Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก สมบัติ ทองย้อย คดีโพสต์ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” และอีกสองข้อความรวม 4 ปีเหตุจำเลยติดตามการเมืองอยู่แล้วย่อมรู้ที่มาของคำ

13 ก.ย.2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าวันนี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีที่อัยการฟ้องของสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุที่เขาโพสต์ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และข้อความอื่นอีก 2 ข้อความในเฟซบุ๊ก

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาโพสต์ที่มีข้อความว่า“กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และอีก 2 ข้อความเข้าข่ายเป็นความผิดให้จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากศาลเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์และพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน รวมถึงจำเลยเป็นผู้ติดตามการเมืองอยู่แล้วย่อมพิมพ์ข้อความโดยไม่รู้ที่มาที่ไปของคำไม่ได้

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโทษจำคุกนี้ศาลอุทธรณ์ตัดสินลดโทษลงมาจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์เห็นว่าให้การเป็นประโยชน์ให้ลดโทษลงจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกไว้กรรมละ 3 ปีรวม 6 ปีให้ลดลงมา 1 ใน 3 เหลือกรรมละ 2 ปี รวม 4 ปี

หลังศาลมีคำพิพากษาทนายความได้ยื่นประกันตัวสมบัติในระหว่างยื่นฎีกาแล้ว ต่อมาในเวลาศาลมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลฎีกาพิจารณาว่าจะให้สมบัติประกันตัวหรือไม่ ทำให้ต้องรอผลในอีก 2-3 วันข้างหน้าทำให้ในวันนี้เขาจะต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง หลังเพิ่งได้รับการประกันตัวมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566

คดีนี้เริ่มขึ้นมาจากศรายุทธ สังวาลทองเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีสมบัติจากการที่สมบัติโพสต์เฟซบุ๊ก 3 โพสต์ โดยโพสต์แรกมีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ประกอบภาพบันทึกหน้าจอโทรศัพท์เป็นข่าวจากเว็บไซต์มติชนเรื่องบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 คณะ ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 

ศาลชั้นต้นเห็นว่าแม้วลีดังกล่าวจะเป็นคำชมแต่เห็นว่าจําเลยมีเจตนากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ในบริบทที่มีข่าวว่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งคณะ ซึ่งการเข้ารับปริญญาและรับพระบรมราโชวาทจากกษัตริย์โดยตรงนั้นเป็นที่ยอมรับกันในสังคมไทยตลอดมาว่า ถือเป็นเกียรติและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้ารับพระราชทานและครอบครัวของผู้นั้น การที่มีข่าวว่าบัณฑิตทั้งคณะจะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ย่อมทําให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นพฤติกรรมอันมีลักษณะเป็น “การต่อต้านพระมหากษัตริย์”

ศาลจึงเห็นการชมดังกล่าวจึงเป็นการจงใจล้อเลียนและเสียดสี เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกพอใจกับข่าวอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์ โดยนําเอาพระราชดํารัสของพระมหากษัตริย์ย้อนกลับมาใช้กับข่าวอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์เสียเอง เป็นกระทำที่ไม่บังควร

ส่วนโพสต์ที่สองและสามเป็นการโพสต์ในวันเดียวกัน 2 พ.ย. 2563 โดยข้อความที่สองมีเนื้อหาว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ”  และข้อความที่สาม “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ”

สำหรับข้อความที่สองและสามนี้ศาลเห็นว่าจําเลยได้ว่าต้องการสื่อให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มากเกินความจําเป็น ประชาชนไม่ต้องการแล้ว จึงเสแสร้งทําตัวใกล้ชิดกับประชาชนเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา ไม่ได้ทําด้วย ความจริงใจ และเปรียบเทียบการที่กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชนเป็นดาราที่แจกลายเซ็นต์ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงไม่ใช่การติชมด้วยสุจริตแต่เป็นการใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

ทั้งนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าทั้งสามข้อความเข้าข่ายเป็นความผิดตามฟ้องแต่เห็นว่าเป็นการกระทำ 2 กรรม จึงให้ลงโทษจำกรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net