Skip to main content
sharethis

รัฐกะเรนนีจัดตั้ง "สภาบริหารเฉพาะกาลแห่งรัฐกะเรนนี" ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารท้องถิ่นของตัวเองขึ้นมาแทนที่ของเผด็จการทหาร เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นทั้งการที่กลุ่มต่อต้านเผด็จการในพม่ากำลังมีอิทธิพลมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ก็มองว่ามันสะท้อนให้เห็นการที่กลุ่มอดีตพรรคเอ็นแอลดียังไม่สามารถทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ เชื่อใจพวกเขาได้เต็มที่จนผนึกรวมกำลังกันได้


แฟ้มภาพ Karenni Army Center- Kn.A.C

6 ส.ค. 2566 กลุ่มต่อต้านเผด็จการพม่าในรัฐกะเรนนี ทางตะวันออกของประเทศได้จัดตั้งรัฐบาลอิสระของตัวเองเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มเหล่านี้ และอาจจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดปฏิบัติการแบบเดียวกันได้ในที่อื่นๆ

แต่ขณะเดียวกันก็มีนักวิเคราะห์มองว่า การจัดตั้งรัฐบาลในท้องถิ่นในกลุ่มต่อต้านเผด็จการกลุ่มย่อยๆ อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันของขบวนการต่อต้านเผด็จการของพม่าในระดับแนวร่วมใหญ่ๆ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงตอนนี้ก็เป็นไปได้

มีการจัดตั้งสภาบริหารเฉพาะกาลแห่งรัฐกะเรนนี (IEC) ขึ้น โดยความร่วมมือกันของกลุ่มติดอาวุธ, กลุ่มการเมือง และภาคประชาสังคม เพื่อให้มีการบริหารจัดการรัฐบาลอย่างเป็นอิสระจากเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจของพม่าตั้งแต่ปี 2564

ทางสภาฯ ของกะเรนนีแถลงในวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา วันเดียวกับที่มีการจัดตั้งว่า พวกเขา "มีเป้าหมายต้องการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้มีการจัดหาบริการสาธารณะและเพื่อเติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่นการศึกษา สาธารณสุข อาหาร และปัจจัยที่จำเป็นอื่นๆ"

มีกลุ่มติดอาวุธหลากหลายกลุ่มตามที่ต่างๆ ของประเทศพม่าทำการสู้รบกับเผด็จการพม่ามาโดยตลอดนับตั้งแต่ที่กองทัพทำการโค่นล้มรัฐบาลของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งและใช้กำลังรุนแรงบดขยี้การประท้วงที่ตามมาหลังรัฐประหาร ในขณะที่เผด็จการพม่ายังไงยึดเมืองใหญ่ๆ เอาไว้ได้ และยึดเมืองเล็กๆ ไว้เป็นส่วนมาก แต่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการก็ดูเหมือนจะสามารถควบคุมหรือต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งในแถบชนบทเอาไว้ได้

กลุ่มติดอาวุธต่อต้านฝ่ายเผด็จการทหารที่ถูกแปะป้ายจากกองทัพพม่าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ได้ทำการยึดครองส่วนปฏิบัติงานพื้นฐานของรัฐบาลเอาไว้ได้ในจุดเล็กๆ บางจุด แต่ในรัฐกะเรนนีนั้นเป็นรัฐแห่งแรกที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการสามารถยึดครองส่วนปฏิบัติงานของรัฐบาลเอาไว้ได้ทั้งหมด

หรือจะกลายเป็นแนวทางใหม่สู่ "สหพันธรัฐประชาธิปไตย"

Khu Plu Reh เลขาธิการของรักษาการสภาบริหารแห่งรัฐกะเรนนี กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้เพื่ออุดช่องว่างความต้องการบริการพื้นฐาน หลังจากที่รัฐบาลประจำรัฐล่มสลายหลังจากการรัฐประหาร

Khu Plu Reh กล่าวว่า ทางสภาฯ ได้แต่งตั้งให้มีคนดำรงตำแหน่งในบางกระทรวงไปแล้วจากทั้งหมด 12 กระทรวง โดยจัดให้มีการบริหารงานโรงเรียน, โรงพยาบาล และบริการสาธารณะอื่นๆ Khu Ple Reh บอกอีกว่ากระทรวงเหล่านี้กำลังทำการเชื้อชวนให้ข้าราชการที่ปฏิเสธจะทำงานกับเผด็จการทหารเข้าร่วมกับพวกเขา โดยมีการสรรหาเงินทุนปฏิบัติการผ่านทางภาษี, การบริจาค และวิธีการอื่นๆ

