Skip to main content
sharethis

ในการประชุมซัมมิทของผู้นำจีน-สหรัฐฯ ครั้งล่าสุดมีการหารือกันที่แสดงให้เห็นท่าทีประนีประนอมและมีความคืบหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงย้ำจุดยืนเดิมในประเด็นไต้หวัน ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าในขณะที่ประเด็นนี้ยังอ่อนไหวต่อทั้งสองชาติ มันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างสองชาติมหาอำนาจนี้หรือไม่ อย่างไร

ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 แห่งในโลกคือสหรัฐฯ และจีน เดินออกจากห้องประชุมสุดยอดผู้นำระดับสูงด้วยน้ำเสียงที่ประนีประนอมและสื่อถึงพันธกิจที่ต้องการจะทำการแข่งขันทางเศรษฐกิจในแบบที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองชาติ แต่อย่างไรก็ตาม มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ยังคงเป็นเสี้ยนหนามต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ นั้นคือประเทศไต้หวัน

เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมามีการพบปะกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และผู้นำจีน สีจิ้นผิง ซึ่งเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลายก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะทำให้ประเด็นเรื่องไต้หวันมีความคืบหน้าเป็นเรื่องเป็นราว แต่อย่างน้อยก็มีการนำเรื่องไต้หวันมาขึ้นโต๊ะหารือ โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังคงแสดงท่าทีในแบบเดิมต่อประเด็นนี้

ไบเดนกล่าวย้ำว่า ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะเห็นชอบกับนโยบาย "จีนหนึ่งเดียว" แต่พวกเขาก็ยังคงมีจุดยืนแบบเดิมคือมองว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีอธิปไตยของตัวเอง ซึ่งจีนจะอ้างไปในทางตรงกันข้าม

ทางฝ่าย สีจิ้นผิง กลับเรียกร้องให้สหรัฐฯ มีการกระทำที่ดูหนักแน่นกว่านี้ในการที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้กำลังสนับสนุน "เอกราชของไต้หวัน" ผู้นำจีนยังได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ เลิกติดอาวุธให้ไต้หวัน และสนับสนุนสิ่งที่จีนอ้างว่าเป็น "การกลับมารวมชาติระหว่างไต้หวันและจีน"  ด้วย

"จีนจะต้องทำให้การกลับมารวมชาติ(กับไต้หวัน)เป็นจริงให้จงได้ และนี่เป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้" สีจิ้นผิงประกาศในที่ประชุมซัมมิท

ถึงแม้ว่าทั้งสองชาติมหาอำนาจจะแสดงออกถึงจุดยืนที่ต่างกันในประเด็นของไต้หวันในที่ประชุมซัมมิท แต่พวกเขาก็ตกลงกันได้ในประเด็นอื่นๆ เมื่อการประชุมจบลง เช่นประเด็นเรื่องการหารือเกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์, การตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาเฟนทานิลเกินขนาด (ซึ่งในไทยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด) และการทำให้มีการสื่อสารกันในระดับสูงของกองทัพสองทั้งประเทศอีกครั้ง

ปมขัดแย้งไต้หวัน

ไต้หวันเป็นประเทศเกาะที่ปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ประเด็นเกี่ยวกับเอกราชไต้หวันกลายเป็นประเด็นที่เสี่ยงต่อการปะทุเป็นความรุนแรงในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความตึงเครียดต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ

สองมหาอำนาจต่างก็โต้เถียงกันเรื่องไต้หวันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ของสหรัฐฯ คือรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนจีนก็กล่าวอ้างหลายครั้งว่าพวกเขาอาจจะจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อ "ยึดคืน" ไต้หวันถ้าหากจำเป็น

การยกระดับความขัดแย้งทางการทูตบวกกับการที่จีนเน้นมองกลับเข้าไปภายในประเทศตัวเองมากขึ้นรวมถึงบรรยากาศแบบที่จำกัดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ และการที่จีนใช้อำนาจยึดกุมฮ่องกงได้มากขึ้นนั้น ทำให้ทุนพากันไหลออกจากจีน

อลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ธนาคารการลงทุนสัญชาติฝรั่งเศส นัตติซิส กล่าวว่า "ประเด็นไต้หวันเป็นส่วนที่สำคัญในการประชุมซัมมิท"

