Skip to main content
sharethis

เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคม 13 องค์กร ได้ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม พ.ศ. ... หรือ 'นิรโทษกรรมฉบับประชาชน'

ผลของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มุ่งหวังให้มีการลบล้างความผิดของประชาชนที่เข้าร่วมแสดงเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง โดยจะยุติการดำเนินคดีต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองไม่ว่าคดีนั้นจะอยู่ในชั้นสอบสวน อัยการ หรือชั้นศาล หรือถ้าคดีมีคำพิพากษาแล้ว ให้เหมือนบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด และถ้าอยู่ระหว่างได้รับโทษ โทษจะสิ้นสุดลง และจะได้รับการปล่อยตัว

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน กลับมีจุดที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ทั้งเรื่องระยะเวลาการบังคับใช้นิรโทษกรรม สัดส่วนคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรม หรือการระบุชัดเจนว่า คดีความใดเป็นคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที โดยไม่ต้องผ่านกลไกคณะกรรมการฯ 

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ประชาไทจะมาช่วยสรุป พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกล มีข้อที่เหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกันบ้าง

ระยะเวลาการบังคับใช้ ฉบับประชาชนสตาร์ท รปห. ปี'49

จากการตรวจสอบพบว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน และฉบับพรรคก้าวไกลมีจุดที่แตกต่างกันดังนี้ 

ในแง่ของระยะเวลาการบังคับใช้ระหว่างฉบับประชาชน และฉบับพรรคก้าวไกล พบว่า แม้ว่าจะมีการเริ่มบังคับใช้ในปีเดียวกัน คือ ปี 2549 แต่ภาคประชาชน จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และเป็นหัวหน้าคณะ กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย ไปจนถึงวันที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกล เริ่มบังคับใช้วันแรก ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นวันแรกของการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันมีระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือพันธมิตรฯ เริ่มชุมนุมครั้งแรก จนถึงวันที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ

ฉบับประชาชนระบุชัดเจน จะลบประวัติอาชญากรรม

ผลจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งฉบับประชาชน และฉบับก้าวไกล จะส่งผลเหมือนกันคือการยุติคดีทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ฉบับประชาชนระบุอย่างชัดเจนว่า ผลของการบังคับใช้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จะมีการลบประวัติอาชญากรรมโดยเป็นความร่วมมือการทำงานระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. และคณะกรรมการนิรโทษกรรม (ฉบับประชาชน) ขณะที่ฉบับของพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีการระบุเรื่องนี้

ฉบับประชาชน เผยมี 5 คดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที ไม่ต้องผ่านกลไกพิจารณาของ คกก. รวม ม.112

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากฉบับก้าวไกล คือหากกฎหมายบังคับใช้ จะมีคดีความที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยมีทั้งหมด 5 ประเภท ประกอบด้วย

  1. ความผิดประกาศคำสั่งของ คสช. 
  2. คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57 และฉบับที่ 38/57
  3. คดี ม.112 
  4. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548
  5. คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
  6. คดีอื่นๆ ที่มีข้อหาตาม 1-5 ร่วมด้วย

ในวันแถลงข่าวของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เหตุที่ให้นิรโทษกรรมคดี 5 คดีนี้ โดยไม่ต้องผ่านกลไกคณะกรรมการฯ เนื่องจากค่อนข้างชัดเจนว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีการเมือง เป็นคดีที่ไม่สมควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 คดีนี้ยังต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาก่อนว่าเป็นคดีการเมือง ควรได้รับการนิรโทษกรรมทันที

ขณะที่ฉบับพรรคก้าวไกล ไม่ได้ระบุประเภทฐานความผิด แต่ให้ คกก. พิจารณาว่าจะให้นิรโทษกรรมคดีประเภทใดบ้าง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า เนื่องจากในคดีอาญา เช่น พ.ร.บ.ความสะอาด หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่ทุกคดีที่เป็นคดีการเมือง จึงต้องมีการมีพิจารณาว่าคดีใดบ้างที่มีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง และสมควรได้รับการนิรโทษกรรม 

มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมคดีการเมือง 

ทั้งฉบับประชาชน และพรรคก้าวไกล จะมีการตั้งกลไกคณะกรรมการพิจารณาคดีการเมืองเพื่อนิรโทษกรรม แต่มีความแตกต่างกันบางประการ โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนของ คกก. และหลักเกณฑ์กฎหมายที่จะได้รับพิจารณานิรโทษกรรม

