Skip to main content
sharethis

“เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” เปิดตัว “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ....” หวังนิรโทษฯ คดีการเมืองของทุกฝั่งฝ่าย นับตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมาจนกว่ากฎหมายจะถูกประกาศใช้ รวมนิรโทษกรรมคดีม.112 ไม่นิรโทษฯ เจ้าหน้าที่เพราะที่ผ่านมาก็ได้ไปจากรัฐธรรมนูญ 50 และ 60 อยู่แล้ว และการนิรโทษฯ นี้เป็นแค่ขั้นแรกของการลดความขัดแย้งทางการเมือง แต่กฎหมายไม่ถูกแก้ก็ยังอาจถูกดำเนินคดีได้อีก

19 พ.ย.2566 ที่ตึก All Rise (สำนักงาน iLaw) เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันขอองค์กรภาคประชาสังคม 13 องค์กร จัดเสวนาและแถลงข่าวเปิดตัว “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ....” หรือ “ร่างนิรโทษกรรมประชาชน” โดยมีเป้าหมายเพื่อลบล้างความผิดของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง หวังลดความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ระหว่างฝ่ายต่างๆ

อ่านร่างกฎหมายฉบับเต็มได้ที่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ....

(ซ้ายไปขวา) อานนท์ ชวาลาวัณย์,ภัทรานิษฐ์ เยาดำ และ พูนสุข พูนสุขเจริญ

อานนท์ ชวาลาวัณย์ จาก ilaw กล่าวว่าการเสนอครั้งนี้เนื่องจากองค์กรในเครือข่ายเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่การแสดงออกของประชาชนที่เป็นสิทธิตามปกติกลับโดนดำเนินคดีอาญาจากการแสดงออกทางการเมืองทั้งที่เสิทธิโดยชอบของเขา โดยนับตั้งแต่ 2548 เป็นต้นมาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยกลับถูกทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารถึงสองครั้งคือ 2549 และ 2557

ตัวแทนจาก iLaw กล่าวต่อว่าในการยึดอำนาจทั้งสองครั้งทหารก็อ้างเรื่องความแตกสามัคคีของคนในชาติมาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารแต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วคณะรัฐประหารกลับออกประกาศคำสั่งต่างๆ หรือใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการดำเนินคดีกับประชาชนเพื่อควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำให้การใช้สิทธิตามปกติของประชาชนกลายเป็นความผิดทางอาญา

นอกจากนั้นยังมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนมีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่เป็นระยะ เช่นเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2552-2553 กรณีที่แยกดินแดงในช่วงปี 2564 และการสลายการชุมนุมม็อบเอเปค 2565 แต่หลังเหตุการณ์เหล่านี้ยังมีผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีเพราะร่วมชุมนุมแต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังที่บางครั้งเป็นการทำเกินกว่าเหตุก็ไม่ได้มีการสอบสวนหรือเอาเจ้าหน้าที่มาลงโทษ มีผู้ต้องขังคดีการเมืองบางคนที่อยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่ยังเป็นรัฐบาลทหาร คสช.

อานนท์กล่าวอีกว่าแม้จะมีรัฐบาลใหม่แล้วและประกาศว่าจะนำประเทศออกจากความขัดแย้งโดยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งทางเครือข่ายเห็นว่าต่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วแต่ถ้าคนที่ถูกดำเนินคดีคดีของเขายังเดินหน้าต่อก็จะไม่ได้แก้ไขความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องเสนอทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้คดีของคนเหล่านี้จากทุกฝั่งฝ่ายยุติไป โดยนับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา

ตัวแทนจากไอลอว์กล่าวว่าเรื่องนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทยที่ผ่านมามีมาแล้ว 23 ครั้ง แต่ทุกครั้งไม่ได้เกิดจากการริเริ่มโดยประชาชนแต่เกิดจากผู้มีอำนาจ แต่ครั้งนี้เป็นการริเริ่มมาจากประชาชนและหวังว่าจะสามารถทำสำเร็จได้

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ จากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ชี้แจงว่าการนิรโทษกรรมในทางกฎหมายคือการออกกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ลืมความผิดที่ผ่านมาและให้ความกรุณาแก่คนที่กระทำความผิด การนิรโทษกรรมก็จะมีผลทางกฎหมายคือทำให้คนที่ถูกดำเนินคดีได้รับการยกเว้นความผิดยกเว้นโทษได้รับการปล่อยตัวหรือลบล้างประวัติอาชญากรรม

ภัทรานิษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในทางกฎหมายมหาชนคือการลืมในทางกฎหมายเป็นการลบความผิด แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการแก้หรือลบตัวบทกฎหมายที่มีอยู่เพราะฉะนั้นการจะนิรโทษกรรมจึงต้องใช้อย่างเคร่งครัด ในทางกฎหมายจึงต้องมีการกำหนดช่วงเวลา วัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรม ประเภทข้อหาหรือความผิด และรูปแบบของการนิรโทษกรรมที่จะออกมาเป็นกฎหมายระดับพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ และการนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ไม่ได้มีแค่เรื่องความผิดทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ร้ายแรง คดีที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่น คดีทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

ภัทรานิษฐ์ยังกล่าวอีกว่าในทางกฎหมายระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การนิรโทษกรรมรายบุคคลสามารถทำได้ การนิรโทษกรรมเราไมได้พูดถึงเรื่องนอกกฎหมายแต่อย่างใด แต่ได้รับรองสิทธิในการกระทำนี้ไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการเยียวยา สิทธิในการได้รับการเยียวยา คือการได้รับการเยียวยาจากรัฐ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิที่จะได้รู้ความจริงด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้อยู่ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การนิรโทษกรรมก็ไม่ได้ยกเว้นได้ทุกความผิด ในทางหลักการแล้วความผิด เช่น การฆ่าล้างเผาพันธุ์ การซ้อมทรมาน การบังคับสูญหายหรือการสังหารคนนอกระบบกฎหมาย ก็ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้

ภัทรานิษฐ์กล่าวว่าสถิติคดีทางการเมืองจำนวนมากไม่ได้มีแค่ผลกระทบที่เกิดกับคนที่ถูกดำเนินคดีอย่างเดียว แต่ทำให้เห็นว่าสถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐนิติธรรมอีกต่อไปโดยเฉพาะจะเห็นชัดในช่วงหลังการรัฐประหาร ดังนั้นการนิรโทษกรรมจึงเป็นการคืนสถานะเดิมให้แก่บุคคลและยังเปิดโอกาสให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ และสถาบันในกระบวนการยุติธรรมได้ฟื้นฟูกลับมาเป็นโครงสร้างที่ค้ำจุนความยุติธรรมในสังคมได้อย่างแท้จริงด้วย

ภัทรานิษฐ์กล่าวอีกว่าการนิรโทษกรรมยังเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่จะนำสังคมออกจากความขัดแย้ง การนิรโทษกรรมยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านด้วย หากทำได้ก็จะเป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งหรือทำให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ โดยกรอบของกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านก็ยังมีเรื่องที่รัฐสามารถทำได้อีกเช่นการแสวงหาความจริงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่ผ่านมาก็ต้องทำ การดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  การเยียวยาความเสียหาย และการรับประกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นอีกการจะทำแบบนี้ก็เช่นการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายด้วย

พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอธิบายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่าร่างกฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนเท่านั้น แล้วก็ยกเว้นการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ไว้เพราะว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่สมควรแก่เหตุก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้วนอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 อยู่แล้ว แต่เป็นประชาชนที่ไม่เคยได้รับการคุ้มครองและดูแลมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ กล่าวว่ากรอบระยะเวลาของการนิรโทษกรรมนี้จะนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้ถูกประกาศใช้ และไม่ได้คุ้มครองไปถึงเหตุในอนาคตซึ่งถ้าหากยังมีการกระทำความผิดตามกฎหมายหลังจากกฎหมายถูกใช้แล้วก็ยังถูกดำเนินคดีได้อีก

ส่วนความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการใดๆ เนื่องจากทางเครือข่ายเห็นว่าเป็นคดีตามความผิดเหล่านี้ชัดเจนว่าเป็นคดีทางการเมืองและไม่ควรเป็นความผิดตั้งแต่แรกโดยจะมีทั้งหมด 6 ประเภทคือ

  1. คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
  2. คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/57 และประกาศคณะรักษาความสงบฉบับที่ 38/57
  3. คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
  4. คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
  5. คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
  6. คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับ 1-5

พูนสุขระบุว่าอย่างไรก็ตามการกำหนดไว้แบบนี้ก็ไม่ใช่เช็คเปล่าที่จะให้ยกความผิดเหล่านี้ไปเลยเพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภาพิจารณาว่า 5 ฐานความผิดนี้เป็นคดีการเมืองหรือไม่

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ กล่าวถึงความผิดฐานอื่นๆ ว่าร่างกฎหมายนี้จะให้  “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” เป็นผู้พิจารณาถึงมูลเหตุจูงใจว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองหรือมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากกรอบระยะเวลาที่จะให้มีการนิรโทษกรรมตามกฎหมายนี้มีระยะเวลายาวนานกว่าสิบปีจึงต้องมีกรรมการขึ้นมาพิจารณา เพราะไม่สามารถกำหนดให้ความผิดทางอาญาบางอย่างเป็นคดีการเมืองได้เลยทันทีแต่ต้องดูแรงจูงใจทางการเมืองด้วย

