Skip to main content
sharethis
  • คุยกับ ‘คมน์ธัช ณ พัทลุง’ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี Hours of Ours (รอวัน) ที่เล่าเรื่องชีวิตประจำวันของครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซูดานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ขณะ ‘รอวัน’ ย้ายไปประเทศที่สามอย่างไร้จุดหมาย เมื่อไทยเป็นที่พักพิงชั่วคราวได้แต่ยังไม่ใช่บ้าน
  • Hours of Ours (รอวัน) เข้าโรงแล้ววันนี้ 22 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ที่ Doc Club & Pub. และ House Samyan 

“ตอนที่เขา (ครอบครัวอิบราฮิม) เจอเรา เราถือกล้อง เราถ่ายคนม้งเวียดนามอยู่แล้ว เขามารู้จักเราพร้อมกับกล้องเรา เพราะฉะนั้นเขาก็รู้ว่าไอ้เด็กคนนี้มันมีกล้อง มันถ่ายอะไรซักอย่างอยู่”

คมน์ธัช ณ พัทลุง ผู้กำกับภาพยนตร์ Hours of Ours (รอวัน) เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของการได้ไปรู้จัก ‘ครอบครัวอิบราฮิม’ ซึ่งเป็นครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซูดานที่หนีออกจากประเทศมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอลี้ภัยไปประเทศที่สาม 

เขาเกิดที่ไทย แต่เติบโตแบบย้ายไปย้ายมาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาด้วยหน้าที่การงานของคุณพ่อ หลังจากเรียนจบสาขาวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เขาทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ลอสแอนเจลิสราวๆ 1 ปี และมีโอกาสได้ไปร่วมเวิร์คชอปที่คิวบากับ “อับบาส เคียรอสตามี” ผู้กำกับชั้นครูจากอิหร่าน จากนั้นเขาจึงตัดสินใจกลับเมืองไทย

แรกเริ่มเดิมทีเขาตั้งใจจะทำหนังเกี่ยวกับคนม้งเวียดนามในกรุงเทพฯ และได้แวะเวียนไปทำกิจกรรมในชุมชนร่วมกับเอ็นจีโออยู่เรื่อยๆ พร้อมกับกล้องในมือ จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาก็ได้พบครอบครัวอิบราฮิมที่เข้ามาร่วมกิจกรรมที่เอ็นจีโอจัด

มิตรภาพก็เริ่มต้นขึ้นจากการที่เขาช่วยพาคุณแม่ไปหาหมอ หลังจากนั้นครอบครัวอิบราฮิมชวนเขาไปทานข้าวและดื่มกาแฟที่บ้าน จนก่อเกิดเป็นไอเดียในการทำหนังเพื่อบันทึกชีวิตขณะ ‘รอวัน’ ย้ายไปประเทศที่สาม ไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Hours of Ours (รอวัน)

ย้ายไปอยู่อเมริกาตั้งแต่เมื่อไหร่

มีช่วงหนึ่งในชีวิตที่เราต้องย้ายไปย้ายมาระหว่างไทยกับอเมริกา เราเกิดที่ไทย ตอนที่เราอายุ 3 ขวบ คุณพ่อได้ไปทำงานที่ลุยเซียนา เราก็ย้ายไปอยู่ที่นั่น 2-3 ปี จนเรา 5 ขวบก็กลับมาไทย เข้าโรงเรียนที่ไทยและอยู่ที่นี่ 10 ปี

พออายุ 15 ปี เราก็ย้ายไปที่เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส เรียนมัธยมปลาย 2 ปี แล้วก็เรียนต่อมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี แล้วก็พอเรียนจบ เราก็ไปอยู่ลอสแอนเจลิส (แอลเอ) หนึ่งปี แล้วหลังจากแอลเอก็รู้สึกว่าไม่เอาแล้วกลับมาไทยดีกว่า

เรื่องที่เป็นปมในใจอย่างหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราปรับตัวเองยากประมาณหนึ่งเพราะสังคมที่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มันเป็นอีกขั้วหนึ่งเลย

ทำไมถึงอยากกลับไทย

คิดหนักเหมือนกัน เพราะว่าการอยู่ที่นี่ (แอลเอ) เรื่องหน้าที่การงานค่อนข้างดีแต่เรารู้สึกว่าไปต่อไม่ถูก เป็นการทำงานเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร แต่เราไม่สามารถมีเวลาให้งานที่เรารู้สึกว่าเป็นงานครีเอทีฟส่วนตัว

