Skip to main content
sharethis

การวิเคราะห์ใหม่จาก Stateline ชี้ว่า 40 รัฐ ในสหรัฐฯ สัดส่วนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานรายได้น้อยในภาคบริการ เพิ่มมากกว่าคนทำงานรายได้สูง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เคยเพิ่มสูงขึ้นมานานหลายทศวรรษ


ที่มาภาพประกอบ: Lynn Friedman (CC BY-NC-ND 2.0)

Stateline สื่อที่เกาะติดประเด็นท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อเดือน ม.ค. 2024 ว่าการปรับขึ้นค่าแรงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าแรงของ "คนทำงานภาคบริการ" ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีค่าแรงต่ำที่สุดในประเทศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 30% ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เคยเพิ่มสูงขึ้นมานานหลายทศวรรษ

แม้ว่าใน 40 รัฐยังคงใช้ค่าแรงขั้นต่ำตามรัฐบาลกลางที่ 7.25 ดอลลาร์ แต่สัดส่วนการปรับขึ้นค่าแรงของคนทำงานภาคบริการก็ยังสูงกว่าอุตสาหกรรมที่จ่ายค่าแรงสูงที่สุดในแต่ละรัฐ ซึ่งมักจะเป็นภาคพลังงาน เทคโนโลยี หรือคนทำงานภาครัฐ

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่ให้ค่าแรงต่ำที่สุดในทุกรัฐคือ "ธุรกิจภาคบริการ" ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร บาร์ และโรงแรม คนทำงานในธุรกิจเหล่านี้ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงในสัดส่วนที่สูงกว่าคนทำงานรายได้สูง โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 29% ระหว่างกลางปี 2019 ถึงกลางปี 2023 ตามการวิเคราะห์ข้อมูลรายไตรมาสของสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Labor Statistics) โดย Stateline

"เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่แรงงานมีพลังต่อรองมากขึ้น ผู้คนไม่ยอมรับค่าแรงต่ำ ๆ อีกต่อไปแล้ว" ซารุ จายารามัน (Saru Jayaraman) ประธานองค์กร One Fair Wage ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ผู้ผลักดันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนทำงานภาคบริการ กล่าว

ค่าแรงเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 29% สำหรับคนทำงานภาคบริการ เทียบกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% สำหรับกลุ่มคนทำงานรายได้สูงสุดในแต่ละรัฐ โดยในช่วงเวลานี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 19%

ในระดับประเทศ สัดส่วนค่าแรงสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่สุด 10% เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้มีรายได้สูงสุด 10% ตั้งแต่ปี 2019 การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงประมาณ 40% จากที่ความเหลื่อมล้ำเคยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1980 สอดคล้องกับเอกสารวิจัยล่าสุดของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research)

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้คนหนุ่มสาวที่ไม่มีใบปริญญามีอำนาจต่อรองมากขึ้น พวกเขาใช้ประโยชน์จากตลาดแรงงานที่ตึงตัวเพื่อหางานที่มีค่าตอบแทนดีขึ้น

ตามโพสต์บนโซเชียลมีเดียของอรินดราจิต ดูเบ (Arindrajit Dube) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ อัมเฮิร์สต์ (University of Massachusetts Amherst) ผู้ร่วมเขียนเอกสารวิจัย ระบุว่าการลดลงของความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นก่อนปี 2019 ในรัฐที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต่อมาตั้งแต่ปี 2021 เทรนด์นี้ขยายไปสู่รัฐที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ดูเบ เขียนในโพสต์ว่า "จากการที่กฎระเบียบได้ทำงานตามหน้าที่ของมัน" ได้ทำให้กลายเป็น "ความตึงตัวของตลาดทำงานตามหน้าที่" การขาดแคลนแรงงานทำให้ตำแหน่งงานที่มีค่าแรงต่ำหายไป และเกิดตำแหน่งงานที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้น โดยเขายังเสริมว่า ผู้กำหนดนโยบายสามารถ "ทำให้ระบบตลาดทำงานเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น ไม่ก็ปรับปรุงด้วยกฎระเบียบ หรือทำทั้งสองอย่าง"

ข้อมูล ณ วันที่ 1 ม.ค. 2024 พบว่ามี 22 รัฐ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนเมืองและท้องถิ่นอีก 38 แห่ง ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่ามาตรฐานของรัฐ ตามข้อมูลจากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจ (EPI) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่ศึกษาว่านโยบายส่งผลต่อแรงงานรายได้น้อยและปานกลางอย่างไร

