Skip to main content
sharethis

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดประกันสังคมอย่างเป็นทางการ เผยภารกิจ 100 วันแรก พิจารณาเรื่องที่ยังค้างคาจากบอร์ดชุดที่แล้ว ค้านแก้ไขระเบียบการเลือกตั้งกลับไปเป็นแบบตัวแทน เหตุไม่สะท้อนเสียงผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

 

16 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (15 ก.พ.) หน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพฯ เวลาประมาณ 16.30 น. ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านสิทธิแรงงาน และศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังเข้าหารือกระทรวงแรงงาน และได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดประกันสังคม

(ซ้าย-ขวา) กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน และศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

สำหรับปัญหาการเลือกตั้งผู้รับสมัครคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ที่มีปัญหาเรื่องการตรวจนับคะแนนนั้น ธนพงษ์ ระบุว่า เห็นใจกับคนที่ตัดสิทธิ์ คะแนนเขาหายไปเยอะ 1,300 กว่าคะแนน การเลือกตั้งครั้งหน้าน่าจะมีการตรวจสอบที่ดีกว่านี้ และกระบวนการเลือกตั้งน่าจะมีความแม่นยำมากกว่านี้

ย้อนไปเมื่อ 24 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก "สำนักงานประกันสังคม" ได้โพสต์ข้อความ ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมอย่างเป็นทางการ แต่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับอย่างมีนัยยะสำคัญ 

เมื่อ 24 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ผลอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า ปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย สามารถคว้าอันดับ 7 ของการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม และได้เป็นบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ก่อนที่ต่อมา เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ผลการนับคะแนนเลือกตั้งฯ อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า ปรารถนา คะแนนหายไปราว 1,300 คะแนน ส่งผลให้ตัวเขาจากเดิมอยู่ที่อันดับ 7 ตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 9 และไม่ได้เป็นหนึ่งในบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ขณะที่ผู้ที่ได้รับการเลื่อนอันดับขึ้นมาเป็นอันดับ 7 คือ จตุรงค์ ไพรสิงห์ ทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม เคยชี้แจงว่า เกิดความผิดพลาดเรื่องการนับคะแนน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธนพงษ์ ระบุว่า ขอแสดงความยินดีต่อ จตุรงค์ ไพรสิงห์ แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยส่วนตัว และยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องการทำงานแน่นอน เนื่องจากเคยทำงานร่วมกันในขบวนการแรงงานอยู่แล้ว

ธนพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 100 วันแรกนั้น คณะกรรมการประกันสังคม จะมีการเปิดประชุม และมาดูว่าเรื่องไหนที่ยังค้างและต้องผ่านบอร์ดประกันสังคมมีเรื่องอะไรบ้าง เพื่อนำมาพิจารณา

ธนพงษ์ ระบุด้วยว่า มีการพูดคุยอนุกรรมการอัตราค่าจ้าง และคณะกรรมการประกันสังคม เรื่องการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในอนาคต รวมถึงพูดคุยถึงเรื่องประกันสังคมถ้วนหน้าในอนาคต และการเป็นองค์กรอิสระในอนาคต 

ธนพงษ์ มองว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมน้อย ในรอบหน้าทางประกันสังคมต้องทำการบ้านเยอะทั้งการประชาสัมพันธ์ และหน่วยเลือกตั้งที่ไม่ครอบคลุม อาจจะต้องมีหน่วยเลือกตั้งที่ครอบคลุมแรงงานมากกว่านี้

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิจัยด้านแรงงาน ให้ความเห็นต่อกรณีที่มีกระแสข่าวจะมีการแก้ไขระเบียบการเลือกตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม จาก 1 สิทธิ์ 1 เสียง กลับไปเป็นระบบไตรภาคีนั้น ศักดินา ระบุว่า เขาไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่ค่อยโปร่งใส และไม่มีความเป็นตัวแทน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ทำให้คนที่ได้รับเลือกเข้าสู่คณะกรรมการประกันสังคมไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ประกันตน ดังนั้น ตนมองว่า เขาทำให้ระบบการเลือกตั้งประกันสังคมเข้าถึงง่าย และสะดวกสำหรับคนที่จะไปใช้สิทธิใช้เสียงในอนาคต 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net