Skip to main content
sharethis

ชาวเมียนมาในไทยชุมนุมต้านกองทัพพม่า หลังมีสื่อรายงานสถานทูตจะต่ออายุพาสสปอร์ตเฉพาะแรงงานในต่างประเทศที่ยอมจ่ายภาษี 2% ของรายได้ต่อเดือน ให้เผด็จการทหาร เชื่อเตรียมเอาเงินซื้ออาวุธคร่า ปชช. ขอทั่วโลกช่วยประณาม

 

18 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ในวาระวันโยกย้ายถิ่นฐานสากล หรือ International Migrants Day 2023 ซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 ธ.ค. ของทุกปี กลุ่มไบร์ทฟิวเจอร์ (Bright Future) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ได้จัดชุมนุมต่อต้านนโยบายของกองทัพพม่า หลังมีสื่อรายงานเมื่อ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา สถานทูตพม่าในไทยและสิงคโปร์ประกาศต่ออายุพาสสปอร์ตเฉพาะคนทำงานที่จ่ายภาษีเงินได้อัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน ให้กับทางการเมียนมา ทำให้ชาวเมียนมาในไทยไม่พอใจ เพราะกังวลว่าเงินของพวกเขาจะถูกนำไปใช้สนับสนุนกองทัพพม่า และใช้ซื้ออาวุธสงครามคร่าชีวิตประชาชนในเมียนมา

สืบเนื่องจากเมื่อ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา อิรวดี และ Burma News International หรือ BNI รายงานข่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา สถานทูตพม่าในต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และเกาหลีใต้ ได้ประกาศมาตรการใหม่ โดยให้แรงงานเมียนมาในต่างประเทศจ่ายภาษีเงินได้เป็นจำนวน 2% ของฐานเงินเดือน 

นโยบายนี้ถูกประกาศครั้งแรก เมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการวางแผนและพาณิชย์ ภายใต้สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ได้ประกาศให้ชาวเมียนมาที่อาศัยในต่างประเทศ ต้องจ่ายภาษีเงินได้ ตั้งแต่เมื่อ 1 ต.ค. 2566 

กระทั่งเมื่อ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมานี้ สถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ ประกาศเป็นรอบที่ 2 โดยเน้นย้ำว่า แรงงานชาวพม่าในไทย ต้องจ่ายภาษีเงินได้เป็นจำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน 

องค์การแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในประเทศไทย ประเมินว่ามีผู้มีสัญชาติพม่าอาศัยและทำงานในประเทศไทยทั้งถูกกฎหมายและไม่มีสถานะทางกฎหมาย ประมาณ 5 ล้านราย 

ทั้งนี้ อิรวดี ระบุว่า ตอนนี้มีแรงงานพม่าถูกกฎหมายในประเทศไทย ประมาณอย่างน้อย 2 ล้านคน และโดยมีรายได้ขั้นต่ำประมาณ 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งหมายความว่า แต่ละคนจะต้องจ่ายให้กองทัพพม่า ราว 150 บาทต่อเดือน และกองทัพพม่าจะได้เงินจากแรงงานข้ามชาติ จำนวนอย่างน้อย 300 ล้านบาท

การเก็บภาษีเงินได้จากชาวเมียนมาที่ทำงานต่างประเทศ เคยทำมาแล้วในช่วงยุครัฐบาลทหารพม่า จนกระทั่งยุติไปเมื่อปี 2012 หรือ พ.ศ. 2555 สมัยรัฐบาลประธานาธิบดี เต่งเส่ง ก่อนที่จะกลับมาบังคับใช้อีกครั้งหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ 

ภายใต้นโยบายการเก็บภาษีใหม่นี้ แรงงานชาวเมียนมาที่อาศัยในต่างประเทศต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 2 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ต่อเดือน เป็นสกุลเงินต่างชาติ โดยจ่ายเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส (3 เดือน) ให้กับสถานทูตประเทศต่างๆ ที่ชาวพม่าไปอาศัย

ในกรณีของสถานทูตเมียนมาในสิงคโปร์ ระบุว่าให้ชาวพม่าจ่ายภาษีเงินได้ 2% จึงสามารถต่ออายุหนังสือเดินทาง หรือพาสสปอร์ต และได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับบริการด้านกงสุล 

อย่างไรก็ตาม BNI สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายภาษี และเศรษฐกิจ ที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง มองว่า รัฐบาล SAC พยายามเก็บภาษี เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการทหาร ซึ่งนับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา กองทัพพม่าติดอยู่ในหล่มความขัดแย้ง กับสงครามกลางเมืองที่กระจายออกไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยง่าย

