Skip to main content
sharethis

ในห้วงก่อนวันชาติรัฐฉาน 7 ก.พ. ทั้งกองทัพรัฐฉานเหนือและใต้ต่างออกแถลงการณ์ ระบุว่าจะมีการปราบปรามการค้ามนุษย์ กลุ่มหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์ที่เรียกว่าสแกมเมอร์ และปราบยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ยังคงมีจุดยืนไม่เข้าร่วมการรบด้วยอาวุธ หลังจากที่กองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพเปิด "ปฏิบัติการ 1027" ในรัฐฉาน

ภาพปก: (ซ้าย) ทหารกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ภาพเมื่อปี 2566 (ขวา) ทหารกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ภาพถ่ายปี 2556 (ที่มา: แฟ้มภาพ/SSPP/ประชาไท)

ทหารกองกำลังตะอาง TNLA ลาดตระเวนในเมืองน้ำสั่น เมืองศูนย์กลางของภูมิภาคตะอาง ภาพเผยแพร่เมื่อ 18 ธันวาคม 2566 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Shwe Phee Myay News Agency)

แฟ้มภาพทหารโกก้าง MNDAA ลาดตระเวนในพื้นที่ยึดครองทางตอนเหนือของรัฐฉาน ที่มา: The Kokang

มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่มีการเปิด "ปฏิบัติการ 1027" โดยกลุ่มกองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพ (3HBA) ซึ่งเป็นการปลุกพลังให้กับการปฏิวัติของฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหาร หลังจากที่กองทัพพม่าทำรัฐประหารมาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

ในขณะที่ยังมีข้อสงสัยที่ว่าการปฏิวัติของฝ่ายต่อต้านและปฏิบัติการ 1027 นั้นเป็นการวางแผนประสานงานร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ หรือไม่ กลุ่มต่างๆ ที่ว่าคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายประชาธิปไตยที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐบาลเงาต่อต้านเผด็จการ, กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ (3HBA) กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น (KIA), และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) ซึ่งข้อสงสัยนี้ก็ยังไม่ถูกเปิดเผย หรือในทางหนึ่งก็คือกลุ่ม 3BHA นั้นปฏิบัติการเป็นเอกเทศโดยตนเอง

พันเอกหน่อบู โฆษกกองทัพกะฉิ่น KIA กล่าวยืนยันว่าองค์กรของเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับปฏิบัติการ 1027 ทางด้านกลุ่ม SSPP ก็พูดแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่แปลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือในพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง MNDAA กองกำลังตะอาง TNLA และกองทัพอาระกัน AA กับกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP และกองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น KIA ต่างก็เป็นสมาชิกของ คณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (FPNCC) ที่มีแกนนำเป็นกลุ่มกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งถือว่าทั้งหมเนี้เป็นกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองกัน

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากกว่านี้อีกก็คือกองทัพว้า UWSA ได้รับมอบอำนาจปกครองเมืองโหป่าง (Hopang) และปานลน (Panlong) มาจากจากพันธมิตรสามภราดรภาพ 3BHA หลังจากที่กลุ่มนี้ยึดสองเมืองนี้จากกองทัพพม่าได้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านีทั้งโหป่าง และปานลน เคยถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองว้าในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยรัฐบาลพม่าเป็นผู้บริหารเมืองดังกล่าว จนกระทั่งถึงวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ประกาศของเพจ Wa Channel ก็ระบุว่ากองทัพว้า UWSA ก็ได้ผนวกสองเมืองนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐว้าอย่างเป็นทางการ

กองทัพว้า UWSA ระบุว่าจุดยืนของพวกเขาต่อปฏิบัติการ 1027 นั้นคือวางจุดยืนเป็นกลาง และยังคงจุดยืนเป็นกลางอยู่เช่นเดิมถึงแม้ว่าจะมีการยึดเมืองสองเมืองคืนได้แล้ว

เสวนา "จับกระแสพม่า: สงครามและการสร้างรัฐหลังรัฐประหาร" [คลิป], 23 ม.ค. 2567

บทวิเคราะห์: ทำไมสหรัฐฯ ควรหนุนหลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า, 16 ม.ค. 2567

กว่า 1 เดือน 'ปฏิบัติการ 1027' กองกำลังโกก้างและพันธมิตรรุกคืบแค่ไหน?, 12 ธ.ค. 2566


แถลงการณ์ของสองกองทัพรัฐฉานเหนือ-ใต้

ในขณะเดียวกันกองทัพรัฐฉานสองกองทัพต่างก็แยกกันออกแถลงการณ์คนละฉบับ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่แต่ละกลุ่มมีการประชุมคณะกรรมการกลางในองค์กรทางการเมืองของตน

โดยสภาเพื่อการเอากอบกู้รัฐฉาน หรือ กองทัพรัฐฉานใต้ (RCSS/SSA) ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่ดอยไตแลง ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ก็ออกแถลงการณ์ 6 ข้อ ระบุเน้นย้ำจุดยืนว่าจะใช้วิธีการเจรจาในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศพม่า และสัญญาว่าจะเข้าหาทุกองค์กรเพื่อให้มีการเจรจา

ในข้อที่ 3 ของแถลงการณ์ระบุว่า "จะต้องมีการจัดตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยพม่าเท่านั้น วิกฤตการเมืองของสหภาพพม่าถึงจะคลี่คลายได้"

แถลงการณ์ของกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA เน้นย้ำในเรื่องบทบาทของอาเซียนในการเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพ โดยเรียกร้องให้อาเซียนทำให้ประเด็นความขัดแย้งในพม่าอยู่ในความรับผิดชอบของพวกเขา และให้อาเซียนเป็นตัวกลางเจรจาเพื่อยุติวิกฤตในพม่า

