Skip to main content
sharethis

ในช่วงที่ฝ่ายขวาจัดของสหรัฐฯ พยายามให้ความชอบธรรมต่อการเรียกร้องแบนหนังสือจากห้องสมุดสหรัฐฯ และจากห้องเรียนของนักเรียนโดยอ้างเรื่อง "สิทธิของผู้ปกครอง" แต่ก็มีผลการสำรวจเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครองร้อยละ 74 ที่ระบุว่าการสั่งแบนหนังสือจากห้องสมุดประชาชนนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิในการตัดสินใจของลูกๆ พวกเขา

สถาบัน EveryLibrary และ Book Riot ทำการสำรวจโดยมุ่งหวังที่จะเก็บข้อมูลความคิดเห็นของพ่อแม่และผู้ปกครองเกี่ยวกับการแบนหนังสือที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ รวมถึงเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการเลือกหนังสือของห้องสมุด และความคิดเห็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นที่อ่อนไหวในหนังสือเด็ก เช่นเรื่องเพศ, ตัวละคร LGBTQ+ รวมธีมเรื่องเชื้อชาติสีผิวกับประเด็นความเป็นธรรมในสังคมอื่นๆ

เนื้อหาต่างๆ เหล่านี้ฝ่ายขวาในสหรัฐฯ มองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวและมีการเรียกร้องให้แบนหนังสือที่มีเนื้อหาเหล่านี้ในหลายๆ รัฐ เช่น เมื่อเดือนไพรด์ มิ.ย. ที่ผ่านมารัฐไอโอวาก็ออกกฎหมายใหม่ห้ามไม่ให้มีการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนและมีการแบนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ โดยอ้าง "สิทธิของผู้ปกครอง" ทั้งๆ ที่มีผลสำรวจออกมาว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุน LGBTQ+

แบบสำรวจของ EveryLibrary ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมห้องสมุดระดับประเทศของสหรัฐฯ กับ Book Riot ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่ออิสระด้านหนังสือและวรรณศิลป์แห่งอเมริกาเหนือ แสดงให้เห็นว่ามีผู้ปกครองร้อยละ 92 ระบุว่า พวกเขารู้สึกว่าเด็กๆ ของตัวเองปลอดภัยที่ห้องสมุด, มีร้อยละ 67 เชื่อว่า "การแบนหนังสือเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า" และมีร้อยละ 58 ที่มองว่าบรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่สิทธิในการตัดสินใจเป็นอันดับหนึ่งว่าจะให้มีหนังสือเล่มไหนในห้องสมุดประชาชนบ้าง ถึงแม้ว่าร้อยละ 53 ระบุว่าไม่ทราบบรรณารักษ์ใช้วิธีไหนในการคัดเลือกหนังสือก็ตาม

นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ปกครองร้อยละ 87 ที่เห็นด้วยบางส่วนหรือทั้งหมดในเรื่องที่ว่า "ตัวละครในหนังสือควรจะมีความหลากหลายและสะท้อนชุมชนที่หลากหลาย" มีร้อยละ 82 สนับสนุนให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ "มีหัวข้อหรือธีมที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียง" ได้ มีร้อยละ 67 เชื่อว่าห้องสมุดควรจะมีหนังสือเด็กที่พูดถึงประเด็นในเรื่องปัญหาการเหยียดเชื่อชาติผิวและเรื่องเพศ มีเกือบร้อยละ 61 ที่ระบุว่าหนังสือที่คัดเลือกเข้าห้องสมุดควรจะมีหนังสือเด็กที่มีตัวละครหรือเรื่องราวที่เป็นความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ รวมอยู่ด้วย

มีพ่อแม่ผู้ปกครองร้อยละ 66 ที่ระบุว่าหนังสือที่ลูกๆ ของพวกเขายืมมาจากห้องสมุดไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ ผู้ปกครองร้อยละ 67 ตอบว่า "ไม่" กับคำถามที่ว่าลูกๆ ของพวกเขาเคยรู้สึกไม่สบายใจกับหนังสือที่พวกเขายืมจากห้องสมุดหรือไม่

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ปกครองก็ดูจะต้องการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดด้วย มีร้อยละ 95 ที่ระบุว่าผู้ปกครองควรจะมีส่วนช่วยให้เด็กตัดสินใจว่าพวกเขาจะอ่านอะไร มีร้อยละ 90 ที่เห็นด้วยบางส่วนหรือเห็นด้วยทั้งหมดว่าผู้ปกครองควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเด็กควรจะอ่านอะไร และมีร้อยละ 53 ที่มองว่ากลุ่มผู้ปกครองควรจะมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด

จอห์น ชราสต์กา ผู้อำนวยการบริหารของสถาบัน EveryLibrary กล่าวว่า "รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องห้องสมุดประชาชนและประเด็นปัจจุบันที่พวกเขาเผชิญอยู่"

EveryLibrary ทำการสำรวจในเรื่องนี้เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาโดยร่วมมือกับ Book Riot ในช่วงระหว่างปีการศึกษา 2566-2567

ชราสต์กากล่าวต่อไปว่าองค์กรของพวกเขาร่วมกับ Book Riot ในการส่งเสริมห้องสมุดเพื่อให้มีบริการที่เข้ากับความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้ผลการสำรวจในครั้งนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาบริการของห้องสมุดและดำเนินการตามความคำนึงของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและลูกหลานได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากห้องสมุด

