Skip to main content
sharethis

เปิดมุมมองนักวิชาการในพื้นที่วิเคราะห์ปรากฎการณ์ ส.ส.ก้าวไกล พลิกผงาดเจาะพื้นที่ ‘เชียงใหม่’ตอนที่ 4 กับ ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ว่าเชียงใหม่ที่ผ่านมานั้น คือพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยกุมไว้อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนถึงกับมีการกล่าวขวัญกันว่า เชียงใหม่ คือเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย กระทั่งเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฎการณ์พลิกผัน เมื่อพรรคก้าวไกล กวาด ส.ส.เชียงใหม่ ได้มากถึง 7 เขต จากทั้งหมด 10 เขต โดยพรรคเพื่อไทยสามารถรักษาพื้นที่เอาไว้ได้ 2 เขตเท่านั้น จนทำให้หักปากเซียนผลโพลหลายสำนัก หลายนักวิชาการ รวมถึงพรรคเพื่อไทย และต้องมาสรุปทบทวน ค้นหาที่มาของปรากฎการณ์ก้าวไกลเชียงใหม่ในครั้งนี้

ณัฐกร วิทิตานนท์ (แฟ้มภาพ)

ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ไว้ว่า คือต้องยอมรับก่อนนะว่าเราย้อนกลับไปตั้งแต่มีพรรคไทยรักไทย ผ่านการเลือกตั้งมา 5 ครั้งเคยชนะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เคยแพ้แค่ 3 ที่นั่ง หมายถึงในการเลือกตั้ง 5 ครั้ง เพื่อไทยเคยแพ้แค่ 3 ที่นั่งให้กับพรรคอื่น

“แต่ว่าการเลือกตั้ง 2566 นี้ ผมก็มองว่าโอกาสของก้าวไกล  ถ้าเราย้อนดูเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 จะเห็นว่า มีทางเดียวก็คือ จะชนะได้ในเขตเมือง อันนี้คือความเชื่อผมเป็นแบบนั้น  แต่ปรากฏว่าพอมารอบนี้ มันกลับกัน คือ 10 เขต ก้าวไกลชนะไป 7 เขต และก้าวไกลไปชนะในพื้นที่ที่ไม่เป็นเขตเมืองด้วย ก็คือเข้าไปชนะที่เขต 6 เชียงดาว ไปชนะที่เขต 7 ฝาง อันนี้คือ surprise ของผมเลยทีเดียว ทีนี้ถามว่าแล้วมันมีอะไรที่ทําให้ก้าวไกลชนะขนาดนั้น ในทางกลับกัน ก็คือเพื่อไทยแพ้ แพ้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมคิดว่ามันมี 2 ประเด็น คือหนึ่ง ปัจจัยร่วม คือผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นกระแสระดับประเทศ เป็นปรากฏการณ์ร่วมกันทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ผมเรียกว่าเป็นปัจจัยร่วม ซึ่งมันก็เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ไม่ต่างกับพื้นที่อื่นๆ เหมือนอย่างที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แกบอกว่า ดูเฉพาะบัญชีรายชื่อนะครับ ก้าวไกล ชนะทั่วประเทศ 14 ล้านเสียง 43 จังหวัด ก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 คือหมายความว่าเกินครึ่งของประเทศ  ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ประชาชนเขาเลือกก้าวไกล”

ณัฐกร บอกว่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ส่วนที่พื้นที่ที่เหลือ ต่อให้ก้าวไกล ไม่ได้อันดับ 1 ก้าวไกลก็มาเป็นอันดับที่ 2 แทบทุกพื้นที่ คือพูดง่ายๆ ก็คือความนิยมของก้าวไกลในระดับภาพรวมทั้งประเทศมีสูงมาก ทีนี้มันน่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ในจังหวัดที่แม้ก้าวไกล เขาไม่ได้ ส.ส. เขต แม้แต่คนเดียว มีประมาณ 21 จังหวัด ที่เขาไม่ได้ ส.ส. เขตเลยแต่ก้าวไกลได้ปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นอันดับ 1 แล้วจังหวัดพวกนี้ ล้วนเป็นจังหวัดแบบที่เป็นบ้านใหญ่ทั้งนั้นเลย มีทั้งบุรีรัมย์,อุทัยธานี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี,กําแพงเพชร ซึ่งล้วนเป็นบ้านใหญ่ชนะ ส.ส.เขต แบบยกจังหวัด แต่พอเป็นปาร์ตี้ลิสต์ คนเขากลับเลือกก้าวไกล อันนี้ ผมคิดว่า มองเป็นปัจจัยร่วมได้

“ทีนี้ปัจจัยร่วม มันเกิดจากอะไรบ้าง? ผมคิดว่า หนึ่งเลย คือเกิดจากการทํางาน เกิดจากกระแสพรรค ทีนี้ถามว่ากระแสพรรคมันเกิดจากอะไร? มันเกิดจากหลายอย่างประกอบกัน คือ เกิดจากการทํางานที่ผ่านมา ตั้งแต่เป็นอนาคตใหม่ ถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกยุบพรรค ธนาธรไม่ได้ ธนาธรไม่มีโอกาสได้เข้าสภา ถูกสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่โดนคดีหุ้นสื่อ ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ทั้งหมดนี้ รวมถึงโดนดูด เจองูเห่า เจอแจกกล้วย ผมคิดว่ามันเป็นความคล้ายๆ กับความคับข้องหมองใจ ความอัดอั้นที่ถูกสั่งสมมาของประชาชน อันนี้ส่วนหนึ่งทําให้กระแสพรรคก้าวไกลดีขึ้น และที่สําคัญก็คือการทํางานของตัวผู้สมัครของ ส.ส. ที่เป็นอดีตของอนาคตใหม่ในสภา แต่คือเขาได้เปลี่ยนมุมมองของประชาชนที่มีต่อสภาวะสภา คือด้วยระบบมันเป็นระบบรัฐสภา เขามองว่าอํานาจจริงมันอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ก็คือฝั่งของ ครม. นายกรัฐมนตรี แต่สภาไม่มีน้ำยา เขามองอย่างนั้น เพราะมันเป็นเหมือนกับว่า อนาคตใหม่ได้ใช้กลไกสภาในการทําหน้าที่อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งความพยายามในการผลักดันกฎหมาย แม้ไม่สําเร็จ เช่น สมรสเท่าเทียม, สุราก้าวหน้า รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่นต่างๆ ก้าวไกลพยายามใช้กลไกสภาแต่ไม่สําเร็จ เนื่องจากไม่มีเสียงข้างมาก”

