Skip to main content
sharethis

สรุปเสวนาประเด็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีการเมือง ย้ำต้องนิรโทษกรรมคดีม.112 เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด ถ้าไม่รวมก็ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ หวังร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องนิรโทษกรรมคดี ม.112

11 ธ.ค.2566 ที่อาคาร All Rise (สำนักงาน iLaw) มีงาน “Stand Together 3 : ฟังเสียงผู้ต้องหา ก่อนฟังคำพิพากษาคดี ม.112” โดยมีทั้งเสวนาประเด็นในกฎหมายนิรโทษกรรมของทั้งภาคประชาชนและของพรรคก้าวไกลและแนวโน้มสถานการณ์การพูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และช่วงเสวนากับผู้ที่ถูกดำเนินคดีม.112 ที่คดีกำลังจะมีคำพิพากษา 

ช่วงแรกเป็นการเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชน ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมตามประวัติศาสตร์” พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล iLaw ที่กล่าวถึงความสำคัญของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อยกเลิกการ

พูนสุขกล่าวว่า ที่ต้องนิรโทษกรรมคดี ม.112 เพราะว่าเป็นคดีที่มีส่วนในเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด ถ้าดูคดีมาตรา 112 นับตั้งแต่ปี 2553 ขึ้นมาก็จะเห็นความสัมพันธ์กับสถานการการณ์เมืองที่ร้อนแรงในเวลานั้นๆ เช่น คดีอากง เป็นต้น และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารก็มีการประกาศให้คดีตามมาตรา 112 เป็นคดี่ที่ต้องพิจารณาในศาลทหาร คสช.ได้ทำให้เห็นว่าเป็นคดีที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ จึงนับว่าเป็นคดีการเมืองแน่นอน

ทนายความกล่าวอีกว่าตั้งแต่ปี 2557 มีคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 105 คดี ตั้งแต่ปีหกหนึ่ง จนปลายหกสาม แทบจะไม่มีคดีเพิ่มเติมหรือมีการใช้อย่างพิศวงคือคดีที่ลงโทษ ไม่มีการลงโทษด้วยข้อหานี้แต่ไปลงในฐานคึวามผิดอื่น แต่หลังปี 2563 ก็จะเห็นความรุนแรงของการใช้นับกฎหมายมาตรานี้มากขึ้นเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศว่าจะใช้ทุกกฎหมายซึ่งก็คือรวมถึงการใช้มาตรา 112 ด้วย ได้ทำให้เป็นช่วงที่มีจำนวนคดีมาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าเมื่อเทียบจำนวนคดีข้อหามาตรา 112 แล้วไม่ได้มีจำนวนมากเท่าข้อหาอื่นๆ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ความขัดแย้งสูงกว่าคดีประเภทอื่นๆ ความเสียหายกับสังคมระบบกฎหมาย และนิติรัฐ มาก และการใช้มาตรา 112 ยังมีลักษณะเหวี่ยงไปมาทั้งในแง่การกำหนดโทษจำคุกและการนำมาใช้ จึงเป็นเวลาที่ควรพูดคุยถึงได้แล้ว

พูนสุขกล่าวต่อว่า ถ้าต้องการจะออกจากวงเวียนความขัดแย้งทางการเมือง เรื่อง ม.112 ก็ควรต้องถูกพูดถึงด้วยและที่ร่างนิรโทษกรรมของภาคประชาชนรวมมาตรานี้เข้ามาเพราะต้องการให้มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างมีวุฒิภาวะ ซึ่งถ้ามีการนิรโทษกรรมแล้วไม่รวมคดีม.112 เข้ามาก็ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง และจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ทำให้เกิดการเดินหน้าเข้าสู่ความขัดแย้ง ตลอดความขัดแย้งที่ผ่านมาเรื่อง ม.112 ก็ไม่เคยเงียบหายไปแต่วนกลับมาเสมอ

พูนสุขอธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนถึงประเด็นการลบประวัติอาชญากรรมด้วยว่าสำหรับคนที่ได้รับโทษจำคุกไปแล้วหรือถูกลงโทษจนครบโทษแล้วได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว ก็จะได้ประโยชน์จากการถลบประวัติอาชญากรรมด้วย และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นคนดำเนินการเพื่อไม่ให้ประชาชนที่ได้รับการนิรโทษกรรมไม่ต้องลำบากไปเดินเรื่องเอง ส่วนการเยียวยาหรือการจ่ายค่าชดเชยยังไม่ได้ระบุไว้โดยตรงซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไปศึกษาแล้วดำเนินการต่อไป

พูนสุขมองว่าข้อเสนอตามร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนนี้ก็เป็นข้อเรียกร้องที่ต่ำมากแล้วและคงต่ำไปกว่านี้ไม่ได้ ถ้าจะต้องหันหน้าคุยกันการนิรโทษกรรมจะต้องเริ่มทำก่อนเป็นอันดับแรก แต่ในสังคมอื่นเวลาพูดเรื่องความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านก็ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การค้นหาความจริง การเอาคนผิดมาลงโทษ ก็จะต้องทำเป็นลำดับต่อไป แต่ความเร่งด่วนของไทยตอนนี้คือมีคนที่ยังถูกดำเนินคดีอยู่ บางคนกำลังจะต้องเดินเข้าเรือนจำ หรือลี้ภัยออกนอกประเทศไปก็ต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้ก่อน

ส่วนเรื่องต้องมีร่างของประชาชนขึ้้นมาเพราะเห็นว่ายังมีแค่ร่างของก้าวไกลที่ไม่ได้ระบุชัดว่าจะนิรโทษรกรรมคดีอะไรบ้างแต่ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าคดีอะไรควรได้รับการนิรโทษกรรมบ้างซึ่งไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าคณะกรรมการจะรวมคดีม.112 เข้ามาด้วยหรือเปล่า

พูนสุขตอบประเด็นเรื่องที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐบาลว่าเรื่องร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นที่สำหรับพูดคุยกันอยู๋แล้ว ถ้าจะมีกลไกขึ้นมาเพื่อคุยกันถึงเรื่องความกังวลใจของแต่ละฝ่ายอย่างเช่นเรื่องการนิรโทษกรรมคดีม.112 มีความกังวลอะไรแล้วก็จะได้มีข้อสรุปร่วมกัน แล้วก็จะได้คุยถึงเรื่องอื่นๆ หลังการมีนิรโทษกรรมไปด้วย ซึ่งก็เห็นด้วยที่จะมีขึ้นมาเพื่อให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุยกัน

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องใหญ่และคงใช้เวลาอีกสักพักกว่ากฎหมายจะออกบังคับใช้ แต่ทุกเดือนก็มีคนโดนพิพากษาและบางคนก็อาจถูกคุมขังซึ่งเป็นหลักฐานของความขัดแย้ง องค์กรที่จะบรรเทาความขัดแย้งนี้ได้ก็คือศาลที่จะสามารถให้สิทธิประกันตัวก่อนได้ หรือกรณีของรักชนกที่ศาลอาจจะมีคำพิพากษาแล้วศาลจะส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ประกันก็ทำในวันเดียวกันได้ก็จะช่วยลดความขัดแย้ง

รัชพงศ์ แจ่มจิรไชยกุล จาก iLaw กล่าวว่าที่บอกว่าเป็นคดีความมั่นคงไม่ใช่การเมืองก็เป็นคำที่ได้ยินจากหลายพรรคการเมือง แต่เขาเห็นว่าคดีการเมืองและมีแรงจูงใจทางการเมืองคือคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงอยู่แล้ว และเรื่องพวกนี้เกี่ยวกับความมั่นคงมาโดยตลอด คดี ม.112 สำหรับคนที่ติดตามการเมืองช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้คือศูนย์กลางความขัดแย้ง และเรื่องนี้แค่ลองเดินไปถามคนทั่วไปว่ามีความเห็นอย่างไรกับกฎหมายม.112 ก็สามารถรู้จุดยืนทางการเมืองของเขาคนนั้นได้ทันที

