Skip to main content
sharethis

กลุ่ม “ประชาชนปฏิรูประบบยุติธรรม” จัดเสวนานำเสนอปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในคดีประเภทต่างๆ ทั้งข้อหา ม.112 คดีแรงงาน และปัญหากระบวนการยุติธรรมที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ที่มีการยกเลิกสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนไทยที่ต้องมีเป็นเพียงเรื่องที่รัฐ “พึงทำ” เท่านั้น

29 ต.ค. 2566  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ กลุ่มประชาชนปฏิรูประบบยุติธรรม จัดเวทีเสวนา “จากปัญหาสู่ทางออกของระบบยุติธรรมไทย” ที่มีผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเช่น ผู้ต้องหา ทนายความทั้งในกลุ่มคดีการเมือง คดีอาญา และคดีแรงงาน  นักวิชาการ  นักกิจกรรม มาร่วมนำเสนอปัญหาของกระบวนการยุติธรรมและเสนอทางออก

ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ อดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นคนร่วมทำเว็บบล็อกเผยแพร่เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ เล่าว่าในวันที่เขาถูกดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ปี 2552 ยังเป็นช่วงที่ยังไม่มีใครรู้จักข้อหานี้มากนัก และนักโทษในเรือนจำเวลานั้นก็ไม่มีใครชอบคนโดนคดีข้อหานี้เขาได้รับรู้ว่ามีผู้ต้องขังรายอื่นที่ถูกผู้ต้องขังคดีอื่นเข้าทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังคดีม.112 ด้วยเพราะนักโทษส่วนใหญ่จะให้ความเคารพรักกับสถาบันกษัตริย์จากความคาดหวังที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

ณัฐมองว่าคนที่โดนข้อหาม.112 เองก็ไม่ได้มีทัศนคติไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ทุกคนตัวเขาเองก็เคยเป็นรอยัลลิสต์ เพียงแค่คนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองระดับในระดับหนึ่งแล้วและเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็เป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากเรื่องการเมือง เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มาจับกุมเขาก็มีทัศนคติแบบนี้ แต่ตัวเขาเองไม่ได้ไปสนใจเรื่องอื่นแล้วถึงมาโดนคดีที่เขาโดนเพราะเริ่มมาจากความสนใจเรื่องการเมือง เป็นเรื่องที่เวลานั้นเขารู้สึกลำบากใจมากที่เจอสถานการณ์แบบนี้

อย่างไรก็ตาม ณัฐถูกตัดสินจำคุกทั้งหมด 9 ปี แต่ศาลลดโทษจำคุกเหลือ 3 ปี 18 เดือนเนื่องจากเขารับสารภาพเพราะไม่เห็นทางสู้คดีได้ในเวลานั้นแล้วก็ไม่ได้มีตัวอย่างคดีให้ดูมากนักเนื่องจากตอนที่เขาถูกดำเนินคดีเป็นช่วงแรกๆ ที่มีการใช้ข้อหานี้และเป็นช่วงที่สถาบันกษัตริย์ยังคงมีความขลังอยู่มาแล้วตอนนั้นก็มีเพียง ดา ตอปิโด และสุวิชา ท่าค้อเท่านั้นที่โดนดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ก่อนเขา แต่ได้ออกมาเร็วกว่ากำหนดโทษของศาลเนื่องจากได้รับการลดโทษมาเรื่อยๆ ตามวาระวันสำคัญต่างๆ  

ณัฐเล่าว่าเวลานั้นเขารู้สึกรับกับสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำไม่ได้ เคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้งเหมือนกัน แต่เมื่อมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็ได้เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนวมากออกมาพูดเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกันมากขึ้นจากที่ในสมัยก่อนเขาคิดว่าจะไม่มีใครสนใจเรื่องพวกนี้ด้วย แต่ก็ได้เห็นด้วยว่านับตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมปี 53 มีคนโดนคดีเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้พูดเรื่องไม่เป็นเรื่องก็โดนคดีได้และคนที่โดนก็เด็กลงเรื่อยๆ เพราะรัฐจัดคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง การฟ้องร้องมันง่ายมากขึ้น แต่นัวนที่ตัวเขาเองโดนก็คิดว่าตัวเองบ้าไปคนเดียวที่พูดเรื่องนี้เพราะกระทั่งคนในเรือนจำก็คิดว่าเขาเป็นคนบ้า