ณัฐกร บอกอีกว่า แต่อีกส่วนหนึ่ง ที่เราเห็นเขาแข่งขันมากก็คือ ใช้กลไกของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเมื่อก่อน มันก็จะดู เป็นแบบคล้ายๆ ที่นั่งจิบชา กาแฟ นั่งพบปะสังสรรค์กันของ ส.ส. แต่ไม่ได้ถูกใช้เป็นกลไกในการที่จะไปตรวจสอบการทํางานของรัฐบาล แต่ว่าพอก้าวไกล มาเป็น ส.ส. ครั้งแรก ก็ได้ ส.ส.มาก็ใช้กลไกกรรมาธิการ ที่มันเคยถูกมองข้ามมาก่อนอย่างได้ผล ในหลายหลายกรณีที่มันมีเรื่องมีราวเกิดขึ้น ก็ใช้กลไกตรงนี้เข้าไปตรวจสอบ อันนี้ ผมคิดว่าทั้งหมด มันประกอบกันเป็นกระแสพรรค. โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สําคัญที่สุด คือ กระแสของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมคิดว่าพิธา นั้นมีลักษณะดึงดูดใจ คือไม่ได้เป็นแค่นักการเมืองที่พูดเก่ง แต่ว่ามีบุคลิกลักษณะท่าทางที่มันมีความเป็นดารา ความเป็น Super Star อยู่  ซึ่งถามว่ามันเหมือนกับกระแสฟ้ารักพ่อ สมัยธนาธร แล้วผมคิดว่ามันยิ่งเป็นกระแสมากกว่าเยอะ คือมีแม่ยกหลายเพศหลายวัย หลายกลุ่มอายุที่ค่อนข้างจะชื่นชอบพิธา

“ผมไปลงพื้นที่อำเภอสันกําแพง ซึ่งเป็นบ้านเกิดคุณทักษิณ ก็เจอป้า เจอแม่ค้า ต่างก็ชื่นชอบพิธา อยากให้พิธาเป็นนายกฯ อันนี้ก็เป็นกระแสที่ที่มันประกอบกับกระแสความคับข้องหมองใจจากอนาคตใหม่ที่ถูกยุบนอกจากนั้น การทํางานที่ผ่านมาอย่างแข่งขันของก้าวไกล โดยเฉพาะเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราเห็นว่าก้าวไกลทําได้ดี แล้วก็เรียกคะแนนได้เยอะ คนชื่นชอบ โดยเฉพาะ รังสิมันต์ โรม อย่างนี้ แต่ทั้งหมดมันก็ประกอบกัน เป็นกระแสที่ผมเรียกว่าปัจจัยร่วมในภาพรวม”

นโยบายก้าวไกล กล้า ชัดเจน และโดดเด่นกว่าพรรคอื่น

ณัฐกร วิเคราะห์ให้เห็นภาพอีกว่า ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือเรื่องนโยบายของพรรคก้าวไกล มีนโยบายเป็น 300 เรื่อง แต่ว่า นโยบายของก้าวไกล มันจะมีความต่างจากนโยบายของพรรคอื่นก็คือ อันนี้พูดเฉพาะนโยบายหาเสียง คือเขามีนโยบายเยอะจริง แต่นโยบายที่มันกล้าถึงขั้นเอาไปขึ้นป้าย ในขณะที่พรรคอื่นจะเลี่ยงที่จะแตะเรื่องประเด็นที่มันอ่อนไหวเขาก็จะพูดแต่ตัวเลขเศรษฐกิจ พูดเรื่องอะไรประมาณนั้น

“แต่ว่าของก้าวไกล มันมีเรื่องปิดสวิตซ์ 3 ป. มีเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร มีเรื่องทลายทุนผูกขาด มีเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในขณะ เพื่อไทยมีนโยบายเหมือนกันในเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่พร้อม แต่เพื่อไทยไม่กล้าขึ้นป้าย ดังนั้น ในป้ายหาเสียงของก้าวไกลเอง มันก็ทําให้นโยบายที่พรรคอื่นเลี่ยงที่จะพูดถึง มันถูกขับเน้น ทั้งๆ ที่พรรคอื่นก็มีเรื่องนโยบายพวกนี้ ไม่ต่างกันมาก แต่ว่าไม่ได้เน้น เพราะจะคิดว่าประชาชนเขาไปจดจ่อเรื่องเศรษฐกิจ ก็ไปเน้นทางนั้น แต่ก้าวไกลมันมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจแล้วก็รวมถึงเรื่องพวกนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ ผมเรียกว่าเป็นปัจจัยร่วม”

ปัญหาของเพื่อไทย ที่ทำให้แพ้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ คือความไม่ชัดเจน

