Skip to main content
sharethis

กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเตรียมเชิญอดีตแกนนำ 5 กลุ่มการเมืองให้ข้อมูล 14 มี.ค. นี้ย้ำใช้เหตุการณ์และแรงจูงใจทางการเมืองเป็นตัวตั้ง ขณะที่ยังไม่มีการหารือจะรวมความผิด ม. 112 หรือไม่

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ว่านายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ที่ประชุมมีมติจะเชิญบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องขอทราบรายละเอียดว่าเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เพราะอะไรและขณะนี้คดีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว โดยจะเชิญเข้าให้ข้อมูลในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม นี้ ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มคณะราษฎร และ ตัวแทนจากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อขอทราบความเห็น และรับทราบเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองว่ามีเป้าหมาย มูลเหตุทางการเมืองอย่างไร เพื่อมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
          
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่จะนำมาพิจารณานั้นจะเริ่มนับจากวันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่าเป็นการพิจารณาเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงดังกล่าว และจะไปดูการกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นว่ามีการกระทำอะไรบ้าง โดยจะนำเหตุการณ์เป็นตัวตั้งเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวบ่งบอกความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นแรงจูงใจทางการเมืองโดยมอบให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธานอนุกรรมธิการฯ ไปพิจารณารวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาในวันพฤหัสบดีถัดไป จากนั้นจะลงรายละเอียดในการพิจารณา
          
ด้านนายนิกร กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อมูล 5 หมื่นกว่ากรณี นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นต้นมา ซึ่งได้ส่งหนังสือถึงศาล ยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลทหาร เพื่อขอข้อมูลมาเรียบเรียงและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีอยู่ เพื่อพิจารณาดูความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจและนำสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
          
เมื่อถามว่าจะมีการพิจารณา กรณีที่เกิดขึ้นว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไรนั้น นายนิกร กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รวบรวมคดีที่เกิดจากมูลเหตุแรงจูงใจทางการเมือง โดยจะดูว่าแต่ละคดีมีที่มาที่ไปและแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไร เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. มีแรงจูงใจที่ต่างกันในแต่ละช่วง โดยจะมาดูว่าเกิดจากแรงจูงใจหรือไม่อย่างไร ก่อนจะสรุปและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
          
ส่วนกรณีใดที่จะไม่เข้าข่ายให้พิจารณานั้น นายนิกร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณา โดยจะดูคดีก่อนว่ามีอย่างไรบ้าง สิ่งสำคัญที่จะต้องหานิยามว่ามูลเหตุที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เมื่อถามว่ารวมถึงมาตรา 112 หรือไม่นั้น ยังไม่มีการพิจารณาถึงตรงนั้น โดยจะดูเหตุการณ์เป็นตัวกำหนด เช่น เมื่อปี 2548 มีเหตุการณ์ใดบ้างที่มีมูลเหตุทางการเมือง เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ฯ ที่มีคดีจำนวนมาก ซึ่งคดีเหล่านั้นมีบทนิยามว่าเคลื่อนไหวโดยคดี เพราะมีมูลเหตุทางการเมือง การเคลื่อนไหวกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 เพื่อต่อต้านการรัฐประหารที่เห็นได้ชัดเจนว่าถูกดำเนินคดี ท้ายที่สุดหากนำเหตุการณ์เป็นตัวตั้งก็จะรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคดีและมูลเหตุอะไรบ้าง ดังนั้น จะต้องนำเหตุการณ์มาดูในเบื้องต้น ซึ่งจะบอกเองว่าเวลาเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะทำอะไร โดยจะไม่นำบุคคลมาเป็นตัวตั้ง จะพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net