ยังคงยากที่จะสรุปได้ว่าการปรับขึ้นค่าแรงให้คนทำงานรายได้น้อย จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงในระยะยาว ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับนโยบายภาษีที่เอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

รายงานของสำนักสำรวจสำมโนประชากรของสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau) ในเดือน ก.ย. 2023 ระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างผู้มีรายได้น้อยที่สุด 10% กับผู้มีรายได้สูงสุด 10%  ดีขึ้นในปี 2022 เทียบกับปี 2021 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007

แต่รายงานระบุว่า หลังหักภาษี ข้อได้เปรียบดังกล่าวหายไป โดยสาเหตุหนึ่ง เกิดจากการสิ้นสุดโครงการช่วยเหลือด้านภาษีในช่วงการระบาดของโควิด-19


ที่มาภาพประกอบ: Steve Rhodes (CC BY-NC-ND 2.0)

ค่าแรงของคนทำงานภาคบริการทั่วสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น โดยมีรัฐเมนขึ้นนำโด่งด้วยการเพิ่มขึ้นถึง 41% ภายใน 4 ปี ตามมาด้วยนิวเจอร์ซีย์ (35%), ฟลอริดา (34%) และเวอร์จิเนีย (33%) ซึ่งรัฐเหล่านี้ล้วนมีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่ามาตรฐานของรัฐบาลกลาง

น่าประหลาดใจที่รัฐที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็มีแนวโน้มการเพิ่มค่าแรงที่สูงไม่แพ้กัน ประมาณ 33% รัฐเหล่านี้ได้แก่ ไอดาโฮ เคนทักกี นิวแฮมเชียร์ นอร์ทแคโรไลนา และเซาท์แคโรไลนา

"สิ่งที่เราเห็นส่วนใหญ่คือผลกระทบจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว" อลิซ โกลด์ (Elise Gould) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจกล่าว "การแข่งขันที่มากขึ้น แรงงานหายากขึ้น หมายความว่านายจ้างต้องจ่ายค่าแรงมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในรัฐไหน"

หลายรัฐที่อัตราการเพิ่มของค่าแรงสำหรับคนทำงานภาคบริการเติบโตช้ากว่ารัฐอื่น ๆ ก็มีค่าแรงเริ่มต้นที่สูงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับรัฐอื่น เช่น รัฐเนวาดา (เพิ่มขึ้น 20%) แคลิฟอร์เนียและฮาวาย (ทั้งคู่เพิ่มขึ้น 23%) ที่อยู่ในกลุ่มที่เติบโตช้าที่สุด แต่รัฐเหล่านี้ยังคงติดอันดับค่าแรงคนทำงานภาคบริการสูงสุด 5 อันดับแรก โดยเฉลี่ยรายสัปดาห์อยู่ที่ 826 ดอลลาร์ฯ ในฮาวาย 784 ดอลลาร์ฯ ในเนวาดา และ 720 ดอลลาร์ฯ ในแคลิฟอร์เนีย

การวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ของ Stateline ชี้ว่าค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับคนทำงานภาคบริการ เช่น แม่บ้านรีสอร์ทในเนวาดา กำลังช่วยยกระดับครอบครัวชาวฮิสแปนิกจำนวนมากขึ้นสู่ชนชั้นกลาง

สำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วน การที่ค่าแรงพุ่งขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยเสรีไม่มีการแทรกแซงจากรัฐ ก็สามารถช่วยให้ค่าแรงสูงได้ เมื่อความต้องการแรงงานเกินกว่าอุปสงค์ รัฐอนุรักษ์นิยมบางรัฐ อาทิ เท็กซัส ต่อต้านนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และห้ามท้องถิ่นกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเอง ส่วนฟลอริดาก็เพิ่งกำหนดค่าแรงขั้นต่ำหลังการลงประชามติในปี 2020

"จุดยืนของผมคือ ค่าแรงนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับนักการเมือง" พอล เจสซิง (Paul Gessing) ประธานมูลนิธิ Rio Grande Foundation ในรัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งเคยต่อต้านกฎหมายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรัฐ กล่าว

