Skip to main content
sharethis
  • พูนสุข ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มการดำเนินคดีนักโทษการเมืองช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการให้ประกันตัววารุณี ที่ไม่มีมาตรฐาน เอาแน่เอานอนไม่ได้ และสาเหตุการต่อสู้ด้วยวิธีการอดอาหาร-น้ำเพื่อทวงสิทธิประกันตัวของวารุณี 
  • ทนายความจากศูนย์ทนายฯ มองสังคมหยิบยกกรณีของ 'อากง' เทียบ 'ทักษิณ' เพราะว่าต้องการให้กรมราชทัณฑ์มีมาตรฐานการดูแลนักโทษอย่างเท่าเทียม เข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลได้ทุกคน
  • สุดท้าย พูนสุข มีข้อเสนอขอให้ประกันตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทุกคน และระยะยาว ให้มีการพูดคุยถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีมูลเหตุเกี่ยวกับการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  • สรุปสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และช่วงเดือน ส.ค. 2566 ผู้คุมขังพุ่งขึ้นเป็น 29 ราย คดีที่ยังไม่สิ้นสุด 19 ราย แบ่งเป็น มาตรา 112 จำนวน 7 ราย และคดีของทะลุแก๊ส 12 ราย
  • ขณะนี้มีผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ต่อสู้ทวงสิทธิการประกันตัวโดยการอดอาหาร-น้ำ จำนวน 2 ราย คือ วารุณี และเวหา โดย 'วารุณี' อดอาหารกว่า 15 วัน และอดน้ำ 12 วัน ขณะที่ เวหา อดอาหารมากว่า 13 วัน


ประชาไท สัมภาษณ์ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ 30 ส.ค. 2566 ต่อข้อสังเกตการดำเนินคดีทางการเมืองช่วงปี 2563-2565 ความสำคัญของสิทธิการประกันตัว การประท้วงของผู้ต้องขังทางการเมือง และข้อเรียกร้องของศูนย์ทนายฯ ในระยะสั้นและระยะยาว

อนึ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นิยามคำว่า "นักโทษทางการเมือง" แยกจากนักโทษคดีอาญา เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่มูลเหตุทางการเมืองที่เขากระทำการตามสิ่งต่างๆ ออกไป เช่น เขาไปชุมนุมทางการเมือง เขาไปเรียกร้องปฏิรูปโครงสร้างหรือสะท้อนปัญหาของรัฐที่มันเกิดขึ้น ก็คือสิทธิในทางการเมืองที่มันแสดงออกได้ แต่ว่านโยบายของรัฐ หรือว่าการดำเนินการของรัฐในการดำเนินคดี หรือว่าใช้กฎหมายจำกัดสิทธิ์กับคนที่มาแสดงออก ทำให้เขาถูกดำเนินคดี จากคนที่ควรมีสิทธิต่างๆ อยู่แล้ว

เป็นช่วงเวลาที่มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

พูนสุข ระบุว่า ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกการดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 จนถึง ก.ค. 2566 รวมระยะเวลา 3 ปี ผลปรากฏว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จำนวนสูงถึง 1,918 ราย จากจำนวน 1,230 คดี ซึ่งเป็นการดำเนินคดีทางการเมืองที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยสมัยใหม่ 

ข้อสังเกตคือส่วนใหญ่เป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากถึง 1,469 ราย จากจำนวน 663 คดี เนื่องจากการดำเนินคดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด (พ.ศ. 2563-2565) ที่ตีคู่กันมาคือคดีมาตรา 112 จำนวนคดี 273 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดี 253 คน แต่มองว่าไม่นานก็คงจะขึ้นถึง 300 คดี และบางคนโดนคดีมาตรา 112 มากกว่า 1 คดีอีกด้วย ซึ่งคนที่โดนดำเนินคดีมาตรา 112 มากที่สุดคือ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมการเมือง ประมาณ 24 คดี

