Skip to main content
sharethis

บอร์ดประกันสังคม (ปสค.) ชุดใหม่ ประชุมกับ รมต.แรงงาน นัดแรก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับประกันสังคม เสนอตั้งอนุกรรมการแบบกำหนดเวลาพิจารณา พ.ร.บ. ประกันสังคมใหม่

 

4 มี.ค. 2567 ทีมสื่อคณะกรรมการประกันสังคม และสื่อ The Reporters รายงานวันนี้ (4 มี.ค.) เวลา 9.30 น. กระทรวงแรงงาน ดินแดง กทม. คณะกรรมการประกันสังคม ได้เข้าประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องสำนักงานประกันสังคม 

หลังการประชุม เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวระบุประเด็นหารือกับคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ตัวแทนนายจ้างและผู้ประกันตน 7 คน และคณะกรรมการอีก 5 คณะ

พิพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ขอเข้าไปหารือก่อน เพื่อให้มีการรับทราบว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้มีการกำหนดนโยบายร่วมกันกับคณะกรรมการแต่ละชุด ด้วยตัวเอง เพื่อให้มีความชัดเจนในการดำเนินนโยบายร่วมกัน หรือถ้าเรื่องหารือเยอะมาก ก็สามารถหารือนอกรอบ นัดหารือเป็นคณะๆ หรือเป็นชุดๆ ไปได้  

พิพัฒน์ ระบุว่า ประเด็นแรกที่มีการหารือวันนี้คือการขยายสิทธิประโยชน์ของบอร์ดประกันสังคม มาตรา 33 39 หรือ 40 ผู้ประกันตนควรมีสิทธิอย่างไรนั้น ในเมื่อมีคณะกรรมการชุดใหม่ ตนก็อยากให้คณะกรรมการฯ ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งหารือว่าอะไรที่ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเพิ่มขึ้น ก็ให้ส่งประเด็นให้คณะกรรมการแต่ละชุด เช่น คณะกรรมการชุดการแพทย์ หรืออื่นๆ แต่ขอให้มีการเริ่มต้นเรื่องมาก่อน 

'พิพัฒน์' แจง รมต.ไม่มีสิทธิยกเลิกเลือกตั้งบอร์ดฯ 

รมว.กระทรวงแรงงาน อยากชี้แจงกรณีที่จะมีการลกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ซึ่งระบุในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่นั้น พิพัฒน์ ระบุว่า ร่างดังกล่าวร่างขึ้นในช่วงรัฐบาลที่แล้วเมื่อปี 2564 ช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด และมีการนำเสนอตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่ทันการณ์ รัฐบาลยุบสภาฯ เสียก่อน จึงมีการเสนอสภาฯ ในรัฐบาลนี้ 

พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เขาอยากทำความเข้าใจว่า เขาจะเอาอำนาจหรือสิทธิอะไรเพื่อยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และการยกเลิกหรือไม่ยกเลิกตรงนั้น คณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันนี้จะต้องลงมติใช้มาตรา 9 เพื่อให้มีการยกเลิกมาตรา 8 ไปใช้มาตรา 3 ซึ่งก็คือการไม่มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม แต่ตอนนี้คำที่หายจากร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่ คือ “เหตุสุดวิสัย” เช่น ภัยสงคราม หรือโรคระบาด สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้

ยกตัวอย่าง กำลังจะมีการเลือกตั้งประกันสังคม เกิดภาวะสงครามขึ้นมาจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ก็จะต้องให้คณะกรรมการประกันสังคมลงมติฯ ให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหา บอร์ดประกันสังคมชั่วคราวเพื่อทำงานไปก่อน เพราะประกันสังคมมีผู้ประกันตน 20 กว่าล้านคน ทำให้ไม่สามารถหยุดทำงานหรือหยุดประชุม เพราะฉะนั้น จึงต้องคณะรักษาการในช่วงนั้น จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ 

รมว.กระทรวงแรงงาน ระบุว่า เขามีความจำเป็นต้องเสนอร่างเข้า ครม. เพราะเขาไม่อยากถอนร่างและเริ่มเสนอร่างใหม่ตั้งแต่แรก เนื่องจากใช้ระยะเวลานานถึง 1 ปี กว่าจะนำเข้า ครม.ใหม่ ซึ่งได้ข้อตกลงว่า ถ้า รมว.กระทรวงแรงงานเบี้ยวไม่ทำตาม สามารถตีตกได้ในชั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งตรงนี้เขาจะตั้งข้อสังเกตใน ครม. ตรงนี้ขาดคำว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ โดยให้ที่ประชุม ครม. ผ่านร่างฯ ไปก่อน เพื่อให้ชั้น กมธ. เติมคำว่า ‘เหตุสุดวิสัย’ เพื่อให้คณะกรรมการประกันสังคมถึงจะมีการใช้มาตรา 9’  

