Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานนักฟุตบอลโปรตุเกส (SJPF) จัดทำเอกสารสรุปความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในวงการฟุตบอล พวกเขาได้ช่วยเหลือผู้เล่นหลายสิบรายที่กลายเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ เพื่อปกป้องนักฟุตบอลที่มาค้าแข้งในโปรตุเกส


ที่มาภาพ: สหภาพแรงงานนักฟุตบอลโปรตุเกส (SJPF)

สหพันธ์นักฟุตบอลนานาชาติ (FIFPRO) รายงานว่าสหภาพแรงงานนักฟุตบอลโปรตุเกส (Sindicato dos Jogadores หรือ SJPF) ได้ให้การช่วยเหลือแก่นักฟุตบอลหลายสิบรายที่กลายเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในวงการฟุตบอลโปรตุเกสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักฟุตบอลเหล่านี้เดินทางมาด้วยความหวังที่จะเริ่มต้นหรือพัฒนาอาชีพนักฟุตบอลอาชีพของพวกเขาให้ต่อเนื่อง แต่สุดท้ายกลับพบกับการหลอกลวง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เมื่อปี 2023 เจ้าหน้าที่ตำรวจและศุลกากรของโปรตุเกสเปิดเผยว่าโรงเรียนสอนฟุตบอล BSports ได้กักขังนักฟุตบอลอายุตั้งแต่ 13-21 ปี ไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือแสวงหากำไรจากพวกเขา ตำรวจพบนักฟุตบอลเยาวชนประมาณ 30 คน ในโรงเรียนสอนฟุตบอลแห่งนี้ กรณีนี้สื่อให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

"ชาวโปรตุเกสต่างตกตะลึง" ชูเอา โอลิเวียรา (Joao Oliveira) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของสหภาพแรงงาน SJPF กล่าว "ผู้คนคิดว่านี่เป็นเพียงเหตุการณ์เดียว แต่ไม่ใช่ เราได้เตือนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในวงการฟุตบอลมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว"

สหภาพแรงงาน SJPF จัดทำรายงาน 'Human Trafficking 2015-2023' เพื่อแจ้งให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการฟุตบอลทราบถึงประสบการณ์ของนักฟุตบอลที่ถูกหลอกลวงและความพยายามในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันกับสหภาพแรงงาน

โอลิเวียรา กล่าวว่า "นี่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของเรา แม้ว่ามันจะไม่ใช่ประเด็นเฉพาะของวงการฟุตบอลก็ตาม อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการฟุตบอลทุกคนมีหน้าที่ในการแก้ปัญหานี้ และทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรอื่น ๆ "


จากซ้ายไปขวา Joao Nogueira da Rocha ทนายความของสหภาพแรงงาน SJPF, Joaquim Evangelista ประธานสหภาพแรงงาน SJPF และ Joao Oliveira หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของสหภาพแรงงาน SJPF | ที่มาภาพ: FIFPRO

ในปี 2022 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและชายแดนของโปรตุเกส (SEF) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2017 มีเหยื่อของขบวนการลักลอบเข้าเมืองและการค้ามนุษย์เกินกว่า 250 ราย โดยมีการดำเนินคดีกับบุคคลและนิติบุคคลราว 100 ราย

ในรายงานของสหภาพแรงงาน SJPF มีกรณีนักฟุตบอล 12 รายที่หันมาขอความช่วยเหลือจากสหภาพฯ หลังตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การหลอกลวง หรือเผชิญขั้นตอนการตรวจสอบการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย สหภาพฯ ให้การสนับสนุนนักฟุตบอลเหล่านี้ด้วยอาหาร ที่พัก และบางครั้งยังรวมถึงตั๋วเครื่องบินกลับบ้านเกิด

นักฟุตบอลส่วนใหญ่มาจากประเทศในอเมริกาใต้และแอฟริกา เช่น อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย แคเมอรูน กินี-บิสซา ไนจีเรีย และเซเนกัล

"พวกเขาถูกล่อลวงด้วยความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ยอมละทิ้งทุกอย่างและเป็นหนี้สินเพื่อคว้าโอกาส" โจอาควิม เอวานเจลิสตา (Joaquim Evangelista) ประธานสหภาพแรงงาน SJPF กล่าว "โปรตุเกสกลายเป็นเหมือนหลุมทิ้งนักฟุตบอล สวรรค์ของตัวแทนและนายหน้าผู้ไร้ยางอาย รวมถึงเครือข่ายอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พวกเขาเดิมพันกับสโมสรท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ซึ่งปล่อยปะละเลยให้คนเหล่านี้ 'ตัวแทน' เหมือนห้องทดลองพรสวรรค์ด้านฟุตบอลของเยาวชนที่พวกนำมา"

"เหยื่อไม่ใช่แค่จำนวนตัวเลข พวกเขามีใบหน้า และในรายงานของเรา เราให้เกียรติแก่นักฟุตบอลทุกคนที่ยอมเล่าเรื่องราวของพวกเขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากกับคนอื่น"


ที่มาภาพ: FIFPRO

ตั้งแต่ปี 2015 สหภาพแรงงาน SJPF ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกับสถาบัน หน่วยงาน และรัฐบาลโปรตุเกส ซึ่งส่งผลให้เกิดมาตรการต่างๆ รวมถึงข้อตกลงที่สหภาพแรงงาน SJPF ลงนามร่วมกับ SEF สมาคมฟุตบอลโปรตุเกส (FPF) และลีก เพื่อกระชับความร่วมมือที่ดีขึ้นระหว่างทุกฝ่าย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสหภาพแรงงาน SJPF ได้ผลักดันกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างสำเร็จ ซึ่งป้องกันไม่ให้มีการนำนักฟุตบอลเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายเซ็นสัญญากับทีมสมัครเล่น สโมสรหรือผู้จัดการทีมจะต้องรับผิดชอบเมื่อพบว่าผู้เล่นต่างชาติ "ของพวกเขา" อยู่ในสถานการณ์ผิดกฎหมาย 

โอลิเวียรา หัวหน้าแผนกกฎหมายของสหภาพแรงงาน SJPF กล่าวว่า "แม้ว่าอาจจะมีการฉ้อโกงอยู่เสมอ แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้การควบคุมของ FPF และการตรวจสอบของ SEF มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

นับตั้งแต่กรณีโรงเรียนฝึกฟุตบอล BSports สหภาพแรงงาน SJPF ได้เข้าร่วมกลุ่มปฏิบัติงานที่แต่งตั้งโดยเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ สหภาพแรงงาน SJPF เสนอมาตรการที่ชัดเจนเพื่อปรับปรุงการศึกษาและสร้างความตระหนักให้กับสโมสร ผู้จัดการทีม ตัวแทนนักกีฬา และภาคประชาสังคม เพื่อติดตามและตอบสนองต่อนักฟุตบอลที่ต้องการความช่วยเหลือได้ดีขึ้น 

ตัวอย่าง เช่น การสร้างระบบเพื่อสนับสนุนนักฟุตบอลทุกคนที่เป็นเหยื่อโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายของคดีเฉพาะของพวกเขา ในแง่ของที่พัก การเข้าสังคม และความช่วยเหลือที่จำเป็นหากต้องส่งพวกเขากลับประเทศ


ที่มา:
How the Portuguese union is tackling human trafficking in football (FIFPRO, 30 January 2024)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net