ณัฐกร ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของเพื่อไทยในปัจจัยร่วมอย่างหนึ่งคือ ความไม่ชัดเจน อันนี้คนพูดเยอะ และก็คือเพื่อไทยไม่ชัดเจนเลย ไม่ชัดเจน ทั้งว่าจะมีจุดยืนการร่วมรัฐบาล ขณะที่พิธา ก้าวไกล ประกาศชัดว่า มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง แต่เพื่อไทยไม่พูดตั้งแต่ต้น บอกว่าให้ผลการเลือกตั้งเป็นคําตอบ รอผลก่อน เรายังพูดอะไรตอนนี้ไม่ได้ การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ อะไรอย่างนี้ คือการไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน มันส่งผลต่อการที่ทําให้ความเชื่อมั่นของประชาชน มันไหลไปสู่พรรคที่ชัดเจนกว่า ก็คือก้าวไกล

“นอกจากเรื่องจุดยืนทางการเมือง การจับมือกับขั้วรัฐบาลอีกเรื่อง ที่สําคัญก็คือ คนเลือกเพื่อไทย แต่ไม่รู้จะได้ใครเป็นนายกฯ  ไม่รู้จักเศรษฐา ไม่รู้จะเป็นอุ๊งอิ๊งหรือไม่ และที่สําคัญตอนสุดท้าย ซึ่งผมลงพื้นที่บ้านเกิดของคุณทักษิณ ปรากฏว่า ชาวบ้านเขาก็มีการพูดกันในพื้นที่อำเภอสันกําแพง ว่าถ้าเลือกเพื่อไทยจะได้เศรษฐาเป็นนายกฯ จากการปราศรัยครั้งสุดท้าย ค่อนข้างจะให้น้ำหนักไปทางนั้น ในขณะที่คนสันกําแพง เขาผูกพันกับคุณทักษิณ เขาก็อยากเห็นอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ พอเพื่อไทยไม่ชัดเจนตรงนี้ มันก็ทําให้เขาไปเลือกก้าวไกล เพราะมันชัดเจนกว่า เพราะได้พิธาแน่ๆ เพราะเขาส่งแคนดิเดตคนเดียว  คือทั้งหมดนี้ ผมเรียกว่าเป็นปัจจัยร่วมที่มันส่งผลทั้งฝั่งก้าวไกลและเพื่อไทย”

แล้วปัจจัยที่ก้าวไกล ชนะเลือกตั้งในแต่ละเขตพื้นที่ พอจะวิเคราะห์ยังไงได้บ้าง?

ณัฐกร บอกว่า เมื่อมาดู ปัจจัยเฉพาะพื้นที่ ผมคิดว่ามันมีหลายข้อ คือแต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน อันนี้ผมพูดในภาพรวมของเชียงใหม่ที่ก้าวไกล ชนะไปทั้งหมด 7 เขต และเพื่อไทยชนะไปได้แค่ 2 เขต คือคุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เขต 5 กับคุณศรีโสภา โกฏคำลือ เขต 10 ซึ่งผมคิดว่า ในเขตที่เพื่อไทยแพ้เยอะๆ ก็คือพื้นที่เขตที่เพื่อไทยส่งคนเดิม อย่างเช่น วิทยาทรงคํา ซึ่งครั้งก่อนเคยชนะเพียงแค่ 1,000 กว่าคะแนน แต่รอบนี้ ก็ยังยืนยันส่งวิทยา ถึงแม้ว่าจะเคยเป็นมา 5สมัย ก็ยังจะส่งมาลงอีก ซึ่งผมคิดว่าเขตนี้ พรรคเพื่อไทยไม่ปรับตัว ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ ซึ่งมันก็ทําให้แพ้ถล่มทลาย จนคุณพุธิตา ชัยอนันต์ จากพรรคก้าวไกล ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของประเทศ. เป็นเบอร์หนึ่ง และเป็นผู้สมัครก้าวไกลที่ได้คะแนนเยอะที่สุดในระบบเขต ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าไปเจอคู่แข่งที่พูดง่ายๆ ก็คือเป็น ส.ส. เก่า จนหลายคนบอกว่าคือหมดไฟแล้วนั่นเอง

“กับอีกเรื่องหนึ่ง คือ เพื่อไทยมีการสลับเขต ส่งคนลงเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ มันสร้างความปั่นป่วนเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การเอาจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ซึ่งเคยเป็น ส.ส. เขต 3 สันกําแพง ย้ายมาลงเขต 1 เข้าใจว่านี่คือเป็นการแก้เกม ก็คือจักรพลก็เป็นคนรุ่นใหม่ ก็คิดว่า ถ้าเอาจักรพลไปลงเขต 1 น่าจะได้ใจ นิวเจนเนอเรชัน อะไรอย่างนี้ แล้วเอาทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ย้ายจากเขต1 เพราะว่าเลือกตั้งครั้งก่อนนั้นเกือบแพ้ คือชนะไป 600-700 คะแนน ก็เลยมีการย้ายกุ้งมาลงเขต 3 สันกําแพง นึกว่าจะชัวร์ ปรากฏว่าไอ้การสลับเขตอย่างนี้ มันเกิดอย่างกระชั้นชิด เกิดประมาณ 1 ปีก่อนเลือกตั้ง มันก็กลายเป็นแทนที่จะเป็นเรื่องดีกับเป็นเรื่องเสีย เพราะทำพื้นที่ไม่ทัน พอมีการสลับปุ๊บ ไม่ใช่ฐานของพรรค แต่มันเป็นฐานของเฉพาะตัว อันนี้ผมก็คิดว่า เรื่องเอาคนรุ่นเก่ามาลงสมัคร กับเรื่องการสลับเขต นั้นมีผลอย่างมาก”

