Skip to main content
sharethis

'อนุสาวรีย์ปราบกบฏ' หรือชื่อทางการคือ 'อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ' และยังเป็นที่รู้จักในชื่ออื่นอีก เช่น อนุสาวรีย์หลักสี่ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ เป็นต้น สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ เมื่อปี 2479 โดยบรรจุอัฐิทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิตจากการปราบปรามกลุ่มคณะกู้บ้านเมือง นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ผู้ก่อกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎรในช่วงกลางเดือน ต.ค. 2476

เมื่อ 28 ธ.ค. 2561 อนุสาวรีย์คอนกรีต สูงประมาณ 4 เมตร ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ หน้า สน.บางเขน อดีตแลนด์มาร์กสำคัญของย่านนี้หายไปอย่างไร้ร่องรอยระหว่างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ของ รฟม. แม้ตัวอนุสาวรีย์จะได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานตามกฎหมายแล้วก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การที่โบราณสถานสูญหายนับว่าแปลกแล้ว แต่คดีนี้ยังมีรายละเอียดน่ารู้แปลกๆ อย่างอื่นที่เราอยากบอก ดังนี้

1. กรมศิลปากรแจ้งความโบราณสถานสูญหาย แต่ตำรวจงดการสอบสวนแล้ว

เมื่อ 2 ธ.ค. 2563 อธิบดีกรมศิลปากรมอบอำนาจให้ สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดีขณะนั้น มาร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่รื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือทำลายอนุสาวรีย์ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

ต่อมา 17 ม.ค. 2565 อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งข้อมูลต่อประชาไทว่า "กรมศิลปากรได้รับแจ้งผลการสอบสวนจากสถานีตำรวจนครบาลบางเขน ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนมาตลอด แต่ยังไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นผู้ใด และกระทำความผิดเมื่อใด อย่างไร จึงมีความเห็นควรให้งดการสอบสวนในคดีนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140"

สถาพร เที่ยงธรรม อดีตผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร

2. ประจักษ์พยานถูกจับ เพราะไปดูการย้ายอนุสาวรีย์

แม้ตำรวจ สน.บางเขน จะแจ้งต่อกรมศิลปากรว่า ไม่ทราบตัวผู้ต้องหา ไม่ทราบวันเวลาการกระทำผิด แต่มีคน 2 กลุ่ม ที่ไปสังเกตการณ์และถูกจับในคืนที่มีการย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งกรมศิลปากร ระบุว่า การเคลื่อนย้ายครั้งนั้นเป็นการเคลื่อนย้ายโดยไม่ขออนุญาต และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมประชาชน และผู้สื่อข่าว รวมประมาณ 8 คน เป็นกลุ่มแรกที่ไปสังเกตการณ์การเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ในคืนวันที่ 27 ต่อเนื่องถึงวันที่ 28 ธ.ค. 2561

ศรัญญู เคยให้สัมภาษณ์แก่ประชาไทว่า วันเกิดเหตุเขาไปติดตามดูการเคลื่อนย้าย ประมาณ 22.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ มาสั่งห้ามบันทึกภาพ ศรัญญูได้พูดคุยกับทหารนอกเครื่องแบบ ซึ่งอ้างว่ามาจาก กอ.รมน. ต่อมา เริ่มมีนักข่าวและประชาชนเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่พยายามห้ามถ่ายรูป บันทึกภาพทุกรูปแบบ และเชิญศรัญญู ไปที่ป้อมตำรวจ ขอให้เปิดมือถือดูเพื่อจะลบรูป

อาจารย์ผู้สนใจประวัติศาสตร์คณะราษฎร เล่าอีกว่า หลังถูกตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ เขาและกลุ่มคนประมาณ 8 คน ถูกคุมตัวไปที่ป้อมตำรวจ บริเวณวงเวียนหลักสี่ จึงไม่ได้เห็นการเคลื่อนย้ายทั้งหมด แต่เห็นช่วงท้ายๆ ผ่านกล้องวงจรปิดของป้อมตำรวจ มีการแยกส่วนพานรัฐธรรมนูญด้านบนใส่รถกระบะ ส่วนตัวอนุสาวรีย์วางนอนใส่รถเครน โดยมีตำรวจและทหารตามไปกับรถด้วย 
กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมประชาธิปไตย และเพื่อน เป็นอีกกลุ่มที่ไปติดตามการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ เขาเล่าว่า เขานั่งแท็กซี่ไปที่บางเขนพร้อมกับเพื่อนอีกคน พอไปถึงเห็นว่าไซต์ก่อสร้างกำลังดำเนินงาน มีตาข่ายสีเขียวและแผ่นคล้ายสังกะสีล้อมรอบ จึงเริ่มถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กตั้งแต่ตรงนั้น แต่ไลฟ์ไปได้ไม่ถึง 5 นาที มีกลุ่มคนราว 10 คน เข้ามารุม ถามว่าไลฟ์อะไร เมื่อตอบว่าไลฟ์อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ก็มีคนคว้ามือถือของกาณฑ์ ไปทันที พร้อมเรียกตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งมาจับกุม และขอให้พวกเขาหยุดติดตามเรื่องนี้

