Skip to main content
sharethis

แรงงานหญิงเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ ปชต. ไปทำเนียบ ยื่นหนังสือถึง 'เศรษฐา' แก้ไขปัญหาถูกนายจ้างลอยแพ ค้างค่าชดเชย-ค่าจ้าง รวม 279 ล้าน ผู้เสียหายรวมพันกว่าราย ขอรัฐช่วยจ่ายเงินชดเชยก่อนแล้วค่อยไปฟ้องคดี 3 บริษัทมาจ่ายคืนรัฐ

เมื่อเวลา 10.45 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อดีตผู้ใช้แรงงานที่ถูกลอยแพจาก 3 บริษัทบริษัทสิ่งทอ ประกอบด้วย อัลฟ่าสปินนิ่ง เอเอ็มซีสปินนิ่ง และบอดี้แฟชั่น เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อไปยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยเหลือติดตามดำเนินคดี และชดเชยค่าจ้าง โบนัส ค่าชดเชยเลิกค่าจ้าง จากนายจ้างต่างชาติ โดยมีผู้เสียหายเป็นแรงงานจำนวนกว่า 1พันคน และมีมูลค่าเสียหายจำนวนกว่า 279 กว่าล้านบาท ซึ่งนายจ้างค้างจ่ายกว่า 4 ปี 

ปัจจุบัน เวลา 11.15 น. ขบวนแรงงานเดินถึง ถนนนครสวรรค์ ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนระอุ

เมื่อเวลา 11.39 น. ขบวนหยุดพักบนถนนนครสวรรค์ ก่อนถึงแยกนางเลิ้ง ก่อนเลี้ยวขวาเข้าถนนพิษณุโลก เพื่อให้เข้าถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในคำแถลงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้ง 3 บริษัทได้ขอให้รัฐบาลช่วยเร่งอนุมัติจ่ายเงินงบกลางหรือเงินอื่นใดในการเยียวยาคนงานทั้ง 3 บริษัทในอัตราตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก่อน จากนั้นให้ดำเนินคดีต่อนายจ้างทั้ง 3 บริษัทเพื่อนำเงินจากนายจ้างมาใช้คืนกับรัฐบาล

ในข้อเรียกร้องอ้างถึงผลการประชุมร่วมกันระว่างกลุ่มผู้ใช้แรงงานกับทางกระทรวงแรงงานโดยมีพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีและอารี ไกรนรา เลานุการรัฐมนตรีร่วมประชุมด้วยไปเมื่อ 22 ธ.ค.2566 จนได้ข้อสรุปที่จะต้องมีการดำเนินการ 2 ข้อดังนี้ 

  1. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะจัดประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในวันที่ 28 ธ.ค.2566 เพื่อแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่าย พ.ศ.2565 ในอัตราที่สูงขึ้นจากระเบียบเดิม
  2. กระทรวงแรงงานจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมาจ่ายให้แก่ลูกจ้้างทั้ง 3 บริษัท เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิครบถ้วนตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ในแถลงก็ระบุด้วยว่าหลังการประชุมกลับไม่มีการดำเนินการตามผลของที่ประชุม ไม่มีการดำเนินคดีต่อนายจ้างและไม่ติดตามการทำให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ในคำแถลงยังระบุถึงจำนวนของคนงานของแต่ละบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างเอาไว้ด้วย โดยบริษัทอัลฟ่าสปินนิ่งมีการเลิกจ้างคนงาน 132 คน บริษัทเอเอ็มซีสปินนิ่งเลิกจ้างคนงาน 153 คน และบริษัทบอดี้แฟชั่นมีจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างมากที่สุดคือ 1,174  คน และทาั้งสามบริษัทยังไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้คนเหล่านี้อีกทั้งกระทรวงแรงงานก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายตามมมาตรา 118 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอีกด้วยด้วย

ถึงทำเนียบ แต่ติดด่านตำรวจกั้น

เวลา 12.43 น. ขบวนแรงงานถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกตำรวจนำรั้วเหล็ก และรถกระบะ ตั้งสกัด ทำให้แรงงานต้องปักหลักที่เชิงสะพานท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมสายแรงงาน จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวถึงที่มาที่ไปของการทำกิจกรรมครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้ว (2566) ที่อดีตคนงาน 3 บริษัท ได้แก่ อัลฟ่าสปินนิ่ง เอเอ็มซีสปินนิ่ง และบอดี้แฟชั่น ไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงแรงงาน ดินแดง และมีการพักค้างคืน 1 คืน ซึ่งวันนั้นทางแรงงานได้ข้อตกลงกับกระทรวงแรงงาน 2 ข้อที่มีความสำคัญ

