Skip to main content
sharethis

เตือนรถโดยสารสาธารณะช่วงปีใหม่หากพบทำผิดลงโทษขั้นสุด

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เนื่องด้วยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่จะมาถึงนี้เป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง (ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 1 มกราคม 2567) โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ โดยการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกกำกับ ดูแล และคุ้มเข้มการปฏิบัติหน้าที่ของรถโดยสารสาธารณะอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้รมช. กระทรวงคมนาคม ได้เตือนผู้ประกอบการและพนักงานขับรถต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและอย่าฉวยโอกาสในช่วงวันหยุดยาวเอาเปรียบผู้โดยสาร กรณีรถโดยสาร พนักงานขับรถต้องมีความพร้อมสำหรับการบริการตามมาตรการด้านความปลอดภัย ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเดินรถ ห้ามบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่กำหนด ห้ามเรียกค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด สภาพรถต้องมีความพร้อม

ส่วนพนักงานขับรถต้องมีความพร้อมก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ โดยต้องมีค่าแอลกอฮอล์เป็นศูนย์และขับรถไม่เกินชั่วโมงการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด กรณีรถแท็กซี่ รถสามล้อสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ ห้ามปฏิเสธผู้โดยสาร ต้องส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่อรับผู้โดยสารต้องกดมิเตอร์ทุกครั้งและไม่เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด และต้องไม่เมาสุราหรือของมึนเมาขณะขับรถ ทั้งนี้ พนักงานขับรถโดยสารธารณะต้องมีใบอนุญาตขับรถถูกต้องและตัวรถต้องจดทะเบียนเป็นรถโดยสารสาธารณะ (ป้ายเหลือง)

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกกำกับ ดูแล จัดรถโดยสารให้เพียงพอต่อการเดินทางของประชาชนและจัดผู้ตรวจการลงพื้นที่ออกตรวจตามสถานีขนส่งผู้โดยสาร จุดจอด รวมถึงจุดที่มีประชาชนเรียกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ ที่ทำผิดกฎหมายกรมการขนส่งทางบกจะนำระบบการตัดคะแนนใบอนุญาตรถสาธารณะมาบังคับใช้ เพื่อกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการขับรถโดยสารสาธารณะปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบพนักงานขับรถทำผิดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจะดำเนินการลงโทษผู้ฝ่าฝืนขั้นสูงสุดและมีโอกาสถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้ ถ้าประชาชนพบปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะสามารถแจ้งสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 30/12/2566

คนไทยความพร้อมก่อนวัยเกษียณต่ำ เงินออมน้อย 10% อยู่รอดวัยชราต้องใช้เงิน 3-5 ล้านบาท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐชัย ศีลาเจริญ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผลสำรวจจากประชาชนวัยทำงาน ปี พ.ศ. 2566 ทั่วทุกภาคของประเทศไทยกว่า 2,400 คน ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขดัชนีความพร้อมในการเกษียณอายุ (NRRI) ของคนไทยอยู่ที่ระดับ 49.3%

สะท้อนว่าคนไทยมี ความพร้อมก่อนวัยเกษียณ ในระดับปานกลาง และสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจในปี พ.ศ. 2564 ที่อยู่ระดับ 48.4%

ทั้งนี้ ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ จำแนกตามกลุ่ม พบว่า

1.ปัจจัยเรื่องเพศ “ไม่มีผล“ ต่อความแตกต่างของค่าเฉลี่ย ทั้งด้านความพร้อมด้านการเงิน และความมั่นคงในชีวิต

2.ปัจจัยเรื่องอายุ มีผลต่อความแตกต่างของค่าเฉลี่ย “เล็กน้อยมาก” โดยกลุ่มอายุ 50-59 ปี มีความพร้อมด้านการเงินและความมั่นคงในชีวิตมากกว่ากลุ่มอายุ 18-29 ปี และภาพรวมกลุ่มอายุ 50-59 ปี ในผลสำรวจปี 2566 ดีขึ้นในทุกมิติเมื่อเทียบกับปี 2564