ณัฐกล่าวด้วยว่าสำหรับเขาคิดว่าอากง หรืออำพล ตั้งนพกุล ที่โดนคดีด้วยข้อมาตรา 112 เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดและทำให้เห็นการเป็นรอยัลลิสต์อย่างอากงก็ยังเข้าคุกได้ และสุท้ายก็มาเสียชีวิตในเรือนจำทั้งที่เขาไม่ได้มีท่าทีเป็นพิษเป็นภัย และในปัจจุบันก็ยังได้เห็นคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ กล้าเอาชีวิตมาเสี่ยงกับเรื่องนี้ไปจนถึงต้องมีคนที่ต้องลี้ภัยออก แม้ด้านที่ดีก็คือได้เห็นเยาวชนมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้

อับดุลเลาะ เงาะ

อับดุลเลาะ เงาะ จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ(JASAD) เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการจับกุม ตรวจค้นประชาชนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของศาล ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนในปี 2547 ที่เริ่มด้วยการใช้กฎออัยการศึก และต่อมาในปี 2548 ก็มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมา  

อับดุลเลาะ กล่าวถึงปัญหาของการใช้กฎอัยการศึกที่ใช้มาอย่างยาวนั้นนี้ไม่ได้มีเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ในนั้นเลย แต่กลับถูกเอามาใช้กับคนสามจังหวัดชายแดนใต้เหมือนกับพวกเขาเป็นอริราชศัตรู โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมคนและควบคุมตัวตนไว้ได้เป็นเวลา 7 วัน สามารถเข้าตรวจค้นจับกุมตอนกลางคืนได้ แล้วเมื่อมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มเข้ามาก็ทำให้เจ้าหน้าที่คุมตัวผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้นได้อีก 30 วัน รวมแล้ว 37 วันโดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวคนได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาล ไม่มีทนายความ เกิดการซ้อมทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่นถูกเอาไฟช็อต หรือการใช้วอเตอร์บอร์ดดิ้ง กลายเป็นว่าสิทธิของคนที่เป็นผู้ต้องสงสัยแย่กว่าสิทธิของผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีแล้ว และถูกเอามาใช้เพื่อสอบสวนก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอื่นๆ อย่างการใช้หลักฐานจากการสอบสวนไปเป็นหลักฐานที่ใช้ในการขอให้ศาลออกหมายจับ เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดวัตถุประสงค์

ตัวแทนจาก JASAD กล่าวด้วยว่า จากเดิมที่พยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนลักษณะนี้ไม่สามารถนำมาใช้ในศาลได้และทำให้คดีจำนวนมากในช่วงแรกเมื่อเข้าสู่ศาลแล้วศาลก็พิพากษายกฟ้อง ภายหลังจากนั้นในปี 2551 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเพิ่มให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยการใช้กฎหมายพิเศษลักษณะนี้ได้หากเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญกับคดีให้ศาลใช้ดุลพินิจอย่างระมัดระวัง

อับดุลเลาะ กล่าวด้วยว่าทางเจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าการควบคุมตัวไปจะเป็นการเชิญไปคุยแต่สุดท้ายแล้วก็มีคดีตามมาทีหลังอย่างการใช้ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย และการประกันตัวก็ทำได้ยากเนื่องจากมีการเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวที่สูงถึง 500,000 บาท และภายหลังก็เพิ่มเป็น 800,000 บาท และการจะใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ประกันก็ยังต้องวางเงินสดจำนวน 10% ของหลักทรัพย์ไปด้วย นอกจากนั้นในช่วงหลังการใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ก็มีปัญหาอีกว่าศาลกำหนดให้ที่ดินในพื้นที่ที่ถูกกำหนดว่าเป็นพื้นที่สีแดงมีมูลค่าต่ำกว่าราคาขายด้วยซึ่งทำให้หลักทรัพย์ที่เป็นที่ดินศาลมองว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่น่าเชื่อถือก็ทำให้ไม่พอใช้ประกันตัว หรือต่อให้ศาลให้ประกันมาก็ต้องติดกำไล EM ไว้เพื่อติดตามตัว นอกจากนั้นชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมายในการต่อสู้คดีมากนักแม้ว่าภายหลังจะมีทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมเข้ามาช่วยเหลือบ้าง