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 112 ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลังปลายปี 2563 แต่มีการใช้มาตรา 112 อย่างเข้มข้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 โดยคณะ คสช. นอกจากนี้ มีการนำคดีมาตรา 112 ขึ้นไปในการพิจารณาคดีของศาลทหาร ศาลทหารลงโทษจำคุกเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปีต่อกรรม ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน อัตราลงโทษจำคุกเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ปีต่อกรรมเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม มาตรา 112 เพิ่งมายุติการใช้ดำเนินคดีช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2561-2563 และกลับมาใช้ในปลายปี 2563 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงปี 2561-2563 (ปลายปี) จะไม่มีการใช้มาตรา 112 แต่มีการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ แทน รวมถึงการใช้มาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่น

ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สถานการณ์ผู้ถูกคุมขังและเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัวคดีทางการเมือง เดือนสิงหา 66 พุ่งสูงขึ้นเป็น 29 ราย

ปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาทางการเมืองพุ่งขึ้นเป็น 29 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 10 ราย ได้แก่ มาตรา 112 (อัญชัญ ปรีเลิศ ปริทัศน์ และ เมธิน) พ.ร.บ.คอมฯ (ศุภากร และเอกชัย หงส์กังวาน) คดีทะลุแก๊ส (ทัตพงศ์ สุวิทย์ และณัฐชนน) และสหพันธรัฐไท (กฤษณะ และวรรณภา)

ขณะที่คดีที่ยังไม่สิ้นสุด และอยู่ระหว่างพิจารณาคดี แม้ว่าบางคนถูกพิพากษาศาลชั้นต้น หรืออุทธรณ์ แต่ก็ยังสู้คดีได้อยู่ และควรได้รับสิทธิการประกันตัว มีด้วยกัน 19 ราย โดยแบ่งเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 7 ราย และคดีของทะลุแก๊ส อีก 12 ราย

พูนสุข ระบุต่อว่า ถึงแม้ว่าจะเห็นว่าม็อบซาลง และมีกลุ่มการเคลื่อนไหวจำกัดแค่บางกลุ่ม แต่การดำเนินคดีทางการเมืองยังคงไปต่อ โดยหลังปี 2563 มีสถานการณ์การจับกุม การให้ประกันตัว และการถอนประกัน การเรียกร้องสิทธิประกันตัว จนวิวัฒนาการไปสู่การอดอาหาร และน้ำ เพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิประกัน ขณะเดียวกัน ศาลก็มีการให้เงื่อนไขการประกันตัวที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การห้ามเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ให้ติดกำไล EM หรือมีการจำกัดให้ต้องอยู่ในบ้าน 24 ชม. เมื่อก่อนไม่มีการกักบริเวณภายในบ้าน 24 ชม. แต่ก็มีนำมาใช้กับคดีทางการเมือง

ปัจจุบันหลังการเลือกตั้ง และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้แล้ว คนจะไปให้ความสำคัญกับการแก้ไข หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ว่าคดีความทางการเมืองก็ยังเดินทางต่อ และตอนนี้ก็มีจำนวนผู้ถูกคุมขังทางการเมืองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คดีมาตรา 112 ของ "วารุณี" 

ทนายพูนสุข ในฐานะทนายความของวารุณี ได้พูดถึงคดีของวารุณี ปัจจุบันถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 เป็นระยะเวลา 3 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ จากกรณีโพสต์ภาพตัดต่อ (ซึ่งเธอไม่ได้เป็นคนตัดต่อภาพเอง) บนเฟซบุ๊ก เป็นภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต เป็นชุดราตรี และมีภาพสุนัข อยู่ข้างๆ และเขียนแคปชันว่า "แก้วมรกต x Sirivannavari Bangkok"

ภาพตัดต่อที่ถูกกล่าวหาว่าเอามาลงจนเป็นเหตุแห่งคดีนั้น มาจากขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวพระแก้วมรกต เมื่อ 20 พ.ย. 64 (ที่มา เว็บไซต์ royaloffice.th/)

