Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิกฤตสภาวะภูมิอากาศและหายนะทางสิ่งแวดล้อม สิทธิ์ชนพื้นเมือง (indigenous right) และการเคลื่อนไหวต่อสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ นับได้ว่าเป็น ประเด็นร้อนในการเมืองโลกยุคศตวรรษที่ 21 ล่าสุดซีรี่ส์ดราม่าอาชญากรรมแนวสืบสวนสอบสวนเรื่อง True Detective ฉายทางช่อง HBO เมื่อต้นปี2024 ที่ผ่านมาเป็นสื่อบันเทิงที่พยายามนำเสนอประเด็นปัญหาข้างต้นอย่างตรงไปตรงมาพร้อมพล็อตเรื่องที่น่าติดตามและระทึกขวัญควรค่าแก่การนำมาชวนถกเถียงอภิปราย 

ชื่อเรื่องในซีซั่นที่ 4 ของTrue Detective คือ Night Country (มีอยู่ 6 ตอน) โดยครั้งนี้ ซีรี่ส์มีความแปลกใหม่ทั้งในแง่ของสถานที่และตัวละครเอก ซีรี่ส์พาผู้ชมเปลี่ยนบรรยากาศออกจากมลรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกาไปยังอลาสก้า รัฐทางเหนือที่มีภูมิอากาศเย็นยะเยือกและมืดมิด (เหตุการณ์เกิดเป็นช่วง Polar Night ซึ่งพื้นที่จะไม่เจอกับแสงอาทิตย์เป็นเวลานับเดือน)โดย Night Country ในที่นี้คือเมือง Ennis ซึ่งเป็นเมืองสมมติเล็กๆตั้งอยู่สุดขอบโลก ในมิติแง่ของตัวละครนั้นก็นับว่าเป็นครั้งแรกที่ซีรี่ส์มีคู่หูตำรวจหญิงแกร่งสองคน (แสดงโดย Jodie Foster และ Kali Reis) เป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง (ในขณะที่หลายคนจะมีภาพจำ Matthew McConaughey และ Woody Harrelson ในซีซั่นแรก) เพียงแค่พิจารณาถึง ตัวละครนำและสถานที่ก็อาจจะทำให้แฟนๆซีรีส์หลายคนเริ่มรู้สึกกังวลว่า True Detective ซีซั่นนี้จะปรับโฉมหน้าตัวเองใหม่และสูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตัวรวมถึงฐานแฟนคลับสนับสนุนอันนำไปสู่กระแสลงเฉกเช่นซีรีส์อื่นๆก่อนหน้านี้หรือไม่ ไม่นับต้องพูดถึงมิติด้านเพศที่ตัวซีรีส์นำเสนอตัวละครเพศชายแทบทุกคนออกมาล้วนแล้วแต่มีมิติด้านลบ กล่าวคือ ถ้าไม่ใช่ผู้ชายที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ตายหมู่อย่างน่าอนาถในต้นเรื่อง ก็เป็นคนงานเหมืองที่เสพติดความรุนแรงภายในครัวเรือนไปจนถึงตำรวจฉ้อฉลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ พูดง่ายๆก็คือ ซีซั่นนี้เปิดตัวตั้งแต่ตอนแรกว่าจะเป็นเรื่องราวของตำรวจหญิง (ผิวขาวและชนพื้นเมือง)ในดินแดนชายขอบอันไกลโพ้น แตกต่างจากหนังและซีรี่ส์แนวอาชญากรรมทั่วไป

 

True Detective ตอน Night Country: วิกฤตสิ่งแวดล้อม สิทธิชนพื้นเมือง และการเคลื่อนไหวต่อสู้ในศตวรรษที่ 21

 