ในปีนี้ รัฐนิวเม็กซิโกจะไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 มีการปรับขึ้นค่าแรงติดต่อกัน 4 ปี และบางเมืองก็ยังคงปรับขึ้นค่าแรงต่อไป ค่าแรงในอุตสาหกรรมบริการของรัฐเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงเวลานั้น  ขณะที่กลุ่มคนทำงานผู้ที่มีรายได้สูงที่สุดเพิ่มขึ้นเพียง 20%

โกลด์ จากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจ กล่าวว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำและการคุ้มครองแรงงานอื่น ๆ จำเป็นต้องดำเนินต่อไป เพราะคนทำงานที่มีรายได้ต่ำไม่สามารถหวังพึ่งพาเงื่อนไขของตลาดที่จะช่วยเพิ่มค่าแรงไปได้เรื่อย ๆ

"ประวัติศาสตร์บอกเราว่า พวกเขาจะไม่สามารถพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ได้ในสักวันหนึ่ง" โกลด์ กล่าว


ที่มาภาพประกอบ: Fibonacci Blue (CC BY 2.0)

รัฐแคลิฟอร์เนียและเมืองชิคาโกเป็นหนึ่งในท้องถิ่นที่เพิ่งดำเนินการไปไกลกว่านั้น ในการขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานโรงแรม หลังจากการเจรจากับตัวแทนในอุตสาหกรรม

รัฐแคลิฟอร์เนียอนุมัติกฎหมายที่จะขึ้นค่าแรงเป็น 20 ดอลลาร์ฯ ต่อชั่วโมงสำหรับพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด ในขณะที่สภาแรงงานและตัวแทนธุรกิจช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับค่าแรงและสภาพการทำงานในอนาคต ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเจรจากับอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด ส์

ในชิคาโก เมื่อเดือน ต.ค. 2023 สภาเทศบาลเมืองชิคาโกได้ผ่านแผนการที่จะค่อย ๆ ยกเลิกส่วนต่างของค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนทำงานที่ได้รับทิป สมาคมร้านอาหารอิลลินอยส์ ซึ่งคัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวระบุว่าเป็น “ภาระเพิ่มเติมสำหรับร้านอาหารที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวในละแวกบ้านของเรา” มีข้อตกลงว่าหลังจากขยายระยะเวลาการเลิกจ้างจาก 2 ปีเป็น 5 ปี โดยพนักงานที่ได้รับทิปจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเต็มจำนวน นอกเหนือไปจากทิปใด ๆ ภายในปี 2028

รัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเต็มจำนวนสำหรับคนทำงานที่ได้รับทิปแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตโคลัมเบียลงประชามติอนุมัติมาตรการเพื่อยุติการลดค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนทำงานที่ได้รับทิปเมื่อปี 2022 ในขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพอร์ตแลนด์ รัฐเมน ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่คล้ายกันในปี 2022

"ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน อุตสาหกรรมต่าง ๆ เปิดรับการเจรจามากขึ้น" จายารามัน จากองค์กร One Fair Wage ซึ่งมีส่วนร่วมในการเจรจาข้อตกลงในชิคาโก้ กล่าว เขาหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันเกิดขึ้นในระดับรัฐทั่วประเทศ โดยเฉพาะในอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 43 รัฐที่อนุญาตให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำได้ หากรายได้จากค่าทิปชดเชยส่วนต่างนั้นครบถ้วน

"พวกเขาต้องการความเท่าเทียม พวกเขาต้องการให้คนทำงานกลับมาทำงานด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม" จายารามัน กล่าว

การที่คนทำงานรายได้น้อยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นกว่าผู้มีรายได้สูงโดยเฉลี่ย ถือเป็นผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจจากสถานการณ์การระบาดของโรคระบาดโควิด-19 วินเซนต์ ฟูซาโร (Vincent Fusaro) นักวิจัยครัวเรือนรายได้น้อยจากวิทยาลัยบอสตัน (Boston College’s School of Social Work) กล่าว

"เมื่อย้อนกลับไปดูสิ่งที่คาดการณ์ไว้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020 สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องน่าทึ่ง" ฟูซาโร กล่าว "มันสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะคาดการณ์ว่า ช่วงเวลาของการระบาดจะเป็นหายนะสำหรับผู้คนระดับล่างสุดในระบบเศรษฐกิจ"  อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า "คนทำงานรายได้น้อยซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น"


ที่มา:
Hospitality workers’ wages are rising faster than high earners’ in most states (Tim Henderson, Stateline, 9 January 2024)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net