ธนพร ระบุว่า ข้อแรก ทางกระทรวงแรงงานจะไปปรับแก้ไขเพดานเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อนำมาชดเชยให้แรงงานที่ถูกลอยแพ จากเดิมได้แค่ 90 วัน และกระทรวงแรงงานมีหนังสือออกมาว่า ตกลงที่จะพิจารณาปรับเพิ่มเท่าไรไม่ทราบ เพราะไม่ได้ระบุ แต่พอมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างออกมา บอกว่าไม่ให้ผ่าน เนื่องจากคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐ ไม่อนุมัติ เหมือนโดนเบี้ยวเพราะตอนแรกกระทรวงแรงงานระบุแล้วว่าจะปรับเพิ่ม แค่ไม่ได้ระบุว่าเพิ่มเท่าไร 

แกนนำเครือข่ายแรงงานฯ ระบุต่อว่า ข้อสอง กระทรวงแรงงานระบุว่าจะมีการนำเรื่องเสนออนุมัติงบประมาณกลางเยียวยาอดีตคนงาน 3 บริษัทที่ถูกลอย รวมกว่าพันคน รวมมูลค่า 279 ล้านบาท เสนอที่ประชุม ครม. โดยเร็วที่สุด ทางกระทรวงแรงงานแจ้งว่าไม่เกิน 1 เดือน แต่ตอนนี้ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าการนำเรื่องนี้เข้า ครม. เลยคิดว่ามันต้องมาตามว่ารัฐบาลจะเอายังไง เพราะว่ามันนานมากแล้ว และคนงานเขาก็ได้รับผลกระทบเยอะ

ธนพร กล่าวว่า สำหรับการมาเดินขบวนวันนี้ เธอยืนยันหลักการว่า 2 ข้อที่เคยให้ข้อตกลงไว้ ต้องนำไปปฏิบัติ เอาวาระพิจารณางบประมาณกลางเยียวยาคนงานที่ถูกลอยแพ 3 บริษัทเข้าที่ประชุม ครม. 

ทางแรงงานตั้งคำถามด้วยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณกลางเยียวยาแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอล เลยเห็นว่า ครม.สามารถทำแบบนั้นในกรณีนี้ได้ ไม่ยากสำหรับแรงงาน คนหนึ่งได้เยียวยาคนละประมาณ 1-2 แสนบาท ซึ่งแรงงานที่อิสราเอลได้รับเยียวยา แต่กรณีของ เอเอ็มซีสปินนิ่ง อัลฟ่าสปินนิ่ง และบอดี้แฟชั่น ไม่ได้ความช่วยเหลือเลย มันเลยเป็นที่มาที่ต้องมาตาม และมีความหวังว่าจะได้เจรจากับรัฐบาลว่า วาระที่จะเข้า ครม. ในเรื่องงบประมาณกลางเมื่อไร ไม่ได้มาแค่ยื่นหนังสือ

ธนพร วิจันทร์

ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ธนพร ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลนี้โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานควรจะเปิดพื้นที่ในการแก้ไขปัญหามากขึ้น มันต้องดูว่าต้นเหตุของปัญหามันคืออะไร ไม่ใช่แก้ไขปัญหาแบบเจอเคสแก้ๆ ไป แต่ทำไมนายจ้างถึงโกงเงินค่าจ้างตลอดทุกปีทุกชาติ มันควรจะแก้ไขปัญหาได้แล้ว จะเก็บเงินจากรัฐหรือนายจ้าง ตอนเขามีกำไรมาเป็นกองทุนประกันความเสี่ยงไหม ประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง ถ้าเขาเลิกจ้าง ไม่มีเงินก็ใช้เงินจากกองทุนนี้ไป ถ้าเขามีเงินจ้าง ก็ต้องเอาเงินนี้คืนให้กับเขาไปเมื่อเขาปิดกิจการ แต่วันนี้รัฐไม่คิดจะทำ ไม่แก้ไขปัญหาระยะยาว การแก้ไขปัญหาเรื่องของแรงงานมันต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ไม่ใช่แก้ไขแบบกรณีต่อกรณีไป มันไม่มีวันจบ ก็เห็นสื่อมวลชนมา เขาจะเห็นเรามาตลอด มาตามอีกแล้วเรื่องเดิมๆ 

