัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส..กระบี่พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การแรงงาน รับยื่นหนังสือ จาก เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญา ILO8798 เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98

โดยนายประสิทธิ์ ประสพสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญา ILO 8798 กล่าวว่า เราอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนและผลักดันให้รัฐบาลไทยลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองร่วมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนทำงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้มีความมั่นคงในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านสิทธิแรงงานในสายตาประชาคมโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้เติบโต

ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า คณะ กมธ. ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้ใช้แรงงานและการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย ซึ่งขณะนี้ทางคณะ กมธ. กำลังดำเนินการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานทั้งหมดเพื่อพิจารณาและปรับปรุงให้มีความทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และขอให้ทุกคนที่มายื่นหนังสือในวันนี้มีความตั้งใจ และอย่าทอดทิ้งในเรื่องสำคัญและสิ่งที่เป็นสาธารณะในเชิงภาพรวมของประเทศ หากไม่มีทุกคนก็คงไม่มีแกนนำที่จะเปลี่ยนกติกาที่ล้าสมัย ทั้งนี้ จะนำเรื่องต่าง ๆ นี้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะ กมธ. และจะเชิญทุกคนมาให้ข้อมูลต่อคณะ กมธ. อีกครั้ง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/3/2567

ก.แรงงาน เผยแรงงานไทยบาดเจ็บ 5 ราย เหตุสู้รบชายแดนประเทศเลบานอน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ฝ่ายแรงงานได้รับแจ้งโดยสรุปว่า เหตุการณ์สู้รบชายแดนประเทศเลบานอน มีแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้นจำนวน 5 คน ในจำนวนนั้นมีแรงงานที่บาดเจ็บอาการหนักปานกลาง 3 ราย ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล Rambam เมือง Haifa ได้แก่ 1.นายณรงค์ฤทธิ์ โดนสะเก็ดระเบิดเข้าบริเวณโคนลิ้น 2. นายชัยวัฒน์ โดนสะเก็ดระเบิดตามตัว และ 3.นายฉัตรชัย ขาหัก อีก 2 คน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ออกจากโรงพยาบาลไปพักรักษาตัวในที่ปลอดภัยแล้ว โดยทางการอิสราเอล ได้ดูแลรักษา 3 คนที่บาดเจ็บหนัก เป็นแรงงานที่เคยกลับไทยครั้งที่แล้ว และไปทำงานอีกครั้งในพื้นที่ด้านเหนือติดเลบานอน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีใครคาดคิดว่าจะโดนทิ้งระเบิด สำหรับแรงงานทั้ง 5 คน เมื่อรักษาหายแล้ว จะทำงานต่อที่อิสราเอล เพราะนายจ้างดูแลดีและมีค่าจ้างตอบแทนดี

ส่วนที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่ามีผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นคนอินเดียไม่ใช่แรงงานไทย สำหรับการอพยพแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล 9,500 คน ครั้งที่แล้วจ่ายสงเคราะห์ไปแล้ว 98 เปอร์เซนต์ มีกลับไปทำงาน 1,000 คน โดยกลับไปทำงานเป็นเชฟและทำงานภาคการเกษตร

รมว.แรงงาน ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงแรงงานพยายามหาประเทศที่เป็นตลาดแรงงานใหม่ให้กับแรงงานไทยที่มีความปลอดภัย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/3/2567

สภาพัฒน์ แนะเพิ่มค่าแรงตามทักษะแรงงาน ดีกว่าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การจ้างงาน ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 0.81% หรือมีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน โดยลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน

“อัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 2566 ลดลงเหลือ 0.98% กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2562 หลังจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2563-2565 อัตราการว่างงานไทยสูงกว่าระดับ 1% มาโดยตลอด” นายดนุชากล่าว

ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% สอดคล้องกับจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 46.9 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 1.1% และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา (OT) หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ที่ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1%

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมไตรมาส 4 ปี 2566 กลับ ลดลง 0.2% อยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน โดยค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ

“เพื่อปัญหาเหล่านี้ ภาครัฐควรต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น Upskill และ Reskill นอกจากนี้ยังเสนอให้มีโครงการอบรมแรงงานระยะสั้น ๆ 3-6 เดือน เพื่อช่วยยกระดับรายได้แรงงานต้องทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามฐานของทักษะที่เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เราต้องทำให้แรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้นมากกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ” ดนุชากล่าว

ตามข้อมูลของสภาพัฒน์ยังระบุอีกว่า สัดส่วนแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled Labour) ในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนถึง 43.6% ในปี 2565 ของกำลังแรงงานทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 โดยสาเหตุอาจมาจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเดิม (Traditional Industries) ไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New Industries)