วารุณี บอกกับทนายว่า เธอไปโพสต์เดิมทีไม่ทราบว่ามีภาพของรัชกาลที่ 10 อยู่ด้านหลังพระแก้วมรกต แค่มองว่าภาพตัดต่อออกมาได้ดี และเป็น 'มีม' และถ้าดูจากแคปชันที่วารุณี โพสต์จะเห็นว่าไม่ได้เจตนามุ่งหมายไปที่พระมหากษัตริย์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนำภาพไปโพสต์ และมีคนเข้ามาคอมเมนต์จำนวนมาก ก็ถูกกลุ่ม ศชอ. ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไปแจ้งความที่ บก.ปอท. จึงเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 

อนึ่ง กลุ่ม ศชอ. หรือชื่อเต็มคือ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ ก่อตั้งเมื่อ 2 ก.ย. 2563 มีแกนนำคือ นพดล พรหมภาสิต อดีตสจ๊วตสายการบินไทย กลุ่มดังกล่าวก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือคนที่ถูกบุลลี่ หรือกลั่นแกล้งทางสังคมออนไลน์ ซึ่งรวมถึงพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ที่ถูกบุลลี่ทางสังคมออนไลน์ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่ม ศชอ. ได้ประกาศปิดตัวกลุ่มอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผล มองว่าสังคมคืนสู่ภาวะปกติแล้ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พูนสุข ระบุต่อว่า ศาลนอกจากจะไม่รอการลงโทษแล้ว ยังไม่ให้ประกันตัว แม้ว่าวารุณี จะให้ความร่วมมือ มาตามนัดของศาลทุกครั้ง หลายคนอาจสงสัยว่า รับสารภาพไปแล้วจะสู้คดีหรือเรียกร้องสิทธิประกันตัวต่อทำไม แต่ว่าคดีของเธอยังไม่ถึงที่สุด และเธออยากจะต่อสู้ต่อว่าคดีของเธอไม่ร้ายแรง และเธอสำนึกผิดแล้วโดยการรับสารภาพ เธอควรจะได้รอการลงโทษ นี่คือสิ่งที่กำลังต่อสู้อยู่ แต่เรายื่นประกันตัวไปรวม 7 ครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธเรื่อยมา โดยศาลให้เหตุผลว่าเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แต่ว่าจำเลยให้ความร่วมมือ และมาตามนักตลอด แล้วศาลใช้เหตุผลว่าจะหลบหนีได้อย่างไร

นอกจากนี้ พูนสุข กล่าวเปรียบเทียบถึงคดีมาตรา 112 อีกคดีที่ศาลชั้นต้นมีบทลงโทษเท่ากับคดีของวารุณี คือจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน แต่คดีนั้นศาลให้ประกันตัว แต่ศาลพิเคราะห์คดีของวารุณี และบอกว่า คดีอัตราโทษสูงแทน ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มีมาตรฐานในการตัดสินคดีของกระบวนการยุติธรรม

ศาลบอกว่ากลัวหลบหนี แต่ไม่มีมาตรการอื่นๆ ในการป้องกันการหลบหนี หรือทั้งที่จริงๆ เธอไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนี เสนอให้มีการตั้งผู้กำกับดูแล ศาลก็ยังไม่ได้พิจารณาเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ เพื่อกันเขาหลบหนีและปล่อยตัวเขาออกมา ทั้งๆ ที่ลักษณะคดีเหมือนๆ กัน แต่ว่าทำไมผลถึงแตกต่างกัน

"สำหรับเราประเมินก็ควรได้ประกันทั้ง 2 คดีมากกว่า เป็นคำถามไปถึงศาลมากกว่าว่า เหตุใดถึงไม่ให้ประกัน ในเมื่อคดียังไม่สิ้นสุด และประสงค์ที่จะต่อสู้คดี และลักษณะคดีก็เหมือนกับ 2 คดีนี้ได้รับสิทธิประกันตัวเหมือนกัน" พูนสุข กล่าว 

