Skip to main content
sharethis

กบฉ.เคาะให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในชายแดนใต้เพิ่ม 3 เดือน และให้หยุดใช้ 3 อำเภอใน 3 จังหวัด แต่ให้นำกลับมาใช้ในศรีสาครเพราะสถิติเหตุรุนแรงเพิ่มในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ สส.ประชาชาติยืนยันหยุดใช้กฎหมายพิเศษทุกประเภทในพื้นที่กลับมาใช้กฎหมายปกติ

11 ต.ค. 2566 หลายสื่อรายงานความคืบหน้าประเด็นการประชุมของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ในการต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่การต่ออายุการใช้ครั้งล่าสุดในรัฐบาลเศรษฐากำลังจะครบ 1 เดือนในสัปดาห์หน้า

มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อ 15.30 น. สมศักดิ์ เทพสุทินประธาน กบฉ. กล่าวถึงผลการประชุมวันนี้ว่าหลังจากตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลเรื่องการพิจารณาเรื่องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ตนได้ให้กระทรวงมหาดไทยไปรับฟังความเห็นประชาชนรวมถึงนำข้อมูลและความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) มาประกอบ

สมศักดิ์ระบุว่าจากสถิติตั้งแต่ 50 จนถึงปัจจุบัน พบว่าความรุนแรงของสถานการณ์ลดลง โดยในอดีตมีบางปีมีเหตุการณ์สูงกว่า 100 ครั้ง แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สถิติลดลงเหลือประมาณ 70 กว่าครั้ง ส่วนปี 66 นี้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำคือ ประมาณ 100 กว่าครั้ง จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา

ที่ประชุม กบฉ. จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ออกไปอีก 3 เดือน คือตั้งแต่ 20 ต.ค.2566 – 19 ม.ค.2567  แต่ให้ปรับลดพื้นที่การใช้ใน 3 อำเภอแล้วใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน ได้แก่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และอ.ยี่งอ จ.นราธิวาส อย่างไรก็ตามให้ประกาศใช้ในพื้นที่ของอ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อีกครั้งเนื่องจากมีสถิติความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมามีสถิติความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยจะนำมติของ กบฉ.นี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 ต.ค.นี้

สำนักข่าวไทยรายงานถึงท่าทีของ สส.จากพรรคประชาชาติต่อเรื่องเดียวกันนี้ด้วย โดยกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.พรรคประชาชาติ กล่าวชื่นชมสมศักดิ์ที่ได้เชิญ สส.จากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ทั้งนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลาและสตูล พูดคุยประเด็นปัญหาในพื้นที่โดยเฉพาะการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อย่างไรก็ตาม กมลศักด์ได้กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคว่าให้ไม่ต่ออายุการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเปลี่ยนมาใช้กฎหมายปกติ แต่การจะยกเลิกใช้จะทำทั้งหมด หรือยกเลิกบางอำเภอหรือทีละอำเภอก็สุดแล้วแต่ ซึ่งสมศักดิ์จะเสนอต่อ ครม.

สส.ประชาชาติกล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่าเป็นนิมิตหมายในทางบวกเพราะถือเป็นครั้งแรกที่ประธาน กบฉ.มาพบบ สส.ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเพราะปกติจะเชิญเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาพูดคุยเท่านั้น

นอกจากนั้น กมลศักดิ์ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ลดจำนวนด่านตรวจให้น้อยลง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีและทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว บรรยากาศน่าจะดีขึ้น และการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับชายแดนใต้ก็เป็นเรื่องดี เพราะนอกจากเรื่องในภาพรวมแล้วก็จะมีการนำกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 3 ครั้งที่เคยมีมาศึกษาด้วย

กองทัพยังอยากให้ต่อ

ก่อนหน้าการประชุมของ กบฉ. เมื่อเวลา 13.53 น.ไทยโพสต์รายงานท่าทีจากทางด้านกระทรวงกลาโหมต่อเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่ายอมรับว่าขณะนี้ในพื้นที่มีความเห็นแตกต่างกันหลากหลาย ประชาชนที่เป็นมุสลิมต้องการให้ยกเลิก แต่คนไทยพุทธต้องการให้คงไว้ ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ต้องการใช้เป็นเครื่องมือปฏิบัติงาน แต่ผู้ที่จะตัดสินใจก็เป็นรัฐบาลเพราะทางกระทรวงกลาโหมถือเป็นฝ่ายปฏิบัติ รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างก็ฝ่ายปฏิบัติก็พร้อมปฏิบัติตามนั้น

อย่างไรก็ตาม สุทินกล่าวด้วยว่าทางฝ่ายปฏิบัติเองยังเห็นว่ามีความจำเป็นต้องคงการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ ทางกองทัพภาคที่ 4 ได้ทำข้อดีข้อเสียของการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่มา ซึ่งมีการฟังประชาชนหลายฝ่ายและวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้ปฏิบัติงานแล้วยังอยากให้คงไว้ ส่วนเรื่องจะต่ออายุกี่เดือนของคุยในที่ประชุม กบฉ.ก่อน แต่หากจะต้องยกเลิกการรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอย่างไรเพื่อให้เป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net