เพิ่มสัดส่วนการลงทุนกองทุน

พิพัฒน์ ได้กล่าวถึงปัญหากองทุนประกันสังคมอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลายในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือคิดทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งอาจจะต้องมีการพิจารณาขยายเพดานกองทุนออกไป จากการจัดเก็บ 1.5 หมื่นบาท ขยายเป็น 17,500 บาท หรือ 20,000 บาท และพนักงานบริษัทเอกชนจากการขยายอายุประกันสังคม เดิมที่อายุ 55 ปี อาจต้องขยายเป็นอายุ 60 ปี 

ต่อมา พิพัฒน์ ระบุว่า เขาได้ให้นโยบายดอกผลของกองทุนประกันสังคมปัจจุบัน เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในอัตรา 60 ต่อ 40 โดย 60 เป็นสินทรัพย์ไม่เสี่ยง เช่นกองทุนต่างๆ หรือลงทุนพันธบัตร และ 40 สินทรัพย์เสี่ยง แต่มีข้อกำกับกฎเกณฑ์ประกันสังคม ต้องลงทุนในเรทติ้งของบริษัท หรือกองทุนอะไรก็แล้วแต่ ต้องได้รับการประเมินไม่ต่ำกว่า 'BBB' ยกตัวอย่างง่ายๆ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารกสิกรไทย 

รมว.กระทรวงแรงงาน ระบุว่า สุดท้ายเรื่องแพลตฟอร์ม ซึ่งทางคณะกรรมการประสังคม ฝ่ายนายจ้าง ทักท้วงต่างๆ อยากชี้แจงว่า แพลตฟอร์มทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จสิ้นปี 2568 ซึ่งจะทำให้ภายในกระทรวงแรงงานทุกกรมสามารถติดต่อถึงกันได้ และพยายามทำระบบติดต่อระหว่าง 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งตอนนี้มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง 4 กระทรวงแล้ว

ต่อประเด็นการปรับเพดานการเก็บเงินสมทบทุนกองทุนประกันสังคมที่ประชาชนไม่พอใจนั้น พิพัฒน์ กล่าวว่า จะมีการหารือกับปลัดกระทรวงแรงงานว่าทำอย่างไรให้ได้ผลออกมาเร็วที่สุด แต่สุดท้ายเขาคิดว่า เรื่องเหล่านี้เขาจะผลักให้คณะกรรมการประกันสังคมรับทราบ และนำไปหารือ 

ต่อประเด็นของความมั่นคงของเงินกองทุนประกันสังคมนั้น พิพัฒน์ ระบุว่า ตอนนี้เงินในกองทุนประกันสังคมยังอยู่ในจุดที่พีค (เก็บเงินสมทบทุนต่อปี 2 แสนล้านบาท และเก็บได้ต่อปี 6-7 หมื่นล้านบาท) และไต่ระดับขึ้นไปอยู่ แต่คงใช้ระยะเวลาไม่นานจะถึงจุดสูงสุด เมื่อเช้าได้หารือว่าเมื่อถึงจุดสูงสุดแล้ว มีการประเมินว่ามันจะเดินไปในแนวราบหรือเป็น ‘V - Shape’ คว่ำหัว ซึ่งจะอันตรายถ้ามันดิ่งลงมาเลย แต่ถ้าเป็นตัว U ยังเป็นแนวราบสักช่วงหนึ่งก่อน ค่อยลงมา ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลาเตรียมการ แต่คิดว่าไม่ควรรอให้ถึงวันนั้น เพราะฉะนั้น ต้องวางแผนเพื่อให้เหตุที่จะเกิดให้ชะลอออกไปให้ช้าที่สุด 

มั่นใจเพิ่มดอกผลกองทุนปี 2567-2568 อย่างน้อย 4%

สำหรับนโยบายเพื่อเพิ่มดอกผลการลงทุนกองทุนประกันสังคมนั้น พิพัฒน์ ชี้แจงว่า เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมมีรายได้จากดอกผลการลงทุนอยู่ 2.34 ล้านล้านบาท หรือมีรายได้อยู่ที่ 59,000 ล้านบาท ซึ่งการที่จะเพิ่มให้ได้ 120,000 ล้านบาทนั้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนของประกันสังคม จากที่ได้อยู่ประมาณ 2.3-2.4 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้เพิ่มเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น โครงการใหม่ของประกันสังคมที่จะไปลงทุนใหม่ปี 2567 อย่างน้อยที่สุดต้องมีดอกผลไม่น้อยกว่า 4-5 เปอร์เซ็นต์ ดีที่สุด กำหนดที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องรอจากปี 2567 และไต่ระดับไปที่ปี 2570 