นอกจากนี้ มาตรการเก็บภาษีดังกล่าวอาจละเมิดสนธิสัญญาที่ทำไว้กับนานาประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม ไทย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากข้อตกลงเหล่านี้มักป้องกันการเก็บภาษี 2 ทางเอาไว้ 

สุรัช กีรี แกนนำ Bright Future กล่าวว่า วันนี้เขาออกมาต่อต้านการเรียกเก็บเงิน 2 เปอร์เซ็นต์ ของรัฐบาลเมียนมา SAC และอยากให้ทั่วโลกรู้ว่า ชาวพม่าไม่มีวันยอมแพ้ ไม่มีวันให้เงินมันสักแดง

สุรัช กล่าวว่า สถานการณ์ของฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าในขณะนี้ทำให้เขามีความมั่นใจถึง 80% ว่าจะสามารถกำชัยเอาไว้ได้ หลังฝ่ายต่อต้านได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นการสู้รบในรัฐกะฉิ่น ภูมิภาคสะไกน์ ตะนาวศรี หรือแม้แต่ในรัฐฉานเหนือ 

นอกจากความไม่พอใจต่อนโยบายต่อพาสสปอร์ตใหม่แล้ว แรงงานเมียนมาในไทยยังเรียกร้องให้ บริษัทด้านพลังงานสัญชาติสหรัฐฯ 'Exxon Mobile' หยุดขายเชื้อเพลิงเครื่องบินรบให้กองทัพพม่า เรียกร้องให้อาเซียนกดดันพม่าให้ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมา ช่วยเหลือชาวพม่าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามตามแนวชายแดน และอื่นๆ 

รายละเอียดหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่ม

วันที่ 16 ธ.ค. 2023 สื่อ The Irrawaddy รายงานว่ารัฐบาลเมียนมาได้สั่งการให้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาส่งเงินภาษี 2% จากเงินเดือน โดยสถานทูตเมียนมาจะตรวจสอบทุกครั้งก่อนให้ต่ออายุเอกสารสำคัญ นั่นหมายความว่าแรงงานข้ามชาติในไทยกว่า 2 ล้านคน จะต้องส่งเงินกลับประเทศราว 300 ล้านบาททุกเดือน ซึ่งเงินนี้จะถูกใช้ไปกับการสั่งซื้ออาวุธและเสบียงสงครามเพื่อการสู้รบและการฆ่าล้างประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาอย่างแน่นอน

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คนธรรมดาได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหารทั้งด้วยสันติวิธีและการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศ Civil Disobedience Movement หรือ CDM จนต่อมาเกิดรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน People's Defense Force หรือ PDF ขึ้นมาเพื่อยกระดับการต่อต้านพวกของมิน อ่อง หล่าย ที่คุมขังนักโทษการเมืองกว่า 25,500 คน ใช้อาวุธปืนไปจนถึงการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ เข่นฆ่าประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 4,256 คน และก่อให้ต้องมีผู้ลี้ภัยอีกนับไม่ถ้วน

เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล พวกเราแรงงานเมียนมาในไทยจึงขอแสดงเจตนารมณ์ต่อประชาคมโลกดังนี้ ชักชวนนักประชาธิปไตยทุกแห่งหนร่วมกันปิดฉากเผด็จการมิน อ่อง หล่าย

1. ให้แรงงานทั่วโลกร่วมประณามการปล้นเงินเดือน 2% จากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา

2. ให้ประเทศอาเซียนเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามชายแดนเมียนมาทั้งหมด โดยให้กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัยและปราศจากปฏิบัติการทางทหาร (Humanitarian Corridor) รวมถึงจัดหาสถานที่พักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา 

3. ให้ประเทศอาเซียนเร่งปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (Five-point Consensus) โดยเฉพาะข้อที่ 1 "ยุติความรุนแรงทั้งหมดในประเทศเมียนมา”และข้อที่ 4 "เดินหน้าภารกิจด้านมนุษยธรรมในประเทศเมียนมา”

4. ให้รัฐบาลไทยระงับการร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมาในทุกระดับและขอให้แต่งตั้งตัวแทนในการร่วมมือกับรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar (NUG) ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะยาวต่อไป

5. ให้บริษัท ExxonMobil ในสหรัฐอเมริการะงับการขายเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาตามข้อเรียกร้องโดย "US Campaign 4 Burma" และองค์กรเครือข่าย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ AAPP เปิดเผยสถิติล่าสุดว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึงเมื่อ 15 ธ.ค. 2566 มีผู้เสียชีวิตจากฝีมือของเผด็จการทหาร สามารถยืนยันตัวเลขจำนวนอย่างน้อย 4,256 ราย ถูกจับกุม 25,559 ราย และยังถูกควบคุมตัว 19,765 ราย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net