Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' หารือเอกอัครราชทูตอิสราเอล เสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ขอความช่วยเหลือให้เกิดการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน และสนับสนุนภารกิจพาคนไทยทั้งหมดที่ต้องการกลับประเทศ - ขณะนี้แรงงานไทยแสดงเจตจำนงกลับไทยประมาณ 6,000 คน สามารถลำเลียงกลับได้วันละ 200 คน - 99% ของชาวต่างชาติได้ถูกอพยพออกจาก Red Zone แล้วแต่ยังเหลือในพื้นที่อื่นๆ ต้องดูต่อไป

13 ต.ค. 2566 เวลา 08.45 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Mrs. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วยความกังวล หวังว่าสถานการณ์กลับเป็นปกติในเร็ววัน และแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ไทยขอคัดค้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบโดยทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อส่งผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ รวมถึงคนไทย

เอกอัครราชทูตอิสราเอลฯ กล่าวว่ารัฐบาลอิสราเอลเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความสูญเสียเกิดแก่ผู้บริสุทธิ์ โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนไทย และผู้บริสุทธิ์ทุกคน พร้อมจะดูแลทุกคนที่อยู่ในประเทศอิสราเอลเหมือนเป็นพลเมืองของตนเอง แต่ขอให้เข้าใจว่าอิสราเอลเผชิญกับสงครามรูปแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างไรก็ดี ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือกับรัฐบาลไทย ท่ามกลางสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้อย่างดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ได้อพยพคนที่อยู่ในพื้นที่อันตรายออกมา 4 กิโลเมตรจากพื้นที่อันตราย

รัฐบาลไทยให้ความสําคัญสูงสุดในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยในอิสราเอล ซึ่งมีประมาณ 30,000 คน โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์และจัดแผนให้การช่วยเหลือคนไทย ขอบคุณฝ่ายอิสราเอลที่ให้การสนับสนุนคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และขอรับการสนับสนุนความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของคนไทยทุกคน

ตอนนี้มีคนไทย 16 คน ถูกลักพาตัว ซึ่งรัฐบาลห่วงกังวลต่อความปลอดภัยของคนไทยเหล่านี้ ขอให้รัฐบาลอิสราเอลให้ความช่วยเหลือเพื่อให้คนไทยทั้ง 16 คน ได้รับการปล่อยตัว รวมทั้งขอความสนับสนุนภารกิจการพาคนไทย ซึ่งลงทะเบียนเกือบ 6 พันคน ต้องการกลับบ้าน ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ขอให้เชื่อว่าจะร่วมมือทุกทาง ให้ความช่วยเหลือทุกทางที่ทำได้ เพื่อช่วยคนไทย และในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้นายจ้างชาวอิสราเอลดูแลลูกจ้างชาวไทยทุกคนอย่างดีด้วย

ต่อมา เวลา 09.10 น. นายเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการหารือ เอกอัครราชทูตอิสราเอลฯ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้เชิญ นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Mrs. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย มาพบเพื่ออัพเดทสถานการณ์ และร้องขอสำหรับความช่วยเหลือ ใน 4 ประเด็น

1. กรณีคนงานที่เสียชีวิต ขอให้นำส่งประเทศไทยโดยเร็ว ซึ่งเอกอัครราชทูตรับที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ต้องมีขั้นตอนในการชันสูตร ตรวจพิสูจน์ทราบ ซึ่งก็จะมีเรื่องการได้รับเงินช่วยเหลือทดแทน พร้อมย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด 

2. คนงานแสดงเจตจำนงกลับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 6,000 คน โดยสามารถลำเลียงกลับได้วันละ 200 คน ซึ่งความสำคัญคืออยู่ที่เครื่องบิน โดยจะมีการประชุมคณะทำงานเย็นนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยเอกอัครราชทูตฯ ให้ความมั่นใจถึงความสำคัญของรัฐบาลในการลำเลียงคนไทยกลับประเทศ

3. คนงานที่ถูกบังคับให้ทำงาน ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ รับทราบและจะหาข้อเท็จจริงให้ได้โดยเร็ว นายกรัฐมนตรีขอให้ลืมเรื่องผลประโยชน์ไปก่อน โดยให้ความสำคัญถึงความปลอดภัย ซึ่งสถานการณ์มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยไม่ได้มีส่วนในข้อพิพาท และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเป็นลำดับต้น 

4. เรื่องตัวประกัน ได้ขอร้องให้เอกอัครราชทูตฯ เร่งพยายามช่วยเหลือเจรจาเอาตัวประกันออกมาให้ได้ เพราะทุกคนถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศจะต้องได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วรัฐบาลใช้ทุกเส้นทาง ทุกวิถีทาง ขอให้มั่นใจว่าทำอย่างเต็มที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน 

ในการใช้เครื่องบินเพื่ออพยพคนไทยจะต้องขอเพื่อบินผ่านน่านฟ้าในทุกครั้ง ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศได้พยายามเจรจา และหวังว่านานาชาติจะช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งอย่างไรก็ดี ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ความสำคัญสูงสุด คือคนไทยต้องออกมาให้ได้เร็วที่สุด ด้านเอกสารเป็นเรื่องรอง สำหรับความคืบหน้าของประเทศที่ 3 กระทรวงการต่างประเทศกำลังประชุมและเจรจา ซึ่งอาจจะเป็น UAE ยืนยันจะทำทุกวิถีทาง 

เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทยแจ้งว่า พร้อมให้เครื่องบินเดินทางออกทุกเมื่อ เพื่อขนย้ายคนไปในที่ปลอดภัย โดย 99% ของชาวต่างชาติได้ถูกอพยพออกจาก Red Zone แล้วแต่ยังเหลือในพื้นที่อื่นๆ ต้องดูต่อไป

กมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในอิสราเอล และปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ กล่าวถึงคำแถลงของ กมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ต่อสถานการณ์ในอิสราเอล และปาเลสไตน์ ว่า กมธ. ได้ติดตามสถานการณ์ในอิสราเอลและปาเลสไตน์อย่างใกล้ชิด และมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ โดย กมธ. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้รอความช่วยเหลือ พร้อมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ขอสนับสนุนให้มีการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด ส่วนประการที่สอง ขอสนับสนุนรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งหาพื้นที่ปลอดภัยให้คนไทย เร่งอพยพคนไทยกลับประเทศโดยเร็ว และเร่งหาทางช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับตัวไปให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด และประการที่สาม ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจและร่วมกันยุติสถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ และคลี่คลายสถานการณ์ด้วยวิธีทางการทูตโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ต่อไป


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล [1] [2] | เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net