สัดส่วนกรรมการฯ ของฉบับประชาชนมีตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดี และ NGO

สัดส่วนคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรม ฉบับประชาชน มีจำนวนสมาชิก 19 คน ประกอบด้วย

  • ประธานคณะกรรรมการ: ประธานสภาผู้แทนราษฎร 
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 
  • ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล 
  • สส. 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
  • ตัวแทนจากประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ คือ การรัฐประหาร 2549 จากการชุมนุมช่วงปี 2552-2553 จากช่วงการรัฐประหาร 2557-2562 และจากการชุมนุมช่วงปี 2563-2566 เหตุการณ์ละ 1 คน 
  • องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน

ฉบับพรรคก้าวไกล มีคณะกรรมการจำนวน 9 คน ประกอบด้วย 

  • ประธานกรรมการ: ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน 
  • รองประธานคณะกรรมการ: ประธานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 1 คน 
  • บุคคลผู้ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี 1 คน 
  • สส.ที่สมาชิกสภาฯ เลือก 2 คน แบ่งเป็นพรรคการเมืองที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน 1 คน และพรรคการเมืองที่มีสมาชิก สส.มากที่สุดที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน 1 คน
  • เลขาธิการสภาฯ 1 คน
  • ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 1 คน 
  • อดีตตุลาการ/ตุลาการในศาลปกครอง 1 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
  • พนักงานอัยการ/อดีตพนักงานอัยการ ซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการอัยการ 1 คน 

โดยสรุปแล้ว นอกจากจำนวนสมาชิก ความแตกต่างของ 2 คณะกรรมการนี้จะอยู่ที่ฉบับประชาชน จะมีสัดส่วนสมาชิกจากตัวผู้ถูกดำเนินคดี และสมาชิกจากองค์กรภาคประชาสังคม ขณะที่ฉบับพรรคก้าวไกล จะมีสัดส่วนสมาชิกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วม อาทิ ผู้พิพากษา ตุลาการศาลปกครอง พนักงานอัยการ และอื่นๆ

หลักเกณฑ์คดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

โดยหลักเกณฑ์คดีที่จะได้รับการพิจารณาคดีการเมืองตามกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชน คือ คดีที่เกิดจากการกระทำด้วยวาจาหรือโฆษณา เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ, การป้องกันตน, การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ที่อาจจะกระทบต่อชีวิต ร่างกาย, อนามัย, เสรีภาพ, ทรัพย์สิน, ชื่อเสียง หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น โดยการกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง

ขณะที่ฉบับก้าวไกล ระบุว่าคดีที่ได้รับการพิจารณาจะเป็นทุกคดี ยกเว้น คดีที่ไม่เข้าข่ายการพิจารณา ซึ่งจะกล่าวต่อไป

คดีไม่เข้าข่ายการได้รับพิจารณานิรโทษกรรมโดยคณะกรรมการฯ

ฉบับประชาชน มีการระบุเพียงแค่ 2 คดี ที่ไม่ได้รับการพิจารณานิรโทษกรรม ประกอบด้วย

  1. มาตรา 113 ล้มล้างการปกครอง
  2. เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหากเป็นการกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ

ฉบับก้าวไกล มีระบุถึง 3 คดีความที่ไม่ได้รับการพิจารณานิรโทษกรรม ประกอบด้วย

  1. มาตรา 113 ล้มล้างการปกครอง
  2. เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหากเป็นการกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ
  3. ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นจะกระทำโดยประมาท

ระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการ 

สำหรับระยะเวลาทำงานของคณะกรรมการของฉบับก้าวไกล และฉบับประชาชน มีระยะเวลาเท่ากันคือ 2 ปี แต่ในส่วนของฉบับก้าวไกล จะให้ต่ออายุทำงานได้ 2 ครั้ง ไม่เกิน 180 วัน ขณะที่ของฉบับประชาชน คณะกรรมการฯ จะดำเนินการภายใน 2 ปี ต่ออายุได้ไม่เกิน 1 ปี นอกจากนี้ ฉบับประชาชนระบุด้วยว่า กรณีที่คณะกรรมการฯ พิจารณาคดียังไม่เสร็จสิ้น จะส่งให้ศาลยุติธรรมพิจารณาต่อ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net