Skip to main content
sharethis

ครป.-กป.อพช.-ภาคประชาชน เสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองแก่ประชาชนทุกฝ่าย เร่งรัฐบาลจัดตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กระจายอำนาจทางการเมือง-แก้ทุนผูกขาดเศรษฐกิจ ทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน มีเวทีภาคประชาชนแถลง “วิพากษ์นโยบายรัฐบาลและข้อเสนอภาคประชาชน” ต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ร่วมแถลงด้านการปฎิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญ กองทัพ และการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดย นายเมธา มาสขาว  เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ด้านสังคม คุณภาพชีวิต การจัดการทรัพยากร และการกระจายอำนาจ โดย นายสมบูรณ์ คำแหง  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ด้านเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดย นายปรีดา เตียสุวรรณ์  ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN.) ด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดย นายศราวุฒิ ประทุมราช  ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และด้านการปฏิรูปการศึกษา โดย นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ  ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ 

นายเมธา มาสขาว  เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ครป.เห็นว่านโยบายหรือสัญญาว่าจะทำส่วนใหญ่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อการแก้ไขวิกฤตโครงสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สะสมและขาดความเชื่อมั่นมายาวนาน หลายเรื่องยังขาดรายละเอียดและเป็นเพียงวาทะกรรม ซึ่งต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ในการทำงานและพิสูจน์ฝีมือว่าจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ โดย ครป. มีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

ในด้านการเมือง 1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือฉบับประชาธิปไตยโดยเร็ว  โดยมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย แก้ปัญหาวิกฤตการเมืองเพื่อเป็นกติกาที่เป็นธรรมของทุกฝ่ายโดยเร็ว

2.ขอให้ออกกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช.ในอดีต เพื่อให้กลไกการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามปกติในรัฐบาลพลเรือนและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงดำเนินการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย อยู่ในการกำกับควบคุมสั่งการโดยรัฐบาลพลเรือน โดยการยกเลิกกฎหมายจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และยุบเลิก กอ.รมน. ที่ซ้ำซ้อนและเป็นรัฐซ้อนรัฐ โดยให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจทำหน้าที่แทน เพื่อให้ความมั่นคงของรัฐคือความมั่นคงของประชาชน รวมถึงการบูรณาการกิจการชายแดนร่วมกัน

3.วางแผนผลักดันการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดหรือยุบระบบราชการส่วนภูมิภาค และโอนอำนาจตำรวจให้ขึ้นกับจังหวัด ทลายการซื้อขายตำแหน่งและการแต่งตั้งโยกย้าย 

4.ขอให้ดำเนินการนิรโทษกรรมคดีการเมืองของประชาชนตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน เพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ   โดยอาจตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมากลั่นกรองคดีการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ 18 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สังคมไทยได้ไปต่อและมีเสถียรภาพก่อนการเริ่มต้นรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นกติกาประชาธิปไตยร่วมกัน โดยในสถานการณ์เฉพาะหน้า ควรมีนโยบายให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้ประกันตัวตามหลักการแห่งกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ งดเว้นการกระทำหรือการปฏิบัติเสมือนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง เป็นผู้กระทำความผิดทั้งที่ยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด จึงสมควรสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ข้อ 24 และ 25 โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่แท้จริงของจำเลยโดยปราศจากอคติ เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีหน้าที่จำกัด ยับยั้ง หรือควบคุมกำกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าศาลจะเป็นสถาบันที่มีบทบาทในการคุ้มครองและพัฒนาสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมให้งอกงามโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ต่อไป

5.ผ่าตัดระบบราชการใหม่ให้ทันสมัย และบริหารราชการแผ่นดินด้วยธรรมาภิบาล แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและการซื้อขายตำแหน่งในทุกระดับ ทุกกระทรวงทบวงกรม เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์ การสั่งย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทดีเด่นคือตัวอย่างปัญหาการใช้อำนาจไม่ชอบในระบบราชการไทย

ในด้านเศรษฐกิจ 6.ขอให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยการออกกฎหมายควบคุมการสะสมความมั่งคั่งที่กระจุกตัว แก้ปัญหาการผูกขาดตลาด และให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนรายใหญ่ โดยต้องประยุกต์อำนาจรัฐเข้ามากำกับระบอบทุนนิยมเพื่อจัดการระบบตลาดที่เป็นธรรมมากขึ้นตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) เหมือนในประเทศสหภาพยุโรป รวมถึงระบบรัฐสวัสดิการแบบไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ใช้แต่นโยบายประชานิยมที่ผันเงินเข้าระบบทุนผูกขาดประเทศ 

