Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานครูแห่งประเทศญี่ปุ่น (JTU) รณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปฏิรูปสภาพการทำงานคนทำงานภาคการศึกษา ประกันความเป็นอยู่ที่ดีของครูและบุคลากรการศึกษา ปรับปรุงสภาพการทำงาน รวมถึงลงทุนให้กับภาคการศึกษามากขึ้น


ที่มาภาพ: Education International

ช่วงเดือน ต.ค. 2023 สหภาพแรงงานครูแห่งประเทศญี่ปุ่น (JTU) ได้เปิดตัวการรณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปฏิรูปสภาพการทำงานคนทำงานภาคการศึกษา โดยประกันความเป็นอยู่ที่ดีของครูและบุคลากรด้านการศึกษา ปรับปรุงสภาพการทำงาน รวมถึงลงทุนให้กับภาคการศึกษามากขึ้น

การรณรงค์ภายใต้แคมเปญ "วิกฤตโรงเรียน! ปฏิรูปสภาพการทำงานบุคลากรการศึกษา" (School Crisis! Reform Educators Working Conditions) ซึ่งเป็นแคมเปญระยะที่ 2 ของสหภาพแรงงาน JTU ได้เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาภาระงานที่มากเกินไปของครู ที่มีชั่วโมงทำงานยาวนานแต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มเติม 

การสำรวจล่าสุดของสหภาพแรงงาน JTU ในปี 2022 เผยให้เห็นว่าครูโรงเรียนประถมศึกษาทำงานโดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 31 นาทีในวันธรรมดา ส่วนครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทำงานถึง 11 ชั่วโมง 16 นาที และครูระดับมัธยมปลาย 9 ชั่วโมง 44 นาที สิ่งนี้นำไปสู่ปัญหาร้ายแรง เช่น การขาดแคลนครูทั่วประเทศ รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่ไม่มีแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพครู ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อระบบการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ

แม้ว่า "การสำรวจการสอนและการเรียนรู้ระหว่างประเทศ" (TALIS) ภายใต้ "องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา" (OECD) เมื่อปี 2014 ชี้ว่าครูในญี่ปุ่นทำงานชั่วโมงยาวนานที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD แต่ปัจุบันก็ยังไม่มีค่าทำงานล่วงเวลาสำหรับครูในโรงเรียนรัฐบาลของญี่ปุ่น

ในปี 2014 สหภาพแรงงาน JTU ได้เปิดตัวแคมเปญการปฏิรูปสภาพการทำงาน (ถือเป็นแคมเปญระยะแรก) เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลปรับปรุงสภาพการทำงานของบุคลากรทางการศึกษาและลดชั่วโมงทำงาน การรณรงค์ดังกล่าวส่งผลให้มีการแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในปี 2019 โดยจำกัดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาไว้ 45 ชั่วโมงต่อเดือน (360 ชั่วโมงต่อปี) สหภาพแรงงาน JTU ยังคงติดตามการดำเนินการตามกฎใหม่นี้ในโรงเรียน โดยแนะนำให้มีการจ่ายค่าล่วงเวลาเพื่อลดภาระงาน และรับรองความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากรทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงาน JTU ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลญี่ปุ่นล้มเหลวในการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิผลในระยะยาว เนื่องจากคาดว่าสภาไดเอทซึ่งเป็นหน่วยงานนิติบัญญัติของญี่ปุ่น จะหารือเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ในปี 2024 การรณรงค์ของสหภาพแรงงาน JTU จึงเข้าสู่ระยะที่ 2 "วิกฤตโรงเรียน! ปฏิรูปสภาพการทำงานบุคลากรการศึกษา" แคมเปญนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่สื่อมวลชน ผู้ปกครอง และประชาชนในวงกว้างโดยหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะ

คำแนะนำเร่งด่วน 7 ข้อ


ที่มาภาพ: Education International 

ในการประชุมสมัชชาแห่งชาติเมื่อเดือน ก.ค. 2023 สหภาพแรงงาน JTU ยังได้เปิดตัว "คำแนะนำเร่งด่วน 7 ข้อ" ได้แก่:

1. จัดเวลาให้ครูเตรียมตัวสอนอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถสอนบทเรียนที่เข้าใจแก่เด็กทุกคน

2. ลดขนาดชั้นเรียนให้มีขนาดเล็ก ในโรงเรียนทุกประเภท 

3. เพิ่มจำนวนครูและบุคลากรสนับสนุนการศึกษา รวมถึงที่ปรึกษาโรงเรียน เพื่อตอบสนองต่อเด็กทุกคนที่มีภูมิหลังหลากหลายแตกต่างกัน

4. ทบทวนและลดเนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาระดับชาติ 

5. ลดภาระงาน รวมทั้งจัดบุคลากรให้เพียงพอเพื่อต่อการสนับสนุนครูและบุคลากรด้านการศึกษารุ่นใหม่

6. ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ ควรแบ่งและจัดลำดับความสำคัญงานในโรงเรียนของครูทำ เพื่อให้ครูทำงานที่เน้นการสอน

7. ยกเลิกหรือทบทวนกฎหมายว่าด้วยมาตรการพิเศษเกี่ยวกับเงินเดือนของเจ้าหน้าที่การศึกษาของโรงเรียนรัฐ 

“เราไม่สามารถรออีกต่อไป สำหรับระบบโรงเรียนของรัฐที่ยั่งยืน สภาพการทำงานและเงินเดือนที่เหมาะสมสำหรับครู ตลอดจนการจัดงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการศึกษาสาธารณะ” สึคาสะ ทากิโมโตะ (Tsukasa Takimoto) ประธานสหภาพแรงงาน JTU เน้นย้ำ

ประธานสหภาพแรงงาน JTU ยังเรียกร้องให้ลดภาระงานของบุคลากรการศึกษา และมีการสรรหาครูและบุคลากรด้านการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานในภาคการศึกษาของญี่ปุ่น

“เนื่องจากพระราชบัญญัติมาตรการพิเศษเกี่ยวกับเงินเดือนและเงื่อนไขอื่น ๆ สำหรับบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับปี 1971 ได้ระบุถึง "ลักษณะพิเศษของงานครู" โดยอนุญาตให้ทำงานเป็นเวลานานและไม่มีเวลาหยุดพักได้ กฎหมายนี้จำเป็นต้องถูกยกเลิกหรือแก้ไขใหม่” ทากิโมโตะ กล่าวเสริม

“Go Public!" การรณรงค์ "เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา" ของ Education International 

 

 

แคมเปญและคำแนะนำของสหภาพแรงงาน JTU สอดคล้องกับการรณรงค์ “Go Public! ของ Education International เป็นอย่างยิ่ง โดยการรณรงค์นี้เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ลงทุนในภาคการศึกษามากขึ้น ซึ่งรวมถึงการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตบุคลากรด้านการศึกษา อันถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการบรรลุเป้าหมายศึกษาที่มีคุณภาพ


ภาพรถแห่สำหรับการรณรงค์ของสหภาพแรงงาน JTU ที่ติดตั้งลำโพงกำลังเคลื่อนไปตามถนนเส้นต่างๆ ในโตเกียว มีข้อความเป็นภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี และจีน

นับตั้งแต่เปิดตัวข้อแคมเปญและคำแนะนำ สหภาพแรงงาน JTU ได้ทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนบนท้องถนน รวบรวมประสบการณ์เลวร้ายที่โรงเรียนของบุคลากรด้านการศึกษา เผยแพร่ความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์ โดยทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานในเครือ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับชาติ


ที่มา:
Japan: Union-led ongoing campaign to demand a reform of educators’ working conditions (Education International, 12 October 2023)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net