นอกจากนั้นอับดุลเลาะยังเล่าอีกว่าคนที่ถูกควบคุมตัวไปแม้เจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวออกมาแล้ว แต่ก็ยังสามารถถูกจับกุมซ้ำๆ ได้อีกเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่แล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถติดตามจับกุมคนที่ก่อเหตุจริงๆ ได้ การที่คนในพื้นที่โดนคดีความมั่นคงไม่ได้ทำลายแค่อิสรภาพของพวกเขาเท่านั้นแต่ยังทำลายสุขภาพจิตของพวกเขาด้วยเพราะการคุมแยกจะเป็นการขังเดี่ยว 37 วัน พอพวกเขาได้รับการปล่อยตัวก็มีอาการทางจิตต้องไปพบจิตแพทย์กินยานอนหลับ ส่วนสินทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่ยึดไปอย่างโทรศัพท์มือถือก็มักจะไม่ได้คืน

อับดุลเลาะมองว่าอย่างน้อยการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ที่มีอยู่ตอนนี้แล้วกลับมาใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็เป็นทางออกหนึ่ง

สุรชัย ชินชัย

สุรชัย ชินชัย ทนายความในคดีของลุงพล มาร่วมเสวนาสะท้อนปัญหาระบบยุติธรรมของไทยในคดีอาญาที่ไม่ใช่คดีการการเมืองว่า ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมสำหรับคนจนถือเป็นความทุกข์อย่างยิ่งตัวเขาเองก็เกิดในป่าสงวนเข้าใจความยากจนนี้ ที่ดินไม่สามารถเอามาใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันได้ ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 การจับกุมตำรวจสามารถคุมตัวได้ 7 วันก่อนไปขอศาลทำให้คนโดนคดีแล้วก็ถูกเอาไปขังกันง่าย การจะประกันตัวของคนจนที่อยู่ในที่ดิน สปก. แบบเขาก็ทำให้ไม่มีหลักทรัพย์อะไรเอามาใช้ประกันตัวได้เลยหากเกิดคดีขึ้นมา และการซ้อมทรมานผู้ต้องหาก็มีกันมานานแล้วจนรัฐธรรมนูญ 2540 ได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้นมาบ้าง

สุรชัยได้เล่าถึงคดีที่เขาให้ความช่วยเหลืออยู่ในฐานะทนายความของลุงพล หรือ ไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล และ สมพร หลาบโพธิ์ หรือ ป้าแต๋น ในคดีการเสียชีวิตน้องชมพู่ที่เสียชีวิตบนภูเขา ซึ่งเขามองว่าคดีนี้ทั้งในแง่แรงจูงใจของจำเลยในคดีที่จะก่อเหตุฆาตกรรมก็ไม่มี พยานหลักฐานอย่างสารพันธุกรรมก็ไม่พบบนตัวผู้เสียชีวิต ไม่พบร่องรอยการทำร้ายร่างกายและการกระทำชำเรา  

อย่างไรก็ตาม สรุชัยมองว่าเมื่อเกิดเหตุเด็กตายบนภูเขาแบบนี้เริ่มจากเป็นผู้ต้องสงสัยจนหนึ่งปีผ่านไปก็กลายเป็นผู้ต้องหาจากการพบเส้นผมของลุงใกล้ศพและในรถ แล้วลุงพลก็ตกเป็นผู้ต้องหาทอดทิ้งเด็ก และเจตนาฆ่าจากการพาเด็กไปทิ้งไว้ และมีการซ่อนเร้นอำพรางศพโดยมีการถอดเสื้อผ้าออก

ธนพร วิจันทร์

ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำเสนอประสบการณ์การถูกดำเนินคดีแรงงานว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาเกิดการเลิกจ้างคนงานเยอะมาก แต่โรงงานที่เธอทำงานอยู่กลับอาศัยจังหวะนี้ในการเลิกจ้างเธอเพียงคนเดียวโดยอ้างเรื่องการระบาดของโรคเพราะเธอมองว่าในฐานะที่เป็นแกนนำสหภาพแรงงานและยังต่อสู้คดีแรงงานให้เพื่อนแรงงานโรงงานด้วย ทั้งที่ทำงานมากว่า 28 ปี เงินเดือนเพียง 16,900 บาท ดังนั้นการไล่ออกนี้เป็นเรื่องที่การระบาดของโรค หรือเพราะเป็นประธานสหภาพแรงงานกันแน่