ทำไมวารุณี ถึงการอดอาหาร-น้ำ ปฏิเสธการรักษาและทานยา

วารุณี ถูกคุมขัง และปฏิเสธปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 เรื่อยมาในระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ จนกระทั่ง 21 ส.ค. 2566 วารุณีประกาศอดอาหาร แต่ยังทานนมถั่วเหลือง 300 มิลลิตร จำนวนรวม 3 กล่องต่อวัน เพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัว และวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา วารุณี ประกาศอดอาหาร และน้ำ โดยยังทานน้ำระหว่างดื่มยาเท่านั้น 

วารุณี ถูกนำตัวส่ง รพ. ราชทัณฑ์ เมื่อ 30 ส.ค. เนื่องจากสุขภาพของเธอแย่ลง ต่อมา วันที่ 31 ก.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ยังไม่ให้ประกันตัววารุณี และล่าสุดวันที่ 2 ก.ย. 2566 ประกาศ อดอาหาร น้ำ และยา ปฏิเสธการรักษา (Dry Fasting) ทั้งหมด

ทนายพูนสุข เล่าว่า ตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่า วารุณี จะประกาศอดอาหาร แม้แต่น้องสาวของวารุณีเอง เพราะก่อนหน้านี้ วารุณี เคยเรียกร้องให้คนที่ประท้วงอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวทานข้าว เพราะว่าเป็นห่วง แต่กลายเป็นว่าตัวของวารุณี ก็ตัดสินใจอดอาหาร แม้ตัวเธอจะเคยไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว หลังจากที่ตัวเธอถูกคุมขังมาตั้งแต่ 28 มิ.ย. จนถึง 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะถึงจุดที่เธอทนไม่ได้แล้ว 

นอกจากนี้ วารุณีได้พูดกับทนายความเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยว่า ตอนวารุณี ตัดสินใจอดอาหาร หลายคนมาพูดว่าไม่รักตัวเองเหรอ ทำไมทำร้ายร่างกายแบบนั้น แต่วารุณี ตอบไปว่า ถ้ารักตัวเองจะปล่อยให้คนอื่นมากลั่นแกล้งโดยการถูกคุมขังแบบนี้เหรอ

ทนายพูนสุข บอกว่า ก่อนอดอาหาร วารุณีเขายอมทุกอย่างแล้ว เขาขอให้พ่อและน้องสาวไปขอขมากับพระพุทธชินราช และขอพระราชทานอภัยโทษ แต่วารุณี ก็ยังไม่ได้ประกันตัว เขารู้สึกว่าชีวิตของเขาถูกกระทบมากมายจากการถูกคุมขัง มีความจำเป็นอะไรที่ต้องเอาเขาไว้อยู่ในเรือนจำแห่งนี้ เธอรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเธอ ทำไมเธอต้องไปอยู่ตรงนั้น เขาไม่สามารถทนความเจ็บปวดที่เขาต้องถูกคุมขังได้อีกต่อไปแล้ว เขาบอกว่าเขาอยากออกไป แม้กระทั่งต่อให้เขาเสียชีวิต เขาก็อยากออกไปให้ได้

ทั้งนี้ ก่อนการอดอาหารและน้ำของวารุณี ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองมีการอดอาหารและน้ำ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวมาโดยตลอด หากย้อนไปเมื่อ 2564-2566 เคยมีผู้อดอาหาร และน้ำประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัวเกือบ 30 คน โดยคนที่อดอาหาร และน้ำมากที่สุด คือ ‘บุ้ง’ เนติพร เสน่ห์สังคม และ ‘ใบปอ’ ณัฐชนิช ดวงมุสิทธิ์ รวม 59 วัน รองลงมา คือ 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์ รวม 58 วัน

นอกจากวารุณีแล้ว เวหา แสนชนชนะศึก ได้ประกาศอดอาหารด้วยตั้งแต่เมื่อ 23 ส.ค. 2566 จนถึง 4 ก.ย. 2566 รวม 13 วัน เพื่อผลักดันเรียกร้องจำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ถูกคุมขังคดีการเมืองทุกคน 2. ให้ตัวแทนรัฐบาลใหม่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามารับข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากผู้ถูกคุมขังคดีการเมือง และ 3. อยากให้ตัวแทนรัฐบาลใหม่ตอบเรื่องความเป็นไปได้ในการ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้คดีที่มีมูลเหตุจากการเมือง