3.ปัจจัยภูมิภาค “ไม่ใช่คีย์หลักที่สร้างความแตกต่างในความพร้อม” แต่จากผลสำรวจ พบว่า ภาคกลางและภาคใต้ ในปี 2566 มีความพร้อมด้านการเงิน (F-RRI) สูงขึ้น ขณะที่ภาครวมกรุงเทพดีขึ้น

4.ปัจจัยอาชีพ “มีผลมากสุด” ต่อความพร้อมในวัยเกษียณ โดยพบว่า เจ้าของกิจการ ข้าราชการ และ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมในแทบทุกด้านดีกว่า ลูกจ้าง อาชีพอิสระ และอื่น ๆ

ตัวอย่างกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.3 มีการออมเงินมากกว่า 15% ของรายได้ และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20,000 บาท/เดือน

ตัวอย่างกลุ่มเจ้าของกิจการ ร้อยละ 24 ออมเงิน 10-15% ของรายได้ และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 บาท/เดือน

ตัวอย่างกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 29.9% ออมเงินไม่เกิน 5% ของรายได้ และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,000-9,000 บาท/เดือน

ตัวอย่างกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้างทั่วไป และลูกจ้าง ร้อยละ 28.7 ไม่มีเงินออมเลย และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,000-9,000 บาท/เดือน

ผศ. ดร. รัฐชัย กล่าวต่อไปว่า ความพร้อม “ด้านการเงิน” ของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่น่ากังวล โดยพบว่า วัยทำงานออมเงินค่อนข้างน้อย ไม่ถึง 10% ของเงินเดือน

“นโยบายความพร้อมทางด้านการเงินแห่งชาติ เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ประชากรสูงวัยจะมีโอกาสประสบปัญหาด้านรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่รายได้คงที่หรือลดลง ทำให้เกิดความยากลำบากด้านการเงิน”

ขณะที่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุที่จะใช้ได้เพียงพอจนถึงอายุ 80-85 ปี ต้องมีเงินเก็บไม่น้อยกว่า 3-5 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 10,000-15,000 บาท/เดือน ซึ่งคำนวณโดยใช้ค่าเงินปัจจุบันและการคิดเผื่อเงินเฟ้อในอนาคต

โดยปัจจัยสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การพัฒนาทักษะทางการเงินและการลงทุนของประชาชน และการสนับสนุนด้านการออมอย่างทั่วถึงจากภาครัฐและภาคเอกชน

ที่มา: การเงินการธนาคาร, 29/12/2566

รมว.แรงงานเผยมีแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลขอเงินเยียวยาแล้ว 81.04%

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า มีแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาจากสถานการณ์ไม่สงบในอิสราเอล รายละ 50,000 บาทแล้ว จำนวน 8,032 ราย จากจำนวนทั้งหมด 9,697 คน คิดเป็น ร้อยละ 81.04 โดยผ่านการพิจารณาจากคณะทำงาน กระทรวง/จังหวัด แล้ว 4,192 ราย และหน่วยงานตรวจสอบและขออนุมัติการจ่ายเงินแล้ว 193 ราย ซึ่งขณะนี้เริ่มทยอยโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิ หรือทายาทของแรงงานแล้ว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/12/2566

จับแรงงานจีนลอบทำงานก่อสร้างในภูเก็ต ค่าแรงวันละ 3,000 บาท

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 ตำรวจภูธรภาค 8 พร้อมเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดภูเก็ต บุกเข้าจับกุมแรงงานข้ามชาติสัญชาติจีน ทั้งชายและหญิง 28 คน ซึ่งลักลอบเข้ามาทำงานในแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่กำลังสร้างโรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่บ้านลายัน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง

หลังเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายสืบว่าสถานที่ก่อสร้างแห่งนี้ มีชาวจีนเข้ามาทำงานก่อสร้างและตกแต่งภายในเป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าไปตรวจตรวจสอบ พบกลุ่มคนงานชาวจีนกำลังทำงานก่อสร้างและตกแต่งภายใน ตำรวจจึงได้เข้าแสดงตัว โดยพบว่าแรงงานบางส่วนแสดงท่าทางลุกลี้ลุกลน พยายามหลบหนี

