Skip to main content
sharethis

ชาวเชียงใหม่รวมตัวที่ลานท่าแพ เรียกร้อง ‘สภาต้องฟังเสียงประชาชน’ ผู้ชุมนุมระบุ “โจรยังแค่ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เปลี่ยนกฎหมายมาเป็นอาวุธเหมือนสภาและศาลรัฐธรรมนูญ” หลังที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบเสนอชื่อ 'พิธา' ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซ้ำรอบ 2 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่กลางสภา จากกรณีถือหุ้นไอทีวี

19 ก.ค. 2566 เวลา 17.00 น. ชาวเชียงใหม่รวมตัวชุมนุมที่บริเวณลานท่าแพ เรียกร้อง ‘สภาต้องฟังเสียงประชาชน’ พร้อมประกาศจุดยืน ‘นายกของหมู่เฮาคือพิธา’ หลังที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมาก 395 ต่อ 312 เสียง ไม่เห็นชอบเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซ้ำรอบ 2 นอกจากนี้ผู้ชุมนุมที่มายังแสดงออกคัดค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่กลางสภา เพื่อรอศาลวินิจฉัยว่าสิ้นสภาพความเป็นสมาชิกสภาพ ส.ส.หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นไอทีวี

ทั้งนี้ เวทีชุมนุม ‘สภาต้องฟังเสียงประชาชน’ เชียงใหม่ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนขึ้นมาปราศรัยระบายความรู้สึกต่อการโหวตเลือกนายกฯ ที่ประเทศไทยไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งผ่านมาหลายเดือน

กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปราศรัยระบุ การชุมนุมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ประชาชนมารวมตัวกันด้วยความโกรธ โจรยังแค่ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เปลี่ยนกฎหมายมาเป็นอาวุธของตนเองเช่นเดียวกับสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมไทย ใครก็ตามที่เป็นนักกฎหมายก็คงโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นกันทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาและศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือจำนวนมาก คล้ายกับว่าประชาชนกำลังโดนเหยียบหน้าอยู่

“โจรยังแค่ทำผิดกฎหมาย โจรไม่ได้เปลี่ยนกฎหมายมาเป็นอาวุธของตัวเองและใช้มันอย่างหน้าด้านๆ มันจึงน่าอายในการบอกว่าวันนี้ผมทำงานที่โรงเรียนกฎหมาย และผมก็คิดว่าใครก็ตามที่เป็นนักกฎหมายก็รู้สึกกระอักกระอ่วนกับสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เหมือนๆ กัน ทั้งกระบวนการที่เกิดขึ้นในรัฐสภา ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญ เราเห็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจนมาก ไม่มีอะไรชัดเจนไปมากกว่านี้แล้ว ชัดเจนเหมือนกับว่าเราโดนเหยียบหน้าอยู่ เพราะฉะนั้นด่าออกมาครับ ด่าออกมาพร้อมกันนะครับว่าเราอยากจะด่าเขาว่าอะไร (ผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า “ไอ้สัตว์”) ขอบคุณครับไอ้สัตว์ แต่มันน่าด่าจริงๆ เราใช้เวลาทั้งวันคุยกันเรื่องเป็นญัตติหรือเปล่า เห็นอยู่ทนโท่ว่ามันไม่ใช่ เห็นอยู่ทนโท่ว่ามีการบิดหลักการเพื่อใช้เพื่อกลั่นแกล้งพรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งได้รับการเลือกตั้งมากเป็นอันดับ 1 ไม่มีอะไรน่าละอายไปกว่านี้อีกแล้ว ผมคิดว่าเราควรจะอายที่เป็นนักกฎหมาย เราควรจะอายที่เป็นคนไทย นักกฎหมายควรขยับออกมาข้างหน้า แล้วทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความยุติธรรมนะครับ ไม่ใช่เครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมืองในลักษณะนี้ ขอบคุณมากครับ” กฤษณ์พชร กล่าว

 

 