รายงานอัพเดทเมื่อ ก.ค. 2565 (ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ทำไมสิทธิการประกันตัวถึงสำคัญ

พูนสุข กล่าวว่า สิทธิการประกันตัวสำคัญ เพราะทำให้ผู้ต้องหาสามารถออกมาสู้คดี และพิสูจน์ตัวเองได้อย่างเต็มที่ เธออยากให้ความเห็นกรณีของวุฒิ อดีต รปภ. วัย 51 ปี ถูกอัยการมีนบุรีสั่งฟ้องในคดี มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความช่วงปี 2564 

ทนายพูนสุข ระบุต่อว่า คดีของวุฒิ มีนัดสืบพยานปลายปีนี้ แต่ถูกขังตั้งแต่วันที่อัยการฟ้องคดี เขาไม่มีโอกาสหาหลักฐานมาสู้คดี มาพิสูจน์ตัวเอง และเหมือนตัดสินเขาไปแล้วว่าเขากระทำผิด

พูนสุข กล่าวต่อว่า กรณีที่สะท้อนปัญหาเรื่องการต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวที่เด่นชัด คือกรณีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมการเมือง ที่ขณะนั้นถูกคุมขังในเรือนจำจากม็อบ19กันยา63 ตอนนั้น สมยศ ได้แถลงถึงปัญหาว่าเขาไม่สามารถหาพื้นที่เรือนจำในการเก็บกระดาษคำฟ้องซึ่งมีปริมาณมาก หรือจะหาพื้นที่ที่เงียบสงบเพื่อให้มีสมาธินั่งทำความเข้าใจเอกสารว่าเขาถูกดำเนินคดีเพราะเรื่องอะไร เพราะถ้อยคำอะไร เขายังหาพื้นที่แบบนั้นไม่ได้ในเรือนจำเลย แล้วเราจะให้ความยุติธรรมกับประชาชนเราได้ยังไง พื้นที่ในเรือนจำที่มีปัญหาอีกชุดหนึ่ง ไม่สามารถอำนวยให้มันเกิดความยุติธรรมในการต่อสู้คดีแบบเท่าเทียมกันได้

ทนายความประจำศูนย์ทนายฯ ระบุต่อว่า ที่เธออยากใช้หัวข้อว่า “ต้องอดอีกกี่ครั้ง” เพื่อล้อว่าทำไมลูกความ จำเลย หรือนักกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ต้องอดอาหาร เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว มันไม่ใช่เรื่องสนุกหรอก และเรื่องที่ใครอยากจะทำ แต่เรากลับไปหาเหตุผลว่า ทำไมเขาถึงต้องอดอาหาร ทั้งที่เขาควรได้รับตั้งแต่ต้น

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ทุกคนควรเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในทัณฑสถานมาตรฐานเดียวกัน

ทนายพูนสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ หลังจากทักษิณ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และถูกนำตัวไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว ก็มีการเปรียบเทียบกรณีการเข้าถึงสิทธิการรักษาในเรือนจำ ระหว่าง อากง หรือนอำพล ตั้งนพกุล และทักษิณ ชินวัตร

ทนายความจากศูนย์ทนายฯ มองว่า ก่อนหน้านี้มีคนบอกว่า พวกนี้โหนอากงอีกแล้ว แต่สำหรับเธอ เราไม่ได้จะโหนอากง แต่จำเป็นต้องพูดว่าอากงไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างไร จากคดีมาตรา 112 กรณีส่ง SMS ถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อ 8 ส.ค. 2553 