Night Country เปิดเรื่องมาด้วยการแข็งตายหมู่อย่างปริศนาของนักวิทยาศาสตร์ 7 คน ศพพร้อมใบหน้าที่บิดเบี้ยว เป็นเหมือนประติมากรรมน้ำแข็งที่ถูกพบท่ามกลางความมืดมิดและทุ่งหิมะไกลสุดลูกหูลูกตาของเมืองEnnis นักสืบแดนเวอร์ (Jodie Foster) พร้อมกับตำรวจหญิงนาวาโร (Kali Reis) ต้องร่วมกันสืบสวนสอบสวนหาต้นสายปลายเหตุของการสังหารหมู่ที่น่าสยดสยองนี้ ความพยายามของทั้งสองในการไขคดีปริศนาดังกล่าวได้ทำให้พวกเธอต้องรื้อฟื้นบาดแผลที่ถูกลืมของเมืองแห่งนี้ในอดีต นั่นคือการตายอย่างทารุณของนักเคลื่อนไหวหญิงชนพื้นเมืองเมื่อ 6 ปีก่อน รวมถึงการเผชิญกับสภาพความเป็นจริงอันไร้อนาคตอนาคตของเมืองแห่งนี้ แม้ว่าพล็อตเรื่องหลักของตัวซีรี่ส์จะเกี่ยวข้องกับการไขปริศนาการตายของนักวิทยาศาสตร์ 7 คน แต่พื้นหลังของซีรี่ส์กับเป็นการค่อยๆคลี่ให้เห็นถึงอาการป่วยไข้ทางสังคม สิ่งแวดล้อม ร่างกายและจิตใจของคนในเมืองEnnisโดยรวม ซึ่งบทความขนาดสั้นชิ้นนี้จะพาไปสำรวจแต่ละประเด็น

วิกฤตสิ่งแวดล้อม พื้นที่สังเวย และภาคอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (extractive industry)

ในตอนแรกของNight Country ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดภายในชุมชนเล็กๆ สุดขอบโลกแห่งนี้ ในด้านหนึ่ง รายได้และการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเมือง Ennis มีที่มามาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ซึ่งลงทุนโดยบริษัท Silver Sky การเข้ามาของการทำเหมืองได้ช่วยนำพาความเจริญ กระตุ้นการจ้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้เอง ประชากรในเมืองส่วนหนึ่งจึงสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างแข็งขัน นอกจากนี้Silver Sky ยังมีอิทธิพลในเมืองในหลายๆมิติ ยกตัวอย่างเช่น Silver Skyเป็นเจ้าของสนามแข่งฮอกกี้ขนาดใหญ่ของเมือง มีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับองค์กรตำรวจ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(ติดอาวุธ)เป็นของตนเอง ซึ่งบางครั้งทำหน้าที่ทับซ้อนกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อีกด้านหนึ่ง มีกลุ่มประชากรจำนวนมากโดยเฉพาะชนพื้นเมือง (ชุมชนอินูพีแอต Iñupiat ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่มีอยู่จริงในอลาสก้า) ไม่เห็นด้วยกับอุตสาหกรรมเหมือง โดยมองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานแลกมากับหายนะทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวของคนในเมือง ความตึงเครียดภายในเมืองข้างต้นปะทุออกมากลายเป็นการปะทะกันระหว่างคนงานเหมืองแร่และนักเคลื่อนไหว หรือระหว่าง เจ้าหน้าที่ภาครัฐสนธิกำลังกับหน่วยรักษาความปลอดภัยเอกชนปะทะกับนักเคลื่อนไหว จนสุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุด คือนักเคลื่อนไหวหญิงชนพื้นเมืองถูกแทงตายอย่างทารุณ แม้ว่าการตายของเธอจะผ่านมา 6 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหาตัวฆาตกรได้ นอกจากนี้ การพูดถึงการตายของหญิงผู้นี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สร้างความอึดอัดใจให้กับชาวเมือง การตายของเธอเปรียบได้กับช้างในห้องที่ทุกคนตั้งใจปิดหูปิดตาปิดปากไม่พูดถึง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็กลับมาหลอกหลอนชาวเมืองEnnis อีกครั้ง มลพิษอันเกิดจากการทำเหมืองได้ส่งผลให้น้ำในเมืองกลายเป็นสีดำ ไม่สามารถอุปโภคบริโภคได้ อีกทั้ง ยังมีการตายของทารกแรกเกิดถี่มากขึ้นเรื่อยๆแทบทุกสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเริ่มระดมพลขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ มีทั้งคนพื้นเมืองรวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้าร่วมจำนวนมาก โดยสัญลักษณ์ที่พวกเขาใช้เพื่อสะท้อนจุดยืนต่อต้านเหมืองคือ การใช้นิ้วสามนิ้วจุ่มหมึกดำและทาทับปากของตัวเอง พวกเขาตะโกน “We were here before. We’re gonna stay while you’re gone. (เราอยู่ที่นี่มาก่อน คุณไปแล้วเราก็ยังอยู่)”

