Skip to main content
sharethis

'โรม' ยังไม่ยืนยัน ทูตเมียนมาส่งหนังสือคัดค้านสัมมนาว่าด้วยสถานการณ์การเมืองเมียนมา จัดโดย กมธ.ความมั่นคง เจ้าตัวหวังให้เวทีการแลกเปลี่ยนความเห็นข้อมูลหลายฝ่ายอย่างรอบด้าน เป็นข้อมูลให้ทางการไทยใช้ตัดสินใจรับมือวิกฤตเมียนมาในหลายมิติ แปลกใจ กต.ไทยไม่ส่ง จนท.มาร่วมงาน

 

3 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (3 มี.ค.) ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีสืบเนื่องจากวันนี้ (3 มี.ค.) สื่อต่างชาติ และสำนักข่าว The Standard รายงานว่า เอกอัครราชทูตเมียนมาได้ส่งหนังสือราชการ 'ลับ' (Secret) ถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ระบุ "คัดค้านอย่างรุนแรง" ต่อสัมมนาหัวข้อ "3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดนไทย" (Toward Democratic Myanmar and its impact on security along the Thai border) จัดโดย กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่รัฐสภา ระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค. 2567 

รังสิมันต์ โรม

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ตนเองขอยังไม่ยืนยันว่าจริง หรือเท็จ แต่มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เนื่องจากถ้าไม่ใช่เอกสารจริง ก็คงมีการออกมาปฏิเสธแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการออกมาปฏิเสธอะไร และเขารับทราบว่ามีการแจ้งมาหาเขาทุกทิศทางว่ามีข้อกังวลในการจัดงานครั้งนี้ แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียด

รังสิมันต์ โรม ยืนยันว่า ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจที่มีสิทธิในการออกกฎหมาย มีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และฝ่ายบริหารภายใต้ความไว้วางใจของรัฐสภา การทำหน้าที่ของ กมธ.มีอำนาจรัฐธรรมนูญรองรับ และมีความจำเป็นที่สภาฯ จะเข้าถึงข้อมูลและทำความเข้าใจ ซึ่งเขายืนยันว่าการจัดเวทีนี้ไม่ใช่การแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น แต่การจัดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน และสภาฯ ก็มีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เพราะว่าสภาฯ ให้คำแนะนำต่อรัฐบาล วันนี้มีการเชิญรัฐบาลมาร่วมรับฟังด้วยตัวเอง เพื่อให้เขานำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจนนโยบายด้านการต่างประเทศ

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดเวทีสัมมนาว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา กำลังเข้ามากระทบกับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลอาจต้องมีเครื่องมือ และนโยบายในรับมือวิกฤตที่ไทยกำลังได้รับผลกระทบ เพราะตอนนี้ที่ประเทศพม่ามีผู้พลัดถิ่นภายในราว 2 ล้านคน และถ้าเขาทะลักเข้ามาในประเทศไทย แล้วจะรับมืออย่างไร มันคือสถานการณ์ที่เราต้องบริหารจัดการให้ดี และเขามองว่าประเทศไทยควรมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้

รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า เวทีวันนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากวงวิชาการ ภาครัฐ กลุ่มชาติพันธุ์ และภาคประชาสังคม เพื่อให้ภาครัฐได้มีข้อมูลอย่างรอบด้านว่าจะรับมือวิกฤตการณ์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร

"สิ่งที่ทำคือเป็นการพยายามทำให้รัฐบาลได้มีข้อมูล ให้รัฐบาลได้เข้าใจว่ากำลังเจอสถานการณ์อะไร เชื่อแค่สถานทูตที่ย่างกุ้งอย่างเดียวไม่พอ เราควรต้องฟังบรรดากลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และการฟังเหล่านี้ผมยืนยันว่ามันเป็นแค่การรับฟังข้อมูล และข้อสังเกตต่างๆ เราต้องเอาไปประมวลผลไปคิดต่อ เพื่อตัดสินใจ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อประเทศเรา" รังสิมันต์ โรม กล่าว

'ปานปรีย์' ยกเลิกเข้าร่วมกระชั้น

ต่อกรณี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยกเลิกการมาพูดในงานสัมมนาเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ระบุว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมงานสัมมนา และทาง กมธ.ได้รับแจ้งค่อนข้างกระชั้น ซึ่งเขาพยายามประสานทุกทาง รวมถึงผ่านทางเอกสารในการเชิญมา 