ถ้าการนิรโทษกรรมคือการทำให้คนเห็นไม่ตรงกันหันมาเจอกันได้ ถ้าเห็นตรงกันว่าคนเห็นต่างไม่ควรติดคุก คดี ม.112 ก็ควรถูกเอามาร่วมด้วย เพราะทีผ่านมาม.112 เป็นยาแรงที่สุดในการจัดการกับคนเห็นต่างทางการเมือง แม้แต่ในประวัติศาสตร์ของตัวกฎหมายก็เป็นเรื่องการเมืองมาโดยตลอดทั้งเรื่องโทษและคนที่ได้รับการคุ้มครองในกฎหมายทั้ง 4 ตำแหน่งก็มาจากการแก้ไขกฎหมายโดยคณะปฏิวัติเมื่อปี 2516 แล้วก็เอามาใช้กับคดีการเมืองทันที ม.112 จึงเป็นคดีการเมืองแล้วคดีการเมืองก็เป็นคดีความมั่นคง

ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรมที่จะทำให้มีนักการเมืองได้ประโยชน์ไปด้วยนั้น รัชพงษ์มีความเห็นว่านักการเมืองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกันที่ออกไปใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแล้วถูกดำเนินคดี การที่บุคคลดังกล่าวจะมีสถานะอะไรอยู่จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญคือการกระทำของนักการเมืองคนนั้นควรถูกดำเนินคดีหรือไม่ถ้าไม่ใช่ก็ควรได้รับนิรโทษกรรมด้วย เขาจึงเห็นว่าเรื่องที่จะนักการเมืองจะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ไม่จำเป็นต้องยกมาคุย และยิ่งมีคำถามตามมาอีกว่าเมื่อนักการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนแล้วประชาชนอยากให้เขาพูดแต่กลับต้องมาถูกดำเนินคดีก็เท่ากับว่าคนที่เลือกนักการเมืองคนนั้นมาไม่ถูกต้องด้วยหรือเปล่า

ดังนั้นการนิรโทรกรรมจึงไม่ใช่เรื่องทำเพื่อผลประโยชน์ฝ่ายเดียว เรารู้กันว่าคนโดน ม.112 เพราะเรื่องการเมืองถ้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่รวม ม.112 เข้าไปด้วยก็คือการทำเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจริงๆ แล้วถ้ามีคนถูกดำเนินคดีการเมืองคนหนึ่งได้นิรโทษกรรมแต่อีกคนไม่ได้ การนิรโทรกรรมก็จะไม่ใช่การนิรโทษกรรมเช่นกัน

รัชพงษ์ตอบในประเด็นเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการมาศึกษาการนิรโทษกรรมเยอะแล้วก็ไม่รู้จะศึกษาอะไรอีก แต่ถ้าจะตั้งก็ตั้งเพื่อให้ได้คุยกันแต่ก็ต้องตั้งเงื่อนไขเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการถ่วงเวลาคือในระหว่างที่ศึกษาก็ควรมียุติการดำเนินคดีไปก่อนแล้วจะใช้เวลาศึกษาเท่าไหร่ก็ได้ แต่ระหว่างนี้การพิจารณาคดีต่างๆ จะต้องหยุดดำเนินการไปก่อน

รัชพงษ์อธิบายเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า กระบวนการยุติธรรมไทยตอนนี้ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมปกติ และต้องเข้าใจก่อนว่าในความขัดแย้งทางการเมืองตัวกระบวนการยุติธรรมเองก็เข้ามามีส่วนในความขัดแย้งด้วยเหมือนกัน แต่เรื่องการแบ่งอำนาจ 3 ฝ่าย ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ควรจะต้องมีการถ่วงดุลกัน แต่ในไทยฝ่ายตุลาการมีสถานะอยู่บนสุดตรวจสอบ 2 ฝ่ายจนชิน แต่ไม่มีใครตรวจสอบอำนาจตุลาการเลย แม้ว่าที่ผ่านมาตุลาการจะใช้อำนาจอย่างขัดสามัญสำนึกขนาดไหนก็ตาม แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ควรจะต้องถ่วงดุลก็ไม่ได้ทำ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถถ่วงดุลได้ผ่านการออกกฎหมายก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจตุลาการได้