หลังเจ้าหน้าที่สอบสวนกลุ่มแรงงานผ่านล่ามแปลภาษา โดยชาวจีนทั้ง 28 คน อ้างว่า เดินทางมาจากประเทศจีนในรูปแบบนักท่องเที่ยว และมี "นายเหอ" ซึ่งเป็นชาวจีน เป็นคนมารับจากสนามบินภูเก็ต งานที่ต้องรับผิดชอบ คือก่อสร้างอาคารและตกแต่งภายใน มีหน้าที่แตกต่างกันไปตามได้รับมอบหมาย โดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญ

พวกเขาจะเริ่มทำงานตอน 8 โมงเช้า จากนั้นพักเที่ยง และกลับมาทำงานช่วงบ่าย ตั้งแต่บ่ายโมงครึ่งจนถึง 5 โมงเย็น จากนั้นจะกลับเข้าที่พักซึ่งอยู่ใกล้ๆ ที่น่าสนใจคือ แต่ละคนได้ตกลงค่าแรงสูงถึงวันละ 500-600 หยวน ซึ่งคิดเป็นเงินไทยคือประมาณ 2,500-3,000 บาท/วัน และเมื่อครบกำหนด 2 เดือนจะได้รับค่าแรง โดย "นายเหอ" จะเป็นผู้จัดการทั้งเรื่องที่พัก อาหาร และความเป็นอยู่ทั้งหมด

ล่าสุดเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นได้แจ้งข้อกล่าวหา "เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต" พร้อมคุมตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.เชิงทะเล เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจสอบสวนกลางและกองบังคับการตำรวจทางหลวง เพิ่งจับกุมผู้ต้องหาขนแรงงาน พร้อมกับแรงงานข้ามชาติได้ในพื้นที่ ต.หนองบัวใต้ ต่อเนื่อง ต.น้ำรึม อำเภอเมืองตาก หลังตำรวจทางหลวงออกตรวจพื้นที่ในเขตความรับผิดชอบ แล้วไปพบรถกระบะ 2 คันขับมาด้วยความเร็ว จึงขอให้หยุดเพื่อขอตรวจสอบ จากการตรวจค้นพบกลุ่มแรงงานโดยสารมาเกือบ 20 คน โดยในจำนวนนี้เป็นชาวจีนถึง 4 คน

ที่มา: Thai PBS, 28/12/2566

นายกฯ รับไม่มีความสุขหลังค่าแรงขึ้นน้อย ถามกลับไตรภาคี ให้นึกถึงใจเขาใจเรา ไม่เอาเรื่องกฎหมายมาคุยอย่างเดียว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2566 ถึงกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า ต้องพิจารณาตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา และเชื่อว่าทุกท่านก็เห็นอยู่ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หลายๆเรื่องที่จะดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาในประเทศก็มี War of Talent มันคือสงครามที่ดึงคนเก่ง ขณะเดียวกันสมัยก่อนเวลาออกไปดึงดูดนักลงทุนไม่มีใครพูดเรื่องพลังงานสะอาดเลย แต่วันนี้เรื่องนี้กลับมามีความสำคัญ

ส่วนที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถูกล็อกด้วยธรรมนูญจะมีการทำอย่างไรนั้น เห็นว่ามันกว้าง มันมีขอบเขตพื้นที่ให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังไม่จบ ซึ่งเมื่อวานนี้หลังจากประชุมครม. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แจ้งไปแล้วในเบื้องต้น ซึ่งจะต้องดูแลแต่ละอาชีพแตกต่างกันออกไป