ทนายพูนสุข ระบุว่า ก่อนที่อากง จะเสียชีวิต เราพยายามจะประกันตัว และอธิบายต่อศาลโดยใช้ใบรับรองแพทย์ว่าแกเคยป่วยเป็นมะเร็ง แม้จะรักษาหายแล้ว แต่ก็ต้องมีการติดตามอาการ (Follow-up) ทุก 3-6 เดือน เพื่อเช็กอาการผิดปกติ แต่พอไม่มีการติดตามอาการ มันเลยทำให่ไม่ทราบว่า มะเร็งมีการลุกลามไปที่อื่นๆ จนไปที่ตับ และเป็นสาเหตุที่แกเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อำพล ตั้งนพกุล

ทนายพูนสุข ระบุต่อว่า จริงๆ อากงปวดท้องมาเป็นเดือนเหมือนกันกว่าจะได้ไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แกไม่ได้รับการรักษาในลักษณะที่วิเคราะห์ว่าแกเป็นโรคอะไรรึเปล่า เป็นแค่การรักษาตามอาการ แต่พอมาที่โรงพยาบาลประมาณวันศุกร์ แต่มันติดเสาร์ อาทิตย์ และวันจันทร์ ซึ่งวันจันทร์เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และโรงพยาบาลราชทัณฑ์หยุดทำการ ไม่มีคนมาตรวจวินิจฉัยว่าเป็นอะไรกันแน่ อากงได้รับเพียงการรักษาตามอาการ ถ้ามาตรวจเลือดวินิจฉัยต้องรอวันอังคาร เพราะเขาทำงานเวลาราชการ 

ทนายความพูนสุข ระบุว่า ที่น่าเศร้าใจก็คือว่า ในช่วงวิกฤตที่ต้องช่วยชีวิต ถ้าเราดูในหนัง เขาจะใช้เป็นเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า แต่การกู้ชีพของอากง จากที่เวชระเบียนที่บันทึกมา และผ่านปากคำของแพทย์ พยาบาลใช้ได้เพียง ‘Ambu-Bag’ ไม่มีการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ทั้งที่อากง อยู่ในโรงพยาบาล กลับไม่มีหมอมาช่วยกู้ชีพ คำตัดสินของศาลบอกว่าถูกแล้ว พยาบาลใช้ได้แค่ Ambu-Bag มันไม่สามารถใช้เครื่องอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อกู้ชีพได้ แต่ถามว่าทำไม ณ เวลานั้น ไม่มีแพทย์ในโรงพยาบาล ไม่มีอุปกรณ์พยาบาลเพื่อกู้ชีพผู้ป่วยในชั้นนั้น นี่คือคำถามสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ทนายพูนสุข ระบุว่า ที่หยิบยกเรื่องอากงขึ้นมา ไม่ได้จะบอกว่าทักษิณ ไม่ควรได้รับการรักษา แต่ต้องถามว่าทำไมคนอื่นไม่ได้รับการรักษาแบบที่ควรจะเป็นเหมือนทักษิณ ทุกคนในเรือนจำควรจะเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม

"ทุกคนควรได้รับสิทธิแบบนั้นถ้าเขาป่วย หรือว่าพวกเขากระทำความผิดพวกเขาต้องได้รับสิทธินี้ เรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นสิทธิขั้นต่ำในรัฐธรรมนูญ และต่อให้เขาเป็นผู้กระทำความผิด และต่อให้ในคดีอะไรก็ตาม คุณไม่สามารถลิดรอนสิทธิในการรักษาพยาบาลได้" ทนายความพูนสุข กล่าว 

นอกจากนี้ ทนายพูนสุข กล่าวด้วยว่า เคยได้ฟังจากวารุณี ว่าผู้ต้องขังห้องของวารุณี มีโควต้าในการเข้าถึงยาเพียง 5 เม็ดต่อห้องต่อวันเท่านั้น ถ้าคนป่วยมากกว่านั้นก็ไม่สามารถได้รับยา วารุณีบางวันต้องสละยาให้คนป่วยคนอื่น แม้ว่าวารุณี จะป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ หรืออารมณ์สองขั้ว โดยต้องทานยานอนหลับทุกวัน เพื่อให้นอนหลับได้ คำถามก็คือว่าถ้ามีคนป่วย 6-8 คน ทุกคนก็ต้องได้รับยาทุกคน ไม่ควรมีใครต้องเสียสละไม่ได้รับยา

