Skip to main content
sharethis

เปิดมุมมอง 7 ส.ส.เขต ก้าวไกล เชียงใหม่ ความเห็นของหัวคะแนนธรรมชาติและนักวิชาการในพื้นที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์เจาะพื้นที่ ‘เชียงใหม่’ ตอนที่ 2 กับ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร, อรพรรณ จันตาเรือง, สมดุลย์ อุตเจริญ และพุธิตา ชัยอนันต์

ปรากฎการณ์ ส.ส.ก้าวไกล พลิกผงาดเจาะพื้นที่ ‘เชียงใหม่’ EP1
ปรากฎการณ์ ส.ส.ก้าวไกล พลิกผงาดเจาะพื้นที่ ‘เชียงใหม่’ EP2

เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ว่าเชียงใหม่ที่ผ่านมานั้น คือพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยกุมไว้อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนถึงกับมีการกล่าวขวัญกันว่า เชียงใหม่ คือเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย กระทั่งเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์พลิกผัน เมื่อพรรคก้าวไกล กวาด ส.ส.เชียงใหม่ ได้มากถึง 7 เขต จากทั้งหมด 10 เขต โดยพรรคเพื่อไทยสามารถรักษาพื้นที่เอาไว้ได้ 2 เขตเท่านั้น จนทำให้หักปากเซียนผลโพลหลายสำนัก หลายนักวิชาการ รวมถึงพรรคเพื่อไทย และต้องมาสรุปทบทวน ค้นหาที่มาของปรากฏการณ์ก้าวไกลเชียงใหม่ในครั้งนี้

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร (ตี๋) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร (ตี๋) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร (ตี๋) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ที่ตัดสินใจลงเล่นการเมืองก็เพราะว่า ครั้งหนึ่ง ตนเองมีโอกาสได้ไปช่วยทางผู้ใหญ่บ้านทําโครงการหนึ่งชื่อว่า ไทยนิยมยั่งยืน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประมาณปี 2561 แล้วระหว่างที่เราทําโครงการ เราก็ทําไปตามที่เราทําปกติ ก็คืองบประมาณเท่าไรก็ใส่ไปเท่านั้น แต่ระหว่างที่เราทํา เราก็เจอ ‎offer เสนอราคา บอกราคา งบประมาณเรื่องนี้เรื่องนั้น ที่มันแบบไม่ควรที่จะเป็นแบบนั้นนะ เรื่องการ offer ก็คือมันเป็นส่วนแบ่งอะไรอย่างนั้น แล้วโครงการมันมีอุปสรรคเยอะมาก แล้วพอเราทําสําเร็จออกมา ด้วยงบประมาณที่มันเต็มจํานวนจริงๆ เราเห็นผลลัพธ์ของมัน คือเห็นประชาชนมีความสุข  

“ทุกวันนี้โครงการก็ยังใช้ได้อยู่เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย! ถ้าเกิดเราทําให้ประชาชนมีความสุขได้ด้วยตําแหน่งที่ไม่มีตําแหน่งอะไรเลย ในโครงการแบบนี้  เล็กๆ แค่นี้ และถ้าเกิดเรามีโอกาสที่เข้าไปทําให้มันสเกลใหญ่กว่านี้ล่ะ ให้ประชาชนมีความสุข ในจุดที่มันกว้างกว่านี้อีก ผมก็เลยมาลงการเมืองในครั้งนี้ ก็ไม่ได้รู้สึกหนักใจนะครับ ก็คือถามว่า เราต้องยอมรับในทางการเมือง ว่าเขาก็คือแชมป์เก่าคนหนึ่ง แต่เราก็แค่ลงตรงนี้  แล้วก็มานําเสนอทางเลือก ที่เรามั่นใจว่านี่คือทางของเรา อันนี้คือตัวตนของเรา ที่เรานําเสนอแนวทางใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนแค่นั้นเอง  สุดท้าย ผมก็ไม่ได้แบบที่จะมา fix ว่า เฮ้ย! เขาต้องเลือกเรา เขาต้องเปลี่ยนจากพรรคเพื่อไทยมาเลือกเรา ไม่ใช่นะ ผมก็ได้นําเสนอแนวทางใหม่ไป และก็ให้ประชาชนจะเลือกใคร ก็เป็นไปตามประชาธิปไตยอยู่แล้ว”

