Skip to main content
sharethis

ผสานวัฒนธรรมฯเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และยุติการใส่โซ่ตรวนและกุญแจเท้ากับผู้ต้องขังซึ่งอาจเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ 'เก็ท โสภณ' แถลงปฏิเสธอำนาจศาล พร้อมเรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวประชาชน และยุติการใช้มาตรา 112 ต่อประชาชน

7 ก.ย.2566 ความคืบหน้ากรณีปรากฏเป็นภาพข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่ในวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อนัดสืบพยานที่ศาลอาญาธนบุรีในวันดังกล่าว โดย เก็ท ปรากฎตัวในชุดเครื่องแบบนักโทษพร้อมกุญแจเท้าพร้อมโซ่ล่ามกับขาทั้งสองข้างนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Cross Cultural Foundation (CrCF)' 6 ก.ย. เรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และยุติการใส่โซ่ตรวนและกุญแจเท้ากับผู้ต้องขังซึ่งอาจเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระบุว่า จาก เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา เก็ทถูกใส่กุญแจเท้าพร้อมโซ่ล่ามทั้งสองข้างระหว่างการเดินทางมาศาล ในพื้นที่ของศาล และในระหว่างการสืบพยานในห้องพิจารณาของศาลอาญาธนบุรี จากข้อกล่าวหาคดี 112 จากการจัดกิจกรรม “ฝืนฝอยหาตะเข็บ” เมื่อปี 2565 การใส่ชุดนักโทษและการใส่กุญแจและโซ่ล่ามระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอาจเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความผิดตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทั้งที่คดีอาญาที่ “เก็ท” ตกเป็นจำเลยนั้นเป็นคดีไม่ใช่อุกฉกรรจ์เป็นคดีเกี่ยวกับความคิดและเสรีภาพในการแสดงออก

“เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ถือเป็นผู้ต้องขังคดีการเมือง จากการเป็นนักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ แม้ว่าปัจจุบันจะถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีมาตรา 112 ในระหว่างอุทธรณ์มาเป็นเวลา 13 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษเป็นเวลาถึงสามปีหกเดือนโดยไม่รอลงอาญา สิทธิในการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้นย่อมได้รับการคุ้มครอง คดีนี้เองก็ยังมีขั้นตอนการอุทธรณ์และฎีกาการที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในครั้งนี้ถือว่าไม่เคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการปล่อยตัวชั่วคราวและไม่เปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

กรณีที่เกิดขึ้นกับ “เก็ท” และผู้ต้องขังคดีการเมืองซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อีกอย่างน้อย 29 คน โดยเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 19 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น 7 คน และเป็นผู้ที่กำลังอดอาหารประท้วง 2 คน ได้แก่ “วารุณี” และ “เวหา” กรณีเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการประกันตัว (ปล่อยตัวชั่วคราว) ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์ มีลักษณะที่ขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ผู้ต้องขังคดีการเมืองเหล่านี้ไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขาแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อให้รัฐไทยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในความคิด ความเชื่อและการแสดงออกในทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเรียกร้องให้ สำนักงานศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ต้องตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญา ขอให้ทบทวนการใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังโดยเฉพาะผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้สอดคล้องกับข้อห้ามตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ซึ่งมีใจความว่า “ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง” การใส่กุญแจเท้าพร้อมโซ่ล่ามกับขาทั้งสองข้างในระหว่างการพิจารณาและการเดินทางมาศาลถือเป็นความผิดตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 สำนักงานศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้สิทธิดังกล่าวนี้ได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

'เก็ท โสภณ' แถลงปฏิเสธอำนาจศาล

ขณะที่ โสภณ ออกแถลงการณ์ส่วนตัวปฏิเสธอำนาจศาล ไม่สังฆกรรมใดๆต่อศาลเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม ไม่เพียงแต่ศาลอาญาธนบุรีเท่านั้น แต่ประท้วงถึงตุลาการทั้งหมด พร้อมขอเรียกร้องต่อตุลาการทั้งหมดดังนี้ 1. คืนสิทธิประกันตัวประชาชน และ 2.ยุติการใช้มาตรา 112 ต่อประชาชน