เรื่องราวที่เราอยากจะพูดถึงอยู่ที่ไทยหมดเลย ตอนที่เราอยู่แอลเอ เราไม่ได้มีเรื่องราวที่อเมริกาที่เราอยากจะพูดถึง เราไม่ได้รู้สึกว่าเราคอนเนกต์กับที่อเมริกา

มันอยู่สบาย มันน่าอยู่แหละ แต่ว่ามันแพงมากๆ ที่แอลเอ ซึ่งทำให้เราหมดพลังไปกับการทำงาน

อยู่แอลเอทำงานอะไรบ้าง

เราไปทำงานพาร์ทไทม์เป็นผู้ช่วยในออฟฟิศของ ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วเราก็ออกกอง เป็นผู้ช่วยช่างภาพ, DIT (Digital Imaging Technician หรือ คนจัดการข้อมูลภาพ ณ กองถ่าย) ให้กองหนังสั้น คอมเมอเชียล กองเว็บซีรีส์บ้าง

เราคิดอยู่นานว่าจะกลับมาดีไหม เพราะในช่วงนั้นวีซ่าก็จะใกล้หมดแล้ว ต้องรีบคิดว่าถ้าจะอยู่ต่อจะเอายังไงต่อไป เผชิญว่าช่วงนั้นได้ไปงานเวิร์คชอปที่คิวบา เป็นเวิร์คชอปกับ “อับบาส เคียรอสตามี” (Abbas Kiarostami) ผู้กำกับดังของอิหร่าน 

เขามีโจทย์ให้เราพยายามทำหนังสั้นให้เสร็จใน 10 วัน ซึ่งเราก็ไปโดยที่ยังไม่มีไอเดียอะไรมาก ซึ่งมันเป็นพลังงานที่ขาดหายไปตอนที่เราอยู่แอลเอ เป็นพลังงานที่เราคิดถึง ก็เลยตัดสินใจว่ากลับไทยดีกว่า อยากจะกลับไปทำหนังของตัวเอง

หลังจากที่อยู่แอลเอมานาน พอเราไปถึงที่คิวบาแล้วรู้สึกเหมือนประเทศไทยมากๆ ทั้งสภาพอากาศ ภูมิทัศน์ติดทะเล ต้นไม้ ผู้คนน่ารัก มีบิลบอร์ดของฟิเดล คาสโตร ติดเต็มไปหมด มันก็เหมือนกับรูปที่มีทุกบ้าน ทำให้เรารู้สึกคิดถึงประเทศไทยมากๆ

พอกลับมาไทยแล้วไปคอนเนกต์กับครอบครัวนี้อย่างไร

ช่วงที่เราอยู่อเมริกา ก็จะมีบางช่วงที่เรากลับมาไทยเพื่อเยี่ยมครอบครัว เยี่ยมเพื่อนช่วงซัมเมอร์ ช่วงนั้นเพื่อนเราก็เข้าเรียนกันหมด เราก็ว่างๆ เลยได้ติดต่อกับอาจารย์คนหนึ่ง เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่เรารู้จักสมัยที่เรียนอยู่ที่ไทย เขาก็บอกว่าเขากำลังเปิดเอ็นจีโอ เข้าไปในพื้นที่ของ คนที่ถูกมองข้ามในกรุงเทพฯ ซึ่งในตอนแรกโฟกัสของเขาคือชุมชนตามรางรถไฟแถวๆ พญาไท เราก็เข้าไปทำงานกับเขา

ไปๆ มาๆ เขาเปลี่ยนโฟกัสไปทำงานกับกลุ่มผู้ลี้ภัย แล้วก็ชวนเราเข้าไปในชุมชนม้งเวียดนามแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตอนแรกเราไม่ได้รู้จักกับครอบครัวอิบราฮิม แต่อยู่มาวันหนึ่งเราก็เห็นครอบครัวนี้เข้ามาร่วมกิจกรรมที่เอ็นจีโอจัด 

ปกติเอ็นจีโอจะจัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ สอนทำอาหาร รวมถึงซัพพอร์ตครอบครัวในพื้นที่นั้น ซึ่งเวลาจัดกิจกรรมก็เจอครอบครัวนี้มาร่วมด้วย ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ไปๆ มาๆ ก็ได้รู้จักกับเขา 