โรม กล่าวต่อว่า เขาพยายามเชิญกระทรวงการต่างประเทศมาร่วมงาน เพื่อให้สื่อสารว่าทางการไทยคิดอย่างไร และขณะเดียวกัน ทางการไทยจะได้รับทราบว่า คนอื่นๆ คิดกับรัฐบาลไทยอย่างไร ซึ่งงานสัมมนา มีการเชิญมาจากหลายภาคส่วนไม่ใช่แค่เอ็นจีโอ แต่มีนักวิชาการจากประเทศไทย และต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเขาคิดว่าเวที 2 วันนี้มีประโยชน์มากๆ 

นอกจากนี้ ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ ระบุด้วยว่า ตอนแรกปานปรีย์ ไม่ได้มาร่วมงาน แต่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ข้าราชการประจำที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมงานได้ โดยจะส่งมา 5 คน แต่ตอนหลังไม่มีใครมาร่วมงานเลย ซึ่งก็เป็นคำถามว่าสถานทูตประเทศต่างๆ และกลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมงาน แต่ผู้ที่ไม่มากลับเป็นกระทรวงการต่างประเทศไทย ซึ่งค่อนข้างแปลกใจ เพราะกระทรวงการต่างประเทศไทยมีพันธกิจในด้านนี้

อย่างไรก็ตาม โรม ระบุว่า ปานปรีย์ ไม่มาไม่เป็นไร เขาจะนำความคิดเห็นจากการจัดเวทีสัมมนา 2 วันนี้ ไปจัดทำเป็นรายงาน และเสนอเป็นคำแนะนำต่อกระทรวงการต่างประเทศ และจะติดตามผลต่อว่าเมื่อส่งไปแล้ว กระทรวงการต่างประเทศว่าอย่างไร สมมติ กต.ตอบมาว่าไม่ทำ ไม่ปฏิบัติตาม มันมีเหตุผลอะไร ก็ต้องทำงานต่อแบบนี้ อันนี้เป็นอำนาจตามกฎหมายที่อนุญาตให้ทาง กมธ. และรัฐสภา

สุดท้าย รังสิมันต์ กล่าวถึงภาพรวมของงานสัมมนา 2 วันนี้ว่า "พอใจมาก" และความพอใจของเขา ขึ้นอยู่กับทุกคนที่มาร่วมงาน เพราะว่าเขาทำหน้าที่เจ้าบ้านที่เปิดบ้านให้ทุกคนได้มาเข้าร่วมและได้ถ่ายทอดความคิดเห็นต่างๆ และผลตอบรับที่เราได้รับมันค่อนข้างดี ดังนั้น โดยรวมทั้งหมด เขาคิดว่ามันประสบความสำเร็จมากๆ มันเป็นงานที่ทุกคนก็ชื่นชม และหลายคนบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่คิดว่าจะมีงานแบบนี้ที่สภาฯ ของประเทศไทย

"ผมเองก็เห็นความหวังว่าเราอาจจะทำให้ทิศทางการต่างประเทศของเรามันอาจจะเป็นทิศทางที่ ได้รับเสียงชื่นชมของเวทีต่างประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่า เราอาจจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องของความมั่นคง ไม่ค่อยให้ความสนใจกับสิทธิมนุษยชนมากนัก แม้ว่าเราอยากจะเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ก็ตาม เอาเข้าจริงเราไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่เราอยากจะทำขนาดนั้น เหล่านี้มันก็เป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญที่เราคงต้องขยับต่อ เพื่อสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีต่างประเทศให้มากขึ้น" ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ กล่าวทิ้งท้าย  

ขณะที่ The Standard รายงานวันนี้ (3 มี.ค.) ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศไทยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ทูตเมียนมาส่งหนังสือคัดค้านงานสัมมนา เช่นเดียวกับโฆษกกองทัพเมียนมาที่ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ สัมมนาหัวข้อ "3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดนไทย" จัดโดย กมธ.ความมั่นคงฯ ที่รัฐสภา ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 โดยวันนี้ (3 มี.ค.) มีการเสวนาว่าด้วยการรับมือวิกฤตเมียนมาและผู้ลี้ภัย มุมมองของสถานการณ์เมียนมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ และปิดท้ายปาฐกถาจากนักวิชาการ ฉายภาพให้เห็นอุปสรรคและความท้าทายของประเทศไทย จากผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในเมียนมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net