ชี้ปัญหาการแบ่งเขตใหม่ของ กกต.ทำให้มีผลต่อฐานคะแนนเสียง

ณัฐกร อธิบายว่า อีกปัญหาหนึ่ง ก็คือปัญหาการแบ่งเขตใหม่ ของ กกต. ซึ่งเป็นการแบ่งเขตได้ค่อนข้างปวดหัว คือ กกต. ไปจับเขตมีการซอยเขตลงไประดับตําบล ซึ่งปกติเขาจะไม่ทํา เขาจะเอาอําเภอเป็นตัวตั้ง อําเภอไหนอยู่เขตไหน ก็จะได้ ส.ส.เหมือนกัน ปรากฏว่ารอบนี้ไม่ใช่ อย่างเขต 4 ของพุธิตา นอกจากพื้นที่อำเภอสันทราย ยังได้อีก 3 ตำบลของอำเภอแม่ริม คือมีตำบลดอนแก้ว แม่สา เหมืองแก้ว ทำให้ผมคิดว่าการแบ่งเขตแบบนี้ มันก็ส่งผล คือเดิมคุณวิทยา เขามีเขตอำเภอพร้าว เป็นพื้นที่ค่อนข้างชนบทกว่าสันทราย. สันทรายเป็นพื้นที่เมือง ปรากฏว่าแบ่งเขตใหม่. กกต. เอาพร้าวออก แต่คงสันทรายไว้ แล้วไปเพิ่มแม่ริมอีก 3 ตำบล ซึ่งแน่นอน แม่ริมไม่ใช่พื้นที่ที่คุณวิทยาเคยลงอยู่แล้ว อีกทั้งฐานเสียงเก่าของคุณวิทยา จริงๆ มันอยู่ทางพร้าว ซึ่งพอแบ่งเขตแบบนี้ปุ๊บ เห็นได้ชัดจากผลคะแนนที่ออกมาเลย เพราะว่า เพราะว่าตรงสันทราย เริ่มเป็นสังคมเมืองแล้ว บ้านจัดสรรเยอะมาก เป็นอําเภอที่มีประชากรอยู่หนาแน่นเป็นอันดับสอง รองจากอําเภอเมือง ก็เลยแพ้กระจุยไปเลย

“อีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นตัวปัญหากับการแบ่งเขต ก็คือว่า มีการยุบเขตของเชียงใหม่ จากเดิม จะมีทั้งหมด 11 เขตเลือกตั้ง แล้ว กกต.เขาก็ยุบเหลือ 10 เขต เนื่องจากว่าเมื่อก่อน เขาคิดคํานวณโดยเอาประชากรที่เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ เอาไปคิดรวม คํานวณเป็นจํานวน ส.ส. เชียงใหม่ ก็เลยได้ 11 เขต พอยุบเขตเหลือ 10 เขตปุ๊บ มันมีความปั่นป่วนเกิดขึ้นทางสายเหนือ คือ หมอไกร ดาบธรรมเดิมทีฐานเสียงเคยอยู่แถวฝาง แม่อาย แต่เพื่อไทยไปดึงมาลงในเขต 6 เชียงดาว แทนผู้สมัครเพื่อไทย ซึ่งเคยเป็นสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แต่เก็บเขาไว้ ไม่ให้ลง ให้ไปลงปาร์ตี้ลิสต์ หมอไกรจะไปลงเขต 7 เดิมที่ฝาง แม่อาย ก็ไม่ได้เพราะมีลูกชายของ ประสิทธิ์ วุฒินันชัย อดีต ส.ส.เพื่อไทยเดิม ลงไปแล้ว ความซวยก็มาตกหมอไกรที่มาลงเชียงดาวแทน ซึ่งไม่ถนัด ไม่ใช่ฐานเสียงของตนเอง ปรากฏว่า เพื่อไทยแพ้หมด สายเหนือทั้ง 3 เขต และนี่ก็คืออีกส่วนหนึ่ง ที่ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้อง ก็คือเรื่องการยุบเขตการเลือกตั้งในเชียงใหม่  มันทําให้โซนอื่นอาจจะไม่มีปัญหา แต่ว่าพอมันมาตัดโซนแบบนี้ ทำให้เพื่อไทยกระทบ ก็เลยแพ้ไป”

ณัฐกร วิเคราะห์อีกว่า ซึ่งปัจจัยที่ 3  มองไปที่สายใต้ อันนี้คือเขต 9 เชียงใหม่ มันมีการแข่งขันสูง ก็คือหมายความว่า ผู้สมัครที่ไม่ใช่ก้าวไกล ผู้สมัครพรรคอื่นที่ไม่ใช่ก้าวไกล เขาแข็ง ถามว่าทําไมเขาแข็ง? ก็คือคุณนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ คือเคยลงแข่งสุรพล เกียรติไชยากร มาแล้วแต่แพ้ แล้วก็คุณสุรพลโดนใบส้ม ก็มาเลือกตั้งซ่อมวัดกับศรีนวล เขาก็แพ้ คุณนเรศแพ้ แต่ว่าพลังประชารัฐ เอาเขาไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) หมายความว่าเขามีตําแหน่งทางการเมือง พอเขาแพ้ก็จริง แต่ว่าเขาได้อยู่ข้างรัฐบาล เขาก็เลยยังได้ทำงานการเมืองต่อเนื่อง พื้นที่เขาก็ทําต่อเนื่องตั้งแต่แพ้ศรีนวล เขาก็เลยพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ยังไม่พูดถึงเรื่องใช้เงินใช้ทอง เขาก็เป็นคู่แข่งที่สําคัญอีกรายหนึ่ง ซึ่งในเขตนี้มันแข่งกันหลายรายมาก

