Skip to main content
sharethis

ส่องบทบาทรัฐบาลจีนยื่นมือเป็นตัวกลางเจรจาสงบศึกการสู้รบในรัฐฉานของพม่า ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ (EAOs) กับเผด็จการทหาร เบื้องหลังการขยายอิทธิพลของ TNLA และอนาคตของความร่วมมือระหว่างกองกำลังต่อต้านกองทัพพม่าและกองกำลังชาติพันธุ์ในรัฐฉานเหนือ TNLA MNDAA และ AA

เมื่อช่วงปลายปี 2566 ทีมเจรจาของ นายพลมินหน่าย (Min Naing) ได้เข้าร่วมการเจรจาที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน โดยการเจรจาในครั้งนี้ ทางการจีนได้หารือกับกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ (3 Brotherhood Alliance - 3BH) ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 ฝ่าย ได้แก่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า หรือกองกำลังโกก้าง (MNDAA), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA), กองทัพอาระกัน (AA)

ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ที่ทางการจีนได้พบปะกับกลุ่ม 3BHA แต่อย่างไรก็ตาม กองกำลังชาติพันธุ์ที่มีความสำคัญในการเจรจาคือกองกำลังโกก้าง และตะอาง เพราะทั้ง 2 กองกำลังนี้จะทำข้อตกลงประนีประนอมในเรื่องการปักปันเขตแดนแบบที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการดความตึงเครียดในการสู้รบที่ตอนเหนือของรัฐฉานลงได้

ทั้งนี้ มีการเปิดหารือกันครั้งแรกที่คุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2566 ทำให้เกิดการสงบศึกชั่วคราวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-17 ธ.ค. 2566 ในช่วงเวลานั้นเองที่กองกำลังโกก้างได้ลดระดับปฏิบัติการทางการทหารและพยายามสร้างโครงสร้างการบริหารขึ้นมา แต่พอถึงวันที่ 18 ธ.ค. 2566 การสู้รบก็กลับมาอีกครั้ง

หลังจากที่มีสนธิสัญญาหยุดยิงเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าการสู้รบจะลดระดับลงแต่กลุ่ม TNLA ก็ทำการรุกคืบและยึดเมืองน้ำคำ กับเขตการค้าหลักไมล์ที่ 105 ใกล้เมืองหมู่เจ้ เอาไว้ได้ นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถยึดครองปะหล่อง, น้ำสั่น ไว้ได้โดยสิ้นเชิง ทำให้ TNLA สามารถควบคุมเมืองได้ 2 เมือง และเขตการค้าที่ใหญ่ที่สุดระหว่างชายแดนจีน-พม่า เอาไว้ได้

จากที่เขตการค้า 'หมู่เจ้' หลักไมล์ที่ 105 เป็นแหล่งส่งออกสินค้าและทรัพยากรที่สำคัญที่สุดจากพม่าไปยังมณฑลยูนนาน ของประเทศจีน การสู้รบที่รุนแรงที่มีทั้งการทิ้งระเบิดด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศก็กำลังส่งผลกระทบไปถึงฝั่งประเทศจีนด้วย จีนมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของประชาชนในประเทศตัวเองและกลัวเรื่องผลกระทบต่อโครงการทางเศรษฐกิจในพม่า

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนพูดถึงประเด็นพม่าอยู่หลายครั้งทั้งในวันที่ 19, 20 และ 21 ของเดือน  ธ.ค. ปีที่แล้ว โดยที่ ในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน หวังเหวินปิน กล่าวว่าจีนกำลังช่วยเจรจาสงบศึกการสู้รบในพม่าผ่านทางการเป็นตัวกลางเจรจาต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยมีการเพิ่มข้อเรื่องเรียกร้องและการจูงใจต่อฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน โดยหวังว่า "ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียจะช่วยปกป้องโครงการของจีนทั้งหมดและปกป้องความปลอดภัยของคนงานที่อยู่ในพม่า ภายใต้บรรยากาศของชายแดนจีน-พม่าที่สงบสุข"

ซุนเว่ยตง รมต.ช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน มอบของที่ระลึกให้กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา (ที่มา: อ้างอิงจากเว็บของทางการเมียนมา)

วาระหลักของการเจรจารอบ 2 ระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์-รัฐบาลปักกิ่ง 

ในการเจรจาครั้งที่ 2 นั้นดูเหมือนจะเป็นการพยายามลดระดับการสู้รบ และหารือเรื่องการปักปันพื้นที่เขตแดนระหว่างฝ่ายสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) นำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กับฝ่าย 3BHA แต่ในครั้งนี้มีกองกำลังโกก้างกับ TNLA ที่เป็นกลุ่มหลักๆ ในการเจรจา ขณะที่บทบาทของ AA นั้นยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่

แหล่งข่าวระบุถึงการเจรจาว่า ฝ่ายเผด็จการทหารจะให้พื้นที่อาณาเขตคืนแก่โกก้าง ซึ่งหมายความว่าจะมีการให้พื้นที่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวินแก่พวกเขา แต่โกก้างอาจจะยังไม่พร้อมที่จะเจรจาแลกเปลี่ยนคืนพื้นที่ Kunlong, Kyukok, Panghsai และ แสนหวี ที่พวกเขาเข้ายึดครองไปแล้วให้กับกองทัพพม่า