“ผมไม่มีความสุข ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้มีความสุขและอึดอัดเช่นกัน แต่ยอมรับว่า มันก็มีกลไกในการกำหนดค่าแรงอยู่ อย่างที่ผมบอกว่ามันเป็นเรื่องจิตใต้สำนึกความเหมาะสม ของแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ได้เจอกับ นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ยังบอกกับผมว่าถ้าเกิดไม่สามารถยกค่าแรงขั้นต่ำ ความเจริญเติบโตของประเทศก็จะต่ำไปด้วย ซึ่งเมื่อคืนได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา  300 บาท วันนี้ 337 บาท ขึ้นไป 12% ซึ่งได้เปรียบเทียบ ว่าในทางกลับกัน หากลูกของผู้ประกอบกิจการทั้งหลาย  หรือคนที่เรียนจบเมืองนอกเมื่อ 9 ปีที่แล้วเงินเดือน 30,000 บาท  มาถึงวันนี้เงินเดือนขึ้นเพียง 33,700 บาท จึงถามกลับว่า ขึ้นมาแค่กว่า 10% แฮปปี้ไหม อยากให้นึกถึงใจเขาใจเรา เรื่องของไตรภาคีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของกฎหมายและข้อบังคับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลายหลายเรื่องคนไทยอยู่ด้วยกัน ด้วยความอยากให้ทุกคนมีความสุข และมีกินมีใช้ตามความเหมาะสม

“พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่าแรงขึ้นไปเพียงแค่ 2 บาทต่อเดือน ซึ่งทุกคนจะพูดว่าตนหรือนายกไม่มีอำนาจ แต่การขึ้นค่าแรงมันเป็นเรื่องของไตรภาคี ส่วนตัวเข้าใจหมดทุกอย่าง แล้วก็รู้ว่าทุกคนเข้าใจเรื่องกฎหมาย แต่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย จึงอยากให้เอาความเข้าใจซึ่งกันและกันมาพูดคุยกันได้ไหม ในภาวะที่เดือดร้อน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเงื่อนไขในเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนายกไม่มีอำนาจกับไตรภาคี ซึ่งจะมีการหารือกันแบบผู้ใหญ่คุยกับผู้ใหญ่หรือไม่  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องพยายามต่อไป ในการแก้ไขปัญหา  ซึ่งก็ต้องพูดจาให้มันมีความชัดเจนและต้องขอร้องอ้อนวอน วิงวอน ถึงเหตุผล แล้วอย่าเอาเรื่องที่ไม่เป็นความจริงมาพูด เช่นประเด็นการย้ายฐานการผลิตมาพูด เพราะมันไม่ใช่

เมื่อถามว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปีสามารถขึ้นได้หลายหลายรอบใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สามารถปรับได้หลายรอบตามความเหมาะสม จากที่ผ่านมาเราเคยพูดรายจังหวัดรายอำเภอ ซึ่งบางอำเภอนั้น ก็อาจจะมีความต้องการแรงงานที่แตกต่างกันออกไป เราเองก็ต้องฟังจากฝั่งนายจ้างเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จะไม่ฟัง และต้องฟังตามอาชีพตามความต้องการตามความชำนาญด้วย  ซึ่งมีหลายมิติที่จะต้องพูดคุยกัน ส่วนตัวไม่ได้อยากใช้พื้นที่ของสื่อมวลชนมากดดันทุก ๆ ฝ่าย เราควรพูดจากันด้วยจิตใจอุปมาปราศรัย เราก็เห็นใจซึ่งกันและกัน

ส่วนความคาดหวังกับเศรษฐกิจในปีหน้าอย่างไรบ้าง  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หวังว่าจะดีขึ้น ตนมาทำงาน และมาอยู่ตรงนี้ เพื่อต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ให้ดีขึ้น ก็ต้องทำให้ดีขึ้นในหลายหลายมิติตนไม่ได้มาทำแค่ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว ยังต้องดูเรื่องการลงทุน การเจรจา สนธิสัญญาการค้า และต้องดูเรื่องสิทธิพื้นฐาน เพศสภาพ การประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพเล็ก ๆ เช่นเรื่องของสภาพอากาศที่สะอาด ซึ่งทุกคนล้วนต้องการสิ่งเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากวันหยุดปีใหม่ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการที่จะเดินทางไปพื้นที่ภาคเหนือ ไปช่วยกำกับ ว่า เรื่องสภาพอากาศต้องดีขึ้น ซึ่งมีหลายมิติที่ต้องทำ ทั้งนี้หลังปีใหม่ ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายใหม่ ที่จะต้องช่วยทำงานและช่วยดูแลพี่น้องประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/12/2566