นอกจากนี้ ธนพร ได้กล่าวถึงการพยายามขัดขวางการเข้าทำหน้าทำเนียบรัฐบาลของตำรวจชุดควบคุมฝูงชน เธอสะท้อนว่าแรงงานตั้งแต่อดีตปัจจุบันไม่มีพื้นที่ได้แสดงออกถึงปัญหาของตัวเอง หรือเสรีภาพทางการเมือง ตั้งแต่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเมื่อปี 2542 หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันก็ตาม กลับกัน เธอมองว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กลับให้พื้นที่กับนายทุน และผู้ประกอบการมากกว่าแรงงาน ซึ่งสะท้อนจากการพยายามคว่ำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ... ฉบับของพรรคก้าวไกล

ยุติการชุมนุม คาดเข้า ครม. 4 เม.ย. 67

การปักหลักชุมนุมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเวลา 17.40 น. ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งขบวนแรงงานได้ปักหลักชุมนุมรอยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนอดีตแรงงาน 3 บริษัท ประกอบด้วย เอเอ็มซีสปินนิ่ง อัลฟ่าสปินนิ่ง และบอดี้แฟชั่น จำนวนประมาณ 10 คน เข้าไปหารือเพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาแรงงานถูกลอยแพ และไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ค่าชดเชย โบนัส เงินค่าล่วงเวลา และอื่นๆ ที่นายจ้างค้างจ่าย

จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.10 น. ขบวนแรงงานที่ปักหลักเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เห็นว่าแกนนำแรงงานเข้าไปหารือนานจนผิดสังเกต จึงลอดแนวรั้วเหล็กตำรวจที่กลางสะพานชมัยมรุเชฐ จนตำรวจ คฝ.ต้องเข้ามาตั้งแนวสกัดขบวนแรงงานไม่ให้เดินต่อประชิดทำเนียบรัฐบาล

ภาพโดย สหภาพคนทำงาน

อย่างไรก็ตาม เวลา 20.51 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า แกนนำแรงงานได้หารือกับเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นแล้ว และได้เดินออกมาแจ้งข่าวกับขบวนแรงงานที่ปักหลักที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

นอกจากนี้ ในเอกสารรับเรื่องราวร้องทุกข์นั้นได้มีการระบุผลการหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาแรงงานถูกนายจ้างต่างชาติลอยแพ มีรายละเอียดดังนี้ 

1.มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามดำเนินคดีอาญากับนายจ้างของ 3 บริษัท 

2.กรณีที่กระทรวงแรงงานเสนองบประมาณในการเยียวยาลูกจ้างที่ถูกลอยแพ 3 บริษัท เข้าสู่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (สมคิด เชื้อคง) รับประสานงาน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณคณะกรรมการนโยบายบริหารทุนหมุนเวียน ในการทำความเห็นประกอบการเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อย่างเร่งด่วน โดยคาดว่า 5 หน่วยงานดังกล่าวจะส่งความเห็นกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 20 มี.ค. 2567 และเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 4 เม.ย. 2567

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และเป็นหนึ่งในตัวแทนที่ได้ร่วมหารือ ระบุว่า เหตุที่ประชาชนเข้าลอดรั้วเข้าไปหลังแนวรั้วเหล็กตำรวจควบคุมฝูงชน เนื่องจากประชาชนเห็นว่าแกนนำเข้าไปหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐนานมาก จึงกรูเข้ามาเนื่องจากกังวลเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นกับแกนนำแรงงาน 

ธนพร ระบุว่า เจรจาจบตั้งแต่ 18.00 น. แต่ทำเอกสารประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า โดยที่ช้าเนื่องจากเจ้าหน้าที่พิมพ์เอกสารช้า ซึ่งทางแกนนำก็รู้สึกหงุดหงิดเช่นกัน เพราะเป็นแค่เอกสารหน้าเดียว 

สมาชิกเครือข่ายแรงงานฯ ระบุว่า วันนี้เป็นไปตามเป้าหมายของการทำกิจกรรม และได้ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net