ชำนาญ จันทร์เรือง กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ในวันนี้ว่าไม่ต่างจากวันที่ 21 ก.พ. 2563 ที่ถูกชายใส่เสื้อคลุม 7 คน (ศาลรัฐธรรมนูญ) เตะออกจากสภา แม้คำสั่งจะยังไม่บังคับใช้ถาวร แต่เชื่อว่าในอนาคต (พรรคก้าวไกล) จะต้องถูกยุบ

“วันนี้ชายใส่เสื้อคลุม 7 คน (ศาลรัฐธรรมนูญ) เตะพิธาออกจากสภาไป ถึงแม้จะยังไม่ถาวร แต่มันเอาแน่ๆ มันยุบ (พรรคก้าวไกล) แน่ๆ อย่างไงมันก็ยุบ เพราะมันเป็นขี้ข้าของคนอื่น เป้าหมายทั้งหลายทั้งปวงที่เขาทำทุกวันนี้เพราะว่าเขาไม่กลัวพวกเรา (ประชาชน) เขาไม่แคร์พวกเรา” ชำนาญ กล่าว

ชำนาญยังกล่าวถึงการลงมติในการประชุมสภา 19 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าการที่ ส.ส. และ ส.ว. ลงมติไม่ให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกรอบเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง แม้แต่คนในกลุ่มอนุรักษ์นิยมด้วยกันเองอย่างอดีตประธานร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไป (ไม่เอ่ยนาม) ยังออกมาแสดงความเห็นว่าต่อไปนี้คงสอนวิชารัฐธรรมนูญไม่ได้แล้ว

ชำนาญทิ้งท้ายว่า ขอให้ประชาชนรักษาความสามัคคี ทำทุกวิถีทางเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าให้ได้ ศึกษาวิธีอื่นนอกเหนือจากการลงถนน

“ประเทศอื่นเขาชนะเผด็จการได้อย่างไร เขาชนะได้ด้วยการขัดขืน ไม่ยอมทำตาม ไม่ยอมส่งเสียให้พวกมัน…ไม่ยอมเสียรายได้ภาษีอากร อะไรก็แล้วแต่ที่จะไปบำรุงบำเรอพวกมัน ผมพูดได้แค่นี้” ชำนาญ กล่าว

นัทมน คงเจริญ คณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นปราศรัยที่ประตูท่าแพ ระบุว่า มันเป็นความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างมากของประชาชน เราคงไม่ต้องพูดถึงหลักการทางกฎหมายใดๆ มันพูดกันเยอะมากในสังคม วันนี้อยากจะเรียกร้องให้คนที่เขาอุตส่าห์ยอมเอาสิทธิ์เอาเสียงของเราคืนมา เอาสิ่งที่มันปล้นเรากลับคืนมา อยากให้คนที่บอกว่าเวลาอยู่ข้างพวกเรา แต่ถ้าพวกเราอยู่เฉยๆ มันไม่มาหรอกค่ะ

“อยากให้คนที่เรียกร้องว่าเวลาอยู่กับพวกเรา ถ้าพวกเราอยู่เฉยๆ มันไม่มาหรอก” นัทมน กล่าว

นัทมนกล่าวต่อว่า วันนี้นึกไม่ถึงเหมือนกัน ในฐานะคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนหนึ่ง เรามาไกลมาก นับตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มเด็กยุคใหม่ เขาขยับกันแล้ว มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่กล้าพูด ไม่กล้าแม้แต่จะเขียน แต่ณ วันนี้ เด็กรุ่นใหม่ยอมสละหลายๆ สิ่ง ลุกขึ้นมาต่อต้าน

“สิ่งที่อยากจะเรียกร้องไปกับทุกคน …แล้วพวกเราจะทนอยู่กับสังคมที่แม่งห่วยแตกแบบนี้ การปล้นสิทธิ์ของพวกเราไป หลักการประชาธิปไตย หลักการทางกฎหมายที่แม่งไม่มีอยู่จริง… อย่าอยู่เฉย ลุกขึ้นมา เพื่อที่จะเรียกร้องสิทธิ์ และความต้องการของตัวเอง …มันไม่ควรกลับไปเหมือนเดิม มันต้องหมุนไปข้างหน้า” นัทมน กล่าว