การ์เซีย-เฮอร์เรโร บอกว่า "คำปราศรัยที่บรรจงร่างออกมาอย่างดีของสีจิ้นผิงในช่วงที่มีการประชุมซัมมิททางธุรกิจนั้นมีความสำคัญมาก มันแสดงให้เห็นว่าจีนจะไม่ทำสงครามเย็นใดๆ หรือแสดงให้เห็นว่าจีนไม่ได้ต้องการให้มีการสู้รบ"

"...ฉันคิดว่า จีนรู้ดีว่าประเด็นไต้หวันนั้นเป็นวาระที่มีความสำคัญสูงสุดในสายตาของกลุ่มผู้บริหารธุรกิจ แล้วความเสี่ยงจากประเด็นนี้เองได้กลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ว่า ทำไมนักลงทุนบางส่วนถึงไม่ลงทุนทั้งในไต้หวันหรือในจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นแล้วฉันจึงคิดว่ามัน(คำแถลงของจีน)เป็นคำแถลงที่ใหญ่โตมาก" การ์เซีย-เฮอร์เรโร กล่าว

"การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ"

ในช่วงเย็นของการประชุมซัมมิทกลางเดือน พ.ย. กับไบเดน สีจิ้นผิงได้พูดปราศรัยในห้องที่เต็มไปด้วยกลุ่มผู้นำทางธุรกิจในซานฟรานซิสโก โดยเรียกร้องให้มี "การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ" ให้เป็นพื้นฐานขั้นแรกต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ต้องรักษาไว้ในฐานะสองชาติมหาอำนาจ

ศีจิ้นผิงเน้นย้ำว่า จีนจะไม่ขัดแข้งขัดขาสหรัฐฯ หรือแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐฯ "และเช่นเดียวกันคือ สหรัฐฯ ไม่ควรจะขัดแข้งขัดขาจีนหรือแทรกแซงกิจการภายในของจีน"

สีกล่าวอีกว่า "การรุกรานและการขยายอาณาเขตอำนาจนั้นไม่ได้อยู่ในยีนส์ของพวกเรา"

คำพูดของสีจิ้นผิงจะช่วยลดความตึงเครียดในคาบสมุทรไต้หวันได้มากแค่ไหน และจะช่วยลดความตึงเครียดในระดับความขัดแย้งทะเลจีนใต้ไปด้วยมากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์จะต้องจับตามองต่อไป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านไต้หวันอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรสำคัญกับสหรัฐฯ จะต้องจับตามองเรื่องนี้ต่อไปด้วยเพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อพวกเขา

ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เกิดคำถามที่ว่าคำพูดของสีจิ้นผิงจะสามารถกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้นำเงินลงทุนก้อนใหม่ไปลงที่จีนได้หรือไม่

ประเทศสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็เคยแสดงการต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคามจากจีน ในตอนที่จีนทำการซ้อมรบรอบๆ ไต้หวันเพื่อแสดงออกว่าพวกเขามีอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศไต้หวัน กองเรือจีนยังทำการซ้อมรบในแบบรุกล้ำทะเลจีนใต้ในตอนที่มีข้อพิพาทน่านน้ำกับฟิลิปปินส์ด้วย

ข้อพิพาทระหว่างสองมหาอำนาจในเรื่องไต้หวันนั้น เคยทำให้จีนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่ แนนซี เปโลซี เดินทางเยือนไต้หวันในตอนที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกสภาผู้แทนสหรัฐฯ เมื่อเดือน ส.ค. 2565

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น จีนก็โต้ตอบด้วยการระงับช่องทางการสื่อสารทางการทหารกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพราะช่องทางการสื่อสารนี้เป็นหนทางสุดท้ายที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากันทางการทหารในแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ

Zhang Baohui ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยหลิงหนานในฮ่องกงกล่าวว่า ถึงแม้ว่าการกลับมาเปิดช่องทางสื่อสารทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอีกครั้งนั้น มันจะไม่ได้ส่งผลอะไรมากต่อประเด็นไต้หวัน แต่มันก็ยังคงนับเป็นสิ่งที่ช่วยคงเสถียรภาพต่อความสัมพันธ์ความเสี่ยงสูงของทั้งสองประเทศ