7.ขอให้รัฐบาลปฏิรูปรัฐวิสาหกิจทุกแห่งให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพดูแลทรัพยากรของประเทศที่มีคนไทยทั้งชาติเป็นหุ้นส่วน หยุดนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางเพื่อเอื้อประโยชน์เอกชน ที่กำลังดำเนินการตามรอยการแปรรูป ปตท. โดยเฉพาะการให้รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในระยะยาวและทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจาก กฟผ. สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ แต่รัฐบาลก่อนไปกำหนดควบคุมให้ลดการผลิตลง แต่ให้ไปซื้อเอกชนให้มากขึ้น ขอให้รัฐบาลทบทวนสัญญาและยุติการซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนทั้งที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกิน โดยต้องตรวจสอบการหาผลประโยชน์ในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ทำให้การเปิดรับข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม

8.ขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบเก่า แต่เปลี่ยนนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยแทนกลุ่มทุนรายใหญ่ที่ได้เปรียบ แต่ได้ลดหย่อยภาษีและให้สิทธิประโยชน์มากมาย โดยควรเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าจากกลุ่มคนที่มั่งคั่งแทนเพื่อลดช่องว่างและคืนส่วนเกินแก่สังคม

ในด้านสังคมและการต่างประเทศ 9.ในวาระ 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการและใช้แนวทาง Civic Education ส่งเสริมพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองและพัฒนาระบบครูให้มีประสิทธิภาพยึดถือประชาธิปไตย โดยการยกเลิกภาระงานที่ซ้ำซ้อนในระบบราชการ โดยขอเรียกร้องให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคนเดือนตุลาจัดกิจกรรมรำลึก 50 ปี 14 ตุลา อย่างยิ่งใหญ่ในนามรัฐบาล และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ด้านวรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมประชาชน รวมถึงการท่องเที่ยวศึกษาเชิงประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางเป็นระบบ

10.ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศ เพื่อสอดรับกับปัญหาการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ โดยมีหลักการที่เคารพยึดถือเพื่อยืนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แม้จะเป็นเพียงประเทศเล็ก โดยวางระยะห่างและจัดการสื่อสารทางการทูตเพื่อสร้างความเข้าใจกับรัฐมหาอำนาจทุกฝ่าย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แก่มหาอำนาจฝ่ายใด ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือหรือเหยื่อในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสงครามเย็นใหม่ของศตวรรษที่ 21

นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า รัฐบาลนี้มีจุดอ่อน 3 เรื่องคือ 1.เรื่องภาพลักษณ์ทางการเมืองไม่ค่อยดี หลังจากร่วมกับขั้วการเมืองเก่า ทำให้ขาดความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศและในต่างประเทศ 2.เสถียรภาพของประชาชน 3.ความสามารถของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไม่มี เพราะมาจากโควต้าของกลุ่มการเมืองและผู้มีอำนาจภายในพรรค เช่น เอานายตำรวจมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงศึกษาธิการ 

สำหรับเรื่องกระจายอำนาจ ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และควรมีมากกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่รวมทั้งการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากร ในการจัดการศึกษา เพราะนโยบายผู้ว่าซีอีโอ คือการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางไม่ใช่การกระจายอำนาจ และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายรัฐสวัสดิการ

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล เป็นคำถามใหญ่ต่อรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิตว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญแค่ไหน รวมถึงปัญหาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่มีปัญหากับชุมชนและกฎหมายเก่าที่ไม่สอดคล้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อม ฎหมายอุทยาน การจัดการแร่ และกฎหมายประมง ฯลฯ

สุดท้าย กป.อพช.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีกระบวนการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง และรับฟังเสียงของประชาชนทั่วประเทศ

นายปรีดา เตียสุวรรณ์  ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงขึ้นเป็นอันดับท็อปของโลก และความร่ำรวยที่กระจุกตัวแก่คนส่วนน้อยกลายเป็นความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ตนผิดหวังคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ทำให้เกิดการควบรวมกิจการเพื่อการผูกขาดมากขึ้น 

วันนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครนค่อนข้างมาก และประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นจนขาดภาคแรงงานจากคนหนุ่มสาว จนขาดความมั่นคงในอนาคต และนโยบายประชานิยม 10,000 บาทของรัฐบาล จะกลายเป็นหนี้ที่รัฐบาลสร้างขึ้นกว่า 5 แสนล้านจะหาเงินจากไหo ซึ่งนโยบายเหล่านี้ไม่ได้สร้างงานอย่างแท้จริง จึงไม่ตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจไทย จึงเป็นนโยบายเทียมทางเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยไม่เหมาะกับนโยบายประชานิยมที่สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจมากกว่า

รัฐบาลควรสร้างความมั่นใจและความหวังของประชาชนมากขึ้น โดยเน้นปัญหาสำคัญมากกว่านโยบายประชานิยม เช่น จะจัดการกับโรคระบาดอย่างไร จะแก้ไขปัญหามลภาระหรือมลพิษอย่างไร โดยสร้างความร่วมมือของสังคมให้ได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามนโยบายสหประชาชาติ ถ้ารัฐบาลทำได้จะสร้างขุมพลังของสังคมไทยอย่างมหาศาล และจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างมากมาย

สำหรับจุดยืนประเทศไทยควรจะจัดวางตนเองในภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่แบบไหน ตนเห็นว่าอย่าไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรเป็นเพื่อนกับทั้งสองฝ่าย   

นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาในระบบการศึกษาทำให้เกิดกลุ่มนักเรียนเลวขึ้นมา จากความล้มเหลวของรัฐบาลเก่าเกิดจากการใช้อำนาจตามประกาศ คสช. ตามมาตรา 44 ฉบับที่ 17 และ 19 เกิดการทุจริตในระบบการศึกษาอย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่การแต่งตั้งนายทหารเข้ามาคุมกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงคุณตรีนุช เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่มีผลงาน ที่ผ่านมาเป็นทศวรรษที่สูญหายของกระทรวงศึกษาธิการ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะการซื้อขายตำแหน่ง

ส่วนรัฐมนตรีปัจจุบันบอกว่าจะลดค่าครองชีพโดยให้ครูทำบุญคนละ 20 บาทและร่วมเดินทางรถคันเดียวกัน ซึ่งควรเป็นนโยบายครูประชาบาลตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ตนจึงมีข้อเสนอสั้นๆ ให้นายเศรษฐา ปรับ ครม. โดยตั้งรัฐมนตรีศึกษาคนใหม่ที่เหมาะสมจากนักบริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา และผ่าตัดระบบการศึกษาใหม่

สำหรับข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษา คือ 1.ยกเลิกประกาศคณะ คสช. ม.44 ฉบับที่ 17 และ 19 2.ให้มีคณะกรรมการ กระจายอำนาจ โดยอาศัย พรบ.แผนกระจายอำนาจ ของ มท. 3.ให้มีคณะปฏิรูปหลักสูตรทุกระดับ ลดเวลาเรียนระดับละ 1 ปี 4.ให้มีคณะปฏิรูปครูและบุคคลากรทางการศึกษา และ 5.ให้มีคณะตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนงบเหลือจ่าย ของ สพฐ.สกอ.และ กศน.ย้อนหลัง 10 ปี

นายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลด้านกระบวนการยุติธรรมเขียนไว้สั้นมาก ในการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม แต่ไปเน้นนโยบายการร่วมมือกับสังคมปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย รวมถึงไปเขียนเชื่อมโยงผูกพันกับยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลเก่าทั้งที่ผู้นำเป็นรัฐบาลใหม่ที่อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

สสส. ได้นำเสนอแถลงการณ์ถึงรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 2566 เพื่อให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วน เรามีตัวอย่างปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ เช่น คดีบอส กระทิงแดง ที่ล่าช้า และคงไม่สามารถดำเนินคดีได้เพราะใกล้หมดอายุความ ในอนาคต ตำรวจควรทำงานควบคู่กับอัยการเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันให้ได้ตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา

สำหรับข้อเสนอคือ ให้แก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และปรับปรุงในชั้นพิจารณาคดี อยากให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ความช่วยเหลือประชาชน ผ่านกองทุนยุติธรรมที่ต้องแก้ไขกฎหมายเพราะซึ่งที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความยากลำบากและไม่ครอบคลุมทุกประเด็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net