Skip to main content
sharethis

คุยกับชาวไทยและชาวเมียนมาขอให้แนะนำเพลงที่ใช้ร้องในการประท้วง และฟังในการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติ หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 โดยมีทั้งเพลงที่แต่งขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติ 8888 เพลงที่แต่งขึ้นใหม่หลังรัฐประหาร ไปจนถึงเพลงที่มาจากการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินไทย-เมียนมา

'ตเว่ติ๊ดส่า' หรือ 'อะเหย่จีปยี'

เริ่มต้นด้วยเพลงชาติของการประท้วงของชาวพม่า เพราะทุกครั้งที่มีชุมนุมของชาวพม่าในกรุงเทพฯ จะได้ยินเพลงนี้อยู่เสมอ 'ตเว่ติ๊ดส่า' หรือ 'คำสัญญาด้วยเลือด' และเพลงนี้ยังมีอีกชื่อคือ 'อะเหย่จีปยี' หรือ 'สิ่งสำคัญ' ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย 'ทูเอ่งติ่น' (Htoo Eain Tin) อดีตนักกิจกรรมนักศึกษาช่วงการปฏิวัติ 8888

ชาวพม่า เล่าให้ฟังว่า 'ตเว่ติ๊ดส่า' เป็นเพลงปลุกใจในการประท้วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ. 2531 จนถึงการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด บทเพลงโดยคร่าวๆ มีความหมายถึงประชาชนอาจต้องยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในพม่า

'นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก/เราต้องสามัคคีและเดินขบวนไปด้วยกัน/เพื่อเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ด้วยเลือดของเรา/เราจะรักษาคำสาบานด้วยเลือดของเรา/เราจะสละชีวิตเพื่อประเทศของเรา/เราจะเดินหน้าตามรอยทางเลือดของนกยูง' 

ก่อนหน้านี้เคยมีข้อสงสัยคำว่า 'นกยูง' ในเนื้อเพลง ต้องการสื่อสารความหมายถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของอองซานซูจี หรือไม่ เนื่องจากสัญลักษณ์ของ ‘NLD’ เป็นนกยูงที่กำลังทำท่าต่อสู้เหมือนกัน แต่ฮีทเทอร์ แมคคลาแลน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเดย์ตัน และผู้ทำวิจัยเรื่องเพลงของประท้วงของชาวพม่า วิเคราะห์ว่า ในบริบทนี้ที่เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นอาจหมายถึงการต่อต้านเผด็จการ และสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ไม่น่าจะสื่อความหมายถึงพรรค NLD เนื่องจากสัญลักษณ์ 'นกยูงต่อสู้' (fighting peacock) นอกจากจะถูกนำมาใช้เป็นโลโกของ NLD ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อปี 2558 (ค.ศ. 2015) แล้ว การใช้สัญลักษณ์ 'นกยูงต่อสู้' ยังถูกใช้ย้อนไปในยุคที่สหภาพนักศึกษาพม่าต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษในทศวรรษ 2470 ด้วย

ขณะที่บทความของ ข่าวสด อิงลิช ระบุทำนองเดียวกันว่า คำว่า ‘นกยูง’ ในเนื้อเพลง น่าจะสื่อความหมายถึงขบวนการนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหาร 

youtube: https://www.youtube.com/watch?v=0EwZJhymCpQ

Revolution Means 

"Revolution Means" ร้องโดย "โนเวม ทู" (Novem Htoo) นักร้องชื่อดัง แชมป์รายการประกวดร้องเพลง "The Voice" ประเทศเมียนมา เมื่อปี 2562 หรือ ค.ศ. 2019 ซึ่งหลังรัฐประหารล่าสุด โนเวม ทู เป็นหนึ่งในศิลปินที่มาร่วมต่อต้านเผด็จการร่วมกับประชาชนชาวพม่า

ชาวพม่าแนะนำเพลงนี้ พร้อมระบุว่าเพลงของโนเวม ทู ทรงพลัง และสามารถยึดกุมแก่นสำคัญของแนวคิดการปฏิวัติเมียนมา หรือที่เรียกว่า 'การปฏิวัติผลิบาน' (Spring Revolution) อีกทั้ง บอกเล่าเรื่องการเดินทางสู่การสร้างระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย และเพลงนี้สำหรับพวกเขาเหมือนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการพูดถึงเรื่องการฟื้นฟูประชาธิปไตยในพม่า และการรวมพลังของผู้คน

youtube: https://www.youtube.com/watch?v=14fuJ8wd-uo

Break it Down

เพลงฮิปฮอป "Break it Down" เผยแพร่เมื่อปี 2566 เป็นการร่วมกันขับร้องเพลงระหว่างศิลปินแร็ปเปอร์ไทย 3Bone และวงศิลปินฮิปฮอปในพม่า "The Synks"