นอกเหนือจากนี้แล้ว Khu Plu Reh ยังเปิดเผยอีกว่า ทางสภาท้องถิ่นของกะเรนนียังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การจัดตั้ง "สหพันธรัฐประชาธิปไตย" ที่พวกเขาต้องการให้มาแทนที่ระบอบเดิม ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการแทนที่เผด็จการทหารเท่านั้น แต่มาแทนที่รัฐบาลรวมศูนย์ของพม่าที่มีมานับตั้งแต่ที่พม่าเป็นเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษเมื่อปี 2491 เป็นต้นมาด้วย

Khu Plu Reh บอกว่าการก่อตั้ง IEC เป็นก้าวแรกเพื่อที่จะได้ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือการสร้างคณะบริหารประเทศของตนเอง พวกเขากำลังสร้างความเท่าเทียมและปฏิเสธการรวมศูนย์ทั้งหมดรวมถึง สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งเป็นรัฐบาลกลางที่ดำเนินการโดยเผด็จการทหารพม่าด้วย

"มันคือแนวทางใหม่" Khu Plu Reh กล่าว

หลายเดือนหลังจากที่เกิดการรัฐประหาร แนวร่วมกลุ่มต่อต้านเผด็จการทั่วประเทศพม่าพากันร่างสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น กฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตย ซึ่งเป็นโครงร่างสำหรับรัฐธรรมนูญในอนาคตเพื่อกำหนดให้กะเรนนีและพื้นที่ของกลุ่มน้อยชาติพันธุ์พื้นที่อื่นๆ มีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น

เดวิด แมทธีสัน นักวิเคราะห์ประเด็นพม่ากล่าวว่า การที่กะเรนนีจัดตั้งคณะบริหารของตนเองได้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มต่อต้านเผด็จการกำลังควบคุมพื้นที่ในประเทศได้มากขึ้นถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นควบคุมได้ทั้งหมด

แมทธีสัน มองว่าขบวนการต่างๆ ของกลุ่มปฏิวัติต่อต้านเผด็จการพม่ากำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งหมายถึงทั้งกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ, ฝ่ายการเมือง และกลุ่มภาคประชาสังคมร่วมมือกันบนฐานที่เท่าเทียมกันมากขึ้นในการขยายการปกครองในระดับย่อยๆ ของตัวเองออกไปทั่วพม่า

แมทธีสัน บอกอีกว่าสภากะเรนนีอาจจะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้กับกลุ่มอื่นๆ ที่ยังคงรอคอยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของฝ่ายประชาธิปไตยที่ตั้งขึ้นมาคู่ขนานกับเผด็จการพม่า ช่วยผลักดันให้พวกเขาออกมาสู่แถวหน้าของขบวน

"มันนับเป็นแรงบันดาลใจอยู่ส่วนหนึ่ง" แมทธีสันกล่าวถึงผลพวงของการตั้งสภาท้องถิ่นในกะเรนนี "มันเหมือนกับว่า ดูสิ คุณสามารถคิดอะไรให้เป็นท้องถิ่นได้ คุณสามารถทำมันเองได้ คุณไม่จำเป็นต้องรอให้ NUG เข้ามาสั่งคุณ ... ถ้าจะให้หา วลีคมๆ มาใช้อธิบายเรื่องทั้งหมดนี้ก็คงต้องเรียกว่า เป็น รัฐบาลแบบล่างขึ้นบน การปกครองตนเองแบบระดับรากสู่ยอด"

นอกจากนี้ แมทธีสัน และอ่องทุน ผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบัน ISEAS-ยูซอฟ อิชัก ที่มีฐานในสิงคโปร์ ยังบอกอีกว่า กลุ่มต่อต้านเผด็จการหลายกลุ่มในรัฐหรือภูมิภาคอื่นๆ ของพม่าก็กำลังพยายามจะจัดตั้งรัฐบาลรักษาการของตัวเองอยู่เหมือนกัน

อ่องทุนบอกว่า มีอะไรคล้ายๆ กันเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นรักษาการสภาแห่งรัฐของตัวเอง แต่ก็มีการกระทำคล้ายๆ กัน กลุ่มต่อต้านกองทัพเผด็จการที่ยะไข่สามารถควบคุมพื้นที่ได้บางส่วน ในที่เหล่านั้นพวกเขาจัดทำระบบการบริหารและระบบตุลาการของตัวเอง ในบางพื้นที่ถึงขั้นมีระบบภาษีของตัวเอง

