Skip to main content
sharethis

'ปานปรีย์' รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อพร้อมแก้ไขวิกฤตการเมืองเมียนมาตามกฎหมายและกลไกของอาเซียน ส่วนผลกระทบต่อไทย เช่น ยาเสพติด การข้ามแดนผิด กม. ฯลฯ จะมีการคุยกับรัฐบาลเมียนมาอีกครั้ง ยันพร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

15 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (15 ก.ย.) ปานปรีย์ พหิทานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีสถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมาว่า ประเทศไทย และเมียนมา ถือเป็นมิตรประเทศกัน โดยสถานการณ์พม่าถือเป็นกิจการภายในประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขตามกระบวนการกฎหมายของเมียนมา และตามกลไกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน รัฐบาลไทยจะยึดถือการแก้ไขวิกฤตการเมืองเมียนมาตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน 

ปานปรีย์ พหิทานุกร

ขณะที่ปัญหาที่ไทยได้รับผลกระทบจากรัฐประหารเมียนมาเมื่อปี 2564 เช่น ปัญหายาเสพติด การลักลอบข้ามแดน  ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะต้องมีการพูดคุยกัน ปัญหาภายในเมียนมา ทั้งความขัดแย้ง กระบวนการทางประชาธิปไตย รวมไปถึงกรณีที่เกี่ยวข้องกับนางอองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเมียนมา เป็นเรื่องที่เมียนมาจะต้องบริหารจัดการ โดยที่ไทยจะต้องไปหารือร่วมกับอาเซียน เพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพในเมียนมา 

ส่วนจะมีการพูดคุยกับเมียนมานอกรอบที่ไม่ได้อยู่ในกรอบอาเซียนเหมือนรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่นั้น ปานปรีย์ ระบุว่าจะต้องพิจารณาตามความจำเป็น และปรึกษาประธานอาเซียนก่อน ซึ่งตอนนี้ก็สามารถประชุมผ่านทางออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นจะต้องบินไปพบปะหะรือกันโดยตรง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากหากไทยจะหารือกับอาเซียนก่อนที่จะมีการพูดคุยกับเมียนมาร์ แต่หากเป็นเรื่องระหว่างประเทศ เช่นปัญหายาเสพติด ลักลอบข้ามแดน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งไทย และเมียนมาร์ ก็สามารถพูดคุยกันได้อยู่แล้ว

ปานปรีย์ ยังกล่าวถึงการทูตเชิงมนุษยธรรมว่า ไทยทำเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแนวทางอาเซียนที่ไทยสนับสนุน ดังนั้ นเรื่องประชาธิปไตย และการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ประเทศไทยสนับสนุนอยู่แล้วไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 โดยคณะกองทัพพม่านำโดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา หลังจากนั้น ได้เกิดสงครามกลางเมืองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก และตอนกลางของเมียนมา

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ เอเอพีพี เปิดสถิติระบุว่า หลังการทำรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 14 ก.ย. 2566 มีประชาชนเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของทหาร จำนวนอย่างน้อย 4,078 ราย มีผู้ถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 24,772 ราย และยังถูกคุมขัง 19,460 ราย

 

 

นอกจากนี้ รายงานจากศูนย์ตรวจตราการพลัดถิ่นภายใน (Internal Displacement Mornitoring Centre) เผยสถิติระบุว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 จนถึง 2565 มีผู้พลัดถิ่นภายใน เพิ่มขึ้นจำนวน 1.5 ล้านคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net