 

ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มช. ขึ้นปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนส่งเสียงถึงฟากฟ้าว่า ประชาชนไม่ยอมอีกต่อไป พร้อมนัดชุมนุมทุกวันต่อจากนี้     

ทัศนัยกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า ในประเทศนี้ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี มีคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คนเหล่านั้นถูกเข่นฆ่าอย่างอำมหิต ถูกบังคับสูญหาย ถูกดำเนินคดี อย่างครูครองจันดาวงศ์ เตียง ศิริขันธ์ ครูบาศรีวิชัย กบฏผู้มีบุญในอีสาน กบฏชาวเงี้ยวในเมืองแพร่ ตุลาทั้ง 2 ครั้ง (ปี 2516 และ 2519) ราชประสงค์ (2553) เรื่อยมาจนถึงเยาวชนเมื่อปี 2563 ที่ถูกดำเนินคดี เยาวชนเหล่านั้นล้วนขัดขืนผู้มีอำนาจรัฐ แต่ในวันนี้ไม่มีวันไหนที่ชัดเจนไปกว่านี้แล้ว อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญส่งสัญญาณว่า “พวกมึงอย่าฮือ” และไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลตัดสินให้หยุดปฏิบัติงานกลางสภาฯ 

ทัศนัย กล่าวต่อว่า เขาแปลกใจ เพราะแต่เดิมเครือข่ายนายทุน ศักดินา ขุนศึก ปรสิต ศิลปินนักเขียน นักธุรกิจ นักการเมืองไม่เคยแสดงตนอย่างชัดเจนอย่างนี้มาก่อน แต่วันนี้ (19 ก.ค.) ไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่มันชัดเจนขนาดนี้ มีการทำงานเป็นเครือข่ายของพวกปรสิตจารีตนิยมที่จะจัดการใครก็ตามที่ทำหน้าที่แทนประชาชน ไม่ว่าเขาจะเป็นปัจเจกชน หรือเป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองกี่พรรคแล้วที่ถูกยุบไป เพราะมันไปหือ ไปท้าทายอำนาจเหนือฟ้า สังคมไทยบอบช้ำพอสมควร อดทนกับระบบการปกครอง บิดเบี้ยววิปริตเหล่านี้มาเป็นสิบๆ ปี จากรุ่นสู่รุ่น 

“เราได้รับฟังเรื่องเล่าที่ถูกแต่งขึ้นว่า เราจะอยู่ในสังคมที่ปกติสุข ระบบการปกครองที่เราได้รับมา เขามอบให้เราด้วยความกรุณา และเราก็เชื่ออย่างนั้นมาเสมอ เราเล่นตามกติกาในระบบเลือกตั้ง เราไปโหวต หลายคนรับรัฐธรรมนูญจากปี 60 เพื่อที่จะเล่นในกติกา เพื่อให้รัฐสภาเป็นรัฐสภาของประชาชน และมันเกิดอะไรขึ้น ในวันนี้เราก็เล่นตามกติกาที่โจรเขียนขึ้น ผมบอกว่าเชื่อมั่นประเทศที่เดินไปตามระบอบระเบียบของกฎหมาย และเราเชื่อว่าสำนึกดังกล่าวมันจะเปลี่ยนคนได้  ทำให้อำนาจที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้เรียนรู้ แต่คนเหล่านั้นไม่เคยปรับตัว และแสดงตัวอย่างเปิดเผยมากยิ่งขึ้น เราหวังไม่ได้อีกแล้วกับการเมืองในกติกา พรรคการเมือง (ก้าวไกล) ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว พวกเราประชาชนเข้าคูหาเลือกตั้ง ทำอย่างดีที่สุดแล้ว มันไม่ฟังเสียงพวกเรา หลังจากนี้ เราต้องคิดหาทางออกในแบบอื่น” ทัศนัย กล่าว

อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ระบุต่อว่า สำหรับเขา มองว่าพรรคก้าวไกล คือประชาชนคนธรรมดาที่เข้าไปทำงานในสภาฯ แต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของการเมืองไทยไม่ต้องการให้สามัญชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และเขาเชื่อว่าฝ่ายอำนาจเดิมจะไม่หยุดแค่จัดการพรรคก้าวไกล และพิธา แต่เป้าหมายของพวกเขาคือการจัดการทุกคน ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่นขึ้นมา หรือพรรคก้าวไกลสร้างพรรคการเมืองใหม่ เป้าหมายของพวกมันคือจัดการพวกเราเหมือนมดปลวก ทำพวกเราเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงเชื่องๆ คิดว่าระบอบการปกครองมันบิดเบี้ยวอย่างไรถูกตอบสนองอย่างไรก็ยอมรับได้ ที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้เขาพูดได้เต็มปากว่า สังคมไทยพัฒนาก้าวไกลมามาก เกินกว่าที่จะถอยหลังกลับ วันนี้ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง แต่สำนึกอยู่ในอกของพวกเรา อยู่ในเลือด ในเนื้ออุ่นๆ ของพวกเรา มันเปลี่ยนไปแล้ว  

“อย่าผลักความหวังของเรา และรออีก 4 ปี เราจะเข้าคูหาเลือกตั้ง เราทุกคนติ่งส้มติ่งแดง ออกมาบนถนนเปลี่ยนมันให้หมด เราเชื่อมั่นเสมอว่า การต่อสู้ของประชาชนเหมือนระบบของนาฬิกา ถึงจะดึงเข็มออก ถึงจะเอาถ่านออก ถึงจะไขลานกลับ… เวลาตามธรรมชาติก็เดินต่อ เราพูดกับตัวเอง เราปลอบกับตัวเองว่าเวลาอยู่ข้างเรามานานแสนนาน อย่าให้เราต้องเสียเวลาอีกเลย เปลี่ยนมันในวันนี้" ทัศนัย กล่าว

ทัศนัยปราศรัยต่อว่า "วันนี้เป็นวันที่พีคที่สุด ถึงจุดสูงสุดที่สุดที่ประชาชนถูกตบหน้าอย่างตรงไปตรงมา และมันก็บอกว่า ‘พวกมึงอย่าฮือนะ’ เราก็ต้องตรงไปตรงมากับมัน  ถ้าเรายังปล่อยให้ระบบยุติธรรม ระบบการปกครองในประเทศไทย ยังบิดเบี้ยววิปริตแบบนี้ ทุกคนคือเหยื่อ ทุกคนถูกกระทำ ทุกคนถูกแปะป้ายฉลากว่า ‘พวกมึงไม่ใช่มนุษย์’ ‘พวกมึงคือไพร่ทาส’ ‘พวกมึงคือมดปลวก’ จะเหยียบย่ำอย่างไรก็ได้ ยอมไหม กูไม่ยอมมึง"

“เราไม่ยอมมานาน เราเสียเลือดเสียเนื้อ ผู้คนลี้ภัยทางการเมืองหมดอนาคต ถูดตัดสาระโอกาสในการดำรงชีวิตที่ควรจะมีอนาคตมากกว่านี้ เพื่อเป็นกำลังของประเทศที่พัฒนาแล้ว ครั้งนี้ขอให้ไม่ยอมจริงๆ ได้ไหม” ทัศนัย กล่าวถามประชาชนที่ร่วมกิจกรรม

ทัศนัย กล่าวทิ้งท้ายว่า จะมีการจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องที่ลานหน้าประพูท่าแพ ทุกวัน เวลาตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป เป็นสัญญาณของการบอกว่า ประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป

“เราออกมาข้างนอก เอาหัวใจผูกกันทุกวัน เป็นสัญลักษณ์ว่า นับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าใครก็ตาม กูไม่ยอมมึง” ทัศนัย ทิ้งท้าย 