“ดังนั้น มันก็ไม่ใช่เขตพื้นที่ของตายของ สุรพล จากเพื่อไทย มันก็อาจโดนเบียดได้ เพราะว่าก้าวไกลเขาก็แรงมาก ก้าวไกลก็มาเบียดคะแนนเพื่อไทยไปส่วนหนึ่ง แล้วประกอบกับเหมือนพูดง่ายๆ พลังประชารัฐชนะเพราะเป็นตาอยู่ เขาก็แทรกกลางขึ้นมาระหว่างการแข่งขันระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย คุณนเรศ เขาก็ขึ้นมาชนะได้ที่ 1 เขต 9 อันนี้ ผมคิดว่ามันเป็นปัจจัยจากการที่มันมีการแข่งขันสูงในพื้นที่นั้นๆ  มันจะไม่เหมือนโซนอื่น โซนอื่นมันจะแข่งกันแค่สองพรรค ก้าวไกล เพื่อไทย แต่พอมาเขตนี้มันแข่งกันหลายพรรค”

ประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง จึงเปลี่ยนคนใหม่ เลือกพรรคใหม่

ณัฐกร มองปรากฎการณ์ ก้าวไกล ชนะการเลือกตั้ง 7 เขต ในเชียงใหม่ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องความรู้สึกประชาชน คือเขาอยากเปลี่ยนแปลง เขาอยากลองของใหม่ พูดตรงๆ เขาอยากให้โอกาสพรรคใหม่บ้าง เพราะว่าบางคน พรรคเพื่อไทย เป็นมายี่สิบปีแล้ว ก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! ถ้าเลือกเพื่อไทยอีก มันก็จะอีหรอบเดิมไหม? เขาก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง มันก็เลยมีคนจํานวนหนึ่ง ซึ่งต้องมีเป็นจํานวนมาก คือเราเคยเชื่อนะว่าเพื่อไทย คนที่เลือกเพื่อไทย เสื้อแดง ก็จะเลือกแบบเดิม แล้วคนที่จะมาเป็นฐานของก้าวไกล คือนิวเจนเนอเรชั่น คือพูดง่ายๆ ถ้ามันมีเด็กอายุ คนรุ่นใหม่เกิดมาเท่าไร มันก็คือคะแนนของก้าวไกลเท่านั้น ถ้าคิดแบบหยาบๆ นะ แต่รอบนี้มันไม่ใช่ มันเกิดการจากพื้นที่เหมือนเดิมทุกอย่าง  ประชากรโครงสร้างไม่ได้เปลี่ยน ทําไมคะแนนเปลี่ยน? ทำไมก้าวไกลได้เยอะขนาดนั้น ก็พูดได้เลยว่ามันมีคนเปลี่ยนใจจากที่เคยเลือกเพื่อไทยนี่แหละ ไปเลือกให้ก้าวไกล

“ทีนี้ถามว่าทําไมเขาเปลี่ยนใจ อันนี้ก็ตอบไม่ได้ แต่ว่าเท่าที่ผมไปพูดคุยมา ก็คือเขาก็อยากให้โอกาสคนรุ่นใหม่บ้าง เขาก็อยาก ให้โอกาสพรรคใหม่บ้าง โดยที่ไม่ได้มีความรู้สึก แบบอยากสั่งสอน หรือให้บทเรียนเพื่อไทยไม่ได้มีความรู้สึกเชิงถึงลบกับเพื่อไทย แต่ว่าอยากเปลี่ยน ก็เป็นปกติของการเมือง ถึงเวลามีคนหน้าใหม่เสนอตัว ก็อยากให้โอกาส อันนี้คือปัจจัยที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยเฉพาะพื้นที่เชียงใหม่ละ. ที่มันส่งผลให้ผลการเลือกตั้งมันออกมา เหนือความคาดหมายขนาดนั้น”

ผลการเลือกตั้ง เชียงใหม่ ก้าวไกลพลิกถล่มทลายแบบนี้ ถือว่าพลิกตํารานักรัฐศาสตร์ที่ใช้วิเคราะห์ประเมินเรื่องการเมืองไทยในขณะนี้หรือไม่ 

ณัฐกร ในฐานะนักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ผลการเลือกตั้ง เวลานักรัฐศาสตร์อธิบาย มันจะมีอยู่ 2 อย่าง หนึ่งก็คือเรื่องทฤษฎีระบบอุปถัมภ์ คือมองว่าการเลือกตั้ง มันเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่มีปัญหา หมายความว่าเวลาเราไปเลือกใคร เราไม่ได้เลือกเขาจากนโยบาย ไม่ได้เลือกจากใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราเลือกจาก ตัวผู้สมัครที่เรารู้จักมักคุ้น ผู้สมัครที่เขา เขามีความสัมพันธ์ส่วนตัวบุคคลยึดโยงกับเรานะ ถ้าสมัยก่อนที่ไปง่ายๆ ก็คือสมมุติว่า ผู้แทนมาหาเสียงอย่างนี้ แล้วถึงเวลาเรามีเรื่องเดือดร้อน เราขอให้เขาช่วย เช่น ฝากลูกเข้าโรงเรียน น้ำประปาไม่ไหล แบบนี้ คือผู้แทนก็จะมีลักษณะมีความผูกพันเชิงตัวบุคคล คือสามารถแก้ปัญหาที่จริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับอํานาจหน้าที่เขา แต่ว่าเขาสามารถแก้ไขจัดการได้ด้วยความที่เขาเป็นนักการเมือง มีทรัพยากร มีช่องทาง มีเครือข่าย อันนี้ก็คือคําอธิบาย

