Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์' ยินดีรัฐบาลไทยจะเปิดศูนย์มนุษยธรรมเมียนมา ที่ จ.ตาก แนะไทยต้องกล้าเป็นผู้นำและทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธ์ด้วย

 

30 ม.ค.2567 ทีมสื่อพรรคเป็นธรรมรายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (30 ม.ค.67) กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม แสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยจะเปิดพื้นที่มนุษยธรรมฝั่งตะวันตกติดเมียนมา จากกรณีปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat : AMM Retreat) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยไทยจะตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรม ชายแดนไทย-เมียนมา ที่จ.ตาก

กัณวีร์ กล่าวว่า ยินดีที่รัฐบาลไทยนำแนวคิดเรื่องระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor)” มาพิจารณาเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพี่น้องชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงภายในประเทศ อย่างที่ตนเองเคยเสนอ แต่เห็นว่ายังมีข้อห่วงใยในแนวปฏิบัติซึ่งไม่น่าจะทำได้จริง และยังขาดการเจาะลึกงานด้านมนุษยธรรมและบทบาทของไทยในเรื่องนี้ จึงมีข้อเสนอไปยังรัฐบาล 

"ข้อแรก รมว.กต. บอกว่าจะใช้สภากาชาดสามฝ่ายคือ ไทย เมียนมา และสากล ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดเงื่อนไขการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งของไทยและกาชาดสากลผมไม่ติดนะครับได้แน่นอน แต่ของเมียนมานี่สิครับไม่ได้แน่นอนครับ กาชาดเมียนมาถูกทหารเข้าแทรกแซงเต็มที่และคงไม่สามารถเป็นกลางได้เพราะเป็นกลไกของ SAC ดังนั้นไทยต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าต้องทำงานกับใครในพื้นที่ใดและกลุ่มเป้าหมายคือใคร เพราะแต่ละพื้นที่ก็ต้องใช้ผู้ทำงานที่ต่างกัน เราต้องทำงานร่วมกับกองกำลังชาติพันธ์ุต่างๆ ด้วยมิเช่นนั้นการให้ความช่วยเหลือจะเข้าไม่ถึงอย่างแน่นอน"

กัณวีร์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะข้อที่สอง กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเริ่มการทำพื้นที่มนุษยธรรมที่ จ.ตาก โดยเหตุผลที่เลือก จ.ตาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก ซึ่งรัฐบาลมองว่า ถ้าในส่วนนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆนั้นตนเองมองว่ารัฐบาลคิดและวิเคราะห์ตื้นเกินไป เพราะการเตรียมเปิดพื้นที่ต้องเลือกพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงสูงสุดเสียก่อน ฝั่งพม่าที่ติดกับไทยที่มีปัญหามากที่สุดคือรัฐคะยาห์ทั้งรัฐและรัฐคะยิน โดยเฉพาะเขตเมืองพะพูน ศูนย์บัญชาการกองพลที่ 5 ของ KNU ซึ่งพื้นที่ของไทยหลักๆ คือ จ.แม่ฮ่องสอน 

"ที่นี่คือ hotspot ของงานมนุษยธรรม และขอเรียนว่าการทำงานมนุษยธรรมคือการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินเชิงรุก ไม่ใช่งานตั้งรับ และการทำงานมนุษยธรรมไม่ใช้เน้นการเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างสะดวกสบายนะครับ ดังนั้นเราต้องไปในพื้นที่ที่จำเป็นจริงๆ จัดลำดับความสำคัญให้ได้ครับเรื่องงานมนุษยธรรมนี่มันจำเป็นจริงๆ"

กัณวีร์ ยังเสนอแนะในข้อที่สามว่า รัฐบาลไทยอย่ายึดติดกับระบบ G to G เสียมาก และยังเป็นการทูตอนุรักษ์นิยม จะทำงานกับแต่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้เพราะสถานการณ์ในเมียนมา ทำกับแต่รัฐบาลพม่าก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมตามที่ รมว.กต.คิดได้ จะต้องทำกับทุกส่วนโดยเฉพาะ EROs กลุ่มกองกำลังชาติพันธ์ุทุกกลุ่มด้วย โดยเฉพาะที่มีพื้นที่ติดกับประเทศไทยตั้งแต่ฉาน คะยาห์ คะยิน และมอญ ทำให้ได้ครับก้าวข้ามผ่านการทูตเชิงอนุรักษ์นิยมให้ได้

"ข้อที่สี่ หยุดคิดเรื่องหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียนกับเรื่องเมียนมาครับ อย่าคิดว่าเมียนมาต้องแก้ไขด้วยตนเอง เราไม่เรียนรู้เลยถึงความสำคัญของหลักภูมิรัฐศาสตร์ของไทยกับเมียนมาที่มีชายแดนติดกันถึง 2416 กม. ยังไงอะไรที่เกิดในเมียนมาก็ต้องกระทบไทย ทางกลับกันปัญหาในไทยหากมากก็กระทบกับเมียนมาครับ เพราะฉะนั้นไทยต้องเป็นผู้ที่ต้องแสดงบทบาทสำคัญกับสถานการณ์ภายในเมียนมาโดยเฉพาะเรื่องการขับเคลื่อนการกลับมาของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในเมียนมาโดยเร็ว"

กัณวีร์ ย้ำด้วยว่าสิ่งแรกไทยต้องกระโดดข้ามกรอบกระบวนทัศน์เรื่องจุดยืนทางการทูตของไทยให้ได้เสียก่อน แล้วเรื่องงานด้านมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และการทูตศตวรรษที่ 21 ที่เหมาะสมกับประเทศไทยจะตามมาทันที และสุดท้ายดีใจที่ รมว.กต. จะนำแนวคิดระเบียงมนุษยธรรมไปปรับใช้กับสถานการณ์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net