ความที่มีกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ แต่ว่าเราเป็นคนที่สอนอะไรไม่เป็น เราก็เลยเสนอตัวว่าจะช่วยเหลือเขาในรูปแบบอื่น เช่น ติดต่อคนนั้นคนนี้ คุณแม่อยากจะไปหาหมอ เขาก็ถามว่าเราช่วยเขาคุยกับหมอได้ไหม เขากลัวเขาสื่อสารไม่ครบ ซึ่งเราช่วยเขาในลักษณะนี้ได้ ทำให้เราได้เริ่มรู้จักกับครอบครัวนี้ หลังจากที่ไปเจอหมอ เขาก็ชวนเราไปกินข้าวกินกาแฟที่บ้านเขา ไปหาเขาอยู่เรื่อยๆ

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Hours of Ours (รอวัน)

มีบางซีนที่ฟุตเทจเอียงๆ 

ตั้งใจ (ตอบทันที)

โปรเจคสารคดีม้งเวียดนาม เราตั้งใจ setting (ออกแบบ) ตั้งใจ constructed (สร้าง) ทั้งหมด แล้วช่วงแรกๆ ที่เราถ่ายครอบครัวนี้ เราก็พยายามที่จะทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่า…มันไม่ใช่วิธีที่เราอยากจะทำ 

หลังจากนั้นเราก็เปลี่ยนวิธีการทำงานของเราด้วย เราก็เลยตัดสินใจว่าเราจะไม่สร้างระยะห่างระหว่างเรากับครอบครัวนี้

จะมีโมเมนต์ที่ว่าเราถ่ายๆ อยู่แล้วความเป็นตากล้อง ก็จะคอยดูเฟรมตลอด แต่เวลาเราดูเฟรม เราก็ไม่สามารถคอนเนกต์กับคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วย

โมเมนต์ที่เราพูดคุยกับเขา เราก็ต้องไม่สนใจกล้อง เพื่อให้ได้โมเมนต์นี้ไปเรื่อยๆ กล้องนี้มันก็ถ่ายของมันไป ได้อะไรมาก็ค่อยว่ากัน แล้วมันก็…ได้อย่างที่เห็น (หัวเราะ)

สารคดีที่ไม่ได้ดรามาสุดทางแบบนี้ ขอทุนยากไหม

ยากเหมือนกัน เพราะว่าเราก็ต้องไปขอทุนจากศูนย์มานุษฯ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) อย่างศูนย์มานุษฯ ยังดีเพราะว่าเขาเก็ตวิธีการทำงานของเรา ไม่เหมือนกับช่องข่าวทีวีต่างประเทศ เพราะว่าช่องพวกนี้เขาต้องการดรามา ต้องการบริบท เขาอยากที่จะรู้ว่าตอนนี้โลกมันโหดร้ายแค่ไหน แต่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอในรูปแบบนั้น 

เราต้องการที่จะนำเสนอครอบครัวนี้ในรูปแบบ Graceful Resilience (ความอดทนและความมีศักดิ์ศรี) ของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นและเราแค่อยากนำเสนอสิ่งที่เราเห็น อย่างน้อยศูนย์มานุษฯ เขาก็เก็ต เขามองประเด็นต่างๆ ด้วยสายตาของความเป็นมนุษย์ 

แล้วก็สำหรับที่อื่นๆ อย่าง Purin Pictures หรือสิงคโปร์ เขาก็ซัพพอร์ตอะไรที่เกี่ยวกับภาพยนตร์อยู่แล้ว 

เคสครอบครัวซูดานแบบนี้ มีอีกเยอะมั้ยในไทย

ในไทยไม่ค่อยมี เหมือนจากซูดานนี่มันต้องแยกด้วยว่าซูดาน หรือซูดานใต้ เพราะมันไม่เหมือนกัน แต่ที่เรารู้จักมีอยู่ไม่กี่คน มีน้อย ส่วนใหญ่จะมาจากปากีสถาน โซมาเลีย คองโก 

อย่างปากีสถานในไทยนี่เยอะ ในกรุงเทพฯ 

ปากีสถานที่หนีมาเพราะปัญหาเรื่องศาสนา ที่เรารู้จักส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์กัน ส่วนซูดานเป็นปัญหาความขัดแย้งภายใน

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Hours of Ours (รอวัน)