รัชพงษ์กล่าวว่ามีอยู่ 4 ประเด็นที่ต้องจับตากรณีที่มีการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจากฝ่ายๆ ต่างมา

ประเด็นแรก คือ เริ่มนิรโทษกรรมย้อนถึงเมื่อไหร่ ที่ผ่านมามีหลายฉบับที่เสนอตรงกันคือนับตั้งแต่ 19 ก.ย.2549 ก็จะทำให้คดีที่เกิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถูกนับรวมหมด แต่ต่างจากของพรรคก้าวไกลที่เริ่มนับตั้งแต่ 11 ก.พ.2549 ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มชุมนุม

ประเด็นที่สอง คดีประเภทใดบ้างที่ถูกนับรวม ถ้าดูนิรโทษกรรมสุดซอยที่พรรคเพื่อไทยเกือบจะผ่านออกมาได้ก็นับรวมเข้ามาหมดเลย ทั้งประเภทคดีและคนแต่ก็ยังไม่รวม ม.112 ซึ่งของภาคประชาชน ก็มีการกำหนดประเภทคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้ ส่วนการเขียนแบบของพรรคก้าวไกลที่เปิดกว้างไว้ก่อนโดยไม่ได้ระบุว่าจะมีความผิดฐานไหนบ้างแต่ถ้าเป็นคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองก็ให้คณะกรรมการพิจารณา

ประเด็นที่สาม ไม่รวมคดีอะไรบ้าง บางฉบับเขียนชัดว่าคดีแบบไหนไม่รวม เช่น ฉบับสุดซอยที่ไม่รวม ม.112 หรือร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชนและพรรคก้าวไกลก็จะไม่รวมม.113 คือการไม่นับรวมคนที่ทำรัฐประหารล้มล้างการปกครอง

ประเด็นที่สี่ คือรวมเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหรือเปล่า อย่างกรณีฉบับสุดซอยก็จะรวมทั้งคนสั่งการทั้งผู้ปฏิบัติ แต่บางร่างก็จะไม่นิรโทษกรรมให้คนทำรัฐประหารหรือใช้ความรุนแรง

ผู้คนที่กำลังจะต้องเดินหน้าเข้าคุกเพราะใช้เสรีภาพของตน

อติรุจ จำเลยคดีตะโกนใส่ขบวนเสด็จ "ไปไหนก็เป็นภาระ" เล่าว่าเริ่มจากการไปชุมนุมเพราะได้รับรู้เรื่องวันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหายกันกลางวันแสกๆ โดยไม่มีการดำเนินการอะไรจากรัฐไทยเลย ก็เลยเห็นว่าเป็นคนธรรมดาที่โดนอุ้มกันได้ง่ายๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าใกล้ตัวมากที่ใครจะโดนอุ้มก็ได้ แต่เวลาเขาไปม็อบก็ไปเป็นมวลชนเฉยๆ แต่ม็อบที่จุดประกายความคิดก็คือม็อบที่ลานพญานาคที่มหาวิทยาลัย รังสิตเมื่อ 10 ส.ค.2563 ที่มีการเสนอข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ

อติรุจเล่าถึงคดีที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากการไปตะโกนใส่ขบวนเสด็จ ตอนโดนคดีก็โดนคนเดียวทำให้ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ถูกพอไปอยู่สถานีตำรวจ 2-3 ชั่วโมงไม่มีใครรู้ แต่ก่อนจะถูกจับก็มีเจ้าหน้าที่มายืนล้อมนานสิบนาทีแล้ว แล้วก็มีคนที่มารอรับเสด็จถามว่าจะไปนั่งมั้ย หลังตะโกนก็ถูกใช้กำลังเข้าจับกุมพอเขาถามว่าเป็นใครมาทำกับเขาแบบนี้ทำไมก็ไม่มีใครแสดงตัวและไม่ยอมบอกว่าจับทำไม