บ่อยครั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่หนึ่งๆโดยเฉพาะพื้นที่เมืองหรือศูนย์กลางของทุนและความมั่งคั่งมักแลกมากับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ชายขอบซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนผิวสี ชนกลุ่มน้อยชนพื้นเมือง Naomi Klein และ Rebecca Steoff นักกิจกรรมและนักคิดเชิงวิพากษ์ได้เรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า พื้นที่สังเวย (sacrifice zones) อันหมายถึง พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลซึ่งถูกใช้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (extractive industry) เช่น เจาะน้ำมัน ทำเหมืองขุดแร่ทรัพยากรธรรมชาติหรือเกษตรกรรมและปศุสัตว์ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติอันเกิดจากอุตสาหกรรมดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม หายนะของพื้นที่สังเวยแลกมากับความเจริญทางเศรษฐกิจของพื้นที่เมือง[1] อุตสาหกรรมเหล่านี้หลังจาก “สกัด”มูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จนหมด ท้ายที่สุดก็คงไว้เพียงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เป็นพิษ อาศัยอยู่ไม่ได้ให้แก่คนในพื้นที่ ตัวอย่างพื้นที่สังเวยในโลกแห่งความเป็นจริงร่วมสมัยนั้นมีอยู่นับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ชนบททั่วไปอย่างเมืองในจังหวัดภาคเหนือของลาวที่เปิดให้ทุนต่างชาติเข้ามาทำไร่ปลูกกล้วยขนาดใหญ่ (banana plantation) ที่อัดปุ๋ยสารเคมีในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็ทิ้งไว้เพียงดินที่ปนเปื้อนเพาะปลูกอะไรไม่ได้แก่คนในพื้นที่ ไปจนถึงตัวอย่างสุดโต่งเช่นเมืองฟุกุชิม่าในประเทศญี่ปุ่นที่เคยเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าเข้าศูนย์กลางความเจริญ สุดท้ายแล้วเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ฟุกุชิม่าก็กลายเป็นพื้นที่สังเวยรองรับสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อน

เมือง Ennis คือภาพสะท้อนของพื้นที่สังเวยที่อยู่ไกลโพ้นแลกมากับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอันเกิดจากอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวยังลิดรอนสิทธิของชนพื้นเมืองซึ่งเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สังเวยมาตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของอำนาจอาณานิคมและทุน อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ผลักให้ชนพื้นเมืองแปรสภาพกลายเป็นแรงงานเปราะบางและไม่มีความไม่มั่งคงทางเศรษฐกิจ ในบทความของCameo Dalley เขาได้ตีแผ่ให้เห็นการรุกคืบปล้นชิง (dispossess)พื้นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียของอุตสาหกรรมปศุสัตว์วัว (cattle industry) และพรากสิ่งที่Dalleyเรียกว่า อำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ (economic sovereignty)ของชนพื้นเมืองไป[2] ในทัศนะของDalley แม้กลุ่มคนชนพื้นเมืองในออสเตรเลียจะได้รับอธิปไตยทางการเมือง นั่นหมายถึงการตระหนักรู้และนับรวมเข้าเป็นพลเมืองของรัฐชาติ แต่สิ่งที่พวกเขาถูกพรากภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ตลาดทุนเสรีก็คือ อำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ พวกเขาส่วนใหญ่ทำงานเป็นแรงงานรับจ้างชั่วคราวในอุตสาหกรรมสกัดทรัพากรธรรมชาติที่มีความเสี่ยงและไม่มั่นคง นี่เป็นปัญหาที่ชนพื้นเมืองทั่วโลกรวมถึงในสหรัฐอเมริกาเองก็ประสบ และสะท้อนออกมาได้อย่างดีใน Night Country

 

True Detective ตอน Night Country: วิกฤตสิ่งแวดล้อม สิทธิชนพื้นเมือง และการเคลื่อนไหวต่อสู้ในศตวรรษที่ 21

 

**** ส่วนถัดไปด้านล่างของบทความ มีการเปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญบางอย่างของซีรี่ส์ Night Country ******