“ทีนี้ ไอ้ทฤษฎีระบบอุปถัมภ์ มันก็กลายมาเป็นคําที่สื่อใช้อย่างเข้าใจง่ายๆ ว่าบ้านใหญ่ บ้านใหญ่ก็คือคนที่มีอิทธิพลที่คุมพื้นที่ได้ หมายความว่า ถ้าคุณเดือดร้อนเรื่องอะไร เรื่องถนนหนทาง เขาก็มีนักการเมืองภายใต้อาณาจักรเขาที่เป็นนายก อบต. มีนายกเทศมนตรี มี สท. มีกลไกเหล่านี้ ที่จะไปแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนประชาชนได้ มันก็เป็นเครือข่าย พอถึงเวลาจะเลือกตั้ง ก็ไม่คิดถึงใคร ก็คิดถึงหน้าคนที่เคยให้ความช่วยเหลือเราที่เป็นบ้านใหญ่พวกนี้ อย่างเช่น ช่วงโควิด-19 เอาข้าวสารมาแจกอะไรอย่างนี้ ก็คือความผูกพันแบบนั้น ทฤษฎีมันก็เลยเชื่อว่า คนที่จะชนะ คนเราไม่ได้เลือกกันที่พรรคหรอก  คนเรามันเลือกกันที่ตัวบุคคล เลือกกันที่ความผูกพันสายสัมพันธ์ตรงนี้มากกว่า ตอนนั้นก็คือคําอธิบายโดยโดยรวมๆ ก่อน”

    เผย “ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย” ยังใช้ได้อยู่

    ณัฐกร บอกว่า อีกทฤษฎีหนึ่ง ก็คือ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้แล้ว แต่ผมว่ายังใช้ได้อยู่นะ ผมคิดว่า มันมีข้อถกเถียงอยู่ ทฤษฎีนี้เขาก็ไม่ได้อธิบายแบบทฤษฎีเครือข่ายอุปถัมภ์ มาถาม เขาบอกว่าเมืองไทย มันมีสองนครา ก็คือมีสองนคร คือเรียกว่าเป็นเมืองกับชนบท ซึ่งไอ้ทฤษฎีอุปถัมภ์ มันใช้ได้เฉพาะกับนคราที่เรียกว่าชนบท แต่นคราที่เรียกว่าชนบทนั้น มันกินดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศนี้ ดังนั้น ทฤษฎีนี้ก็เสนอบอกว่า เอาเข้าจริงระบบอุปถัมภ์ มันใช้ได้โดยตรงหมด และมันทําให้เกิดรัฐบาลของคนชนบท ซึ่งเป็นคนละจริตกับรัฐบาลของคนชั้นกลางในเมืองที่อยากเลือกรัฐบาลคนชั้นกลาง มันทําให้เกิดการปะทะกัน เกิดการขับไล่ เช่น การประท้วงรัฐบาลชวลิต ที่มันเคยเกิดขึ้น หรือว่ารัฐบาลบรรหาร ซึ่งมันจะไม่ถูกจริตของชนชั้นกลางในเมือง อันนี้ก็เป็นทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย

    “ทีนี้ หลายคนก็บอกว่าทฤษฎี มันใช้อธิบายไม่ได้แล้ว เพราะก้าวไกลมันชนะในเขตชนบท ชนะในเขตชนบท อันนี้คือคนบอกว่าทฤษฎีมันถูกล้มแล้ว  เพราะว่าคนชนบทไม่ได้เลือกจากระบบอุปถัมภ์อีกแล้ว คนชนบทเลือกเพราะอุดมการณ์ เรื่องนโยบายพรรค แต่ว่าที่ผมบอกว่า ผมมีข้อสังเกตต่อข้อเสนอนี้ ก็คือ ผมอยากให้มองมุมกลับว่าคือ พื้นที่อื่นไม่รู้นะ  แต่ว่าผมดูพื้นที่ภาคเหนือ ผมพบว่าพื้นที่ที่สีส้มชนะแบบเขต ซึ่งเราไม่พูดถึงปาร์ตี้ลิสต์นะ ถ้าเราดูจากแผนที่นะครับ มันจะเป็นแท่ง แท่งสีส้มตรงกลางเลยนะ ตรงกลางภาคเหนือตอนบน มันเป็นแท่งสีส้มเลย หมายความว่า ฝั่งซ้าย คือแม่ฮ่องสอน เขาไปเอาประชาธิปัตย์ เขาไปเอาพลังประชารัฐ รวมถึงสีแดง รวมถึงเพื่อไทยบางเขตของเชียงใหม่ มันก็เลยเป็นสี สีออกไปทางหลากสี ไม่ใช่เป็นสีส้ม อีกฝั่งหนึ่งมันจะเป็นเชียงราย แล้วแพร่ ก็เป็นเพื่อไทยยกจังหวัด แล้วก็พะเยา ก็จะเป็นของพลังประชารัฐยกจังหวัดส่วนเชียงราย ก็จะเป็นสีส้ม เป็นแกนกลาง คือถ้าเราลืมภาพจังหวัดไปก่อน แล้วเราดูที่ความเป็นเมือง หมายความว่าไง? หมายความว่าทฤษฎีนี้ ถ้าผมจะบอกว่า เฮ้ย! มันยังใช้อธิบายได้อยู่นะ แต่สิ่งที่เปลี่ยนคืออะไร? สิ่งที่เปลี่ยนคือชนบทเปลี่ยนเป็นเมือง คือชนบทมันไม่ได้นิ่งเท่าเดิม ในเชียงใหม่ มีการขยายตัวของเมือง ไปหางดง ไปสันทราย ไปในพื้นที่รอบๆ ของเชียงใหม่มันส่งผลตรงนี้แล้ว อ้าว แล้วสารภี ไม่ใช่ชนบท สารภีกลายเป็นเมืองไปแล้ว”  