ดอย จากสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่

ดอย จากสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ขึ้นปราศรัยถึงชีวิตแรงงานในประเทศนี้ ระบุ “ผู้ใช้แรงงานคือผู้ขับเคลื่อนประเทศนี้ คือผู้ประกอบร่างสร้างตัวความเป็นประเทศนี้ขึ้นมา ตอนนี้ผู้ใช้แรงงานผู้มีบุญคุณมากสุดในประเทศกำลังถูกย่ำหน้าอยู่ โดยผู้ที่กินเงินเดือนจากหยาดเหงื่อและน้ำตาของผู้ใช้แรงงานทุกคน”

ดอยกล่าวว่าเสียงของผู้ใช้แรงงานกำลังถูกผลักออกด้วยผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่ GDP ของประเทศโตขึ้นปีละกว่าพันล้านบาท ผู้ใช้แรงงานกลับได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แม้ว่าตัวเขาในฐานะผู้ใช้แรงงานจะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศ แต่กลับทำได้เพียงใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งอาจจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ใช้แรงงานควรจะได้ใช้ชีวิตที่ดีกว่านี้เพื่อตัวพวกเขาเองและเพื่อคนรุ่นต่อไป

“เราคงจะไม่มีหน้าไปบอกกับคนรุ่นต่อไปว่าสู้นะลูก พ่อแม่สู้ได้แค่นี้ เราต้องรู้สึกละอายใจมากๆ ว่าเราส่งต่อความรุนแรงให้เขา เรากำลังส่งต่อสังคมห่วยๆ ความเหลื่อมล้ำมหาศาลให้กับเขา…ถ้าวันหนึ่งทุกคนถูกตราหน้าโดยคนรุ่นใหม่ว่า “มึงส่งสังคมเฮงซวยอะไรมาให้กู” วันนั้นเราจะไม่มีหน้าที่จะเถียงคนรุ่นใหม่ ถ้าเราไม่สู้วันนี้” ดอย จากสหภาพแรงงานบาริสต้า กล่าว

ตัวแทนจากสหภาพแรงงานบาริสต้ายังกล่าวต่อว่า ความเป็นแรงงานถูกเบียดขับและไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนแม้แต่ในชนชั้นแรงงานด้วยกันเอง ความเป็นแรงงานคือการไร้ซึ่งเสถียรภาพและหลักประกันในชีวิต แต่กระนั้นเขาก็ยังอยากให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนทวงคืนผลประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ใฝ่ฝัน คือการนัดหยุดงานทั่วประเทศ เพราะเขาเชื่อว่าอำนาจเดียวที่ชนชั้นแรงงานมีคือการรวมตัว

“เราต่างถูกฉกฉวยโอกาสที่เราจะมีชีวิตไปในช่วงเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา เราถูกพรากความฝัน ความหวัง และมันจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกหรือ ผมขอฝากตะกอนความคิดไว้ในจิตใจพวกท่านทุกคนว่าแรงงานไม่มีอะไรจะสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน ที่พันธนาการเราจากความอิสระ และโลกทั้งใบจะมาเป็นของเรา” ดอย จากสหภาพแรงงานบาริสต้า

ขณะที่ประชาชนคนหนึ่งที่มาร่วมการชุมนุมขึ้นปราศรัยก่นด่า ส.ว. - กกต. ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถขยับเดินไปข้างหน้าได้ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งไปแล้วก็ตามแต่ไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้ “พวก ส.ว. กกต. เขาอยากตะโกนด่ากันตรงๆ ว่า ไอ้…”

เนื้อหาในการปราศรัยสรุปใจความได้ว่า ยังไม่ใครสามารถรู้ได้ว่านโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจะทำให้สังคมดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ ส.ส. - ส.ว. ในสภาก็ทะเลาะกันแล้ว ไม่ยอมให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่

“มึงยังไม่รู้เลยว่าเขา (พรรคก้าวไกล) จะไปแก้ (ม.112) ให้มันดี มันถูก มันเลว หรือมันเหี้ยขึ้น แต่มึงมาทะเลาะกันแล้ว มึงไม่ยอมให้เขาเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ก่อน” ประชาชน กล่าว

ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาเลือกตั้งด้วยความหวังและหยาดน้ำตา แต่ ส.ว. – กกต. ปล้นชัยชนะของประชาชนไปทุกอย่าง

“หลายปีกูนี่แหละที่เป็นหนึ่งในนั้น ที่ครอบครัวกูต้องแตกแยก ล้มละลาย เพราะมึงไอ้ประยุทธ์ ไอ้ป้อม ไม่รู้ ๆๆ มึงรู้ว่ามึงทำอะไรกับประชาชน แต่มึงก็ยังทำ มึงไม่เคยเห็นหัวของประชาชน กูอยากจะบอกว่ากว่ากูจะฟื้นขึ้นมาได้ทุกวันนี้ ส่งลูกกูเรียนในโรงเรียนที่ดี ไม่ได้เรียนฟรีอย่างที่มึงพูด ไม่มีจริง” ประชาชน กล่าว

วันนี้ที่ออกมาพูดเพราะว่าอยากให้ทุกอย่างในประเทศไทยดีขึ้น ให้การศึกษาของเด็กไทยดีขึ้น ให้โรงพยาบาลดีขึ้น ไม่ใช่เอื้อนายทุนอย่างเดียว ตอนนี้เสียงของประชาชนไม่ได้มีค่าเท่ากับ ส.ว. 250 เสียง เป็นความอยุติธรรมซึ่งพวกเราไม่สามารถรับได้ ประชาชนจะถูกแช่แข็งไว้แบบนี้อีกกี่ปี น้ำตาจะไหลพูดไม่ออก

‘ดาบชิต’ ผู้ชุมนุมเชียงใหม่ ปรายศรัยฝากนักการเมืองปิดสวิตช์ ส.ว “มึงจะเป็นขี้ข้า ส.ว. หรือกลุ่มอำมาตย์ต่อไป จนกว่ามันจะสิ้นชีพหรืออย่างไร”

“อย่าหวังว่าฟากฟ้าจะหล่นลงมา อำนาจของประชาชน ไม่มีทางครับพี่น้อง อำนาจของฟ้าคือฟ้า เราคือประชาชน คือประชาชน คนรากหญ้าเราต้องสู้ด้วยกัน อยากจะฝันเอาวาสนาลงจากฟ้ามาหาดินมันเป็นไปไม่ได้ บอกไปถึงภาคการเมืองถ้าจะเรียกร้อง เรียกร้องไอ้ ส.ส. 288 นั่น ถามว่า ส.ส. 288 คน ที่อยู่ฟากฝั่งรัฐบาลเก่า มันก็คือตัวแทนประชาชนกลุ่มหนึ่ง ที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน ผมบอกว่าถ้าอยากสง่างาม ส.ส. 500 คน ทุกภาคส่วน ทุกการเมือง ทุกพรรค มึงร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ต้องแก้กฎหมายอะไรสักอย่าง เอาไหม อย่างน้อย ๆ วันก่อนเราเห็นชาดา ไทยเศรษฐ์ จากภูมิใจไทยออกมาพูดแล้ว ไม่เป็นรัฐบาลก็ได้ พร้อมจะโหวตให้ ผมบอกว่าสิ่งเหล่านี้ครับ เรียกร้องไปภาคการเมืองทุกพรรคนี่แหละ ว่ามึงจะเป็นขี้ข้า ส.ว. หรือกลุ่มอำมาตย์ต่อไป จนกว่ามันจะสิ้นชีพหรืออย่างไร” ดาบชิต กล่าว

ก่อนเลิกการชุมนุมผู้ชุมนุมได้ร่วมกันวางดอกไม้จันทน์และเผาไว้อาลัยให้กับผลการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศที่ไม่ได้รับการเคารพจาก ส.ส. - ส.ว. บางคน ที่ทำให้การโหวตเลือกนายกฯ ไม่เป็นไปตามมติของประชาชน

 

 

หมายเหตุ : 21 ก.ค. 2566 มีการปรับปรุงเนื้อหา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net