แมทธีสัน บอกว่าการทำให้เป็นแบบเดียวกันกับรัฐกะเรนนีไปเลยอาจจะทำได้ยากในที่อื่น แต่ถ้าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นของตัวเองในรัฐหรือภูมิภาคอื่นๆ ก็อาจจะมีอะไรที่ต่างออกไป

กะเรนนีเป็นรัฐที่มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศกาตาร์ เป็นพื้นที่ๆ เล็กที่สุดในพม่าและมีประชากรน้อยที่สุดในพม่า แล้วกลุ่มประชากรก็มีความเหมือนกันในทางชาติพันธุ์มากที่สุดในพม่า กลุ่มต่อต้านเผด็จการที่กาเรนนียังสามารถนำเอาประสบการณ์อันลึกซึ้งของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกาเรนนีมาใช้ได้ด้วย โดยที่พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกาเรนนีเป็นพรรคที่ทำการต่อสู้กับกองทัพพม่าเพื่อเรียกร้องอิสรภาพมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ประธานของพรรคคือ Khu Oo Reh ยังได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานของรักษาการของสภาท้องถิ่นกาเรนนีด้วย

"ความคับข้องใจที่มีมายาวนาน" ต่อการที่พรรคเอ็นแอลดีปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะเดียวกันการก่อตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐกะเรนนีก็ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ NUG ต้องเผชิญคือการพยายามรวมกลุ่มต่อต้านเผด็จการไว้ด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น

ถึงกระนั้น สภารัฐกะเรนนีก็ให้สัญญาว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับ NUG ในขณะที่ Khu Plu Reh ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสภารัฐกะเรนนีและ NUG เป็นไปด้วยดี อีกทั้ง NUG ก็ได้แสดงความยินดีกับการเปิดตัวสภารัฐกะเรนนีด้วย

ก่อนหน้านี้ NUG เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทางพรรควิพากษ์วิจารณ์ NUG ว่าพยายามส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง "รัฐบาลประชาชน" ของตนเองบนพื้นที่ของกะเรนนีโดยไม่มีการประสานความร่วมมือกับพวกเขา

แมทธีสันกล่าวว่า ข้อพิพาทนี้สะท้อนให้เป็นว่ามีการแข่งขันกันอยู่บางส่วนระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพม่า รวมถึงสะท้อนให้เห็นความตีงเครียดที่ยังคงมีอยู่ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับพรรคเอ็นแอลดี พรรคเอ็นแอลดีเป็นพรรคที่นำโดยกลุ่มชนชาวพม่าซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นพรรคที่มีบทบาทอย่างมากต่อ NUG

แมทธีสัน กล่าวว่ามีความไม่พอใจเกิดขึ้นมายาวนานในเรื่องที่พรรคเอ็นแอลดีปฏิบัติต่อชุมชนชาติพันธุ์จำนวนมากในตอนที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาล จากนั้นหลังเกิดรัฐประหารรัฐบาลเงา NUG ก็ยังคงดูเหมือนจะเน้นให้ความสำคัญกับพรรคเอ็นแอลดีเป็นหลัก อีกทั้งยังมีทัศนคติแบบ "เกิดมาเพื่อปกครองคนอื่น" ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกไม่พอใจ

อ่องทุนบอกว่าปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ามีการหารือกันไม่มากพอในหมู่กลุ่มต่อต้านเผด็จการกลุ่มต่างๆ ทำให้อ่องทุนมองว่าพวกเขาควรจะหารือกันให้มากกว่านี้ ควรจะมีการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ในเรื่องการแบ่งสรรอำนาจปกครอง ในเรื่องอำนาจบริหาร ในเรื่องอำนาจตุลาการ ในเรื่องอำนาจทางการเงิน ในเรื่องการจัดสรรทรัพยากร มันจะกลายเป็นเรื่องทางการเมืองที่ซับซ้อนถ้าหากพวกเขาไม่นั่งลงเจรจาร่วมกันและตกลงกันได้ในเรื่องสัญญาข้อตกลงการแบ่งสรรอำนาจ


เรียบเรียงจาก

Myanmar Resistance Groups Declare First Anti-Junta State Council, Voice of America, 30-07-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net