Skip to main content
sharethis

ยูเอ็นออกแถลงการณ์ขอให้กลุ่มติดอาวุธในพม่าปฏิบัติต่อเชลยศึกตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมนานาชาติ หลังจากที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าเปิดฉากรุก และมีทหารกองทัพพม่าบางส่วนที่วางปืนยอมแพ้ ทางยูเอ็นระบุ ขอให้คำนึงว่านายทหารชั้นผู้น้อยเหล่านี้ไม่ใช่ตัวการหลักที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่กองทัพพม่าเป็นผู้ก่อ

 

23 พ.ย. 2566 สหประชาชาติ (UN) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธต่อต้านกองทัพพม่าโดยการนำของมินอ่องหล่าย ปฏิบัติต่อทหารพม่าที่ถูกจับเป็นเชลยศึกอย่างมีมนุษยธรรม

สำนักงานสหประชาชาติแถลงว่า ขณะนี้ยูเอ็นกำลังจับตามองเหตุการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิด ในช่วงที่มีการยกระดับการสู้รบมากขึ้นนับตั้งแต่ที่กองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่มเปิดฉากโจมตีกองทัพพม่าในตอนเหนือของประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เจเรมี ลอเรนซ์ โฆษกของสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ชี้ให้เห็นว่า มีรายงานเรื่องที่ทหารกองทัพพม่าหลายร้อยนายยอมวางอาวุธจากการสู้รบ โดยย้ำหลักการว่า "การโต้ตอบในเชิงแก้แค้นเป็นเรื่องต้องห้ามโดยสิ้นเชิง"

ลอเรนซ์กล่าวว่า "นายทหารระดับบุคคลไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยทั้งหมดต่ออาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กองทัพพม่าเป็นผู้ก่อ...มันเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนที่ถูกจับเป็นเชลยศึกจะต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม"

กองกำลังโกก้าง (MNDAA), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และ กองกำลังอาระกันอาร์มี (AA) ได้ร่วมกันเปิดฉากโจมตีใกล้กับชายแดนทางตอนเหนือของพม่าที่ติดกับจีนเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 โดยมีการสู้รบกับกองทัพพม่าที่เคยทำการรัฐประหารโค่นล้มผู้นำรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-18 พ.ย. 2566) กองกำลังอาระกันอาร์มีได้โจมตีกองทัพพม่าที่ทางตะวันตกของรัฐยะไข่ ในขณะที่กลุ่มนักรบต่อต้านกองทัพพม่าในรัฐกะยาที่มีพรมแดนติดกับไทยได้ทำการสู้รบกับกองทัพพม่าใกล้กับลอยกอเมืองหลวงของรัฐกะยา

รายงานที่ยูเอ็นอ้างถึงระบุว่า การสู้รบเหล่านี้ส่งผลให้พลเรือนอย่างน้อยถูกสังหาร 75 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ด้วย อีกทั้งยังส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 94 ราย

ลอเรนซ์กล่าวว่า "ท่ามกลางสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในภาคสนาม เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเคารพอย่างเคร่งครัดในกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติละกฎหมายมนุษยธรรมนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปกป้องพลเรือน...ผู้บัญชาการจะต้องทำให้แน่ใจว่าพลทหารติดอาวุธของพวกเขาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของพวกเขา"

ลอเรนซ์กล่าวอีกว่า ทางสำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็นมีความเป็นห่วงมากเป็นพิเศษต่อเรื่องการสู้รบครั้งใหม่ระหว่างกองทัพและอาระกันอาร์มีในรัฐยะไข่หลังจากที่มีการหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการเป็นเวลา 12 เดือน ลอเรนซ์เตือนว่าเรื่องนี้ "สร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อทั้งชาวยะไข่และชุมชนชาวโรฮิงญา"

"เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตแล้ว พวกเรามีความเป็นห่วงว่าถ้าหากกองทัพพม่าสูญเสียพื้นที่ในหลายแนวรบ พวกเขาก็จะโต้ตอบด้วยการใช้กำลังที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม" ลอเรนซ์ กล่าว

ลอเรนซ์เตือนให้ระวังอันตรายจากการที่กองทัพพม่าใช้ "การโจมตีทางอากาศและการทิ้งระเบิดอย่างไม่เลือกเป้าหมายและไม่ได้สัดส่วน" โดยชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็นได้ "บันทึกเรื่องผลกระทบรุนแรงต่อพลเรือนที่มาจากการใช้ยุทธวิธีแบบนี้"

ลอเรนซ์กล่าวอีกว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ยูเอ็นได้เรียกร้องขอให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศของยูเอ็นโดยเฉพาะประเทศที่มีอิทธิพลต่อฝ่ายต่างๆ ในการสู้รบในพม่า "ให้ทำการแทรกแซงอย่างเด็ดขาดด้วยความพยายามอย่างหนักแน่นที่จะยุติวิกฤตและปกป้องพลเรือน" นอกจากนี้ยังขอให้มีการกดดันมากขึ้นเพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่รัฐบาลพลเรือนตามระบอบผู้แทน

 

 

เรียบเรียงจาก

UN Urges Humane Treatment of Captured Myanmar Troops, The Irrawaddy, 18-11-2023

https://www.irrawaddy.com/news/burma/un-urges-humane-treatment-of-captured-myanmar-troops.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net