'เดฟ' 3Bone หนึ่งในศิลปินที่ได้ร่วมโปรเจกต์ "Break it Down" ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดเพลงว่า ศิลปินพม่าเขาอยากทำเพลงเพื่อ 'ล้มใครสักคน' คุณอยากเขียนเพลงนี้เพื่อล้มใคร หรือล้มล้างอะไร ก็เลยเป็นชื่อเพลง "Break It Down" ตรงตัวเลย จากนั้น ก็ให้ศิลปินแต่ละคนแยกย้ายไปแต่งเนื้อร้องให้ตรงกับธีม และมาอัดเพลงถ่ายมิวสิกวิดีโอร่วมกัน ตั้งแต่คุยจนจบกระบวนการทำเพลงทั้งหมดใช้เวลาราว 2-3 เดือน

สำหรับเนื้อเพลง ท่อนของเดฟ ต้องการบอกเล่าถึงความเป็น 'สหาย' หรือเพื่อน ระหว่างคนไทยและพม่า แม้ว่าประวัติศาสตร์เมื่อก่อนทั้งสองชนชาติจะเคยทำสงคราม แต่ตอนนี้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเผชิญปัญหาเดียวกันคือ 'ระบอบเผด็จการทหาร' และเราจะไม่มีวันยอมรับรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม จุดเด่นอีกอย่างของเนื้อเพลงของศิลปินไทยคือการนำเอาเรื่องผู้ลี้ภัยมาบอกเล่าผ่านเพลงอีกด้วย

"เสียงใครเคาะประตู
เตรียมตัวกระโดดออกทางหน้าต่าง
ผู้คนโดนล้อม โดนล็อก
บางคนเดินเลาะข้ามไทยมาทางป่า
ยินดีต้อนรับ สู่ประเทศไทย
Fuck มินอองลายควยคนไทยฝาก
กูส่งแร็ปไทยไปประเทศเมียนมา
เพื่อเสรีภาพไอ้สัส"

เนื้อเพลง Break it Down บางส่วน

youtube: https://www.youtube.com/watch?v=Hd1YQ7oEzbM&list=RDHd1YQ7oEzbM&start_radio=1

ทั้งนี้ จากการสอบถาม 3Bone ระบุว่า หนึ่งในศิลปินพม่าในโปรเจกต์ "Break it down" นามว่า FL3XX เสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยที่ปอด 

"Lay down your guns"

"Lay Down Your Gun" ประพันธ์โดยนักไวโอลินนามว่า 'โพซาน' เป็นเพลงที่เรียกร้องให้ทหารพม่ายอมวางอาวุธ และยกธงขาวยอมแพ้ต่อกองกำลังปฏิวัติของประชาชน เพลงนี้เป็นเพลงใหม่ถูกแต่งหลังจากปฏิบัติการ 1027

สำหรับปฏิบัติการหมายเลข 1027 เป็นปฏิบัติการที่เริ่มขึ้นเมื่อ 27 ต.ค. 2566 โดยกองกำลังพันธมิตรสามสหาย ประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง MNDAA, กองกำลังปะหล่อง TNLA และกองกำลังอาระกัน AA ได้โจมตีค่ายทหารพม่าในรัฐฉานเหนือ บริเวณชายแดนติดกับประเทศจีน จนสามารถยึดเมืองสำคัญเอาไว้ได้โดยเฉพาะ 'เมืองเหล่ากาย' และปฏิบัติการดังกล่าวเป็นกำลังใจส่งต่อไปยังกองกำลังฝากประชาชน หรือ PDF ในฝั่งตะวันออกของเมียนมา ในการต่อสู้กับกองทัพพม่า

youtube: https://www.youtube.com/watch?v=ZywKiefi2t8

'อะโหล่มะชิ'

อะโหล่มะชิ เป็นเพลงที่ถูกร้องบ่อยมากในช่วงการประท้วงหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ชาวพม่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประพันธ์ แต่งขึ้นในช่วงหลังการทำรัฐประหารปี 2564 

ช่วงต้นของเพลงพูดถึงการต่อสู้ร่วมกันเพื่อเสรีภาพ และเพื่อประชาธิปไตยในพม่า และช่วงท่อนฮุคพูดถึงการ 'ขับไล่เผด็จการทหาร' (เนื้อเพลง แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า 'Let’s kick out the dictatos') และต่อด้วยคำว่า 'อะโหล่มะชิ' แปลว่า 'ปฏิเสธ' หรือสามารถแปลเป็นคำว่า 'ไม่เอาเผด็จการ' ได้เหมือนกัน