ในช่วงท้ายของเรื่อง ซีรี่ส์ค่อยๆคลี่คลายว่า Silver Skyเป็นเจ้าของบริษัทวิจัยที่ว่าจ้างกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เสียชีวิตตอนต้นเรื่อง เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างช่วย Silver Sky ปกปิดและผลิตข้อมูลเท็จเกี่ยวกับมลพิษที่เหมืองก่อ พวกเขามีส่วนในการหลอกลวงสาธารณะมานับทศวรรษว่าเหมืองไม่ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่แล้วเมื่อหกปีก่อน ก็มีหญิงนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งค้นพบความจริงดังกล่าว หล่อนจึงถูกนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ฆ่าปิดปาก โดยมีSilver Sky และตำรวจของเมือง Ennisช่วยเคลื่อนย้ายและอำพรางศพ นักสืบแดนเวอส์และตำรวจหญิงนาวาโรใช้เวลาร่วมห้าตอนจึงเริ่มปะติดปะต่อการตายของหญิงชนพื้นเมืองด้วยน้ำมือของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เมื่อหกปีก่อนได้ อย่างไรก็ดี ทั้งสองก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั้งเจ็ด เหตุใดพวกเขาจึงเปลือยกายนอนแข็งตายอย่างสยดสยอง

ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม สิทธิ์ชนพื้นเมือง และการลุกขึ้นสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่

แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม (environmental justice) เป็นแนวคิดหลักที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในหมู่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมร่วมสมัย แนวคิดนี้ยืนกรานว่าการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความเป็นธรรมทางชนชั้น เพศ และสีผิว ชาติพันธุ์  กลุ่มประชากรเหล่านี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมก่อนประเทศอุตสาหกรรมมหาอำนาจอื่นๆและหนักหนาสาหัสมากกว่าอีกด้วย ทั้งๆที่พวกเขามีส่วนน้อยมากในการสร้างมลพิษหรือทำลายสิ่งแวดล้อม[3]

กลุ่มชนพื้นเมือง (indigenous people, First Nations people) เป็นพลังสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกสหรัฐ ในสหรัฐ กลุ่มชนพื้นเมืองมีบทบาทในการต่อต้านอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองถ่านหิน การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การสร้างท่อส่งน้ำมัน หรือแม้กระทั่งทางรถไฟสำหรับขนส่งถ่านหิน ในปี2011 มีการเคลื่อนไหวประท้วงของกลุ่มชนพื้นเมืองและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อต้านการสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ยาว 1700 ไมล์ซึ่งตัดผ่านแคนาดาเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาสู่อ่าวเม็กซิโก ผู้ชุมนุมประท้วงนับพันเดินทางมาจากหลากหลายมลรัฐรวมถึงประเทศแคนาดามุ่งหน้าสู่ทำเนียบขาวและทำการอารยะขัดขืน การขับเคลื่อนข้างต้นเน้นย้ำอยู่เสมอว่าการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องกระทำไปพร้อมๆกับการต่อสู้เพื่ออำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจของกลุ่มชนพื้นเมืองเหนือดินแดนที่อยู่อาศัยของพวกเขา[4]

นอกจากนี้ ในปี 2021 กลุ่มชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย ได้ออกแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศ โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญคือ “พวกเราใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนทางระบบนิเวศน์ในออสเตรเลีย มากกว่า 100,000 ปี กลุ่มคน First Nations ในออสเตรเลียมีส่วนน้อยมากในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม เรากลับเป็นผู้แบกรับผลกระทบของมันอย่างหนักที่สุด” [5]

Night Countryเน้นย้ำความสำคัญของสิทธิ์ชนพื้นเมือง อธิปไตยทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ในเมือง Ennis ความเหลื่อมล้ำมีหลากหลายมิติและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน คนพื้นเมืองต่างถูกกดทับทางวัฒนธรรมและพยายามรื้อฟื้นภาษาและวัฒนธรรมของตน พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องทนทุกข์จากความเจ็บป่วยทางกายภาพอันเกิดจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังมีปัญหาทางจิตใจ สภาวะซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตาย ไม่เพียงเท่านั้น หากพวกเขาต่อต้านขัดขืนไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม วิถีชีวิต และผืนแผ่นดินถูกปล้นชิงหรือล่าอาณานิคม พวกเขาก็เสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงซึ่งลอยนวลพ้นผิด ยากนักที่จะต่อสู้ในกระบวนการทางกฎหมายและรื้อฟื้นความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อได้[6]