แรงงานไทยจากอิสราเอลยื่นขอรับเงินเยียวยาแล้ว 7,622 ราย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีแรงงานมายื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินเยียวยารายละ 50,000 บาท จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลแล้ว 7,622 ราย จากจำนวนทั้งหมด 9,697 ราย คิดเป็น 78.60% แยกเป็น กรณีมายื่นด้วยตนเอง 7,575 ราย กรณีเสียชีวิต 22 ราย กรณี Re-Entry 25 ราย สำหรับจังหวัดที่มีผู้มายื่นคำร้องมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุดรธานี 1,061 ราย เชียงราย 932 ราย นครพนม 595 ราย นครราชสีมา 470 ราย น่าน 421 ราย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เร่งทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้แรงงานไทยได้รับสิทธิครบทุกราย โดยจะเร่งดำเนินงานให้เร็วที่สุด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/12/2566

ครม.เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท เริ่ม 1 ม.ค. ตั้ง กก.พิจารณาอีกครั้ง มี.ค. 67

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการรัฐมนตรีว่าในวันนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้นำมติของคณะกรรมการไตรภาคี เสนอเพื่อทราบผลที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยยืนยันตามมติเดิมคือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระหว่าง 2-16 บาท ทั่วประเทศ โดยมีลำดับค่าจ้าง 17 ขั้น โดยขึ้นจาก 328 บาทเป็น 330 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ จ.ภูเก็ต เป็น 370 บาท จาก 354 บาท

โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุอีกว่า รมว.แรงงาน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าถึงแม้ค่าจ้างขั้นต่ำนี้ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติกรรมการไตรภาคีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 แต่วันที่ 17 ม.ค.2567 จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง เพื่อตั้งอนุกรรมการ ขึ้นมาเพื่อจะพิจารณา รายละเอียดของค่าจ้างขั้นต่ำ โดยต้องลงลึกรายละเอียดทุกสาขาอาชีพ

โดย รมว.แรงงาน อยากได้ตัวแทนของสภาพัฒน์ฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยว และธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาพิจารณาเพื่อลงลึกรายละเอียดถึงค่าแรงขั้นต่ำ ในแต่ละสาขาที่ต่างๆ จะต้องปฏิรูปให้มากขึ้น และ รมว.แรงงาน ได้ให้คำมั่นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การตั้งอนุกรรมการชุดพิเศษขึ้นมานี้ จะนำไปสู่ข้อสรุป เพื่อเสนอค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ไม่เกินสิ้นเดือน มี.ค.2567

ที่มา: Thai PBS, 26/12/2566

เผยประชุม คกก.ไตรภาคีชุดใหญ่ 17 ม.ค. 67 ตั้งอนุ กก. ศึกษาค่าจ้างขั้นต่ำรายเทศบาล-รายอาชีพ

นายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ได้นำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบอีกครั้ง ซึ่งมติคณะกรรมการไตรภาคียังคงยืนยันเหมือนเดิม ซึ่งที่ประชุมครม.รับทราบเรียบร้อย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบว่าในวันที่ 17 มกราคม 2567 คณะกรรมการไตรภาคีจะประชุมอีกครั้ง เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะลงไปศึกษาให้ลึกถึงระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและเทศบาล หากประกาศเป็นรายจังหวัดจะสะท้อนภาพที่เป็นจริงมากกว่า อย่างกรณีประกาศค่าแรงขั้นต่ำทางจังหวัดในเทศบาลมีสภาวะเศรษฐกิจที่ดี แต่เมื่อออกจากอำเภอเมืองก็จะเข้าสู่สังคมชนบท ซึ่งเศรษฐกิจคงจะไม่ดีเหมือนกับที่เห็นในตัวอำเภอเมือง