โมเมนต์ที่ประทับใจที่สุด

มีโมเมนต์หนึ่งที่อยากใส่ในหนังแต่ใส่ไม่ได้เพราะว่ามันไม่เวิร์ค เป็นโมเมนต์ที่คุณแม่ให้เราช่วยดูการบ้านของน้อง เพราะพ่อแม่เขาอ่านการบ้านภาษาไทยไม่ออก คุณแม่เล่าให้เราฟังว่าอยากจะช่วยสอนการบ้านลูกแต่ว่าช่วยไม่ได้เพราะทุกอย่างเป็นภาษาไทยหมด 

 จริงๆ เรื่องภาษา เป็นเรื่องที่เราพยายามจะสื่อในหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะเรารู้สึกว่ามันสำคัญสำหรับเรา ครอบครัวนี้เขาคุยกันด้วยภาษาอาหรับ แต่ว่าแม่เขาก็บ่นให้เราฟังว่าลูกๆ คุยกันเองเป็นภาษาไทย อะไรที่ไม่อยากให้แม่กับพ่อรู้ก็จะคุยกันเองเป็นภาษาไทย มีเราอยู่ด้วยเราจะได้ช่วยเล่าให้แม่เขาฟังว่าลูกคุยอะไรกัน

ตอนแรกเราไม่รู้ว่าลูกๆ เขาพูดภาษาไทยกัน โมเมนต์นี้เป็นจุดเริ่มต้นหลายๆ อย่างตอนที่เรารู้ว่าลูกเขาพูดภาษาไทยกันเอง มันทำให้เรานึกถึงสมัยที่เราอยู่อเมริกาตอนเด็กๆ เรากับน้องอยู่ๆ ก็ได้ภาษาอังกฤษขึ้นมาโดยที่พ่อกับแม่เราตั้งตัวไม่ทัน

ในครึ่งหลังของเรื่อง ถ้าเกิดสังเกตจดหมายจากพ่อกับแม่ (ที่ส่งมาหาลูกตอนที่พ่อแม่โดนกักตัวอยู่ที่ ตม.) จดหมายก็เป็นภาษาอังกฤษ เราก็ถามว่าทำไมถึงเป็นภาษาอังกฤษ แม่เขาก็เล่าให้ฟังว่าเพราะลูกๆ เขาอ่านภาษาอารบิกไม่ออก เวลาเขาจะเขียนอะไรให้ลูกๆ เขาจึงต้องเป็นภาษาอังกฤษ น้องๆ พูดอารบิกได้ แต่จะอ่านเขียนไม่ได้ เพราะจะได้ภาษาไทยมากกว่า  

ตอนที่ไปเจอ ครอบครัวนี้อยู่ไทยมากี่ปีแล้ว

เขาอยู่มาหลายปีแล้ว แต่เราย้ายกลับมาไทยปี 2016 (พ.ศ. 2559) แล้วเราเจอเขา…น่าจะเริ่มถ่ายกับเขาประมาณปี 2017  (พ.ศ. 2560) ซึ่งเป็นตอนที่น้องๆ พูดไทยกันได้แล้ว

ตอนแรกเราคุยกับเขาเป็นภาษาอังกฤษเพราะเราไม่รู้ จนกระทั่งเราได้ยินพวกเขาคุยกันเองเป็นภาษาไทย แล้วเขาก็คุยกับเราเป็นภาษาอังกฤษแบบเกร็งๆ เขินๆ พอเราพูดไทยก็กลายเป็นว่าพวกเขาก็พูดกับเราเยอะเลย จากที่ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยพูด

ครอบครัวนี้พาสปอร์ตหมดอายุ เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ง่ายๆ ก็คือครอบครัวนี้อยู่เกินกำหนดวีซ่า

จริงๆ แล้วโรงเรียนอาจจะรับเข้าเรียนเพราะว่าพวกเขายังเด็ก ในแง่กฎหมาย เป็นสิทธิที่น้องๆ เขามีอยู่แล้ว เพราะว่าไทยเซ็นสัญญาปกป้องสิทธิเด็กของสหประชาชาติ

แต่ว่าประเทศไทยไม่ได้เซ็นสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้นพ่อกับแม่ หรือถ้าเด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ สิทธิเสรีภาพต่างๆ ก็จะหดน้อยลงไปเรื่อยๆ ยิ่งเราโตขึ้นมันก็จะยิ่งหดลง

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Hours of Ours (รอวัน)

