Skip to main content
sharethis

ธนาคารโลกปล่อยรายงานชิ้นใหม่เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ภาคส่วนพลังงานของพม่ากำลังถดถอยลงตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564 เป็นต้นมา หลายเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ เผชิญปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างพื้นฐานเสียหายจากการโจมตีโรงไฟฟ้า ขณะที่ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของพม่าก็น้อยลง

ในรายงานที่ชื่อ "In The Dark: Power Sector Challenge in Myanmar" (ภายในความมืด : ปัญหาท้าทายภาคส่วนพลังงานในพม่า) ขอบธนาคารโลกระบุว่า เมืองใหญ่ๆ ในพม่า เช่น ย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ในขณะที่ภาคส่วนอุตสาหกรรมทั่วประเทศกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับการถูกตัดไฟและราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น

ในขณะที่พม่ามีการผลิตไฟฟ้าได้น้อยลงจนทำให้เกิดช่องว่างเพิ่มมากขึ้นระหว่างอุปสงค์ความต้องการใช้ไฟฟ้ากับอุปทานคือความสามารถในการผลิตไฟฟ้า การที่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของพม่าได้รับความเสียหายก็ยังกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางระบบการจ่ายไฟฟ้าทั้งระบบด้วย

ธนาคารโลกระบุว่า "ช่องว่างที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างอุปสงค์-อุปทานการใช้ไฟฟ้าเป็นปัญหาท้าทายใหญ่ในการแสวงหาบริการไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ในประเทศ(พม่า)"

ในพม่าเผชิญกับภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในปี 2564 ประมาณ 33 เมกะวัตต์ แต่ความขาดแคลนนี้ก็เพิ่มมากขึ้น ถึงในระดับที่ว่า ถ้าหากพม่าจะสามารถรักษาอุปทานพลังงานไฟฟ้าเอาไว้ได้ในระดับเดิม พวกเขาจะต้องผลิตไฟฟ้าเพิ่มระหว่าง 300-400 เมกะวัตต์เป็นประจำทุกปีจนถึงปี 2573 จากการประเมินของธนาคารโลก

กิลยุม เดอ แลงเกอร์ อดีตที่ปรึกษากระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของพม่ากล่าวในพอตแคสต์ที่ชื่อ Insight Myanmar ว่า การผลิตพลังงานร้อยละ 50 ในประเทศพม่าต้องอาศัยก๊าซที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าก๊าซดังกล่าวจะหมดไปภายในปี 2573 พูดให้ชัดคือ วัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าร้อยละ 50 ในพม่ากำลังจะหมดไปโดยไม่มีทดแทน

"ดังนั้นแล้วคำถามที่เราจะต้องถามพวกเราเองในวันนี้คือ แล้วเศรษฐกิจของพม่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างไรเมื่อแหล่งพลังงานครึ่งหนึ่งของพวกเขาหายไป" แลงเกอร์กล่าวย้ำ

การขาดแคลนพลังงานในพม่าส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกช่วงชั้นของสังคม โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ผู้คนพากันไปรอต่อคิวยาวที่ปั๊มพลังงานธรรมชาติ เรื่องนี้ยังส่งผลโดยตรงต่อรถประจำทางของหน่วยงานขนส่งมวลชนรถในย่างกุ้งรวมถึงแท็กซี่ด้วย ส่งผลกระทบต่อขนส่งมวลชนตามไปด้วย

ผลอีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้เกิดกับคนทำงานด้านสาธารณสุข พวกเขาไม่สามารถใช้ตู้แช่เย็นในการเก็บยาที่สำคัญหรือเก็บตัวอย่างการทดสอบได้เพราะขาดแคลนไฟฟ้า

อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน หรืออาคารธุรกิจ ต่างก็อาศัยเครื่องปั่นไฟพลังงานดีเซลเพื่อปฏิบัติงานในช่วงที่ไฟดับ ปัญหาไฟดับได้ส่งผลทางลบต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอของพม่าที่ทำกำไรต่ำ ซึ่งเป็นภาคส่วนสินค้าส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของพม่า

ธนาคารโลกประเมินว่าภาคส่วนพลังงานของพม่าจะยังคงสูญเสียทางการเงินต่อไป มีหลายปัจจัยที่ที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการเงินของภาคส่วนนี้ เช่น เรื่องค่าเงินตกต่ำ, ราคาการซ่อมบำรุงโรงผลิตไฟฟ้า และรายได้ที่ลดลง ความเป็นไปได้ที่ทุกคนในพม่าจะสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ทั้งหมดภายในปี 2573 นั้นเริ่มจะริบหรี่

รายงานของธนาคารโลกยังระบุอีกว่า ในช่วงระหว่างเดือน พ.ย. 2564 - ธ.ค. 2564 อัตราการจ่ายไฟฟ้าให้กับครัวเรือนเพิ่มจากระดับร้อยละ 57 เป็นร้อยละ 61 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับปีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2560-2563 ที่มีอัตราการจ่ายไฟเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี

การที่กองทัพพม่ารัฐประหารยึดอำนาจยังจุดชนวนให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศด้วยการบอยคอตต์ไม่จ่ายค่าไฟฟ้า และรายได้ที่สูญเสียไปจากการไม่จ่ายค่าไฟฟ้าของประชาชนก็พอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับร้อยละ 45 ในเดือน พ.ย. 2564

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมรรถภาพในการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกจากโรงผลิตได้ลดลงไปมากกว่า 2.5 กิกะวัตต์ เรื่องจากหลายปัจจัย เช่น การพักปฏิบัติการโรงงานไฟฟ้าจากแอลเอ็นจีในย่างกุ้ง ปริมาณฝนน้อย ระดับน้ำในเขื่อนพลังงานน้ำอยู่ในระดับต่ำ และการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ นอกจากนี้โครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้มากกว่า 2 กิกะวัตต์ ซึ่งมีการลงทุนจากต่างชาติร่วมด้วยก็ถูกพักโครงการเอาไว้

แลงเกอร์บอกว่า นักลงทุนที่มีศักยภาพไม่เชื่อใจเผด็จการทหารและมีจำนวนมากที่ถอนทุนออกจากโครงการผลิตไฟฟ้า นักลงทุนไม่ไว้วางใจพม่าหลังจากที่เกิดการรัฐประหาร

รายงานธนาคารโลกระบุว่าเผด็จการทหารพยายามจะพึ่งพาพลังงานน้ำมากขึ้นในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ารวบยอดต่อวัน มีการเพิ่มกำลังการผลิตโดยอาศัยพลังงานน้ำมากขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2564 เพื่อชดเชยการผลิตไฟฟ้าจากโรงผลิตพลังงานก๊าซที่ลดลง

เผด็จการทหารอาศัยอ่างเก็บน้ำพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและใช้ในการชลประทานลดลงอย่างมากในเดือน ม.ค. 2565 เมื่อกลางปี 2565 มีโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ 4 แห่งถูกสั่งระงับการผลิตชั่วคราวเพื่อซ่อมบำรุง ในจำนวนนี้มีเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของพม่าคือ เขื่อนชเวลล์-1 รวมอยู่ด้วย ทำให้สมรรถภาพในการผลิตลดลงไปอีก

ธนาคารโลกตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าฉับพลันจากเดือน ม.ค. ถึง พ.ค. 2566

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องที่ความขัดแย้งในพม่ามีการโจมตีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นด้วย ธนาคารโลกรายงานโดยอ้างตัวเลขสถิติของเผด็จการทหารพม่าระบุว่า มีโรงไฟฟ้าถูกโจมตี 229 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือน ก.พ. 2564 - เม.ย. 2566

มีโรงไฟฟ้าร้อยละ 77 ที่อยู่ห่างออกไปไม่เกิน 10 กม. จากพื้นที่ขัดแย้งที่มีผู้เสียชีวิต ถึงแม้ว่าตัวเลขเหตุการณ์ความขัดแย้งที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการไฟฟ้าในพม่าจะลดลงนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 แต่โรงไฟฟ้าก็ยังคงเสี่ยงจะได้รับความเสียหาย

เผด็จการทหารพม่าใช้วิธีการยกเว้นภาษีการลงทุนในภาคส่วนพลังงานไฟฟ้าเมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ เพื่อหวังจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในภาคส่วนพลังงานของพม่า โดยที่คณะกรรมาธิการด้านการลงทุนของพม่าได้ประกาศว่าจะมีการยกเว้นภาษีในภาคส่วนการผลิตและการจำหน่ายพลังงานหมุนเวียนรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย

เผด็จการพม่ากล่าวว่าพวกเขาได้ทำให้การลงทุนเรื่องไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญระดับต้นๆ ของประเทศ และจะมีการยกเว้นหรือลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบ, เครื่องจักร, เครื่องมือ, ชิ้นส่วนอะไหล่ และวัตถุดิบในการก่อสร้างที่ไม่มีในพม่า

แต่อดีตที่ปรึกษาด้านพลังงานของพม่า แลงเกอร์ กลับแสดงความกังขาต่อแผนการของเผด็จการพม่า โดยบอกว่า เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์การพัฒนาด้านไฟฟ้าและพลังงานของพม่าแล้ว ก็สามารถมองได้ว่ากองทัพพม่ามองว่าพลังงานเป็นแค่แหล่งให้เช่าและแหล่งการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเพื่อนำไปเป็นเงินทุนในการซื้ออาวุธของพวกเขาเอง หรือเป็นเงินทุนในการเอาไปหล่อเลี้ยงพวกพ้องชนชั้นนำเท่านั้น เผด็จการทหารพม่ามีความสนใจน้อยมากต่อการพัฒนาด้านพลังงานในแบบที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน นั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในวาระของเผด็จการทหารเลย

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net