Skip to main content
sharethis

ข้อมูลจาก ILOSTAT ในโลกแห่งการทำงาน มีหลายภาคส่วนที่ผู้หญิงมีบทบาทสูง, มีพื้นที่ที่ผู้หญิงเพิ่งเข้ามา, และบางพื้นที่ยังไม่ค่อยมีผู้หญิงมากนัก น่าเสียดายที่มุมมองทางเพศแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเพศในที่ทำงานยังคงมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในอาชีพในภาค STEM หรือตำแหน่งผู้บริหาร


ที่มาภาพ: TopSphere Media/Unsplash

แม้ว่าผู้หญิงจะทำลายอุปสรรคในสาขาอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) และการเอาชนะอุปสรรคบางประการในบทบาทผู้บริหารองค์กร แต่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเพศในที่ทำงานยังคงค่อนข้างจำกัด รายงานชิ้นนี้จะชวนดูข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากฐานข้อมูลของ ILO

ในปี 2023 นับเป็นก้าวสำคัญสู่ความเท่าเทียมทางเพศ เมื่อรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นสาขาที่ผู้ชายมักผูกขาดอยู่เสมอ ได้มอบให้กับ ศาสตราจารย์คลาเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) นี่ไม่เพียงแค่เป็นการยอมรับต่อผลงานของผู้หญิงในสาขานี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการยอมรับถึงความสำคัญของการศึกษาเรื่อง "การพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ในตลาดแรงงานของผู้หญิง" ของเธอ ที่ได้อธิบายอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงและสาเหตุเบื้องหลังความไม่เท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าอาจมีเรื่องราวที่แตกต่างกันเกิดขึ้นในบริบทระดับโลก ในแต่ละพื้นที่ที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย

รายงานชิ้นนี้จะให้ข้อมูลแนวโน้มทั่วโลกที่เกี่ยวกับการจ้างงานผู้หญิงในทุกภาคส่วน 

ความไม่สมดุลทางเพศในภาคส่วนและอาชีพต่างๆ

ไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงยังคงมีบทบาทสูงในงานที่ถูกมองว่าเหมาะสมกับผู้หญิง (ตามมุมมองทางเพศแบบดั้งเดิม) ตัวอย่างเช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลและการดูแลเด็กมีสัดส่วนผู้หญิงสูงมาก โดยมีตัวเลขสูงถึง 90% ตำแหน่งงานในด้านการสอนและการศึกษาเองก็มีผู้หญิงทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประถมศึกษาและการสอนเด็กปฐมวัย อีกทั้งงานระดับพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารและการทำความสะอาดก็มีสัดส่วนผู้หญิงสูงเช่นเดียวกับตำแหน่งธุรการและบรรณารักษ์

ในทางกลับกัน ผู้ชายมีบทบาทสูงในอาชีพเสี่ยงสูงบางอย่าง เช่น พนักงานขับหัวรถจักร พนักงานขับเครื่องจักรกลหนัก ลูกเรือ ผู้ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน รวมถึงช่างฝีมือและกรรมกร ในขณะเดียวกัน อาชีพที่มีความสมดุลทางเพศมากที่สุด มักพบในกลุ่มพนักงานขายและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและการบริหาร

เช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรน่าแปลกใจในทุกภาคส่วนที่ผู้หญิงมีบทบาทสูงนั้น นอกจากบริการสังคมและสุขภาพแล้ว ผู้หญิงยังมีสัดส่วนสูงในบางอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งกาย ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมอย่างเหมืองแร่ การขุดเจาะ และกิจกรรมการก่อสร้าง ยังคงเป็นอาชีพที่ผู้ชายมีบทบาทมากกว่า อย่างไรก็ตาม ภาคค้าปลีกมีการกระจายตัวทางเพศที่สมดุลมากขึ้น

ผู้หญิงกับงานในภาคการดูแล


ที่มาภาพ: Alberta Newsroom (CC BY-NC-ND 2.0)

อาชีพในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแล ผู้หญิงมีบทบาทสูง เช่น การดูแลเด็ก พยาบาลและการผดุงครรภ์ และในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลที่อยู่อาศัย (เช่น กิจกรรมในบ้านพักคนชรา) และครัวเรือนส่วนตัว (ที่มีการจ้างคนทำงานบ้าน) ผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วน 67% ของแรงงานด้านการดูแลทั่วโลกตามการประมาณการล่าสุดที่อิงจากข้อมูลที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำงานบ้าน มีสัดส่วนผู้หญิงมากที่สุด ในประเทศต่างๆ เช่น เซเชลส์ เบลารุส สโลวาเกีย และจอร์เจีย คนทำงานภาคการดูแล 4ใน 5 คนเป็นผู้หญิง แต่ที่น่าสนใจคือ อาชีพอื่นๆ ในภาคการดูแล เช่น พนักงานดูแลส่วนตัวในภาคการบริการ  เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารในบ้านพักคนชรา โรงพยาบาลหรือคลินิก ดูเหมือนจะมีการกระจายตัวทางเพศที่สมดุลมากขึ้น

ธรรมชาติของงานดูแลนั้นยึดติดกับค่านิยมทางเพศแบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น ส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงานของผู้หญิง ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ และความเท่าเทียมทางเพศ ในขณะที่ความต้องการการดูแลทั่วโลกเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น โครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลง ไป ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการในภาคการดูแลที่เพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ การละเลยไม่แก้ปัญหาต่างๆ อาจทำให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศในแรงงานรุนแรงยิ่งขึ้น และสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับผู้ดูแลที่อยู่ภายใต้แรงกดดันอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 