“จะให้คณะอนุกรรมการไตรภาคีขอข้อมูลจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเป็นองค์ประกอบการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งซึ่งจะสามารถประชุมแล้วเสร็จ และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ภายในเดือนมีนาคม เพื่อจะประกาศให้เป็นของขวัญวันปีใหม่ไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะสะท้อนภาพสาขาอาชีพใดที่ไหนที่สามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ได้สูงกว่าปัจจุบัน ซึ่งการหารือระหว่างสภาพัฒน์ กับที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่จะไม่เอาปี 2563 และ 2564 มาเป็นตัวคำนวณแน่นอน เพราะเมื่อคำนวณอย่างไรก็จะกลับไปที่เดิม เหมือนที่ประกาศ จึงจะขอเอาข้อมูล ปี 2565 เป็นเกณฑ์และข้อมูลดิบในปี 2566 เป็นตัวชี้วัดอีกแนวทางหนึ่งประกอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า  ส่วนประเด็นข้อกฎหมายไม่ขัดข้อง แต่คณะกรรมการไทยภาคีชุดใหญ่ไม่สามารถก้าวข้ามคณะกรรมการไตรภาคีจังหวัดที่นำเสนอขึ้นมาในการประชุมวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะยืนยันเหมือนเดิม แต่เมื่อตั้งคณะอนุกรรมการมาศึกษาใหม่จะต้องลงไปหารือถึงได้จังหวัดด้วย โดยสรุปว่าภายในจังหวัดจะขึ้นค่าแรงไม่เท่ากัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 26/12/2566

เผยตลาดแรงงานปี 2567 สิ่งที่นายจ้างและลูกจ้างต้องการ

ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จากัด เผยผลสำรวจ จาก Global Talent Survey ซึ่งเป็นการสำรวจผ่านเว็บไซต์และการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ Boston Consulting Group (BCG) และTheNetworkในปี2565 ซึ่งมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 90,547 คน จาก 160 ประเทศ ในหลากหลาย อุตสาหกรรม แบบสำรวจยังยังโฟกัสตลาดแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีตอบแบบสำรวจจำนวน 97,324 คน จาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ร่วมตอบแบบสำรวจชดุนี้ทั้งสิ้น 2,636 คน ผลสำรวจเป็นดังนี้

สำหรับตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการระดับโลก เอเชีย รวมถึงประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ดิจิทัล การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐหรือ AI คิดเป็น 37% 2. งานด้านสื่อ ศิลปะ และการออกแบบ 36% 3. งานการบริการและการต้อนรับ 34% 4.งานบริการทางการเงิน 30% และ 5.งานบริการด้านสุขภาพและสังคม 30%

“5 สายงานดังกล่าว มาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด สอดรับกับประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทำให้ทุกธุรกิจต้องการบุคลากรที่เข้าใจงาน และพร้อมเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ 5 สายงานยังมีจุดเชื่อมโยงด้านทักษะการวางแผน การสื่อสาร เกี่ยวเนื่องถึงการเงิน สุขภาพ ซึ่งปีหน้าอาจพบธุรกิจใหม่มากขึ้น”

บริษัท นายจ้างมองหาและอยากได้คนเก่งด้านดิจิทัล เอไอ หรือทักษะอื่นๆที่ตอบโจทย์ธุรกิจแต่ละเซ็กเตอร์ ทว่า ฝั่งลูกจ้าง พนักงาน ฯ ยุคนี้ ไม่ได้มองแค่ผลตอบแทน เงินเดือน ความมั่นคงอีกต่อไป แต่มีองค์ประกอบอื่นๆที่เติมเต็มการใช้ชีวิตด้วย โดย 3 อันดับแรกที่จะจูงใจ มัดใจผู้สมัครอยู่กันยาวๆ ได้แก่ อันดับ 1 งานที่มั่นคงและมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานหรือ Work Life Balance สัดส่วนสูงถึง 77% อันดับ 2 ทำงานในบริษัทที่ดี และมีโอกาสเติบโตสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น 55% อันดับ 3 ต้องการมี “ธุรกิจส่วนตัว” ที่ประสบความสำเร็จเป็นของตัวเองด้วย