นอกจากนี้แล้ว ยังมีพื้นที่ที่ TNLA เข้ายึดครองบางส่วนที่ต้องนำมาขึ้นโต๊ะเจรจาต่อรองด้วย แหล่งข่าวระบุว่าดูเหมือนฝ่ายเผด็จการทหารจะต้องการพื้นที่การค้าหมู่เจ้ หลักไมล์ที่ 105 คืน แล้วพวกเขาจะให้หรือต่อรองที่จะให้เมืองน้ำสั่น ม่านต้ง และอีก 4 เมืองในเขตปะหล่อง

นอกจากนี้ จีนอาจกดดันให้ 3BHA ยอมรับการหยุดยิงด้วย

กองกำลังปะหล่อง หรือดาราอั้ง TNLA (ที่มา: Youtube : PSLF-TNLA)

สถานการณ์กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP และสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS

ในตอนนี้กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) กับ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) และ สภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ยังคงไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับปฏิบัติการ 1027 ที่นำโดย 3BHA แต่ที่น่าแปลกใจคือกองกำลังฉาน 2 กลุ่มนี้คือ SSPP และ RCSS กลับสามารถลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงอย่างเป็นทางการได้ หลังจากที่ 3BHA ปฏิบัติการรุกคืบในทางตอนเหนือของรัฐฉาน

ผู้สังเกตการณ์กองทัพรายหนึ่งกล่าวว่า กองทัพฉาน 2 กลุ่มนี้ไม่ได้พูดคุยอะไรกันเลยนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา แต่ในตอนนี้พวกเขาเข้าร่วมเจรจาได้ มันแสดงให้เห็นถึงเจตนาอย่างชัดเจนว่าทั้งกองทัพฝ่ายเหนือ (SSPP) และกองทัพฝ่ายใต้ (RCSS) ต้องร่วมมือกันเพื่อที่จะปกป้องพื้นที่เขตแดนของตนเอง

ผู้สังเกตการณ์กองทัพกล่าวอีกว่าเนื่องจากการสู้รบเกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วนที่เป็นของกองกำลังกะฉิ่นและกองทัพรัฐฉานทำให้ TNLA ต้องเข้าไปเจรจาต่อรองด้วย ในตอนนี้ TNLA กำลังทำสงครามในพื้นที่กองพลน้อยที่ 4 ของ KIA และมีข่าวระบุว่ามีความไม่ลงรอยกันระหว่างสองกลุ่มนี้

แต่ 'ทาโบงจ่อ' (Tar Bone Kyaw) นายพลจัตวากองทัพบกของ TNLA ก็บอกว่าประเด็นความกังวลเรื่องการแบ่งเขตแดนนั้นเป็นเรื่องที่มีความกังวลจากฝ่ายเดียว และพวกเขาก็กำลังทำการประสานงานเชิงนโยบายกับกลุ่มผู้นำในรัฐฉาน

"ไม่เพียงแค่มีการหารือกับคนของรัฐฉานเท่านั้น แต่พวกเรายังอธิบายความคิดเห็นของพวกเราต่อชาวกะฉิ่นด้วย มีการหารือว่าลักษณะของรัฐตะอางที่อยากให้เป็นนั้นมีรูปแบบอย่างไร พวกเรากำลังปฏิบัติการสู้รบไม่ใช่เพื่อขยายอาณาเขตของพวกเรา ในตอนนี้กำลังมีแผนการจัดวางกองกำลังในพื้นที่ๆ ชาวตะอางปะหล่องส่วนใหญ่อาศัยอยู่" ทาโบงจ่อ นายพลแห่ง TNLA กล่าว 

'ทาโบงจ่อ' (ที่มา: Youtube : PSLF-TNLA)

ความต้องการที่แท้จริงของ TNLA

เจตนาที่แท้จริงของ TNLA คือการจัดตั้ง 'รัฐบาลใหม่' ที่แยกตัวออกมาจากรัฐฉาน และพวกเขาก็พูดถึงเรื่องนี้ต่อสาธารณะหลายครั้งแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัยแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า TNLA มีความมุ่งมั่นที่จะขยายเขตแดนในการควบคุมของตนเองไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงด้วย ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้มี ‘ชาวตะอาง’ อาศัยอยู่เป็นประชากรส่วนใหญ่แต่อย่างใด และการพยายามขยายอาณาเขตก็ส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยในพื้นที่ที่เป็นชาวไทใหญ่ กะฉิ่น และชนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวตะอางด้วย

พื้นที่ที่ 'TNLA' อ้างสิทธิเหนืออาณาเขตเป็นพื้นที่พิพาทและเป็นพื้นที่ๆ ชาวปะหล่องหรือตะอางเป็นชนกลุ่มน้อยไม่ได้เป็นคนส่วนมากในอำเภอต่างๆ ในพื้นที่เหล่านั้น เมื่อพิจารณาจากแผนที่ที่ TNLA วางแผนปักปันให้เป็นเขตแดนของรัฐตะอางแล้ว จะพบว่ามันมีขนาดใหญ่กว่าเขตปกครองตนเองปะหล่องที่มีอยู่เดิม 6 เท่า โดยมีการขยายพื้นที่ไปยังตะวันตกเฉียงใต้, ทางใต้, ทางตะวันออก และทางตะวันออกเฉียงเหนือ จากเขตแดนเดิมด้วย

องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ชื่อว่า "ก้าวไปบนทางขรุขระ : การขยายอาณาเขตของกองทัพตะอางในรัฐฉานของประเทศพม่า" ในรายงานฉบับนี้เองมีเปิดเผยเรื่องแผนที่ที่ TNLA วางแผนปักปันให้เป็นเขตแดนของรัฐตะอาง

มีความตึงเครียดเกี่ยวกับเรื่องข้อพิพาทเขตแดนเกิดขึ้นแล้วระหว่าง KIA กับ TNLA และอีกกรณีหนึ่งคือข้อพิพาท SSPP กับ TNLA ความขัดแย้งกรณีหลังนี้เคยปะทุขึ้นจนเกิดเป็นการสู้รบกันมาแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2566 และครั้งหลังสุดคือ 7 พ.ย. 2566 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีกำลังพลถูกสังหารไป 4 นาย จากการยิงต่อสู้กัน

ดังนั้น การที่ TNLA ยึดน้ำคำไว้ได้เมื่อไม่นานนี้จึงกลายมาเป็นปัญหาซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ได้ จากการที่น้ำคำมีประชากรส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 เป็นชาวไทใหญ่

โดยสรุปแล้ว TNLA ต้องการที่จะขยายอาณาเขตภายใต้การควบคุมของตัวเองออกไปจากเดิมทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านั้นมีประชากรกลุ่มชนชาติของตัวเองอยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

SSPP ได้พูดถึงเป้าหมายของ TNLA เอาไว้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มสามารถที่จะมีเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีสถานะสูงขึ้นจากเดิมอย่างการเป็นรัฐชาติพันธุ์ภายในพม่าได้ แต่การที่ว่ามันจะกระทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่ หรือจะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นทางการภายใต้กฎหมายที่มีอยู่หรือไม่นั้น มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง

แต่ก็ดูเหมือนว่า RCSS เลือกที่จะทำตามโมเดลสหพันธรัฐฉาน (Federated Shan States) เมื่อปี 2465 ที่กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะสามารถปกครองตนเองได้ภายใต้ผู้ปกครองหรือผู้นำของตนเอง และในระดับรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐจะมีการนำร่วมกันโดยผู้นำแต่ละชาติพันธุ์ แต่ก็แน่นอนว่าแนวคิดนี้จะต้องไปกันได้กับบรรยากาศทางการเมืองในยุคปัจจุบันที่มีนวัตกรรมด้วย กล่าวสั้นๆ คือสิ่งที่ RCSS ต้องการคือสหพันธรัฐฉานที่อยู่ภายในประเทศสหภาพพม่า หรือเมียนมา

พลเอก เจ้ายอดศึก (แฟ้มภาพเมื่อปี 2553)

มุมมองจากสื่อต่อเรื่องนี้

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้แล้วมันก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการเรียกร้องให้จีนเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งที่สองระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่กำลังรบกันอยู่นั้น จะประสบผลสำเร็จหรือไม่

ในตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าโกก้าง และ TNLA จะพอใจกับการประนีประนอมแลกเปลี่ยนแบบที่ต่างฝ่ายต่างได้และละทิ้งโวหารเดิมของพวกเขาในการโค่นล้มเผด็จการทหารเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทั้งประเทศหรือไม่

เช่นเดียวกันนั้นเอง การขยายเขตแดนของ TNLA ซึ่งรวมไปถึงเมืองแสนหวี ที่พวกเขาเพิ่งจะยึดครองมาได้นั้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองที่ต้องเป็นปัญหาต้องรีบแก้ไขหรือไม่ถ้าหากว่าพวกเขาต้องการคงไว้ซึ่งความปรองดองระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากเมืองแสนหวีซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของโกก้างนั้นมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นส่วนมาก

สรุปคือ ถึงแม้ว่าจีนจะสามารถกดดันให้ 3BHA ทำข้อตกลงสงบศึกกับเผด็จการทหารได้โดยอาศัยวิธีที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นขบวนการปฏิวัติต่อต้านเผด็จการทหารพม่าก็จะยังคงดำเนินต่อไป ถึงแม้ว่ามันจะทำให้การปฏิวัติโดยภาพรวมอ่อนแรงลงบ้าง แต่มันก็จะกลายเป็นการแก้ไขปัญหาความอยากขยายอาณาเขตของ TNLA และโกก้าง รวมถึงแก้ปัญหาที่ว่ากลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ไม่สามารถลดความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ที่กำลังก่อตัวจนกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองภายในรัฐฉานได้อีกด้วย


เรียบเรียงจาก

CHINA’S MEDIATION IN MYANMAR CONFLICT: Second meeting between the Three Brotherhood and military junta, Shan, Herald Agency For News, 24-12-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net