Zhang บอกว่า "การที่สหรัฐฯ สามารถบรรลุเป้าหมายในการเปิดช่องทางการสื่อสารทางการทหารและสร้างความร่วมมือกับจีนได้อีกครั้งในขณะที่จีนก็บรรลุเป้าหมายเรื่องการสร้างเสถียรภาพกับคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ เป็นสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้อะไรๆ แย่ลงไปกว่าเดิม"

Zhang บอกอีกว่า เขาคิดว่าผลลัพธ์จะเป็นบวกต่อทั้งสองประเทศ ทั้งสองประเทศจะมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นจากการที่คนมองว่าพวกเขาร่วมมือกันในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของโลก

ในแง่การเงินเป็นอย่างไรบ้าง

ในแง่การเงินและธุรกิจ กลุ่มนักลงทุนกำลังอยู่ในท่าทีรอดูต่อไปว่า การประชุมซัมมิทระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือสหรัฐฯ ไม่ได้ยกเลิกการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ระดับสูง (วัตถุดิบที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเรื่องนี้จีนได้พูดถึงตอนประชุมซัมมิท และได้วิพากษ์วิจารณ์อเมริกันว่าพยายามจะปฏิเสธไม่ให้ประชาชนจีน "มีสิทธิที่จะพัฒนา"

บร็อค ซิลเวอร์ส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของไคหยวน แคปิตอล กล่าวว่า "การประชุมซัมมิทจะส่งผลลัพธ์ในระยะยาวต่อตลาดการเงินเพียงเล็กน้อย สีจิ้นผิงเคยได้รับการตอบรับทางบวกอย่างมากจากกลุ่มผู้นำทางธุรกิจมาก่อน แต่ในครั้งนี้ เหมือนเขาแค่เทศนาในสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว"

ซิลเวอร์ส บอกอีกว่า มีการพูดคุยและตกลงกันน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เหล่านักลงทุนหัวแข็งเชื่อว่าจีนจะแก้ปัญหาเรื่องการกดดันการลดค่าเงิน มีการปฏิรูปที่จำเป็น หรือมีการแก้ไขปัญหาเรื่องที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าลงทุนของนักลงทุน ทำให้จีนสามารถเปลี่ยนใจนักลงทุนได้น้อยมาก

แต่ การ์เซีย-เฮอร์เรโร ก็มองโลกในแง่ดีมากกว่า เธอมองว่าโดยรวมแล้วการประชุมระหว่างผู้นำจีน-สหรัฐฯ จะเป็นการส่งสัญญาณให้กลุ่มธุรกิจต่างชาติเล็งเห็นว่า "บางทีแล้วจีนอาจจะไม่ได้ถึงขั้นไม่น่าลงทุนด้วย"

การ์เซีย-เฮอร์เรโร ประเมินว่าจีนจะได้รับการลงทุนมากขึ้นหลังจากการประชุม ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีมาตรการอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะในเรื่องยกเลิกการควบคุมการส่งออกหรือยกเลิกภาษีนำเข้าศุลกากรก็ตาม แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าจีนมีความถ่อมตัวลงบ้างและเข้าใจว่าตัวเองกำลังเดินไปในทางที่ผิดในเรื่องการดึงดูดนักลงทุนถ้าหากว่าพวกเขายังคงแสดงออกในเชิงก้าวร้าวต่อไป

เจมส์ ดาวเนส ประธานโครงการการเมืองและรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงเมโทรโปลิแทนกล่าวว่า การประชุมซัมมิทจะส่งผลบวกต่อการวางรากฐานเริ่มต้นทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า

ดาวเนสบอกว่า ประเด็นไต้หวันนั้นเป็นปัญหาเชิงภูมิศาสตร์การเมืองระยะยาวที่มีความซับซ้อน มันจะดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายที่จะละเรื่องนี้ไว้ก่อนชั่วคราว แล้วกันมาเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และระบบปัญญาประดิษฐ์ แทนที่จะผลักดันจุดยืนในเรื่องไต้หวันของตัวเองไปข้างหน้า

ซึ่งดูเหมือนว่าจีนจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะแม้แต่สีจิ้นผิงก็ยอมรับว่าไต้หวันยังคงเป็น "ประเด็นที่สำคัญที่สุดเและมีความอ่อนไหวมากที่สุด" สำหรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน


เรียบเรียงจาก
Taiwan remains the ‘most sensitive’ issue in US-China relations, Benar News, 17-11-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
เฟนทานิล (Fentanyl), กองควบคุมยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net