    ณัฐกร บอกว่า ดังนั้น ตนคิดว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย มันอาจจะยังอธิบายได้อยู่ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เปลี่ยน คือชนบทเปลี่ยน ชนบทเป็นเมืองมากขึ้น อ๋อ ถ้ายืมคําของ อาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ แกก็จะใช้คําว่า มันเกิดชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางระดับล่าง หรือชนชั้นกลางใหม่ ที่ไม่ใช่ชนชั้นกลางในเมือง มันก็เลยเกิดความคิดพวกนี้ก็จะไม่ต่างกับคนกรุงเทพ ไม่ต่างกับคนในเมืองใหญ่ๆ แต่ว่าเขาอยู่ในเมือง เขาอยู่ในพื้นที่ที่ผมบอก พื้นที่ที่ความเจริญมันเข้าถึง มันไม่ได้ชนบทแบบบนเขาบนดอยอะไรอีกแล้ว ตอนนี้ผมก็เลยคิดว่า เอ๊ะ! ไอ้ตัวทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย มันก็อาจยังอธิบายได้อยู่ เพียงแต่ว่า สิ่งที่เปลี่ยน คือกายภาพของชนบทมันเปลี่ยน มีความเป็นเมืองมากขึ้น

    สื่อโซเซียลมีเดีย ทำให้ชนบทกับเมือง มันเชื่อมใกล้กันมากกว่าในอดีต

    ณัฐกร มองอีกว่า จุดสําคัญที่มันเชื่อมชนบทกับเมืองคือ เทคโนโลยี พวกโซเชียลมีเดียนี่แหละ ที่มันเชื่อมชนบทกับเมืองใกล้กันมากกว่าอดีต อดีตมันไม่เคยมีไง คนชนบทก็อยู่ภายใต้โลกกันแบบชนบท แต่ว่าพอมาเจอพลังโซเชียลที่มันเชื่อมหากัน โดยเฉพาะ TikTok มันก็มีผลทําให้ความห่างตรงนี้มันลดลง

    เกิดการปะทะกันระหว่างหัวคะแนนยุคเก่าที่ใช้เงินซื้อเสียง กับหัวคะแนนธรรมชาติที่ใช้พลังบริสุทธิ์

    ณัฐกร วิเคราะห์อีกว่า ปรากฎการณ์การเกิดขึ้นของหัวคะแนนธรรมชาติ และไม่ใช้เงินในครั้งนี้ คิดว่ามันเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า คือคนอัดอั้นอยู่กับระบบเผด็จการมายาวนาน ฉะนั้น หัวใจหรือว่าประเด็นที่เขาเรียกร้องมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องอะไรทั้งสิ้น มันคือเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปฏิรูปต่างๆ นานา ซึ่งพรรคอื่นมันไม่มีพรรคไหนที่ตอบโจทย์นี้ได้เท่าก้าวไกล

    “แต่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าจะบอกว่าเงินใช้ไม่ได้ผล ผมก็ยังคิดว่ามันมี เราต้องเข้าใจไว้อย่างว่า มันมีจังหวะที่บ้านใหญ่แข็ง ยังอยู่เยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น ที่ สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ อุทัย ชัยนาท เพชรบูรณ์ เพชรบุรี สุโขทัย กําแพงเพชร พะเยา พิจิตร และอีกเป็นสิบจังหวัด ที่ยังเหนียวแน่น มันยังใช้ได้อยู่นะ ทีนี้เราพูดถึงเชียงใหม่  โอเค มันเปลี่ยน แต่ถามว่า มันเปลี่ยนขนาดนั้นไหม ผมคิดว่าไม่ขนาดนั้น พอหลังเลือกตั้งครั้งนี้ อาทิตย์ต่อมาก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.ตามมาทันที ซึ่งก้าวไกลก็มีผู้สมัครลง ในเขตที่ตัวเองเพิ่งชนะ ส.ส.ไปถล่มทลาย ก็มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ก้าวไกลนั้นก็เคยส่งผู้สมัครท้องถิ่นเหมือนกัน ในเขตที่ตัวเองชนะ ส.ส. เช่นที่ แม่ริม แต่ก้าวไกลแพ้ คือห่างกันอาทิตย์เดียวนะ หมายความว่า ไอ้การใช้เงินเครือข่าย อุปถัมภ์ ความผูกพันส่วนบุคคล มันอาจจะไม่ตอบโจทย์ การเมืองระดับชาติแล้ว เพราะว่าเขามีเป้าใหญ่คือเรื่องอุดมการณ์การเมือง เรื่องความเปลี่ยนแปลง ใหญ่โตโครงสร้าง”

    ณัฐกร บอกว่า แต่พอเป็นเรื่องท้องถิ่น เป็นเรื่องที่จะต้องหาคนมาช่วยเหลือนู่นนี่นั่น เป็นผู้แทนที่เป็น แบบใจถึงพึ่งได้ แบบสมัยเก่า ใช่ เขาก็ยังเอาแบบนักการเมืองแบบเก่าอยู่ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งมันอาจจะมีประกอบกันหลายปัจจัย เพราะว่าเด็กอาจจะไม่ได้กลับบ้านมาเลือกตั้ง มีแต่คนแก่ เด็กวัยรุ่นเขาไปเรียน เขาไม่สนใจท้องถิ่น เขากลับมาเฉพาะระดับชาติ แต่ผมจะบอกว่ามันไม่ได้เลย คงเป็นไปไม่ได้

    “แต่ว่าแน่นอน ในพื้นที่เชียงใหม่ เราเห็นแล้วว่ามันไม่ได้ผล เราดูได้จากอดีต ส.ส. หลายคนที่มาลงก็สอบตก ซึ่งมันก็มีเยอะ พวกนี้อดีต ส.ส. หมดเลย แล้วก็ไปอยู่ประชารัฐบ้าง ซึ่งมีเงินเยอะ ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติบ้าง ก็สอบตก  ซึ่งเราต้องไปดูเชิงลึกไปที่ๆ ไป ว่าแต่ละพื้นที่ ชาวบ้านเขามีวิธีคิดมุมมองการตัดสินใจยังไง แต่อันนี้เราพูดแบบรวมๆ เท่าที่เราพอเห็น”

