Skip to main content
sharethis

'พยาบาล' คนทำงานกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทในระบบสาธารณสุข อย่างไรก็ตามข้อมูล ILOSTAT ชี้ว่าอาชีพนี้ซึ่งมีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ – มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและค่าจ้างต่ำ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานพยาบาลให้ดีขึ้น เพื่อให้พวกเธอสามารถมอบการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีคุณภาพดีที่สุด


ที่มาภาพ: ILO

จากการประมาณการของ ILOSTAT คนทำอาชีพพยาบาลมีสัดส่วนเพียง 1.3% ของกำลังแรงงานในประเทศที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มีข้อมูลอยู่ แต่พวกเธอถือเป็นแกนหลักของระบบการรักษาพยาบาล ซึ่งโดยปกติแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานในสายงานสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ บทบาทของพวกเธอมีความสำคัญยิ่งขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต 

ข้อมูลจากรายงานแนวโน้มการจ้างงานและสังคมโลกล่าสุดของ ILO ระบุว่าพยาบาลเป็นคนทำงานหลัก (Essential workers) ที่เผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและความเครียดจากงานที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19

คนทำงานหญิงเป็นส่วนใหญ่

วิชาชีพการพยาบาลมักถูกมองว่าเป็นสาขาที่มีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ พยาบาล 4 ใน 5 คนเป็นผู้หญิง อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยมีรูปแบบตามภูมิภาคและกลุ่มรายได้ การจ้างงานผู้หญิงมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ปานกลางระดับบน

ในบรรดาประเทศทั้งหมดที่ ILO มีข้อมูล พบว่าประชากรทุกๆ 1,000 คน จะมีพยาบาล 5 คน ที่เตรียมพร้อมให้การด้านสุขภาพ เมื่อแยกตากกลุ่มรายได้ประเทศ กลุ่มประเทศรายได้สูงจะมีจำนวนพยาบาล 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน แต่จะลดลงเหลือประมาณ 3 ต่อ 1,000 คน ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูง แม้จะมีระบบการรักษาพยาบาลที่แข็งแกร่งที่สุด แต่ก็มีประชากรสูงอายุมากด้วยเช่นกัน จึงมีความต้องพยาบาลในกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน แม้ว่าโดยรวมจะมีทรัพยากรน้อยกว่า แต่ประเทศที่มีรายได้น้อยกลับมีจำนวนพยาบาลต่อผู้สูงอายุ 1,000 คน (อายุ 65 ปีขึ้นไป) มากที่สุด โดยสาเหตุหลักมาจากโครงสร้างประชากรที่อายุน้อย ที่น่าสนใจคือประเทศที่มีรายได้น้อยยังมีสัดส่วนพยาบาลมากที่สุดต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15 ถึง 44 ปี) อีกด้วย

มีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน

ในขณะที่โลกกำลังต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในด้านการดูแลสุขภาพและการดูแลระยะยาว สถิติที่แสดงไว้ข้างต้นอาจแย่ลงไปอีกในไม่ช้า การขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขทั่วโลกเป็นเหมือนระเบิดเวลา และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กลับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนถึงการอพยพของบุคลากรสาธารณสุขจากประเทศที่ยากจนไปสู่ประเทศที่ร่ำรวยที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีแนวโน้มนี้อยู่แล้วก่อนเกิดโรคระบาด 55 ประเทศที่มีระบบสุขภาพที่เปราะบางที่สุดของโลกบางแห่งมีบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ (ความหนาแน่นต่ำกว่าค่ามัธยฐานทั่วโลกของบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ 49 คนต่อประชากร 10,000 คน) และอีกจำนวนมากกำลังสูญเสียบุคลากรสาธารณสุขให้กับการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ

นอกจากเกาะเล็กๆ และประเทศที่มีแรงงานต่างชาติเป็นส่วนใหญ่แล้ว ประเทศที่มีรายได้สูงยังมีจำนวนพยาบาลที่เป็นชาวต่างชาติ (ที่ไม่ใช่พลเมือง) มากที่สุด แนวโน้มนี้ไม่ได้มีเฉพาะในอาชีพด้านการดูแลสุขภาพนี้เท่านั้น เนื่องจากสภาพการทำงานและโอกาสที่เอื้ออำนวยมากขึ้นได้ผลักดันการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้น 

ทำงานหนัก และค่าแรงน้อยเกินไป

พยาบาลมักจะมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ปัญหานี้ก่อให้เกิดความเหนื่อยหน่ายและการขาดแคลน ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพการดูแลที่ต่ำลง ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป (หมายถึงการทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พยาบาลในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ประเทศในแอฟริกาจำนวนมากอยู่ในอันดับต้น ๆ ทั้งที่ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานไม่จำเป็นต้องเป็นบรรทัดฐานสำหรับคนทำอาชีพพยาบาลในประเทศเหล่านี้

เวลาทำงานอันยาวนานไม่ได้แปลว่าค่าจ้างของพยาบาลจะเพิ่มขึ้น ในความเป็นจริง ค่าจ้างต่ำได้สร้างความกังวลที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนทำงานที่จำเป็นอย่างน้อย 1 ใน 3 ทั่วโลก รวมถึงพยาบาล การคำนวณของ ILO พบว่า 31 ประเทศค่าจ้างของพยาบาลต่ำยังคงมีอยู่มาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากทั้งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและสูง

สำหรับรายได้ต่อเดือน พบว่าพยาบาลได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของแรงงานทักษะสูงใน 34 จาก 49 ประเทศ พวกเธอยังมีรายได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของแรงงานภาคสาธารณสุขในเกือบครึ่งของประเทศที่ ILO มีข้อมูล

ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศในภาคส่วนสุขภาพและการดูแลก็มีความเกี่ยวข้องเช่นกัน ด้วยความเหลื่อมล้ำที่มากกว่าในอุตสาหกรรมอื่น ๆ การวิเคราะห์ค่าจ้างรายชั่วโมงแสดงให้เห็นว่าพยาบาลที่เป็นผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพยาบาลที่เป็นผู้ชาย ในประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศที่ ILO มีข้อมูล


ที่มา:
Nurses and midwives: overworked, underpaid, undervalued? (Donika Limani, ILOSTAT, 12 May 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net