บุกเบิกพรมแดนใหม่สำหรับผู้หญิงในภาค STEM


ที่มาภาพ: Aquatic Sciences Center (CC BY-NC 2.0)

งานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เคยเป็นอาชีพที่ผู้ชายมีบทบาทสูงมาอย่างยาวนาน แต่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้กำลังเปลี่ยนไป ข้อมูลล่าสุดจากการประมาณการทั่วโลกพบว่า  2 ใน 5 ของคนทำงานในภาค STEM เป็นผู้หญิง ประเทศบางประเทศ เช่น มองโกเลีย เบลารุส และเลโซโท ผู้หญิงมีบทบาทสูงมากในอาชีพเหล่านี้ โดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของการจ้างงานในภาค STEM

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ประเทศต่างๆ รวมถึงปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บูร์กินาฟาโซ และอิรัก กลับมีผู้หญิงสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 4 ของคนทำงานในภาค STEM 

การเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาค STEM ของผู้หญิง มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความหลากหลายในสถานที่ทำงาน แก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเพศในอดีต กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรม สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในอนาคต และส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม ดังนั้น แม้ว่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี แต่ในตำแหน่งงานภาค STEM จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ยังมีสัดส่วนผู้หญิงน้อยอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงมีสัดส่วนเพียงประมาณ 10% ของอาชีพวิศวกรโยธาและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ในความเป็นจริง ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ยังคงมีผู้หญิงน้อยกว่า 1 ใน 4 และช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศก็มักสูงในภาคส่วนนี้

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารของผู้หญิงอย่างเชื่องช้า

แม้ว่าผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในภาค STEM บ้างแล้ว แต่ยังคงมีอุปสรรคสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพของพวกเธอ มีเพียง 36% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง นอกจากนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารในภาคที่มีผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าผู้ชายอยู่แล้วเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการด้านการบริการดูแลเด็ก 89% และผู้จัดการด้านการบริการดูแลผู้สูงอายุ 78% เป็นผู้หญิง ในทางกลับกัน มีผู้จัดการเหมืองแร่เพียง 1% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากภาคเหมืองแร่เป็นภาคที่ผู้ชายมีบทบาทสูง ในขณะเดียวกัน มีการกระจายตัวทางเพศที่สมดุลมากขึ้นสำหรับผู้จัดการในด้านประชาสัมพันธ์ ทรัพยากรบุคคล การเงิน และการบริการธุรกิจ ซึ่งผู้หญิงครองตำแหน่งผู้บริหารในอาชีพเหล่านี้เกือบครึ่ง อย่างไรก็ตาม มีเพียงประมาณ 1 ใน 5 ของกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าคณะผู้บริหารเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนแค่เรื่องช่องว่างทางเพศในด้านจำนวนเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ช่องว่างทางโอกาสและการเสริมอำนาจของผู้หญิง 

ศักยภาพของการท่องเที่ยวในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น


ที่มาภาพ: CNUCED

การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ แม้ว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่การท่องเที่ยวก็กลายเป็นสัญญาณแห่งความหวังสำหรับผู้หญิง – หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ – นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ห่างไกลและทุรกันดาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงภาคที่พัก เป็นภาคที่มีการจ้างงานผู้หญิงสูง อย่างไรก็ตาม งานในภาคส่วนเหล่านี้มักมาพร้อมกับความท้าทายเฉพาะตัว ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยอาชีพอิสระ ธรุกิจขนาดเล็ก อัตราการทำงานนอกระบบที่สูง และโดยทั่วไปแล้วมีค่าจ้างและผลผลิตต่ำ

บทสรุป

ข้อมูลที่นำเสนอไปได้เผยให้เห็นทั้งความก้าวหน้าและความท้าทาย รางวัลโนเบลของศาสตราจารย์คลาเดีย โกลดิน เน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงาน จากการสำรวจแนวโน้มด้านอาชีพที่ได้นำเสนอไป ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ชัดเจน ในโลกแห่งการทำงาน มีหลายสาขาที่ผู้หญิงมีบทบาทสูง, มีพื้นที่ที่ผู้หญิงเพิ่งเข้ามา, และบางพื้นที่ยังไม่ค่อยมีผู้หญิงมากนัก น่าเสียดายที่มุมมองทางเพศแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงยังคงมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในอาชีพในภาค STEM หรือตำแหน่งผู้บริหาร

ขณะที่เราก้าวไปสู่อนาคตที่เท่าเทียมกันมากขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องทำให้การปรึกษาหารือนั้นยังคงอยู่ ท้าทายบรรทัดฐานทางเพศแบบดั้งเดิม และที่สำคัญที่สุดคือเฉลิมฉลองทุกย่างก้าวสู่ความเท่าเทียมทางเพศ ทุกตัวเลข ทุกสถิติ และทุกเรื่องราว ล้วนจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างก้าวสำคัญในการแสวงหาความเท่าเทียมกันร่วมกัน


ที่มา:
Where women work: Female-dominated occupations and sectors (Donika Limani, ILOSTAT, 7 November 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net