นอกจากนี้ RCSS/SSA ยังเน้นย้ำว่าควรจะมีความสมานฉันท์ที่ยั่งยืนระหว่างกลุ่มชนชาติต่างๆ ในรัฐฉาน

แถลงการณ์ของ RCSS/SSA ปิดท้ายด้วยการระบุว่าพวกเขาจะมุ่งขจัดยาเสพติด มุ่งป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์และการค้ามนุษย์ในพื้นที่ๆ พวกเขาควบคุมอยู่

ส่วนพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่ฐานบ้านไฮ อำเภอเกซี ก็ออกแถลงการณ์ระบุเน้นในเรื่องภายในประเทศอย่างเช่น การต่อต้านเผด็จการ การต่อต้านแนวคิดชาตินิยมแบบลัทธิเชื้อชาตินิยม ต่อต้านลัทธิการขยายเขตแดน และต่อต้านแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบ

อย่างไรก็ตามกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ก็มีจุดยืนแบบเดียวกับกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ในเรื่องที่พวกเขาต้องการจัดตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตย ต่อต้านยาเสพติด และต่อต้านการหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์หรือที่เรียกกว่าสแกมเมอร์

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานเป็นคลื่นใต้น้ำ

อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ของกองทัพรัฐฉานทั้งสองกองทัพนี้ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่น่าพึงพอใจต่อเป้าหมายความต้องการของชาวไทใหญ่หรือของประชาชนทุกคนที่อาศัยในรัฐฉาน

กองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ดูเหมือนจะฝากความหวังไว้กับการเจรจาโดยอาเซียนเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองและทางการทหารซึ่งจะนำไปสู่ทางออกแบบสหพันธรัฐในที่สุด

แถลงการณ์ของ RCSS/SSA ระบุว่าพวกเขาจะดูแลประชาชนภายในพื้นที่ๆ พวกเขาควบคุมอยู่ แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ที่ในตอนนี้ชาวไทใหญ่ส่วนมากและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ กำลังถูกบีบบังคับให้ถูกผนวกส่วนหนึ่งภายใต้การควบคุมของ กองกำลังปะหล่องหรือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) กองกำลังโกก้าง (MNDAA)

กองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ถอยร่นออกจากตอนเหนือของรัฐฉานในช่วงปลายปี 2564 โดยการสนธิกำลังของกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA และกองกำลังตะอาง TNLA และเป็นไปได้ที่ UWSA จะร่วมมือด้วย ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นคำสั่งมาจากจีน เนื่องจากว่า RCSS ไม่ได้กลับไปยังตอนเหนือของรัฐฉานอีกเลยหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 พ.ย. 2566 ทั้งกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA และกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ก็ลงนามหยุดยิงอย่างเป็นทางการหลังจากที่สู้รบกันเองมาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงให้สัญญาว่าจะหาทางยุติข้อขัดแย้งในเรื่องที่เหลือในที่สุด

มีบางคนมองว่าการที่กองทัพรัฐฉานทั้งสองกลุ่มนี้หันมาจับมือกันน่าจะเป็นเพราะ พันธมิตรสามภราดรภาพ 3BHA ได้ยึดเมืองในรัฐฉาน ทำให้กองทัพรัฐฉานสองกลุ่มนี้คิดว่าควรจะโต้ตอบด้วยการหันมาร่วมมือกัน แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ก็ปฏิเสธในเรื่องนี้ และบอกว่ากระบวนการเจรจาหยุดยิงนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่พันธมิตรสามภราดรภาพ 3BHA จะมีปฏิบัติการ 1027 แล้ว

เมื่อมองจากแถลงการณ์ของกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA เมื่อไม่นานนี้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ระบุชัดเจนว่า พวกเขาหมายถึงคนกลุ่มไหนตอนที่พูดถึงการต่อต้านลัทธิขยายเขตแดน แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่าพวกเขาหมายถึงกลุ่มติดอาวุธสองกลุ่มที่เป็นสมาชิกของพันธมิตรสามภราดรภาพ 3BHA คือกองกำลังตะอาง TNLA และกองกำลังโกก้าง MNDAA

ในแถลงการณ์ส่วนที่ระบุว่าต่อต้านเผด็จการ และต่อต้านชาตินิยมแบบลัทธิเชื้อชาตินิยมนั้น แน่นอนว่าพวกเขาหมายถึงรัฐบาลทหารพม่า ในขณะที่คำว่าชาตินิยมแบบคับแคบหรือแบบมืดบอดน่าจะสื่อถึงกองทัพตะอาง TNLA และกองกำลังโกก้าง MNDAA ที่ขยายเข้ามาในพื้นที่ที่ชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นประชากรส่วนมากในพื้นที่นั้น

ถึงแม้ว่ากองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA จะระบุว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับองค์กรใดก็ตามที่มีหลักการต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยม ต่อต้านลัทธิขยายเขตแดน และต่อต้านชาตินิยมแบบคับแคบ แต่มันก็ไม่ชัดเจนว่าพวกเขามีกลุ่มไหนอยู่ในใจที่อยากจะร่วมมือด้วย

สรุปก็คือ ในตอนนี้ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์หรือระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กำลังก่อตัวขึ้น และเมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ของกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA เมื่อไม่นานนี้แล้วมันก็ยิ่งดูน่าจะเป็นความขัดแย้งที่หนักหน่วงมากขึ้น สิ่งที่พวกเราไม่รู้คือเมื่อไหร่ที่มันจะปะทุขึ้นหรือว่ามันจะขยายตัวออกไปในรูปแบบใดต่อจากนี้

เรียบเรียงจาก

SSPP & RCSS: Two Shan armies issued statements in the midst of ongoing civil war, Shan Herald Agency For News, 01-02-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net