Skip to main content
sharethis

ILOSTAT รวบรวมตัวเลขสถานการณ์ 'ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ' ในปี 2023 พบว่าแม้จะมีความคืบหน้าไปบ้าง แต่ช่องว่างยังคงอยู่และห่างขึ้นในบางอาชีพด้วยซ้ำ พบช่องว่างค่าจ้างชายหญิงไม่ได้เกิดจากวุฒิการศึกษาเป็นหลัก แต่มักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ


ที่มาภาพ: Luke Harold / Wikimedia

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ถูกถามว่าเหตุใดความเท่าเทียมทางเพศจึงมีความสำคัญในคณะรัฐมนตรีของเขา ทรูโดตอบว่า "เพราะว่าเป็นปี 2015 แล้ว" 

ปัจจุบันเราอยู่ในปี 2023 แต่ความเท่าเทียมระหว่างเพศยังคงเป็นสิ่งที่ยากจะบรรลุ ในปีที่ผ่านมาครึ่งหนึ่งของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงต่ำกว่า 35% ผู้ชายยังคงมีรายได้มากกว่าผู้หญิงในเกือบทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการแบ่งแยกเพศตามการจ้างงานและอาชีพที่ยังคงมีอยู่ ผู้หญิงต้องหยุดทำงานสาเหตุเพราะพวกเธอมีลูก การแบ่งปันความรับผิดชอบในครอบครัวที่ไม่เท่าเทียมกัน และค่าจ้างที่ไม่ยุติธรรม รายงานชิ้นนี้ของ ILOSTAT จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความอยุติธรรมทางสังคมที่สำคัญในยุคของเรา นั่นคือ "ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ"

ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศยังคงมีอยู่ในอาชีพและอุตสาหกรรมต่างๆ


ที่มาภาพ: ILO Asia-Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

การแบ่งแยกเพศในกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง เป็นสาเหตุของช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ เป็นอุตสาหกรรมที่มีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศสูง เนื่องจากผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้มักทำหน้าที่การขายตั๋วและการบริการ ส่วนผู้ชายที่มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้บริหารและการใช้ทักษะพิเศษเช่นนักบิน 

ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศมีนัยสำคัญน้อยกว่าใน 'กิจกรรมการก่อสร้างเฉพาะทาง' และผู้หญิงยังมีรายได้มากกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรม 'การก่อสร้างอาคาร' ในหลายประเทศ เนื่องจากผู้หญิงมีสัดส่วนน้อยมากในแรงงานภาคการก่อสร้าง และผู้หญิงที่ถูกจ้างในภาคนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นมืออาชีพมากกว่า ในขณะที่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะอยู่ในอาชีพกึ่งทักษะและทักษะต่ำมากกว่า

คำจำกัดความในการวิเคราะห์นี้ "ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ" หมายถึง "ความแตกต่างระหว่างค่าจ้างรายชั่วโมงของชายและหญิง" (ผู้ชายได้ค่าจ้างมากกว่าผู้หญิงในงานเดียวกัน) สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกเพศในตลาดแรงงาน ทั้งลักษณะงานและสถานที่ทำงาน เช่น ผู้หญิงที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในการจ้างงานนอกระบบ หรือการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก หรือการจ้างงานด้วยสัญญาชั่วคราว หรือการทำงานพาร์ทไทม์ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศแม้จะอยู่ในอาชีพเดียวกันก็ตาม นอกจากนี้ แม้ว่าการวิเคราะห์นี้มุ่งเน้นไปที่ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ แต่เราต้องไม่ลืมความจริงที่ว่าปัจจัยทางด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการย้ายถิ่นฐาน ความพิการ รสนิยมทางเพศ และคุณลักษณะอื่นๆ สามารถมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน

อาชีพที่มีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่สำคัญในประเทศส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงและอาชีพในกลุ่ม STEM ซึ่งผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อย ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 ประเทศส่วนใหญ่กว่า 80% มีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศอย่างน้อย 5% สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่สูงในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สอดคล้องกับผลการวิจัยล่าสุดที่ว่าช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศในภาคการดูแลสุขภาพ มีแนวโน้มสูงกว่าในภาคส่วนอื่นๆ 

อาชีพอื่นๆ ที่มีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศในประเทศส่วนใหญ่ (มากกว่า 70%) ได้แก่ คนทำงานดูแลส่วนบุคคล (ภายใต้กลุ่มอาชีพ 'พนักงานบริการและการขาย') คนทำงานในอาคาร คนทำงานด้านโลหะ เครื่องจักร และบริการที่เกี่ยวข้อง คนทำงานหัตถกรรมและการพิมพ์ และผู้ปฏิบัติงานโรงงานและเครื่องจักร และแม้แต่อาชีพที่มีทักษะต่ำ เช่น พนักงานขายและบริการตามท้องถนน ก็มีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศด้วยเช่นกัน

แม้ว่าช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศในอาชีพเหล่านี้จะพบได้ในประเทศส่วนใหญ่ แต่ความห่างของช่องว่างเหล่านี้มีความแตกต่างกันในระดับภูมิภาค ในยุโรป เอเชียกลาง และเอเชียแปซิฟิก ความแตกต่างระหว่างรายได้ในอาชีพต่างๆ มีนัยสำคัญน้อยกว่าในภูมิภาคแอฟริกา อเมริกา และรัฐอาหรับ

ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ไม่ได้เกิดจากความแตกต่างด้านวุฒิการศึกษา

จากสมมติฐานที่ว่าคนทำงานมีทักษะไม่ตรงกับอาชีพ และช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศอาจมีสาเหตุมาจากวุฒิการศึกษา อย่างน้อยข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ในประเทศส่วนใหญ่ ผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาระดับปานกลางหรือระดับสูง มักจะมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายที่มีวุฒิการศึกษาเท่ากัน ปัญหาหลักที่อยู่เบื้องหลังช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศในประเทศส่วนใหญ่ ตามรายงานของ ILO เมื่อเร็วๆ นี้ในหลายประเทศพบว่าผู้หญิงอาจได้รับการศึกษาสูงกว่าผู้ชายในประเภทอาชีพเดียวกัน แต่ถึงกระนั้นก็ได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่า 

ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศและชีวิตการทำงานของผู้หญิง

การค้นพบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศมักจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แท้จริงแล้ว สำหรับอาชีพต่างๆ รวมถึงอาชีพ STEM ข้อมูลชี้ว่าในหลายประเทศมีช่องว่างค่าจ้างในหมู่คนหนุ่มสาวที่ต่ำกว่าหรือติดลบด้วยซ้ำ ซึ่งหมายถึงคนทำงานที่มีอายุ 20-24 ปี (เนื่องจากมีคนทำงานอายุต่ำกว่า 20 ปี เพียงไม่กี่คนในอาชีพวิชาชีพ ) – บ่งชี้ว่าหญิงสาวในอาชีพเหล่านี้ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชายหนุ่มเพียงเล็กน้อยหรือสูงกว่าชายหนุ่มด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้จะพลิกกลับอย่างรวดเร็วในกลุ่มอายุที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น หญิงสาวที่เป็นมืออาชีพด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมมีรายได้มากกว่าชายหนุ่มอาชีพเดียวกันในหลายประเทศ อย่างชิลี ฝรั่งเศส เลบานอน ฟิลิปปินส์ ไทย และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ในประเทศเหล่านี้ทั้งหมด สถานการณ์ที่ผู้ชายมีรายได้มากกว่าผู้หญิงจะกลับคืนมาสำหรับคนทำงานที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป (30 ปีขึ้นไปในกรณีของประเทศไทย) 