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ปฏิเสธงานทันที คือ ค่าตอบแทนและความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และยังเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจรับข้อเสนองานเช่นเดียวกับผู้สมัครงานทั่วโลก ส่วนคุณค่าของการได้ร่วมงานกบัองคก์รที่มีชื่อชื่อเสียงหรือความหมายของงานเป็นข้อพิจารณาที่ใหค้วามสำคัญน้อยลงมา”

ดังนั้น รูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัว โดยเฉพาะระบบทำงานเต็มเวลาที่สำนักงานหรือออฟิศ เพราะปัจจุบันจากผลสำรวจพบว่าบุคลากรมีการคำนึงถึงเวลาทางานที่มีความต้องการแบบ hybrid working สูงมากขึ้น ทั้งนี้ เจาะลึกผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย “ลังเล” ที่จะกลับไปทางานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ โดยมีเพียง 22% เท่าน้ันที่ต้องการกลับไปทางานที่ออฟฟิศ ต่างจากทั่วโลกที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 35% พร้อมทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศมากกว่าทำงานที่บ้าน นอกจากนี้ คนไทย 69% ต้องการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ และ 21% ต้องการทำงานแบบพาร์ทไทม์

“ถ้าผู้ประกอบการกำลังมองหาวิธีดึงดูดผู้สมัครที่ตรงกับความต้องการ ต้องมีข้อเสนอที่ดี เงินเดือนและสิทธิประโยชนท์ที่ดีกว่าบริษัทเดิม ตำแหน่งงานที่สูงกว่า และทำให้ผู้สมัครงานเห็นว่าโอกาสก้าวหน้าในที่ทำงานดีกว่าเดิม”

นอกจากข้อเสนอที่ดีแล้ว ประสบการณ์ที่ดีในระหว่างกระบวนการสมัครงานและการ คัดเลือกเข้าทำงาาน วิธีการและช่องทางที่ผู้สมัครให้ความสนใจ และมีอิทธิพลในการตัดสินใจ หากผู้ประกอบการหรือองค์กรละเลยประเด็นดังกล่าว อาจเป็นข้อผิดพลาดได้ ดังนั้น การพฒันากระบวนการสรรหาที่ตรงกับความตอ้งการของแรงงานในปัจจุบันสามารถเพิ่มความโดดเด่นให้กับองค์กรได้ด้วย โดย 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจพึงพอใจมาก หากข้ันตอนการสรรหา สมัครงานมีความราบรื่น มี ระยะเวลาที่เหมาะสม และ 35% มองว่าประสบการณเ์ชิงลบระหว่างการสมัครงานเป็นเหตุผลสาคัญที่ปฏิเสธงานแม้ข้อเสนอจะน่าสนใจก็ตาม

“แม้ผลสำรวจจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้สมัครงานจะมีอานาจต่อรองสูง มีโอกาสเลือกข้อเสนองาน แต่ผู้ประกอบการไม่ต้องวิตกกังวลกับข้อต่อรองต่างๆ ควรเปิดโอกาสให้เสนอและต่อรอง ให้พื้นที่และเวลาในการตัดสินใจแก่ผู้สมัครงานและติดต่อกลับเพื่อพูดคุยหลังจากนั้น ไม่ควรคิดว่ากระบวนสรรหาจบลงที่ขั้นตอนการเสนองานเท่านั้น”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/12/2566

ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมไม่เป็นทางการ ทีมประกันสังคมก้าวหน้ากวาด 6 จาก 7 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทย มีผู้ประกันตนใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงประมาณ 150,000 คน หรือ 18.36 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ จากยอดผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิกว่า 850,000 คน

ผู้สมัครเป็นคณะกรรมการสำนักประกันสังคมที่ได้รับชัยชนะอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งหมด 14 คน ได้แก่

ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

1. รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 71,917 คะแนน

2. ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต 69,403 คะแนน

3. ชลิต รัษฐปานะ สมาชิกสหภาพคนทำงาน 69,264 คะแนน

4. ศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ 69,256 คะแนน

5. นลัทพร ไกรฤกษ์ นักสื่อสาร-นักรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมสำหรับผู้พิการ 68,133 คะแนน