ข้อเสนอระยะเร่งด่วนให้ประกันตัวนักโทษการเมืองทุกคน

ศูนย์ทนายฯ มีข้อเสนอในการยุติการดำเนินคดีกับผู้ที่โดนคดีทางการเมือง หรือถอนฟ้อง ถ้าไม่ได้ออกกฎหมาย ซึ่งตอนนี้มีผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมือง 19 คนระหว่างพิจารณาคดี พวกเขาควรได้รับสิทธิประกันตัว และสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ บนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

"เป็นข้อเสนอระยะสั้นมากด้วย เราไม่ควรเสียใคร เพราะว่าความไม่ยุติธรรม เพราะการดำเนินคดีทางการเมือง เพราะมาตรา 112 อีกแล้ว" พูนสุข กล่าว 

ระยะยาว ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองทุกคน

ส่วนระยะยาว ศูนย์ทนายฯ เสนอว่า ให้มีการยุติคดีทางการเมือง หรือการนิรโทษกรรมประชาชน เราคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่วาระที่นอกจากการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว เรื่องนี้ควรนำมาถกเถียงกัน ทักษิณได้รับโอกาสที่ควรจะเป็นในการรักษาพยาบาลแล้ว แต่ว่ามันไม่ควรจะปรองดองกันโดยที่นักการเมืองจับมือกันตั้งรัฐบาลกันได้ แล้วทักษิณได้รับการอภัยโทษคนเดียว แต่ไม่อยากให้ทอดทิ้งประชาชนที่ร่วมต่อสู้ และเขาก็มีอุดมการณ์ในการต่อสู้หรือเรียกร้องทางการเมือง

"จัดการความขัดแย้งให้ทุกคนได้จริงๆ คือคืนความยุติธรรมให้กับทุกคน คืนสถานะเดิมให้ได้มากที่สุด เขาควรจะได้กลับไปเป็นพลเมืองที่ไม่มีภาระทางคดีเต็มบ่า คือเวลาถูกดำเนินคดี มันไม่ใช่แค่คดี มันคือความเจ็บปวด มันคือความหนักอึ้ง มันคือปัญหาในทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทั้งครอบครัว มันคือผลกระทบทางจิตใจ เราเห็นตัวเลขแค่ 1 พันคน 2 พันคน เราเห็นตัวเลขคนเสียชีวิต 100 ศพตอนปี'53 ก็ตาม แต่ผลกระทบมันมากกว่านั้น

"เพราะฉะนั้น มันคือความยุติธรรมของสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าเราให้ความยุติธรรมแค่เฉพาะคน เฉพาะราย เฉพาะพรรคการเมือง แล้วบอกว่า เราจับมือกันแล้ว เรื่องนี้จบแล้ว ปรองดองหมดแล้วไม่ได้ เราคิดว่าเราควรจะต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง

"ศูนย์ทนายฯ ก็เป็นหัวหอกหนึ่งในการชวนพูด ชวนคุยเรื่องนี้เหมือนกันว่า การจัดการความขัดแย้งจะต้องมีการนิรโทษกรรมในเรื่องคดีทางการเมืองด้วย" พูนสุข กล่าว 

กระบวนการยุติธรรมต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

ทนายความจากศูนย์ทนายฯ เสนอว่า นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในสถาบันที่ควรได้รับการปฏิรูปทั้งระบบ รวมถึงกรมราชทัณฑ์ และสภาพการคุมขังในเรือนจำ กระบวนการยุติธรรมควรเป็นหลักในการพึ่งพิง หรือแก้ไขความขัดแย้งจริงๆ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัญหาความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น และก็ทุกคนควรจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

"เราคิดว่าไม่ใช่ภาระของรัฐมนตรี หรือของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภาระร่วมกันของสังคม และเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราจะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ และทุกคนควรจะต้องมีภาระในการผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้จริง" ทนายพูนสุข ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net