มีหลายปัจจัยที่สามารถอธิบายการค้นพบดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมของแรงงานในหมู่หญิงสาวต่ำมาก ตัวอย่างเช่น อาจเป็นได้ว่าปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงความรับผิดชอบในการดูแล ทำให้หญิงสาวท้อใจหรือขัดขวางไม่ให้หญิงสาวเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือขัดขวางการก้าวหน้าในอาชีพ

แต่คำถามที่น่าสนใจกลับกลายเป็นว่า "เหตุใดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศจึงเพิ่มขึ้นตามอายุ" หรือกล่าวอีกนัยว่า "อะไรคือสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางด้านค่าจ้างและอาชีพ - ความก้าวหน้าของผู้หญิง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายในกลุ่มอายุเดียวกัน"  ซึ่งมีหลายคำอธิบาย อาทิเช่น ชีวิตการทำงานของผู้หญิงที่ต้องหยุดชะงักนั้นมักเกี่ยวข้องกับการมีลูกและหน้าที่การดูแลครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายในกลุ่มอายุเดียวกัน 

ผลการศึกษาพบว่า “ช่องว่างค่าจ้างของการเป็นแม่” (หมายถึงช่องว่างค่าจ้างระหว่างผู้หญิงที่มีลูกกับไม่มีลูก) อาจค่อนข้างสูงในบางประเทศ และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้ผู้หญิงสูญเสียโอกาสในการกลับมาทำงานอย่างต่อเนื่อง คำอธิบายอีกประการหนึ่งคือการมีอยู่ของ "เพดานกระจก" ที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางอาชีพมากกว่าผู้ชาย จากความท้าทายเหล่านี้ ผู้หญิงจึงมีโอกาสน้อยที่จะดำรงตำแหน่งระดับสูง มากกว่าผู้ชายในกลุ่มอายุเดียวกัน

สิ่งที่สามารถทำได้


ที่มาภาพ: ILO/APEX (CC BY-NC-ND 2.0)

ข้อค้นพบเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีความก้าวหน้าบ้างในเรื่อง แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 5 (บรรลุความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน) และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 8.5 (การจ้างงานเต็มรูปแบบที่มีประสิทธิผล และงานที่มีคุณค่าสำหรับผู้หญิงและผู้ชายทุกคน รวมทั้งเยาวชนและผู้ทุพพลภาพ และค่าจ้างที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีมูลค่าเท่ากัน) นโยบายและการดำเนินการร่วมกันของรัฐบาลและนายจ้างมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ขจัดการแบ่งแยกเพศ เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหาร ขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ลดช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ ขจัดอุปสรรคในความก้าวหน้าทางอาชีพของผู้หญิง 

รวมถึงนโยบายและแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องและให้ความปลอดภัยแก่ผู้หญิง ป้องกันการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศหรือศีลธรรมทุกรูปแบบ การลงทุนในนโยบายการดูแลและส่งเสริมความรับผิดชอบในการดูแลร่วมกัน และสร้างความมั่นใจว่าผู้หญิงสามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอในทุกช่วงของชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานในการบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักในอาชีพการงาน

มีทรัพยากรต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งรวมถึงตราสารระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ (การจ้างงานและอาชีพ) ของ ILO ปี 1958 (C111) อนุสัญญาว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ปี 1951 (C100) อนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ปฏิบัติงาน ปี 1981 (C156) อนุสัญญาคุ้มครองการคลอดบุตร ปี 2000 (C183) และอนุสัญญาว่าด้วยความรุนแรงและการคุกคาม ปี 2019 (C190) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างมาตรการ นโยบาย และความคิดริเริ่มที่สำคัญ เช่น พอร์ทัลนโยบายการดูแลทั่วโลกของ ILO, เว็บเพจของ ILO เกี่ยวกับช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ซึ่งมีเครื่องมือในการสนับสนุนประเทศสมาชิกในการลดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ 

เราต้องขจัดช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ! เพราะนี่คือปี 2023 แล้ว.


ที่มา:
Equal pay for work of equal value: where do we stand in 2023? (Souleima El Achkar, ILOSTAT, 18 September 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net