กาณฑ์ กล่าวว่า พวกเขาถูกพาขึ้นรถไปที่ สน.บางเขน และให้นั่งรอที่ สน. หลายชั่วโมง ส่วนโทรศัพท์มือถือถูกยึดไป มีคนอ้างว่าเป็นทหารสั่งให้เขาลบไลฟ์ กลุ่มของกาณฑ์ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ก่อนถูกปล่อยตัวราว 03.00 น. ตำรวจลงบันทึกประจำวันว่า เขามาถ่ายทอดสดที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ และถูกเจ้าหน้าที่จับกุม กาณฑ์ ยืนยันว่า ตำรวจนำเอกสารดังกล่าวมาให้เซ็น เพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้ ก่อนจะปล่อยตัวไปโดยไม่คืนโทรศัพท์ อ้างว่าจะนำไปตรวจสอบ และนัดหมายให้กาณฑ์ มารับคืนในช่วงเย็น โดยห้ามทนายความเข้าร่วมกระบวนการ

กลุ่มของศรัญญู และกาณฑ์ ไม่ได้พบกันในวันนั้น กาณฑ์ ไม่ทราบว่ามีกลุ่มของศรัญญู ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ป้อมตำรวจด้วย

กาณฑ์หลังได้โทรศัพท์ที่ถูกยึดคืนจาก สน.บางเขน (ภาพโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

อย่างไรก็ตาม ตามที่ศรัญญู และกาณฑ์ ให้ข้อมูล ประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ประมาณ 10 คน และภาพวงจรปิดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่ศรัญญู เห็นในป้อมตำรวจ ล้วนอยู่ในความควบคุมและครอบครองของ สน.บางเขน ในคืนวันเกิดเหตุ แต่ สน.บางเขน ยังคงยืนยันว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้

"สน.บางเขน ยืนยันว่า ไม่มีหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนแจ้งให้ สน.บางเขน ทราบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจไปควบคุม หรืออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และไม่มีการควบคุมตัวนายศรัญญู เทพสงเคราะห์ และนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ แต่อย่างใด กรณีน่าเชื่อว่า สน.บางเขน ไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่ร้องเรียนอยู่ในความครอบครอง" ข้อสรุปจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการเมื่อ 5 เม.ย. 2564

3. กรมศิลปากรตรวจโบราณสถานเป็นประจำ แต่เกือบ 2 ปี ไม่รู้ว่าอนุสาวรีย์หาย

ชินณวุฒิ วิลยาลัย ให้สัมภาษณ์ประชาไท ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อ 16 ส.ค. 2565 ว่า กองโบราณคดีมีเจ้าหน้าที่แวะเวียนไปดูโบราณสถาน ตรวจสภาพทั่วไปว่ายังคงอยู่ไหม มีส่วนไหนชำรุดทรุดโทรม ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขทำการอนุรักษ์หรือไม่ จะมีเจ้าหน้าที่เวียนดูเป็นล็อก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีโบราณสถานจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ที่เวียนไปดูมีเพียง 1-2 คนเท่านั้น

ผู้อำนวยการกองโบราณคดีให้ข้อมูลว่า การตรวจตรานี้ทำมาตลอดทุกปี แต่กรณีอนุสาวรีย์ปราบกบฏต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม โดยไม่แน่ใจว่าพอเป็นช่วงชุลมุน อาจจะเป็นผลจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือไม่

ทั้งนี้ กรมศิลปากรใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงลงพื้นที่ และทราบว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏหายไป ก่อนเข้าแจ้งความที่ สน.บางเขน เมื่อ 2 ธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ชินณวุฒิ จะเข้ารับตำแหน่ง

4. รฟม. บอกย้ายอนุสาวรีย์เข้าที่แล้วตามที่ขออนุญาตแล้ว นอกจากนี้ไม่รู้ๆ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ให้ข้อมูลเมื่อ 30 ธ.ค. 2564 ว่า กรมศิลปากรพิจารณาเห็นชอบตำแหน่งและรูปแบบการก่อสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2558 และ 19 พ.ค. 2559

ต่อมา โครงการดำเนินการรื้อย้ายอนุสาวรีย์จากตำแหน่งเดิม เพื่อเตรียมการก่อสร้างโครงการ และดำเนินการก่อสร้างฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งใหม่ โดยมีการทำพิธีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 3 พ.ย. 2559

เอกสารของ รฟม. ระบุอีกว่า โครงการฯ ดำเนินการก่อสร้างฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งใหม่แล้วเสร็จ และได้เคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์จากตำแหน่งชั่วคราวไปไว้บนฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ต่อมา พบว่ามีการดำเนินการล้อมรั้วสูง 6 เมตร ซึ่งการล้อมรั้วดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินการของโครงการฯ และไม่ทราบว่าเป็นการดำเนินการของหน่วยงานใด

 

 

 

ภาพบางส่วนจากเอกสารตอบกลับจาก รฟม. ถึงผู้สื่อข่าวประชาไท ต่อกรณีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรี

5.ไม่ได้มีแค่อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หายไป

อนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นเพียงหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สูญหายไปอย่างเป็นปริศนา ตามหลังหมุดคณะราษฎรที่หายไจากลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อเดือน เม.ย. 2560 และถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ ตามมาด้วยอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี หรือค่ายพหลโยธิน ต่างก็หายไปช่วงเวลาใกล้เคียงกันในเดือน ม.ค. 2563

เพียงแต่อนุสาวรีย์ปราบกบฏมีสถานะโบราณสถานตามกฎหมายคุ้มครอง ทำให้มีช่องทางในการสอบถามข้อมูลและติดตามความรับผิดชอบจากหน่วยงานรัฐ ต่างจากมรดกคณะราษฎรชิ้นอื่นที่การทวงถามก็อาจทำให้ถูกจับกุมได้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net