อติรุจกล่าวว่า เขาถูกขังไว้ใน สน. หนึ่งคืนโดยไม่ได้ถูกนำไปฝากขังที่เพราะติดวันเสาร์ แต่เขาต้องรู้สึกประหลาดใจกับการที่มีหมายศาลไปค้นบ้านในวันอาทิตย์ได้ แล้วการกระทำของเขายังเกิดที่อื่นด้วยทั้งที่ก็มีการตรวจค้นสิ่งของตอนจับกุมไปแล้วด้วย อีกทั้งเขายังถูกพาไปโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อตรวจสุขภาพจิตในกระบวนการเขาถูกมัดแขนมัดขาจนต้องตามเพื่อนและญาติมาปฏิเสธการรักษา แล้วเหตุผลที่เจ้าหน้าที่อ้างคือระหว่างการจับกุมมีการขัดขืนแล้วเขามีการเอาเท้าวางบนโต๊ะ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังได้ความช่วยเหลือจากทนายความอยู่

อติรุจกล่างถึงการใช้ม.112 ของไทยว่าเมื่อเทียบกับการแสดงออกของคนที่ไปชุมนุมประท้วงคิงชาลส์ยังโดนแค่เรื่องการใช้เครื่องเสียงที่ไม่มีโทษจำคุก แต่ทำไมไทยที่มีระบบการปกครองที่ได้ฐานคิดมาจากอังกฤษกลับแตกต่างกันอย่างชัดเจนมาก ก็มีคำถามว่าอยากใช้แบบไทยๆ แบบนี้ต่อไปหรืออยากจะพัฒนาให้ดีขึ้น

ส่วนเรื่องผลกระทบจากคดี อติรุจบอกว่าเขาทำงานบริษัทข้ามชาติการลาไปศาลก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วแต่ก็มีถูกเพื่อนร่วมงานถามบ้างซึ่งเขาเห็นว่าการพูดถึงเรื่องคดีการเมืองเป็นเรื่องปกติไม่ได้ถึงกับพูดไม่ได้ขนาดนั้น

"โจเซฟ" จำเลยคดีปราศรัย "ใครฆ่าพระเจ้าตาก" เล่าถึง 3 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขามาสนใจการเมืองและต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มมาตั้งหลังจากไปเรียนที่นิวซีแลนด์แล้วได้กลับมาไทนตอนอายุ 14 ก็ทำให้เขาก็ได้เห็นคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันมากระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ทั้งที่ก็อยู่ในระบอบการปกครองแบบเดียวกัน ตอนนั้นเขารู้เศร้าถึงกับร้องไห้เพราะไม่เข้าใจว่าคุณภาพชีวิตในไทยแย่มาก คนแก่ต้องกระเสือกกระสนหาเลี้ยงชีพ

โจเซฟเล่าว่าช่วงใกล้จะเรียนจบและกำลังจะกลับไทยก็ได้เห็นการรุกฮือของพี่น้องเสื้อแดงซึ่งตัวเขาเองก็รู้สึกถึงความเป็นเสื้อแดงของตัวเอง แล้วก็หวังจะได้เห็นคนลุกมาทวงสิทธิของตัวเองที่จะได้รับการดูแลจากรัฐ แต่หลังการชุมนุมของเสื้อแดงถูกปราบปราม เขารู้สึกโชคดีที่ได้เจอ ดารุณี กฤตบุญญาลัย ที่ได้ตั้งคำถามกับเขาว่าพี่น้องเสื้อแดงที่โดนฆ่าเพราะใครเรื่องนี้ทำให้เขาได้ตาสว่างทางการเมืองหลังจากนั้นเรื่อยมา

เหตุการณ์ที่สาม คือการปราศรัยของอานนท์ นำภา ที่ทำให้รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ควรได้รับการยกมาพูดคุยอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

