Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์' สะท้อนนายกฯ ไม่ยุบ กอ.รมน. เป็นการคืนอำนาจให้ทหารโดยรัฐบาลเลือกตั้ง เสนอปัดฝุ่น 'Homeland Security' ยุคทักษิณเพื่อปรับโครงสร้างหน่วยความมั่นคงไทย เพราะต้องมองภาพหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด แค่ยุบ กอ.รมน.อย่างเดียวไม่พอ

1 พ.ย. 2566 ฝ่ายสื่อสารพรรคเป็นธรรมรายงานถึงความเห็นของ กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ต่อกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ออกมาปฏิเสธการยุบ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกล โดยเห็นว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินคาดของหลายๆคน

"มันสะท้อนให้เห็นชัดมากยิ่งขึ้นกับความยากลำบากที่การเมืองจะขจัดการแทรกแซงจากรัฐราชการ ที่มีหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะทหารยังคงมีบทบาทชักใยการทำงานการเมืองอยู่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคนที่สามารถชักใยได้ควรต้องเป็นประชาชนเท่านั้น ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลางของอำนาจสูงสุดของประเทศ และมติมหาชนส่วนมากคือตัวตัดสินใจว่าพี่น้องประชาชนต้องการอะไรในระบอบประชาธิปไตย"

กัณวีร์ เห็นว่า ท่าทีเช่นนี้เป็นการนำการเมืองกลับเข้ามาใต้ปีกรัฐราชการอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อต้นปี 2566 นี้ ที่มติมหาชนส่วนใหญ่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ทหารใช้กำลังยึดครองอำนาจทางการเมืองมากว่า 9 ปี แต่สุดท้ายผู้นำรัฐบาลพลเรือนอย่างเศรษฐา ทวีสิน กลับมอบอำนาจคืนให้กับทหารโดยเห็นได้จากนัยยะในการแถลงถึงการไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน.

อย่างไรก็ตาม กัณวีร์ มองว่า กอ.รมน. ไม่ได้เป็นปัญหาด้วยตัวเอง แต่เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในระบบกลไกความมั่นคงทั้งหมดของประเทศ ตนยังเชื่อว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ และแก้ไขปัญหาตามหลักการและเหตุผลที่พรรคก้าวไกลได้เสนอในการขอยุบ กอ.รมน. นั้น การยุบ กอ.รมน. เพียงหน่วยงานเดียวคงยังไม่พอ

"เราควรมองโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงทั้งระบบ และต้องแก้ทั้งโครงสร้าง เราคงไม่สามารถเสนอการแก้หรือการยุบแค่ทีละกลไกคงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะถูกตีตกไปเรื่อยๆ ที่เราเห็นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเสนอการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพ ปัจจุบันยังไม่คืบหน้า การปรับปรุงโครงสร้างตำรวจยังไม่ไปไหน คราวนี้เสนอการยุบ กอ.รมน. ตีตกไปอย่างไม่เหลือเยื่อใย"

กัณวีร์ เห็นว่า หากเสนอยุบ กอ.รมน.ต้องดูโครงสร้างให้ครบองคาพยพ เพราะมีอีกมากมายหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งระบบ ในสมัยที่เขาทำงานอยู่ สมช. ตอนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเคยมีความพยายามในการเสนอตั้งกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ' Homeland Security' คล้ายๆ กับของประเทศสหรัฐฯ จึงน่าจะเอามาปัดฝุ่นอีกสักครั้ง

สส.พรรคเป็นธรรมยังเสนอไปถึงการทำให้กองทัพทันสมัย โดยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดจำนวนกำลังพล และเพิ่มสวัสดิการต่างๆ อีกทั้งการบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยข่าวกรอง และกระชับลดช่องว่างระหว่างหน่วยปฏิบัติและหน่วยนโยบายระดับชาติด้านความมั่นคง ฯลฯ

กัณวีร์ ยกเรื่องที่เศรษฐากล่าว่าจะไม่ยุบ กอ.รมน. นั้นเขาคิดว่าน่าจะมีการเสนอญัตติการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงทั้งระบบของไทย โดยเขาจะเอาข้อเสนอเรื่อง Homeland Security กลับมา รวมถึงข้อเสนอการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงทั้งระบบอีกครั้ง มาเสนอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้าและไม่อยากให้กลับไปอยู่ใต้ปีกรัฐราชการ

กัณวีร์ ยังได้ย้ำว่า 'มนุษยธรรมต้องนำการเมือง' ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ แล้วประเทศชาติจะสามารถเดินหน้าได้อย่างสง่าผ่าเผย หากสร้างระบบการเมืองที่ดีได้ก็จะไม่อิงต่อตัวบุคคลว่าต้องเป็นใครที่ขึ้นมาสู่อำนาจ คนที่ได้รับเลือกจากมติมหาชนส่วนใหญ่จะสามารถทำงานและนำพาประเทศไทยเดินหน้าไปได้ตามระบบที่ถูกสร้างให้ประชาชนคือเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเมืองต้องนำงานความมั่นคงให้ได้

กัณวีร์ เชื่อว่า การปิดสมัยประชุมสภาเดือนกว่า คงทำให้สามารถเตรียมข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น และเตรียมเสนอเรื่องนี้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net