พูนสุขอธิบายว่าผลของการนิรโทษกรรมนี้คือการทำให้คดีตามประเภทที่กำหนดไว้และคดีที่ผ่านการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ แล้วก็จะต้องถูกยกเลิกไปทั้งในชั้นสอบสวนของตำรวจ ชั้นอัยการ หรือชั้นศาลต้องถูกจำหน่ายออกจากสารบบไป เช่น ถ้ายังไม่ฟ้องก็ต้องไม่ฟ้อง ถ้ายังอยู่ในชั้นตำรวจก็ต้องมีการเพิกถอนหมายจับไม่แจ้งข้อกล่าวหา ถ้าอยู่ในชั้นศาลก็ถอนคำฟ้องออกเสมือนไม่มีคดีนั้นเกิดขึ้น รวมถึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรยกเลิกประวัติอาชญากรรมด้วย

พูนสุขอธิบายถึงสัดส่วนกรรมการของคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนดังนี้

  1. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน
  2. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
  3. ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
  4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองจำนวน 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
  5. ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการรัฐประหาร 2549 1 คน
  6. ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมช่วงปี 2552-2553 1 คน
  7. ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากช่วงการรัฐประหาร 2557-2563 1 คน
  8. ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมช่วงปี 2563-2566 1 คน
  9. ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน

สำหรับเรื่องขั้นตอนหลังจากการแถลงครั้งนี้ พูนสุขระบุว่าจะยังมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนเพิ่มโดยสามารถแสดงความเห็นได้ที่ แบบสอบถามความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. และหลังจากนั้นก็จะมีการเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในปี 2567 ซึ่งขอให้ติดตามกันต่อไปว่าจะยื่นในช่วงไหนของปี

พูนสุขตอบคำถามนักข่าวว่าสำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้เมื่อเทียบกับร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลแล้วไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่ของภาคประชาชนนี้มีการกำหนดฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้ว่าความผิดประเภทใดจะได้รับการนิรโทษกรรมไปเลย แต่ของพรรคก้าวไกลก็จะให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเป็นผู้พิจารณาทั้งหมดว่าคดีตามความผิดอะไรบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

แถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายผลักดันร่างนิรโทษกรรมประชาชน 

นับแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง และก่อให้เกิด ผลกระทบเป็นคดีทางการเมือง ทําให้มีประชาชนผู้ถูกดําเนินคดี บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจํานวนมาก ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก การสลายการชุมนุมกรณี เมื่อ พ.ค. 53 (สปช.) ระบุว่ามีประชาชนถูกดําเนินคดีด้วย พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ, พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, และคดีอาญาอื่นๆ เป็นจํานวนทั้งสิ้น 1,763 คน ในจํานวนนี้เป็นเยาวชน 167 คน คิดเป็น จํานวนคดี 1,381 คดี

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 มีพลเรือนที่ถูกดําเนินคดีในศาลทหารกว่า 2,400 ราย ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดําเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,930 คน ใน จํานวน 1,253 คดี ในจํานวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จํานวน 286 ราย ใน 216 คดี 

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และนักกิจกรรมที่ติดตาม และมีความเป็นห่วงต่อกรณีที่การแสดงออกทางการเมืองเป็นเหตุให้ประชาชนถูกดําเนินคดี และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2549 จึงเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมพ.ศ.... ต่อประชาชนเพื่อเริ่มต้นในการ แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยยืนยันว่า 

1. ประชาชนไม่ว่ากลุ่ม สังกัดหรือเสื้อสีใด สมควรได้รับการนิรโทษกรรมหากคดีดังกล่าวเป็นคดีทางการเมือง

2. คดีทุกประเภทมีโอกาสได้รับการนิรโทษกรรม รวมถึงคดีมาตรา 112 ที่เป็นหนึ่งในคดีทางการเมือง 

3. เราไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติพอสมควรแก่เหตุย่อมได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 อยู่แล้ว มีเพียงแต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เคยได้รับความคุ้มครองใดๆ 

4. คณะกรรมการในการพิจารณาคดีทางการเมืองต้องมีตัวแทนของประชาชนในการพิจารณา 

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอเรียกร้องให้รัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรครัฐบาล และพรรคก้าวไกล ที่มาจาก ประชาชนเดินหน้าผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมพ.ศ....และขอให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น และเข้าชื่อเสนอกฎหมายในโอกาสต่อไป 

 

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ศิลปะปลดแอก 

สหภาพคนทํางาน 

Ilaw 

ทะลุฟ้า 

ACT LAB 

WE WATCH 

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย 

Constitution Advocacy Alliance 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net