นอกจากนี้ ผลกระทบของเหมืองใน Ennis ยังส่องสะท้อนมิติด้านช่วงอายุและวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอีกด้วย การตายของทารกแรกเกิดที่ซีรี่ส์นำเสนอคือภาพอุปมาอุปไมยของความ “ไร้อนาคต” หรือ อนาคตที่ดับสูญของคนรุ่นลูกลูกหลานของพวกเรา แม้ภัยพิบัติอันเกิดจากวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมจะยังไม่เป็นที่ประจักษ์ในขณะนี้ แต่หายนะทางธรรมชาติจะค่อยๆคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆและทวีความรุนแรง อีกนัยหนึ่ง อุตสาหกรรมการสกัดธรรมชาติ เชื้อเพลิงฟอสซิล และกระบวนการผลิตในระบบทุนนิยมปัจจุบันกำลัง “ฆ่า” เด็กๆอยู่[7] ในอีก40 หรือ 50 ปีข้างหน้า ลูกหลานของพวกเราจะถูกทิ้งให้อยู่บนโลกที่เป็นพิษ ร้อน อากาศแปรปรวน บางพื้นที่จมใต้ทะเล ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมักมีคนเยาวรุ่นเป็นหัวหอกและผู้เข้าร่วมสำคัญ “พวกคุณจะแก่ตาย ส่วนพวกเราจะตายเพราะโลกรวน” นี่คือข้อความที่นักกิจกรรมวัยเยาว์เขียนบนป้ายในการเคลื่อนไหว Fridays for Future การประท้วงของเด็กนักเรียนที่หยุดเรียนวันศุกร์และลงถนนรณรงค์เรื่องโลกร้อนในช่วงปี 2018-2019

ตัวซีรีส์ยังตีแผ่ให้เราเห็นช่วงว่าความตึงเครียดระหว่างช่วงอายุของคนรุ่นใหม่และคนรุ่งเก่าผ่านความสัมพันธ์ระหว่างแดนเวอส์และลูกสาววัยรุ่นของหล่อน ในขณะที่ฝ่ายแรกเป็นตัวแทนของโครงสร้างระบบระเบียบที่เป็นอยู่ ฝ่ายหลังกลับไม่เข้าใจเลยว่าทำไมแม่ของเธอจึงเพิกเฉยต่อหายนะทางสิ่งแวดล้อมและความรุนแรงของรัฐและทุนที่คนในเมืองกำลังเผชิญ แดนเวอส์เองก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐที่เชื่อมั่นศรัทธาในระบบ ตรงกันข้ามแดนเวอส์“หมดหวัง” และคิดว่าทางที่ดีที่สุดคือการ “อยู่เป็น” เพื่อรักษาชีวิตและครอบครัวของตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่ลูกสาวของแดนเวอส์ไม่เข้าใจ เธอตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองของคนในเมือง เธอแอบย่องไปพ่นข้อความ “MURDERER (ฆาตกร)” หน้าประตูบริษัทSilver  Skyในยามวิกาล เธอปะทะกับกองกำลังติดอาวุธของบริษัทและตะบองของเจ้าหน้าที่รัฐ

แดนเวอส์ : นี่ลูกไปซ่องสุมกับพวกคนที่ทำลายทรัพย์สินเหมืองงั้นหรือ เป็นบ้าหรือไงเนี่ย รู้ไหมเกิดอะไรขึ้นกับคนพวกนั้น

ลี (ลูกสาว) : หนูไม่ได้บ้า หนูแค่ใส่ใจเมืองนี้ต่างหากล่ะ

แดนเวอส์ : แม่ไม่รู้ว่าลูกต้องการอะไรจากแม่

ลี (ลูกสาว) : หนูอยากให้แม่ใส่ใจไง

แดนเวอส์ : ใส่ใจสิ

ลี (ลูกสาว) : เหลวไหลน่ะ รู้ไหมว่า ทารกของบ้านอะวิอัก คาร์เตอร์ตายตอนแรกเกิดวันนี้

นี่คือภาพสะท้อนของการต่อสู้เพื่อ “อนาคต” ของขบวนการคนรุ่นใหม่ทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ ขบวนการร่ม ขบวนการFridays for Future หรือขบวนการราษฎรของไทยในปี 2563 เด็กๆกล้าวิ่งปะทะปืนฉีดน้ำ แก้สน้ำตา ตะบองและกระสุน พวกเขาต้องการกอบกู้อนาคตของพวกเขา ต้องการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเอง แทนที่จะตกอยู่ภายใต้หกรอบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่คนรุ่นก่อนกำหนดให้   