โจเซฟเล่าถึงคดีของเขาว่าคดี ม.112 คดีแรกของเขาเกิดขึ้นจากการไปอ่านแถลงการณ์เรื่องการใช้พระราชอำนาจนอกราชอาณาจักรที่หน้าสถานทูตเยอรมัน แต่คดีที่กำลังจะตัดสินนี้เป็นคดีที่ไปปราศรัยในม็อบวันจักรีเรื่องการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 1 ทั้งที่การพูดเรื่องนี้จะเป็นการพูดถึงคนที่ตายไปแล้วแต่ก็ยังโดน ม.112 ได้ทั้งที่มีคุ้มครองเพียงแค่ 4 ตำแหน่ง แต่มันไปเกี่ยวยังไงกับคนที่ไปตายไปแล้วกว่า 200 ปี แล้วก็ยังพูดถึงเรื่องลัทธิเทวราชที่เอามาใช้ในการสร้างสิทธิธรรมให้กับผู้ปกครอง ก็มีคำถามว่าถ้าศาลยึดตามตัวบทกฎหมาย ก็ควรจะต้องยกฟ้อง แต่เพราะเป็น ม.112 ทั้งที่ตามหลักอาญาแล้วต้องตีความเคร่งครัด แต่เขาก็เห็นว่า ม.112 ถูกใช้ตามอารมณ์ของศาลหรือผู้บริหารศาล

โจเซฟเล่าว่าอานนท์เคยบอกว่าการไปศาลให้ไปอย่างมีความสุข เขาจึงตั้งปณิธานว่าจะใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุขต่อให้ถูกคุมขังก็จะยังสู้ต่อไป เขาจะไม่ยอมให้สลิ่มคนใดมาหัวเราะเยาะที่เขาต้องมาโดนคดีแบบนี้ แต่การบริหารจัดการไม่ให้ตัวเองเป็นเหยื่อก็ยังมีอยู่บ้าง อย่างการทำมาค้าขายการจะขยายกิจการก็ทำไม่ได้เพราะเป็นธุรกิจที่เขาทำอยู่เป็นธุรกิจขนาดเล็กก็ไม่รู้ว่าจะมีใครมาดูแลต่อมั้ย แต่ก็พยายามจะมองให้เป็นเรื่องบวกอยู่ดีจะไม่ยอมให้ใครมาด้อยค่าการต่อสู้ของเขา

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (แอมมี่) จำเลยคดีม.112 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ เล่าว่าเขาสนใจประเด็นทางการเมืองอยู่บ้างตั้งแต่ยังเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนสอนประวัติศาสตร์ที่ก็มีการสอนไม่ได้เป็นไปตามหลักสูตรทั่วไปอยู่แล้วยังโชคดีที่ได้เรียนกับอาจารย์สอนเรื่อง 6 ตุลา 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ ค่อนข้างเข้มข้นที่ได้ทำรายงานเรื่องนั้นๆ จนถึงสิ้นปี แล้วตัวเขาก็รู้สึกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาเพราะตรงกับวันเกิด แต่ก็ยังไม่ได้มีความคิดทางการเมืองแข็งแรงมาก จนกระทั่งได้เห็นการชุมนุมที่ลานพญานาค แล้วก็ฮอคแฮกเกอร์ที่เป็นเพื่อนศิลปินและใกล้ชิดกันถูกจับกุมซึ่งก็ได้ตามไปให้กำลังใจเพื่อนแล้วหลังจากนั้นมาก็ถูกชวนขึ้นเวทีชุมนุม

ไชยอมรกล่าวถึงเรื่องกฎเหล็กในวงการบันเทิงที่ไม่ให้ดาราศิลปินมาแสดงออกทางการเมืองว่า ที่เขามาร่วมเพราะเห็นว่าส่วนหนึ่งของการที่จะชนะทางการเมืองได้ก็เพราะมีชนชั้นกลางมาร่วม ซึ่งเขาก็อยากให้เห็นเป็นตัวอย่างให้ศิลปินและชนชั้นกลางที่มองเห็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้าแล้วจะไม่นิ่งเฉย แต่การเข้าไปในเรือนจำก็มีผลกระทบตามมาว่าแล้วถ้ามาร่วมก็จะโดนแบบเขาแล้วก็จะต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ แม้ว่าอาจจะบอกได้ว่าชนะแต่ก็เป็นชัยชนะทางวัฒนธรรม