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/3/2567

บอร์ดร่วมถกทิศทาง “ประกันสังคม” เพิ่มรายได้บริหารกองทุน 1.2 แสนล้าน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคม ภายใต้นโยบาย “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

โดยคณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มีทั้งสิ้น 7 คณะ ซึ่งในวันนี้มาร่วมประชุมจำนวน 5 คณะ คือ คณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการอุทธรณ์ กองทุนประกันสังคม คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และคณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน ขณะที่อีก 2 คณะ คือ คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์กองทุนเงินทดแทน อยู่ระหว่างการสรรหาเนื่องจากหมดวาระ

นอกจากนั้นมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดทิศทางเป้าหมายให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายสำคัญของรัฐบาล มอบแนวทางแด่สำนักงานประกันสังคมในการขับเคลื่อนนโยบายที่ต้องเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ภายใต้นโยบาย “มุ่งเน้นการบริการที่ได้มาตรฐาน วินิจฉัยโรคที่แม่นยำรวดเร็ว สะดวกสบาย และมีการติดตามผล พร้อมคุ้มครอง ดูแลและสร้างสวัสดิการที่ดี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน”

กระทรวงแรงงาน โดยประกันสังคม พร้อมเตรียมเดินสายพบสหภาพแรงงาน หรือออกหนังสือหารือ ในการสร้างสวัสดิการที่ดี เป็นประโยชน์กับผู้ประกันตน โดยกำหนดมีรายละเอียดแนวทาง 4 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

1. นโยบายด้านการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้ประกันตน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีมาตรฐานสากล พร้อมพัฒนาและยกระดับสิทธิการรักษา รวมถึง สวัสดิการของงานด้านประกันสังคม ที่มีความทันสมัย และตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน ผ่านโครงการ MICRO FINANCE : ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน

2. นโยบายเชิงรุกเพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีสำหรับผู้ประกันตน โครงการตรวจสุขภาพเชิงรุก ณ สถานประกอบการ ที่มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองโรคที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มาใช้เพื่อการคัดกรองโรคอันตราย ณ สถานประกอบการ

3. นโยบายด้านการยกระดับงานด้านการบริการ “รวดเร็ว สะดวกสบาย และ มีการติดตามผล” สู่การพัฒนา BEST E-SERIVCE ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ ยกระดับการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตนในการรับบริการ

มีการพัฒนาระบบ TELE–MEDICINE เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการได้รับการบริการด้านการรักษาพยาบาล และช่วยลดความแออัด ณ สถานพยาบาล และการพัฒนาระบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าบริการของผู้ประกันตน ณ สำนักงานประกันสังคม และโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการพัฒนาและระดับงานด้านการบริการและรักษาพยาบาล

4. นโยบาย “กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน” เพื่อการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยั่งยืน

โดยส่วนแรก คือ การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน พร้อมเร่งศึกษาพัฒนาแพ็กเกจด้านประกันสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตนยุคใหม่ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกันตนให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระ หรือมาตรา 40

ส่วนที่สอง คือ พัฒนาด้านการลงทุนที่มีประสิทธิภาพให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่มากกว่าปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน จาก 2.4% เป็น 5% หรือจากปีละ 60,000 ล้านบาท เป็น 120,000 ล้านบาท ไต่ระดับขึ้นไปตั้งแต่ปี 2567-2570 นำไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กันผู้ประกันตน

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า ได้เสนอแนวทางให้คณะกรรมการของสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการพิจารณา ดังนี้

1. คณะกรรมการประกันสังคม พิจารณาแนวทางให้นายจ้างสร้างหลักประกันสังคมให้กับลูกจ้าง โดยขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างครบถ้วน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามกฎหมายครบถ้วน

2. คณะกรรมการการแพทย์ พิจารณาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของลูกจ้างหรือผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิไม่ด้อยกว่าหรือดีกว่ากองทุนอื่น รวมถึงศึกษานวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ

3. คณะกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาคำอุทธรณ์ของลูกจ้าง นายจ้าง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยความรวดเร็ว แต่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย และการวินิจฉัยสิทธิประโยชน์ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

4. คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน พิจารณาเรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน พัฒนามาตรการหรือสร้างแรงจูงใจในการลดอุบัติเหตุจากการทำงาน

5. คณะกรรมการตรวจสอบกองทุนเงินทดแทน พิจารณาแนะนำแนวทางการกำกับ ตรวจสอบ และวางระบบการบริหารกองทุน ให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเชื่อมั่นให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของงานในวันนี้เพื่อให้คณะกรรมการได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาระบบงานประกันสังคม เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และได้รับความไว้วางใจ ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง และผู้ประกันตน

“สำนักงานประกันสังคมพร้อมยกระดับกองทุน และพร้อมขับเคลื่อนตามนโยบาย ร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงทางสังคมต่อไป”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/3/2567   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net