เหมือนพ่อแม่จะอยู่แต่ในบ้าน

พ่อแม่ส่วนมากอยู่แต่ในบ้าน มีไปทำธุระที่นั่นที่นี่บ้าง

ก่อนหน้านั้นเขาทำอาชีพอะไร เป็นเหตุผลที่ได้ไปแคนาดาด้วยไหม

อาจจะมีส่วน ครอบครัวนี้เขาน่าจะอยู่ในฐานะชนชั้นกลางประมาณหนึ่ง เพราะว่าพ่อกับแม่เป็นคนมีการศึกษา พ่อเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน ส่วนแม่ เรียนจบมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับด้านปศุสัตว์การแพทย์

เราก็ยังคิดอยู่ในใจว่า 6 ปีที่เขาอยู่ในไทยเขาน่าจะได้ทำอะไรอย่างอื่นได้ ทำไมต้องมาอยู่แต่ในห้อง แต่พอย้ายไปแคนาดาได้สัก 1-2 ปี เขาก็มีอาชีพแล้ว

ในฐานะคนทำหนัง เรามีความคาดหวังอย่างไร

เราคาดหวังกับการฉายในประเทศไทยมากที่สุด หลักๆ เลยเราทำหนังเรื่องนี้เพราะว่าเราอยากจะจินตนาการถึงอนาคต ความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับประเทศไทย

ในแง่ที่ว่าถ้าเด็กพวกนี้โตขึ้นมาแล้วต้องอยู่เมืองไทยตลอดไปจริงๆ ถ้าเกิดโดนปฏิเสธขึ้นมา ถ้า UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ปฎิเสธเคส 2-3 รอบ ก็คือโดนปฎิเสธไปเลย ก็คือไม่ได้มีทางเลือกอะไรอย่างอื่นแล้วนอกจากจะต้องอยู่ที่นี่หรือกลับประเทศตัวเอง   

การอยู่ที่นี่ก็เป็นสถานการณ์แบบนี้ เขาก็ต้องอยู่แบบนี้ ทั้งๆ ที่เขาก็จะซึมซับความเป็นไทย ภาษา วัฒนธรรม สภาพสังคม สภาพแวดล้อม ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ เด็กคนอื่นๆ ที่เป็นคนม้งเวียดนามที่เรารู้จัก หรือว่าเด็กที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่ตามพ่อแม่มาอยู่ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เราก็พยายามคิดถึงอนาคตว่าพวกเขาจะอยู่ยังไง เราจะสามารถเปิดให้พวกเขา หลอมรวมกับสังคมเราได้มากน้อยแค่ไหน

แล้วเราก็คิดไปถึงว่า ถ้าเกิดเราไปถึงจุดนั้นได้ หน้าตาของคนไทยสามารถเปลี่ยนไปด้วยได้ไหม เด็กแอฟริกันพวกนี้ก็คงไม่ต่างจากเด็กไทยทั่วไป ในหนังจะเห็นว่าพวกเขาก็เป็นเด็กไทยใช่ไหม 

เราก็อยากจะตั้งคำถามว่าอะไรคือความเป็นไทย ขอบเขตของสิ่งนี้อยู่ตรงไหน และสามารถยืดหยุ่นได้หรือเปล่า หรือว่าทำลายขอบเขตของมันไปได้เลย เพื่อที่จะนับรวมคนอื่นๆ ได้

  • Hours of Ours (รอวัน) เข้าโรงแล้ววันนี้ 22 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ที่ Doc Club & Pub. และ House Samyan
  • เมื่อปี 2566 ภาพยนตร์สารคดี รอวัน | Hours of Ours ออกฉายสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในเทศกาลนานาชาติ Visions du Réel ที่จัดขึ้นที่เมืองนีออน (Nyon) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ต่อมาได้ฉายในเทศกาลสารคดีนานาชาติ Beyond Borders Kastellorizo International Documentary Festival ครั้งที่ 8 ที่ประเทศกรีซ 
  • รอวัน | Hours of Ours ฉายที่สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française) ที่เมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ในโปรแกรมพิเศษที่ชื่อว่า Focus Sudan
  • ภาพยนตร์สารคดี รอวัน | Hours of Ours ฉายครั้งแรกในเอเชียที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ SGIFF ครั้งที่ 34 ต่อมาได้ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดี Festival Film Dokumenter ที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นจึงเข้ามาฉายที่ไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net