ไชยอมรเล่าถึงการต่อสู้คดีของเขาว่าล่าสุดศาลก็ไม่ให้เบิกตัวอานนท์ที่เป็นทนายความในคดีของเขามา และเขายังได้เล่าถึงตอนที่ถูกเอาตัวไปคุมขังที่เรือนจำธนบุรีจากกรณีที่โดนคดีเผา ตอนนั้นวันที่เข้าไปในเรือนจำก็โดนแก้ผ้าหมดก็รู้สึกอับอายซึ่งตอนนั้นเขาคิดว่าที่ถูกส่งแยกไปเรือนจำธนบุรีครั้งนั้นเพราะอยากให้เขาถูกข่มเหง เพราะคดีก่อนหน้านั้นเขายังถูกส่งไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่มีนักโทษการเมืองคนอื่นๆ อยู่คอยให้กำลังใจกัน แต่ที่แปลกก็คือทางเจ้าหน้าที่เรือนจำก็กลัวสิ่งที่เขาทำมากกว่า ทั้งการพูด ร้องเพลง หรือเขียน และพยายามไม่ให้เขาได้สื่อสารกับคนในเรือนจำคนอื่นๆ

ไชยอมรยังกล่าวถึงผลกระทบจากการที่โดนคดีด้วยว่า หลังจากโดนคดีแล้วก็มีคิวงานก็โดนยกเลิกไป ถึงเป็นร้านที่บอกว่าเคลียร์ให้มาแสดงได้แต่สุดท้ายก็เคลียร์ให้ไม่ได้ และอาจจะเพราะเขาไม่ได้มีผลงานใหม่ๆ ด้วย แต่ระหว่างที่คดียังไม่มีความชัดเจนนี้ก็เลยเป็นโอกาสให้ได้เขียนเพลงออกมา 15 เพลง ถ้าสุดท้ายเขาติดคุกก็จะมีเพลงออกเดือนละเพลง แม้ว่าในส่วนดนตรีอาจจะยังไม่สมบูรณ์แต่ก็ต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อน

นอกจากนั้นไชยอมรบอกว่าอีกเรื่องที่เขาตั้งใจจะทำไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา ก็คือการเยียวยานักโทษการเมือง ซึ่งเขาก็คิดว่าจะใช้ศิลปะกับดนตรีมาช่วยในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมือง

รักชนก ศรีนอก สส.เขต ของพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เธอเข้าใจถึงความโกรธแค้นที่ไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้ในประเทศนี้ แต่ก็อยากให้ช่วยกันพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ในสุ้มเสียงทำความเข้าใจกับคนที่ไม่เข้าใจว่า ม.112 มีปัญหาอย่างไร ถึงแม้ว่าคนที่ออกมาชุมนุมอาจจะเข้าใจแต่คนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองหรือมาชุมนุม เราจะทำให้เขาเข้าใจได้อย่างไรว่ากฎหมายมีปัญหา ก็ต้องพูดคุยกันในเสียงแบบฉันท์มิตรกับคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามหรือความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน ถ้าต้องการฉันทามติที่จะแก้กฎหมายนี้จะมีแต่ฝั่งผู้ชุมนุมคงไม่ได้ แต่ต้องได้ฉันทมติจากคนทั้งสังคมนั้นมา

รักชนกบอกว่าตัวเองโดนคดี ม.112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เธอมองว่าการมีสถานะ สส.ของเธออาจจะโชคดีกว่าหลายคนที่โดนคดีเพราะยังมีเหตุเลื่อนฟังคำพิพากษาได้เพราะการประชุมสภา แล้วก็ยังมีแสงที่ส่องมามากกว่ามีคนให้ความสนใจมากกว่า ก็เลยโชคดีกว่าคนอื่นๆ ที่ผ่านมาก็พยายามใช้สถานะตรงนี้ส่องไปถึงคนอื่นๆ ที่อยู่ในเรือนจำ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

รักชนกกล่าวด้วยว่า สำหรับเธอเองที่เดินเข้าสู่กระบวนการก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้มีความยุติธรรมแบบที่เป็นสากล แต่ก็ยังคาดหวังว่าคนในกระบวนการจะปฎิบัติอย่างตรงไปตรงมา ถ้าคดียังไม่สิ้นสุดก็ไม่ควรทำเหมือนเขาเป็นนักโทษและควรจะได้รับสิทธิประกันตัว ก็อยากให้กำลังใจกับคนอื่นๆ ที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net