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21

อะไรคือรูปแบบการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบันท่ามกลางโลกที่กำลังไหม้ อากาศเป็นพิษ น้ำสกปรกปนเปื้อน บ้านจมใต้น้ำ เมืองเสียหายจากอุทกภัยและวาตภัย การใช้ถุงผ้า ปลูกป่าทดแทน หรือแม้กระทั่งเดินขบวนประท้วงเพียงพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับหายนะที่คนในพื้นที่สังเวยกำลังเผชิญอยู่  Andreas Malm นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอและถึงเวลาพังทลายมนตร์ขลังในขบวนการเคลื่อนไหวเสียที ในหนังสือสองเล่มของเขา เรื่อง How to Blow Up a Pipeline: Learning to Fight in a World on Fire และ Fighting in a World on Fire: The Next Generation's Guide to Protecting the Climate and Saving Our Future Malm ได้สนับสนุนให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงต่อทรัพย์สิน (sabotage) โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีส่วนโดยตรงในการก่อวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและสะท้อนความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การลอบทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น การทำลายเครื่องเจาะหรือกลั่นน้ำมัน กระทั่งการระเบิดท่อส่งน้ำมันหรือการลักลอบเจาะยางรถยนตร์SUVในยามวิกาล[8]  Malm โต้แย้งว่า การต่อสู้ผ่านการชุมนุมประท้วงหรือการรณรงค์ใช้ถุงผ้า บริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะดำเนินมาถึงทางตันแล้ว นักเคลื่อนไหวจำเป็นต้อง “ยกระดับ” หรือ “คิดนอกกรอบ”[9]

Night Country สะท้อนการต่อสู้ที่สุดโต่งยิ่งกว่าที่Malm เสนอ เพราะนอกจากการแอบทำลายทรัพย์สินของบริษัทเหมืองและการประท้วงแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวในเมืองEnnis ยังใช้การต่อสู้ที่ห่างไกลกับ “สันติวิธี” ในตอนท้ายของซีรี่ส์ นักสืบแดนเวอส์และนาวาโรก็ช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายได้ในที่สุด ทั้งสองค้นพบว่า เหล่าลูกจ้างหญิงที่เป็นพนักงานทำความสะอาดศูนย์วิจัยทุกอาทิตย์ได้บังเอิญได้เจอกับหลักฐานอาชญากรรมที่นักวิทยาศาสตร์ เหมืองSilver Sky และตำรวจร่วมสมคบคิดก่อขึ้น วันหนึ่ง หญิงแรงงานเหล่านี้ (มีทั้งชนพื้นเมืองและหญิงผิวขาวชนชั้นล่าง) ตัดสินใจบุกไปยังศูนย์วิจัย จับตัวนักวิทยาศาสตร์ทั้งเจ็ด พานั่งรถออกไปยังทุ่งหิมะอันมืดมิด พวกเธอบังคับให้พวกเขาถอดเสื้อและเดินเข้าไปในความมืดของหมอกหิมะ

 

True Detective ตอน Night Country: วิกฤตสิ่งแวดล้อม สิทธิชนพื้นเมือง และการเคลื่อนไหวต่อสู้ในศตวรรษที่ 21

 

นี่คือการต่อสู้ที่ชอบธรรมหรือไม่? แม้กระทั่งMalmเองก็เน้นย้ำว่าการบ่อนทำลายด้วยความรุนแรงต้องมุ่งโจมตีไปที่วัตถุทรัพย์สิน หาใช่ชีวิตของคน[10] หญิงแรงงานเหล่านี้กำลังทำตัวเป็นศาลเตี้ยและชักใบให้เรือเสียทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมดหรือไม่ ความรุนแรงของพวกเธอต่างอย่างไรกับความรุนแรงของรัฐและทุนที่ทำลายทำร้ายชีวิตของคนในเมือง ชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ทั้งเจ็ดไม่มีค่าเลยหรือ หรืออย่างน้อยก็ควรผ่านกระบวนยุติธรรมทางกฎหมายไม่ใช่โดยศาลเตี้ยประชาชน ในอีกด้านหนึ่ง บริบทของซีรี่ส์ก็ตีแผ่ให้เราเห็นว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้มีส่วนกับการฆ่าชาว(พื้น)เมืองในEnnisทั้งทางตรงและทางอ้อม (ฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวหญิงและผลิตข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม) หกปีผ่านไปพวกเขายังพ้นผิดลอยนวล ทั้งนี้ก็เพราะบริษัททุนยักษ์ใหญ่และเจ้าหน้ารัฐหนุนหลังพวกเขา ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ชอบธรรมทางกฏหมายข้างต้นนี้บีบบังคับให้คนในเมืองมีช่องทางการต่อสู้ที่จำกัดและต้องใช้ความรุนแรงดังกล่าวหรือไม่ ?