เคลลี่ เจนเซน จาก Book Riot บอกว่า พวกเขาหวังว่าการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะสามารถให้ข้อมูลที่ชวนคิดเกี่ยวกับ "ประเด็นที่ซับซ้อน" อย่างเรื่องการแบนหนังสือและการเซนเซอร์ได้

"เป้าหมายสูงสุดของพวกเราคือการทำให้เกิดการพูดคุยหารืออย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนห้องสมุดและผู้ใช้งานของพวกเขาในการฝ่าฟันสภาพการณ์ที่ท้าทายนี้" เจนเซนกล่าว

ปัญหาฝ่ายขวาจัดแบนหนังสือในสหรัฐฯ

ผลการสำรวจในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่มีรายงานอื่นๆ ออกมาเมื่อไม่นานนี้ที่เน้นให้เห็นถึงปัญหาที่กลุ่มฝ่ายขวาพยายามแบนหนังสือจากห้องสมุดและในโรงเรียน

สำนักงานสมาคมห้องสมุดอเมริกันเพื่อเสรีภาพทางวิชาการได้ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีความพยายามรวม 695 กรณีในการที่จะแบนหนังสือรวมแล้ว 1,915 เล่มออกจากห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2565) และนับเป็นจำนวนการพยายามแบนหนังสือที่มากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลในเรื่องนี้มาตลอดราว 20 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้สมาคมนักเขียนอเมริกา (PEN) ยังได้ทำการสำรวจในช่วงปีการศึกษา 2565-2566 พบว่ามีการแบนหนังสือในโรงเรียนรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2564-2565 คืออยู่ที่ 3,362 กรณี เทียบกับปีก่อนหน้านี้คือ 2,532 กรณี ทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงหนังสือได้รวมแล้ว 1,557 เล่ม มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 40 ของการแบนหนังสือนี้เกิดขึ้นในรัฐฟลอริดา รัฐเดียวกับที่มีนักการเมืองพรรครีพับลิกัน รอน เดอซานติส ผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 และเป็นผู้ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ในเดือน ก.พ. 2566 เคยมีกรณีที่ครูในฟลอริดาถูกไล่ออกเพราะโพสต์คลิปวิจารณ์กฎหมายใหม่ Stop Woke Act ที่ออกมาเพื่อหวังเซนเซอร์เนื้อหาหนังสือเรียนโดยอ้างเรื่องการคุ้มครองเด็ก กฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่ากดเพดานเสรีภาพสื่อ PEN อเมริกาวิจารณ์ว่า ความคลุมเครือของกฎหมาย บทลงโทษที่รุนแรง และการวางแนวปฏิบัติที่ยังคงสับสนทำให้โรงเรียนต่างๆ อยู่ภายใต้บรรยากาศของความกลัวจนส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้

เรื่องราวในหนังสือที่ถูกสั่งแบนมีเรื่องเกี่ยวกับการเผชิญความรุนแรงหรือการถูกละเมิดทางร่างกายร้อยละ 48 มีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ร้อยละ 42 มีเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างตัวละครร้อยละ 33 เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนผิวสีหรือเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติสีผิวร้อยละ 30 มีตัวละครหรือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ LGBTQ+ ร้อยละ 30 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บปวดและการเสียชีวิตร้อยละ 29

หนึ่งในนักเขียน-กวี รูปิ กอร์ เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกระแสการแบนหนังสือจากพวกฝ่ายขวาโดยอ้างว่าเป็นเพราะเรื่องไม่เหมาะสมกับเด็ก โดยที่หนังสือของเธอเรื่อง "ปานหยาดน้ำผึ้ง" (milk and honey) ก็ถูกสั่งแบนเช่นกันในหลายเขตการศึกษาของรัฐมิสซูรี นอกจากนี้ยังมีการแบนหรือพยายามสั่งแบนโดยรัฐเท็กซัสและออริกอน โดยที่หนังสือของเธอพูดถึงเรื่องราวความรัก, แผลใจ และความเป็นหญิง

"ทำไมล่ะ เป็นเพราะมัน(หนังสือ)สำรวจเกี่ยวกับเรื่องการที่หญิงวัยรุ่นเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงหรือ" กอร์กล่าว เธอเล่าประสบการณ์ของตัวเองอีกว่าการมีเรื่องราวเช่นนี้ให้อ่าน จะทำให้เด็กหรือวัยรุ่นที่เผชิญกับความเจ็บปวดแบบเดียวกันรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวและรู้สึกว่าเรื่องราวความเจ็บปวดของพวกเธอได้รับการสะท้อนสู่สังคม

"ฉันจำได้ว่านั่งอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนมัธยมฯ อ่านหนังสือเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะว่าฉันไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งใคร นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจำนวนมาก" กอร์กล่าว

ซูซานน์ โนสเซล ซีอีโอของ PEN อเมริกากล่าวว่า "พวกคนที่มีความดื้อรั้นในการที่จะปิดกั้นเรื่องราวและแนวความคิดต่างๆ เป็นคนทำให้โรงเรียนของพวกเรากลายเป็นสนามรบ เป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้หลังยุคโรคระบาดหนัก บีบให้ครูออกจากห้องเรียน และปิดกั้นความสนุกสนานในการอ่านของเด็กๆ ... โดยการลิดรอนเสรีภาพในการอ่านของคนรุ่นที่กำลังเติบโตขึ้นเช่นนี้ ทำให้การแบนหนังสือเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำลังกัดกินรากฐานประชาธิปไตยของพวกเรา"

 

เรียบเรียงจาก

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net