Skip to main content
sharethis

ทนายความยื่นหนังสือถึง ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอให้ทบทวนการใส่ตรวนข้อเท้า “อานนท์” ขณะออกศาล เพื่อเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ระบุ รัฐธรรมนูญให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และเป็นมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ชี้ เมื่ออานนท์ยังเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ทางเรือนจำจะปฏิบัติต่ออานนท์เหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้

 

5 ต.ค. 2566 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรม ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ในคดีเข้าวันที่ 9 โดยอานนท์ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

โดยทนายความผู้รับมอบอำนาจจากอานนท์ได้เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอให้ทบทวนมาตรการการใช้เครื่องพันธนาการ

การยื่นหนังสือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากภายหลังที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันในระหว่างอุทธรณ์ อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่ศาลอาญาในนัดสืบพยานคดีม็อบ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 29 ก.ย. และ 3 ต.ค. 2566 ในฐานะจำเลยและทนายจำเลย และไปที่ศาลแขวงพระนครเหนือเพื่อฟังคำพิพากษาในฐานะจำเลยคดีม็อบ #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566

ทนายความและประชาชนที่ไปรอให้กำลังใจอานนท์พบว่า อานนท์เดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีในทั้ง 3 วันอย่างช้าๆ เนื่องจากมีตรวนล่ามข้อเท้าทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน ลักษณะคล้ายกุญแจมือ แต่ใส่ที่ข้อเท้า ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่อานนท์ได้รับจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

 

"การใส่ตรวน" ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ขัดรัฐธรรมนูญ - ละเมิดข้อกำหนดแมนเดลาของ UN

หนังสือถึง ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีใจความดังนี้

ตามที่อานนท์ นำภา ผู้ต้องขังตามหมายขังของศาลอาญา ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยยังเป็นผู้ต้องขังระหว่างการอุทธรณ์และคดียังไม่สิ้นสุด ได้เดินทางมาศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีในคดีอื่นเมื่อวันที่ 29 ก.ย. และ 3 ต.ค. 2566 โดยใส่พันธนาการเป็นตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้างตลอดระยะเวลาที่ออกนอกเรือนจำ จึงขอให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทบทวนมาตรการการใช้เครื่องพันธนาการ เนื่องจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 รับรองว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

2. ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่ (4) ผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเห็นเป็นการสมควร

3. ตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการคุมขังของเรือนจำทั่วโลก ข้อกำหนด 47 1.ห้ามใช้โซ่ เหล็ก หรือเครื่องพันธนาการใด ๆ ในลักษณะที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวด 2.การใช้เครื่องพันธนาการอื่น อาจกระทำได้หากเป็นไปตามกฎหมาย และในพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ (ก) เพื่อป้องกันการหลบหนีในระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง แต่จะต้องถอดออกเมื่อผู้ต้องขังปรากฏตัวต่อหน้าศาล หรือเจ้าพนักงานฝ่ายบริหาร

และข้อกำหนด 48 1.กรณีที่มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องพันธนาการตามวรรค 2 ของข้อกำหนด 47 ต้องปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้ (ก) เครื่องพันธนาการอาจใช้ได้เฉพาะเมื่อรูปแบบการควบคุมอย่างอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าใช้ไม่ได้ผลในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากไม่มีการพันธนาการจำกัดความเคลื่อนไหว (ข) วิธีพันธนาการจะต้องมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น และสมเหตุผลแก่การควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับและลักษณะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (ค) เครื่องพันธนาการจะต้องใช้ได้เฉพาะในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น และให้มีการปลดเครื่องพันธนาการออกโดยเร็วเมื่อความเสี่ยงเนื่องจากการไม่พันธนาการจำกัดการเคลื่อนไหวหมดสิ้นไปแล้ว

ดังนั้น เมื่ออานนท์ยังเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ทางเรือนจำจะปฏิบัติต่ออานนท์เหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ การใส่ตรวนนั้นถือเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง แม้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ จะให้อำนาจกระทำได้เพื่อป้องกันการหลบหนี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางเรือนจำจะต้องใช้โซ่ตรวนในทุกกรณี ซึ่งอานนท์ไม่ได้มีพฤติการณ์ใดในการหลบหนี เห็นได้จากกรณีที่อานนท์ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2564 เป็นเวลากว่า 9 เดือน และต้องเข้าออกเรือนจำเพื่อเดินทางไปศาลอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้มีพันธนาการใด ๆ

การพันธนาการอานนท์ตลอดระยะเวลาที่อยู่นอกเรือนจำ แม้กระทั่งขณะศาลทำการพิจารณาคดีซึ่งอานนท์ทำหน้าที่ทนายความด้วยนั้น จึงเป็นมาตรการที่เกินจำเป็น

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง จึงขอให้ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทบทวนมาตรการในการพันธนาการอานนท์ เพื่อเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังซึ่งยังเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ทนายความยังระบุในหนังสือฉบับดังกล่าวว่า ขอทราบถึง “บันทึกเหตุผลและความจำเป็น” ของผู้สั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการตามมาตรา 21 วรรคสี่ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

ก่อนหน้านี้ ขณะที่อานนท์ถูกเบิกตัวมาศาลอาญาในคดีม็อบ #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 อานนท์ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลมีใจความดังนี้

ก่อนอื่นจำเลยที่ 1 ต้องขออภัยศาลที่ในห้องพิจารณา จำเลยที่ 1 ในฐานะทนายความจำเลยที่ 4 ต้องเดินอย่างเชื่องช้า เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องพันธนาการโซ่ตรวนที่ข้อเท้า ซึ่งหากเดินปกติอาจทำให้ข้อเท้าเกิดบาดแผล และขออภัยศาลที่ชุดนักโทษของจำเลยที่ 1 มีกลิ่นในห้องพิจารณา เนื่องจากอยู่ในช่วงกักตัวของเรือนจำ ต้องถูกขังบนเรือนนอน 24 ชั่วโมง มีเพียงสบู่ก้อนใช้ซักเสื้อผ้าและผึ่งลมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จำเลยได้พยายามชำระร่างกายให้สะอาดเผื่อเวลาได้เจอและอุ้มอิสรานนท์ ลูกชายวัย 10 เดือน จะได้สะอาด ไม่นำเชื้อโรคมาติดลูกในศาล

ขอบพระคุณศาลที่ให้เวลาตรวจดูเอกสาร และให้พูดคุยกับทนาย รวมทั้งให้มีโอกาสอุ้มลูกชาย

อนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 7 ซึ่งหลบหนี เนื่องจากจำเลยเป็นทนายความให้เขาและถูกฟ้องว่าร่วมกัน จำเลยขออนุญาตซักค้านพยานในชั้นพิจารณาต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net