นอกจากนั้นธนพรได้เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนที่เธอจะถูกเลิกจ้างด้วยว่าทางโรงงานมีกระบวนการบีบให้เธอทำงานในบริษัทไม่ได้ตั้งแต่มีการแจ้งย้ายฐานการผลิตจากสระบุรีไปปทุมธานี แต่เธอได้รับจดหมายแจ้งว่าไม่ต้องย้ายแล้วให้ทำงานที่สระบุรีต่อแต่ก็ตัดน้ำตัดไฟออฟฟิศแล้วให้ย้ายไปนั่งป้อมยามแทน มีการเอากล้องมาติดแล้วก็มายื่นข้อเรียกร้องกับเธอว่าจะเปลี่ยนสภาพการจ้างงานโดยที่เธอไม่ยอม แล้วสุดท้ายทางโรงงานถึงจะเลิกจ้าง จึงทำให้เธอตัดสินใจไปฟ้องศาลแรงงานว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ธนพรเล่าว่าเมื่อเข้ากระบวนการศาลแรงงานเป็นระบบไกล่เกลี่ย หลายครั้งก็เห็นว่าการไกล่เกลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานในกฎหมาย ทั้งศาลและผู้ไกล่เกลี่ยก็มาบอกให้ยอมคดีดีกว่าแทนที่จะเสียเวลาในการทำมาหากินทำให้การไกล่เกลี่ยไม่เป็นไปตามกฎหมายเธอก็ไม่ยอมก็เลยมีการสืบพยานกันแล้วก็มีการกำหนดประเด็นสืบคือเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งทางนายจ้างก็อ้างว่าเธอเป็นปฏิปักษ์กับบริษัท ซึ่งนายจ้างมองว่าสหภาพแรงงานเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งคคดีก็ยืดเยื้อออกมากว่าจะมีคำพิพากษาออกมาตอนปีหกห้า

คำร้องของแกนนำแรงงานคือขอให้ศาลสั่งโรงงานรับเธอกลับเข้าทำงาน แม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมาว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมก็จริง แต่มาสั่งโดยคิดแทนว่าเธอจะไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้แล้วเพราะมีปัญหากับนายจ้าง จึงสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแทน เธอก็อุทธรณ์เรื่องนี้ศาลก็ยังพิพากษายืนตามศาลต้น จนสู้ถึงฎีกาก็ไม่รับพิจารณา ซึ่งเธอเห็นว่าศาลมองแต่เรื่องทางเศรษฐกิจไม่ได้มองเรื่องสิทธิของลูกจ้าง แล้วเธอเองก็อายุ 50 แล้วการถูกให้ออกแบบนี้ก็ไม่สามารถหางานได้แล้ว นอกจากนั้นการสั่งจ่ายที่ต้องจ่ายตามอายุงาน 28 ปี จะต้องจ่ายตามเรทเงินเดือน 28 เดือนประมาณ 4 แสนกว่าบาท แต่ศาลก็ยังสั่งจ่ายแค่ครึ่งหนึ่งของกฎหมายทำให้ได้เงินกลับมาแค่ 2 แสนกว่าบาท

นอกจากนั้นธนพรยังมองว่ากฎหมายแรงงานที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็เป็นกฎหมายที่ออกมาปี 2543 ซึ่งไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในเวลานี้และด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และนายจ้างก็พยายามใช้กลไกของศาลมาจัดการสหภาพแรงงานและทำลายการรวมตัวของสหภาพ เมื่อเลิกจ้างผู้นำออกไปแล้วคนที่เหลือในโรงงานก็ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาทำสหภาพอีกเพราะกลัวถูกเลิกจ้างไปด้วย ทำให้กลายเป็นต้นทุนในการสู้ของลูกจ้าง แล้วบางโรงงานต่อให้ศาลสั่งให้เอากลับแล้วแต่โรงงานก็ไม่ให้กลับเข้าไปทำงานจ่ายแต่เงินเดือนแทน ซึ่งคนเป็นแรงงานก็มีศักดิ์ศรีที่เมื่อเป็นแรงงานแล้วก็ต้องได้ทำงาน หรือบางที่ก็ส่งแกนนำไปอบรมต่างๆ แทน ซึ่งกระบวนการแบบนี้ของกระบวนการยุติธรรมเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน คนก็กลัวที่จะเข้าร่วมกับสหภาพ

นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร

นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กล่าวถึงปัญหาเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องการประกันตัวที่ตอนนี้เหมือนศาลมีการตัดสินไปแล้วว่านักกิจกรรมที่ไม่ได้ประกันตัว ซึ่งขัดหลักการเรื่องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ซึ่งเป็นหลักที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับ แล้วก็ยังเป็นหลักสากลด้วย แต่คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลแบบนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือสิทธิเพื่อจำกัดสิทธิและกดประชาชนให้ต่ำโดยที่ไม่สามารถต้านทานได้

นันทวัฒน์ชี้ว่ารัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยจะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพ เหมือนเป็นเครื่องมือที่จะประชาชนจะใช้ยันกับรัฐที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 40 มีเครื่องมือแบบนี้อยู่อย่างสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในหมวดเรื่องศาลที่ให้ประชาชนจะต้องได้รับสิทธิการพิจารณาคดีที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม และสิทธิในการสู้คดี เช่น สิทธิในการมีทนายความฟังในการสอบสวน สิทธิที่จะขอคัดเอกสาร ขอทนายความจากรัฐ หรือสิทธิในการไม่ให้การที่จะเป็นปฏิปักษ์แก่ตน เป็นต้น ส่วนในปี 50 ไปก็มีการย้ายสิทธิลักษณะเดียวกันนี้ไปอยู่ในหมวดสิทธิของปวงชนชาวไทย

ทั้งนี้ในฉบับ 60 สิทธิเหล่านี้หายไปบางส่วน บางเรื่องถูกเปลี่ยนจากสิทธิของประชาชนให้กลายเป็นแนวโนยบายของรัฐที่พึ่งจะทำหรือไม่ก็ได้ เช่นเรื่อง รัฐพึงกระทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้รวดเร็วและไม่เสียยค่าใช้จ่ายเกินสมควร จะเห็นว่าสิ่งที่เหลืออยู่ก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็นสิทธิได้เต็มที่ แม้แต่เรื่องสิทธิในการได้รับการสันนาฐานไว้ก่อนเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือการคุมขังก็สามารถทำได้เพื่อป้องกันการหลบหนี จะเห็นว่าสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในรัฐธรรมนูญต่ำลงเรื่อยๆ แทนที่ประชาชนจะได้รับสิทธิแต่กลับเป็นว่าประชาชนถูกทำให้เปลือยเปล่าไม่มีอาวุธ ไม่มีเครื่องมือสำหรับยันกับรัฐหรือศาล  

นันทวัฒน์กล่าวว่านับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับ 60 การเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาจะได้เห็นว่าศาลมีการใช้อำนาจที่มากขึ้นทั้งการปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราว การเพิ่มเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เป็นการจำกัดสิทธิเช่น ห้ามใช้สิทธิเสรีภาพในลักษณะเดียวกับที่จำเลยถูกดำเนินคดี ไปจนถึงมีการตัดสินความผิดล่วงหน้าไปแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดในการปฏิเสธในการปล่อยตัวชั่วคราว

ตัวแทนจาก ครช. ชี้ว่า ศาลไม่มีความผูกพันกับประชาชนอีกแล้ว แม้ว่าศาลหรือนักกฎหมายต่างๆ จะบอกว่ามีการย้ายสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในรัฐธรรมนูญไปอยู่ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแทนแล้ว แต่เมื่อกฎหมายสูงสุดที่รับรองตั้งแต่ศักดิศรีความเป็นมนุษย์ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไปแล้วประชาชนจะเหลืออะไรอ้างยันกับศาล แล้วกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยให้การรับรองหรือลงนามรับไว้ก็ไม่ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนใช้อ้างยันกับรัฐได้ ที่สุดท้ายแล้วศาลก็เมินเฉยคุณค่าสากลเหล่านี้เพราะศาลก็คงมองว่าไม่ได้ถูกเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ใช้แต่กฎหมายภายใน

นันทวัฒน์กล่าวอีกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดควรจะมีรากฐานที่มีการรับรองเจ้าของอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเอาอำนาจสูงสุดไปให้ชนชั้นนำเพื่อให้คนที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร และยังได้รับโอกาสที่จะได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะทำให้พวกเขามีอำนาจและยังมีแรงจูงใจที่จะครอบงำประชาชนด้วยเช่นการจำกัดสิทธิเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดี

นันทวัฒน์ยังได้กล่าวถึงสภาพการพิจารณาคดีในศาลที่บุคลากรของศาลแสดงอำนาจผ่านการกระทำต่างๆ เช่นห้ามใส่รองเท้าแตะเข้าห้อง ห้ามทนายความผู้หญิงใส่กางเกง ที่การจำกัดสิทธิเหล่านี้เกิดขึ้นในสถาบันตุลาการที่บุคคลเหล่านี้พร้อมจะใช้อำนาจกับใครก็ได้เพื่อให้คนเคารพยำเกรง คนในองค์กรตุลาการต่างถูกสอนให้ใช้อำนาจไปตามกฎหมายอย่างไม่ต้องลังเลสงสัย และหากเรื่องไหนไม่มีหลักเกณฑ์อยู่ก็ให้สร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ผ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็เอาไปสอนนักเรียนกฎหมายที่จะเข้าสู่องค์กรตุลาการโดยไม่ต้องสนใจสังคม และยังเกลียดกลัวสิทธิเสรีภาพเพราะคิดว่าจะสร้างความโกลาหลเป็นความวุ่นวาย องค์กรศาลที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจึงมีบทบาทที่จะดำเนินกระบวนการพิจารณาไปแบบไหนด้วย และศาลก็ยังมีข้อหาละเมิดอำนาจในการจัดการกับคนที่ศาลมองว่ามีการกระทำที่ศาลไม่ชอบใจ เมื่อคนคิดถึงศาลก็คิดถึงด้วยความกลัวเมื่อจะต้องไปศาล จะไปศาลก็ต้องทำตัวให้เรียบร้อยรองเท้าแตะก็ใส่ไม่ได้ เป็นทนายความหญิงก็ต้องใส่กระโปรง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของศาลในการรักษาระบบระเบียบแล้วประชาชนก็ไม่สามารถคัดค้านโต้เถียงได้เพราะศาลมีความชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและยังทำงานโดยพึ่งพิงกับชนชั้นนำผ่านการทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย

นันทวัฒน์กล่าวต่อไปว่าประชาชนยังถูกทำให้ไม่รู้กฎหมาย แล้วเอากฎหมายไปผูกไว้กับนักกฎหมายกลุ่มเดียว นักกฎหมายเองก็มีชนชั้น โดยศาลถูกถือว่าเป็นผู้บรรลุที่สุดในทางกฎหมาย แต่ประชาชนไม่มีทางเข้าถึงกฎหมายได้เพราะคนที่สามารถตีความกฎหมายได้มีเพียงแค่ศาล และยังเอาการตีความเหล่านี้มาเป็นศีลธรรมในการสั่งสอนจำเลยหรือแม้กระทั่งผู้เสียหาย เช่นในคดีที่ผู้หญิงเป็นผู้เสียหายจากคดีกระทำชำเราศาลก็มองว่าถ้าการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีการแสดงออกว่าไม่ยินยอมที่ชัดเจนศาลก็บอกว่าผู้เสียหายยอมไปกับผู้กระทำเอง ศาลได้ผูกขาดการตีความกฎหมายและถูกใช้ในการสั่งสอนประชาชนทั่วไป และประชาชนถูกมองว่าเป็นผู้ไม่รู้กฎหมาย รอศาลสั่งอย่างเดียว

นันทวัฒน์เสนอว่าควรกลับมานิยามรัฐธรรมนูญที่จากเดิมคือกฎหมายสูงสุดที่หมายถึงกฎหมายที่อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวงและเป็นแหล่งอ้างอิงของรัฐและก่อกำเนิดสถาบันทางการเมืองและการใช้อำนาจสูงสุดต่างๆ เป็นการพูดถึงรัฐธรรมนูญคืออำนาจสูงสุดของรัฐเป็นเรื่องห่างไกลที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่ถ้านิยามรัฐธรรมนูญใหม่ว่าเป็นกติการ่วมกันของประชาชนที่ประชาชนสามารถใช้รัฐธรรมนูญในการอ้างและยันกับรัฐได้ ประชาชนคือผู้ที่สามารถสั่งหรือบอกให้รัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพและใช้อำนาจภายในขอบเขตโดยคำนึงถึงประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และเมื่อการนิยามใหม่ให้กับรัฐธรรมนูญใหม่ได้แบบนี้ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมก็จะตามมาเพราะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นเครื่องมือของประชาชนในการยันกับรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net