จุดเด่นของเพลงนี้อีกอย่างคือใช้ทำนองเหมือนการตีหม้อ หรือสิ่งของ ซึ่งช่วงแรกหลังการทำรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 2564 ทุกคืนชาวพม่าจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามคติพื้นถิ่นของชาวพุทธ โดยการเคาะหม้อ หรืออุปกรณ์เครื่องครัวจนเสียงดังระงม เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากประเทศชาติ ซึ่งความหมายของ "สิ่งชั่วร้าย" ในที่นี้คือ "กองทัพพม่า" 

youtube: https://www.youtube.com/watch?v=3djeNvr4lo0

The Way

"The Way" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สั้น ประพันธ์โดย 'ลิน ลิน' (Lynn Lynn) นักร้องเพลงร็อคพม่าชื่อดัง บทเพลงพูดถึงหนทางที่เราเลือกเพื่อการปฏิวัติพม่า และต้องไม่ยอมแพ้ที่จะบรรลุจุดประสงค์นั้นให้ได้

youtube: https://youtu.be/WqKKS56G1Wc?si=M3I6ds3Fc_wAVIcr

We are friends

“เราคือเพื่อนกัน” เป็นเพลงของวงสามัญชน วงดนตรีประจำการชุมนุมคนรุ่นใหม่ประเทศไทย สำหรับเพลงนี้เมื่อปี 2564 ได้ถูกเอามาแปลเนื้อร้องเป็นภาษาพม่า และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "We are friends" เพื่อสะท้อนความรู้สึกจากคนไทยที่ต้องการส่งกำลังใจ และแสดงจุดยืนเคียงข้าง 'เพื่อน' ชาวเมียนมาในการต่อสู้เพื่อระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย 

youtube: https://www.youtube.com/watch?v=1SiX_6HxFb8

"กะบ่ามะเจ่บู" 

ข้อมูลจาก ศิรดา เขมานิฏฐาไท นักวิชาการด้านเมียนมา ระบุว่า “กะบ่า มะเจ่ บู”   (ကမ္ဘာမ‌‌ကြေဘူး) ซึ่งเป็นเพลงประจำการชุมนุมประท้วงตั้งแต่สมัย 1988  จึงถูกเรียกว่าเป็นเพลงปฏิวัติ เพลงนี้แต่งโดย “หน่ายน์ เมียนมา” ซึ่งยืมทำนองมาจากเพลง "Dust in The Wind" ของวง Kansas

ความหมายของชื่อเพลงคือ ‘จะไม่มีวันจำนนจนกว่าโลกสิ้นสลาย’ (Until the End of the World) ซึ่งในที่นี้ก็คือ ‘ไม่จำนนต่อเผด็จการทหาร’ และ ‘ไม่ยอมแพ้ที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย’ สิ่งที่น่าสนใจของชื่อเพลงอีกประการนั่นคือ ชื่อเพลงในการประท้วงนั้นตั้งให้คล้ายกับเพลงชาติของประเทศพม่า "กะบ่า มะเจ่ เหมี่ยน หม่า ปหยี่" 

จุดเด่นของเนื้อเพลงมุ่งเน้นไปที่ความเสียสละเพื่อประชาธิปไตยของเหล่าวีรชน และมีลักษณะที่ปลุกใจมวลชน เพราะเนื้อเพลงเรียกร้องให้ประชาชนรำลึกถึงวีรชน และอย่านิ่งเฉยขอให้ออกมาต่อสู้เหมือนวีรชนที่สูญเสียเลือดเนื้อในสงคราม เพื่อประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ในเนื้อเพลงยังอ้างอิงถึงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมพม่าสองคน นั่นคือ "โก่ด่อมาย" และ "นายพลอองซาน" 

โก่ด่อมาย

สำหรับอองซาน หลายคนที่ติดตามประวัติศาสตร์น่าจะคุ้นเคย เพราะเขาถูกขนานนามว่าเป็นบิดาของประเทศพม่า พาประเทศพม่าปลดแอกจากจักรวรรดินิยมอังกฤษหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ขณะที่ โก่ด่อมาย คือนักชาตินิยมในยุคอาณานิคมที่ปลุกระดมให้คนพม่าออกมาต่อสู้เพื่อเอกราช เขาใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารกับมวลชน เนื้อเพลงของกะบ่า มะเจ่ บู พยายามบอกว่า ประวัติศาสตร์ที่ ‘โก่ด่อมาย’ เคยสร้างไว้ มาตอนนี้ถูกทำลายโดยระบอบเผด็จการทหารแล้ว

youtube: https://www.youtube.com/watch?v=MRqPofsJwrE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Revolution

สำหรับเพลง Revolution หรือการปฏิวัติ ของ "Generation Z" หนึ่งในเพลงที่ชาวพม่าร้องระหว่างประท้วงบนท้องถนน เพื่อต่อต้านกองทัพพม่า เพลงมีจังหวะที่ช้า และเนื้อเพลงคร่าวๆ สื่อถึงการปลุกใจประชาชนให้ต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่าแม้ต้องเสียสละเลือดและเนื้อ อย่าให้ความกลัวมาหยุดเรา และเราต้องกล้าหาญ และสู้จนกว่าจะสามารถล้มระบอบเผด็จการทหารให้จงได้

youtube: https://www.youtube.com/watch?si=J_oh5SDIQismvavO&v=ew2v3DtJo7E&feature=youtu.be

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net