6. ลักษมี สุวรรณภักดี ประธานสหภาพแรงงาน มอลลิเก้ เฮลท์ แคร์ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ 67,113 คะแนน

7. ปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย 15,080 คะแนน

โดยอันดับ 1-6 เป็นผู้สมัครจากทีมประกันสังคมก้าวหน้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ส่วนอันดับที่ 7 มาจากทีมสมานฉันท์ร่วมกันปฏิรูปประกันสังคม

ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

1. ดร.มนตรี ฐิรโฆไท บริษัท กะรัต เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) 409 คะแนน

2. วิภาพรรณ มาประเสริฐ  บจก.รักษาความปลอดภัย ดูอิ้งเวล แอนด์ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิสเซส 403 คะแนน

3. สิริวัน ร่มฉัตรทอง บจก.อีคอท ดีเวลลอปเม้นท์ เซ็นเตอร์ 368 คะแนน

4. สมพงศ์ นครศรี  บจก.สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล 319 คะแนน

5. สุวิทย์ ศรีเพียร บจก.ไทยจิระพัฒน์ 315 คะแนน

6. ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ บจก.นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย อินเตอร์ซิตี้ 258 คะแนน

7. เพชรรัตน์ เอกแสงกุล บมจ.อีซึ่น แอนด์ โค 252 คะแนน

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงถึงภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สำนักงานประกันสังคมสำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ว่า สำหรับบอร์ดชุดนี้จะมีวาระ 2 ปี โดยการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องปรับวิธีการเลือกตั้งใหม่ และต้องมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกันตนและนายจ้างตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่

"ครั้งนี้เป็นครั้งแรก นายจ้างและลูกจ้างอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแสดงตนใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่าลืมว่าผู้ประกันตนทุกมาตราต้องส่งเงินสมทบทุกเดือน การออกมาเลือกตั้งผู้แทนของท่านจะช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ของท่านได้"

ทั้งนี้ บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า สำนักงานประกันสังคมจะประกาศผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการประชุมการเลือกตั้งระหว่างสำนักประกันสังคมและกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณารับรองผลภายในสัปดาห์หน้า ประมาณวันที่ 26-28 ม.ค. 2566 หลังจากพิจารณารับรองแล้วจึงประกาศผล และจะมีการประชุมบอร์ดครั้งแรกภายใน 30 วัน หรือช่วง ม.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม จะมีระยะเวลาในการพิจารณาการยื่นอุทธรณ์หรือยื่นคำร้อง เพื่อทบทวนผู้สมัครแต่ละรายว่าสมควรได้รับการเลือกตั้งหรือไม่

ที่มา: ไทยรัฐพลัส, 25/12/2566

เผยภาพรวมเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมต่ำกว่าคาด ใช้สิทธิแค่ 18.36%

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และเจ้าหน้าที่ ข้าราชการในสังกัด สปส.ไปตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่สำนักงานประกันสังคม จ.นนทบุรี พร้อมรับฟังรายงานภาพรวมการใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรกของประเทศไทย ภายหลังการปิดหน่วยเลือกตั้งในเวลา 16.00 น.

ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้สิทธิเลือกตั้งวันนี้ มีนายจ้างและผู้ประกันตนไปใช้สิทธิเลือกตั้งรวม 158,335 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 958,819 คน แบ่งเป็น 1.ฝ่ายผู้ประกันตน มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้ง 854,414 คน โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 156,870 คน คิดเป็นร้อยละ 18.36 โดยสถานที่ที่มีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คิดจากสัดส่วนผู้มีสิทธิต่อผู้มาใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้ง 5 อันดับ ได้แก่ 1.โรงเรียนสมุทรปราการ จำนวน 7,526 คน 2.สำนักงานเทศบาลนนทบุรี 4,014 คน 3.ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ 5,177 คน 4.โลตัส สาขามีนบุรี 4,577 คน และ 5.เทศบาลเมืองบ้านสวน 4,436 คน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/12/2566

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net