    ประเมินทิศทางการทํางานขับเคลื่อนของเพื่อไทยอย่างไรในอนาคตหลังจากนี้

    ณัฐกร ประเมินทิศทางการทํางานขับเคลื่อนของเพื่อไทยอย่างไรในอนาคตหลังจากนี้ ว่า เพื่อไทยเอง ไม่ได้เป็นรัฐบาลมานานมาก คือ จะมีกลุ่มที่เป็นกลุ่มในพรรคเองที่มีความคิดที่ไม่ลงรอยกัน อันนี้เราดูได้จากสื่อเลยก็คือ มีความคิดเชื่อว่า เพื่อไทยไม่จําเป็นจะต้องไปจับมือกับก้าวไกลก็ได้ แต่ว่ากระแสนี้ ก็ถูกคัดค้านภายในเอง มีการถกเถียง มีการต่อสู้กันภายในเอง บอกว่า ถ้าไม่จับมือกับก้าวไกล เพื่อไทยจะหมดอนาคต เพื่อไทยจะมีโอกาสที่จะเป็นแบบที่ประชาธิปัตย์เป็นตอนนี้ ก็คือตัวเลขมันจะค่อยๆ ลดลงๆไปเรื่อยๆ

    ทีนี้ มันก็เลยได้ข้อสรุปว่า เพื่อไทยยังไงจับมือกับก้าวไกลแน่นอน อันนี้ทั้งในทางเปิดเผยและจากข้อมูลของคนในพรรค หัวหน้าพรรคยืนยันเอง เศรษฐายืนยันเอง ว่าไม่มีทางที่จะเป็นตาอยู่. แล้วก็ชิ่งจากก้าวไกล แล้วไปตั้งรัฐบาลของตัวเอง ไม่มีทาง อันนี้คือจุดยืนที่ชัดมากของเพื่อไทย ทีนี้ ถามว่าแล้วผู้สมัคร ส.ส. สอบตกทั้งหลายแหล่นี้จะไปไหน อันนี้เท่าที่ผมตามมา ได้ไถ่ถามมานะ เขาบอกว่าจะให้พวก ส.ส.สอบตกนี้ทํางานทางการเมืองต่อ คือพูดง่ายๆ ไม่ได้มองเป้าหมายระยะสั้น แบบแพ้ก็จบ ไม่ใช่ แต่เขาจะทํางานการเมืองต่อเนื่องในตําแหน่งเท่าที่พรรคจะอํานวย ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรี ก็คือดูความสําคัญของคนที่แพ้อีกทีว่า เคยเป็นอดีต ส. ส. เก่า เคยมีประสบการณ์ไหม? ถ้ามีประสบการณ์ เขาให้ไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ถ้าไม่มีประสบการณ์ก็อาจจะไปอยู่ในเครือข่ายการเมืองท้องถิ่น ไปเป็นเลขานายกฯ อบจ. ไปเป็นรองนายกฯ ในพื้นที่ ใน อปท. ที่อยู่ในเครือข่ายของเพื่อไทย อาจจะเป็นระดับ อบจ. เลย  หรืออาจจะเป็นแค่ระดับเทศบาล ก็ให้ทํางานทางการเมืองต่อเนื่อง อันนี้คือกรณีที่เป็นตัวบุคคลที่เป็นผู้สมัครแล้วแพ้นะครับ

    “แต่ว่าโดยภาพรวม ผมคิดว่าเพื่อไทย ยืนยันที่จะจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกลให้ได้ แล้วเห็นแล้วว่า อย่างที่หมอชลน่าน พูดบอกเลยว่าเราเจอมาหลายดอกละ หลายดอกก็คือเจอข่าวสร้างความเข้าใจผิด เช่น จะไปจับมือกับลุงป้อม จัดตั้งรัฐบาลและโดดเดี่ยวก้าวไกล ก็โดนสั่งสอนผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว รอบนี้ก็โดนอีกว่าจะมีการเสนอชื่อคุณสุชาติ ตันเจริญ ขึ้นเป็นประธานสภา ประธานสภา ไม่ใช่คนของก้าวไกล ซึ่งแกก็ตอบว่า เราเคยเจอมาแล้ว แล้วเราก็จะไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอย เพราะว่า ทุกครั้งที่เราเจอ มันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน”  

    อย่างไรก็ตาม มีการพูดถึงกันว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา มักไม่ค่อยเห็นพรรคอันดับหนึ่ง กับพรรคอันดับสอง มาจับมือกันตั้งรัฐบาล ส่วนใหญ่ พรรคอันดับสองมักจะไปกลายเป็นฝ่ายค้านมากกว่า แต่ครั้งนี้ ทำไมเพื่อไทยจึงจับมือกับก้าวไกลได้?

    นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า มันอาจจะเป็นสถานการณ์แบบไม่ปกติ คือมันกลายเป็นกระแสสังคม คือ มันมาทางเดียว คือไม่เอาเผด็จการ มันอยู่ปีกเดียวกัน. แต่ถ้ามันขัดแย้งกัน ดังนั้นคุณไม่สามารถจะไปจับข้ามขั้วได้

    คือฝั่งประชาธิปไตย มันชนะถล่มทลาย จนคุณไม่สามารถจะไปเปลี่ยน คุณจะไปฝืนความรู้สึกตรงนี้ได้ ซึ่งมันอาจจะเกิดการแข่งขันในขั้วเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นก็ได้ในปีกของประชาธิปไตย ก็อาจจะต้องสู้กันเองในอนาคต

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net