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์

ข้าพเจ้าและประชาชนหลายร้อยคนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ถูกกระทำย่ำยีจากกระบวนการยุติธรรมไทย ตำรวจ อัยการ ไปจนถึงผู้พิพากษา ตลอดจนการต่อสู้ในทางคดีความ มีประชาชนจำนวนมากถูกริดรอนสิทธิในการประกันตัว ถูกถอนประกัน ถูกพิพากษาอย่างไม่เป็นธรรมและไม่สมเหตุสมผล

ตัวข้าพเจ้าเองถูกขังในเรือนจำ 3 ครั้ง เคยถูกขังในบ้านตัวเองด้วยคำสั่งศาลนานกว่า 7 เดือน นอกจากนี้ ณ เวลานี้ยังมีผู้ถูกคุมขังจากมาตรา 112 กำลังอดอาหารเพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัว 2 คน คือ วารุณี และ เวหา พวกเค้าอาจเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ แต่ศาลที่ควรเป็นที่เคารพและเป็นที่ดำรงความยุติธรรมกลับไม่สนใจใยดี ไม่ให้สิทธิการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแก่พวกเค้า

การประท้วงด้วยการอดอาหารทำร้ายร่างกายตัวเองดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากในสังคม แต่นี่คือภาพสะท้อนเช่นกันว่า ศาลยุติธรรมในพระปรมาภิไธยก็กระทำความอยุติธรรมซ้ำซากจนผู้คนต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและสามัญสำนึกของตุลาการอย่างเอาเป็นเอาตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเคยแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 กับประชาชน อีกทั้งคดีความที่ถูกกล่าวโทษฟ้องร้องก็ไม่ได้มาจากการกล่าวหาโดยพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทน หรือสำนักพระราชวังเลย หากแต่มาจากการกล่าวโทษโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีในคดี สะท้อนถึงการบังอาจคิดแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ดีศาลในพระปรมาภิไธยก็ยังดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อประชาชน ฝืนกระแสรับสั่งของในหลวงทั้ง 2 พระองค์ และยังสนับสนุนแนวดำเนินคดีที่คิดแทนสถาบันพระมหากษัตริย์

การใช้มาตรา 112 ในการดำเนินคดีและการไม่ให้สิทธิประกันตัวในการสู้คดีเป็นการกระทำที่ทำร้าย ทำลายชีวิตประชาชน ละเมิดนิติธรรม สร้างข้อครหาให้เกิดแก่สถาบันตุลาการและสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือพฤติกรรมที่ข้าพเจ้ากล่าวข้างต้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อฝ่ายใดเลย แต่กลับส่งผลร้ายต่อสังคมอย่างถ้วนหน้าเสียด้วยซ้ำ ข้าพเจ้ามิอาจไว้วางใจและทำใจสังฆกรรมกับศาลในคดีมาตรา 112 ณ ศาลอาญาธนบุรีได้

ข้าพเจ้าขอประกาศปฏิเสธอำนาจศาล ไม่สังฆกรรมใดๆต่อศาลเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม ไม่เพียงแต่ศาลอาญาธนบุรีเท่านั้น แต่ประท้วงถึงตุลาการทั้งหมด โดยข้าพเจ้าขอเรียกร้องต่อตุลาการทั้งหมดดังนี้

1.คืนสิทธิประกันตัวประชาชน

2.ยุติการใช้มาตรา 112 ต่อประชาชน

หากตุลาการสามารถกระทำการตามข้อเรียกร้องของข้าพเจ้าซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมได้ ข้าพเจ้าจะกลับมาเคารพกระบวนการยุติธรรมศาลดังเดิม แต่หากไม่มีใครยอมรับข้อเรียกร้องของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพร้อมจะยกระดับการประท้วงทุกวิถีทาง ข้าพเจ้าพร้อมใช้ทั้งชีวิตเพื่อแลกมาซึ่งความยุติธรรมในสังคมที่แท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net