พิพัฒน์ ระบุด้วยว่า อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่ไปฝากเงินธนาคารต่างชาติ เนื่องจากธนาคารหลายแห่งทั่วโลกมีการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ยกตัวอย่าง ธนาคารในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่มีข้อกังวลเรื่องความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน 

"ผมจึงให้แนวทางและนโยบายว่า วันนี้อัตราดอกเบี้ยของโลกใบนี้อยู่ในขาขึ้น เพราะฉะนั้น เราต้องหาดูและหากองทุนที่สามารถบริหาร และมีกำไรสุทธิสำหรับประกันสังคม 5% หรืออย่างน้อยที่สุดในปี 2567-2568 อย่างน้อย 4 เปอร์เซ็นต์ และปี 2569-2570 ก่อนหมดอายุรัฐบาลชุดนี้ ประกันสังคมต้องมีดอกผลไม่น้อยกว่า 5%" พิพัฒน์ กล่าว  

ขณะที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้า กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคมลำดับที่ 1-6 นำโดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงถึงภาพรวมทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่างบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่และรัฐมนตรี ที่มีหลายประเด็นสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น และยืนยันว่าคณะกรรมการประกันสังคมจะต้องมาจากการเลือกตั้ง

ต่อมา เกศนคร พจนวรพงษ์ โฆษกทีมประกันสังคมก้าวหน้า แถลงสรุปสาระสำคัญที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้ชี้แจงต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในการประชุม ดังนี้

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า

คณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน พวกเราเป็นตัวแทนของประชาชน สิ่งใดเกิดในกระทรวงแรงงานที่สร้างความก้าวหน้าก็ส่งผลให้รัฐมนตรีเป็นที่รู้จัก แต่สิ่งใดที่มีปัญหาก็เป็นหน้าตาของรัฐมนตรีเช่นกัน ไม่ต่างจากบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นที่รู้จักของประชาชน หากเกิดความเสียหายต่างๆ ประชาชนเองก็จะจับตาพวกเราไม่น้อยกว่ารัฐมนตรี

ความคาดหวังของทีมประกันสังคมก้าวหน้าต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า คาดหวังว่าแนวทางของรัฐมนตรีและทีมงานจะเห็นตรงกันกับเราในหลักการที่เชื่อว่า 'ไม่ควรมีใครที่ต้องมีชีวิตที่ยากลำบากจากการทำงานเต็มเวลา การพัฒนาทักษะ และการสร้างงานในอนาคตที่เป็นงานที่มีคุณค่า งานที่มีชั่วโมงในการทำงานที่เหมาะสม ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นอนาคต'

ดังนั้น การปฏิรูปสิทธิประโยชน์ประกันสังคม การบูรณาการฐานข้อมูล จะสามารถเป็นฐานการสร้างงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดประกันสังคมถ้วนหน้าที่จะยกระดับสิทธิประโยชน์แรงงานอิสระทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่พวกเราอยากเชิญชวนให้รัฐมนตรีผลักดันร่วมกัน และแน่นอนว่าหากสำเร็จจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สามารถช่วยผู้คนจำนวนมหาศาลไว้ได้ไม่น้อยไปกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ 22 ปีก่อน

ก้าวแรกของทีมประกันสังคมก้าวหน้า

สิ่งที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะเดินหน้าทำทันที คือ การทำกองทุนให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมจะต้องถ่ายทอดสดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลการประชุมให้สามารถติดตามย้อนหลัง ในขณะที่งบประมาณบางด้านจะต้องลดลง เช่น งบประมาณในการจัดทำสื่อวารสารที่เกินความจำเป็น

นอกจากนี้ การประชุมจะต้องวางแนวทางใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในการประชุมใหญ่ และการทำงานร่วมกันอนุกรรมการต่างๆ 

พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่

ในส่วนท้ายสุด ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ถูกนำเสนอตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ทีมประกันสังคมก้าวหน้าเล็งเห็นว่าตัว พ.ร.บ.มีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการที่ร่างดังกล่าวถูกเสนอในช่วงเวลาที่ประกันสังคมยังบริหารโดยคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง พวกเราจึงเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมการแบบกำหนดระยะเวลา เพื่อพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ที่สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่เราจะปรับปรุง

"พวกเรา ทีมประกันสังคมก้าวหน้า กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคม ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเราหวังว่าต่อจากนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของคนทำงาน และประชาชนทุกคน" เกศนคร ระบุ

โดยในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น. จะเป็นการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมจากการเลือกตั้งครั้งแรก ณ อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะมีการแถลงความคืบหน้าจากการประชุมแก่สาธารณะอีกครั้ง รวมถึงการเผยแพร่เนื้อหาจากการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net