สรุป: ซีรีส์ชาว Woke? ซีรีส์ผีระทึกขวัญ?

อาจกล่าวได้ว่า True Detective ตอน Night Country เป็นซีรีส์ที่เหล่าชาว Woke น่าจะชื่นชอบเพราะเป็นสื่อบันเทิงเชิงวิพากษ์ที่ตีแผ่ทั้งความเหลื่อมทางชนชั้น เพศ สีผิวชาติพันธุ์ และช่วงอายุ พูดง่ายๆก็คือ เล่นทุกความเป็นอัตลักษณ์ชายขอบ อีกทั้งยังแตะประเด็นปัญหาเรื่องมรดกอาณานิคม วิกฤตสิ่งแวดล้อม และนำเสนอภาพวิถีชีวิตความเชื่อของชนพื้นเมืองในฐานะ “ทางเลือก/ทางออก” จากวิกฤต Night Country พาผู้ชมไปสำรวจประเด็นเหล่านี้ด้วยโทนการเหล่าเรื่องที่ขึงขังจริงจัง อีกด้านหนึ่ง ซีรี่ส์ชุดนี้ก็โดดเด่นในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผี ระทึกขวัญ เหนือธรรมชาติ ฉากธรรมชาติและสถานที่ที่แปลกใหม่ (ถ่ายทำสถานที่จริงที่ประเทศIceland) เนื้อเรื่องที่ชวนติดตามและฝีมือการแสดงของตัวละครที่เอาอยู่ จะเป็นชาวโว้คหรือฝ่ายซ้าย เป็นคอการเมืองหรือคอหนังผี Night Country น่าจะตอบโจทย์ไม่มากก็น้อย 

 


[1] Naomi Klein and Rebecca Steoff, How to Change Everything: The Young Human’s Guide to Protecting the Planet and Each Other (New York: Atheneum Books for Young Readers, 2021), 53-54.

[2] Cameo Dalley, “Pastoralism’s Distributive Ruse: Extractivism, Financialization, Indigenous Labour and a Rightful Share in Northern Australia,” History and Anthropology (2022): 1-19.

[3] Naomi Klein and Rebecca Steoff, How to Change Everything: The Young Human’s Guide to Protecting the Planet and Each Other (New York: Atheneum Books for Young Readers, 2021), 42.

[4] Greg Jobin-Leeds, When We Fight, We Win: Twenty-First-Century Social Movements and the Activists That Are Transforming Our World (New York: The New Press, 2016), 132.

[5] Blair Trewin, Damian Morgan-Bulled, and Sonia0 Cooper, “Climate: National and International Frameworks,” Australian Government Department of Agriculture, Water and the Environment, Accessed May 24, 2023. https://soe.dcceew.gov.au/climate/management/national-and-international-frameworks, DOI: 10.26194/rdze-5d59.

[6] นอกจาก Night Country แล้วภาพยนตร์ซอมบี้ Cargo (2017) ยังเป็นอีกสื่อบันเทิงหนึ่งที่วิพากษ์ผลกระทบของอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (การ fracking น้ำมันและก๊าซ)ต่อชุมชนคนพื้นเมือง ดู Khorapin Phuaphansawat, “Zombie Apocalypse and the Crisis of Global Capitalism: Class, Precarious Work, and Environment,” Journal of Contemporary Asia (2023): 11–15. https://doi.org/10.1080/00472336.2023.2252429

[7] Andreas Malm, Fossil Capital The Rise of Steam Power and the Roots of Global Warming (New York: Verso,2016), 8.

[8] Andreas Malm, Fighting in a World on Fire: The Next Generation’s Guide to Protecting the Climate and Saving Our Future (London: Verso, 2023), 94.

[9] เรื่องเดียวกัน, 65.

[10] เรื่องเดียวกัน, 117.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net