ภัทรพงษ์ บอกว่า กลยุทธ์แนวทางการหาเสียง ก็คือเราเป็นคนรุ่นใหม่ใช่ไหม เราอยากจะมาทําการเมืองแบบใหม่ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า วัฒนธรรมการเมืองของประเทศเรา มันดําเนินมายังไงตลอด 20-30 ที่ผ่านมา ถึงแม้มันจะเริ่มเปลี่ยนเป็นการเมืองแบบใหม่แล้ว แต่ว่าเราก็ยังไม่ลืมว่าเราต้องเข้าถึงให้ได้มากที่สุด  นั่นก็คือเรื่อง ประเพณีวัฒนธรรม งานบุญ งานศพ เราก็ยังต้องไป เพราะว่าการที่เราไปงานแบบนั้น ไม่ใช่ว่าเราไปหาเสียงอย่างเดียว เราไปรับฟังปัญหา เราไปเปิดรับข้อร้องเรียนจากประชาชนด้วย แล้วก็ไปแนะนําตัวเองด้วย แล้วก็แนะนําแนวทางด้วยว่าวิสัยทัศน์เราเป็นยังไง อุดมการณ์เป็นยังไง ก็ได้พูดคุยกับชาวบ้าน

“ส่วนหัวคะแนนธรรมชาติ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ มีส่วนสําคัญเลย คําว่าหัวคะแนนธรรมชาติ เราอาจจะเป็นคนคิด wording ตรงนี้ เขามาด้วยใจปะทะ ประชาชนมาด้วยใจของตัวเอง ซึ่งประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง แล้วเขามองว่า ก้าวไกลนี้จะสามารถนําความเปลี่ยนแปลงนี้มาให้เขาได้ไวที่สุด แล้วก็มีจุดยืนชัดเจนที่สุด เราตรงไปตรงมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ประชาชนเขาเห็นแล้ว เขาก็อยากที่จะช่วยพวกเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซ่อมป้าย เรื่องของเวลาเราเดินหาเสียงอยู่ ก็เอาน้ำมาให้ ก็คือให้กําลังใจเราเต็มที่ ช่วยเหลือเราเต็มที่ เท่าที่เขาทําได้นะครับ อันนี้ก็เป็นเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทยเลยด้วยซ้ำไป แต่มันก็เกิดขึ้น แล้วมันก็ทําให้เราตื้นตันใจมากๆ แล้วก็เราก็ต้องยอมรับว่าคะแนนของเราได้รับจาก...คือผมไม่อยากเรียกว่าหัวคะแนนด้วยซ้ำไป อยากเรียกว่าผู้สนับสนุนพวกเราแบบนี้มากกว่า”

ภัทรพงษ์ บอกเล่าอีกว่า ปัจจัยสําคัญที่ทําให้เราชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ นั้นคือความสม่ำเสมอ แล้วก็การแสดงให้เห็นถึงภาพใหม่ มุมมองใหม่ ที่เราลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งปัญหาน้ำท่วม ปัญหาไฟป่า คุณเจอผมที่นั่น  คือเราจะอยู่ในปัญหาตลอด และเราทําให้ประชาชนเห็นมาโดยตลอดตั้งแต่สองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนที่ยังจะไม่มีข่าวยุบสภา เรียกได้ว่าเดินตั้งแต่ยังไม่ได้ใส่เสื้อพรรค โลโก้พรรคก้าวไกลด้วยซ้ำ พอชาวบ้านเห็นถึงความสม่ำเสมอของเราตรงนี้ เขาก็เปิดรับ เปิดรับอะไรใหม่ๆ เปิดรับแนวทาง เปิดรับนโยบายใหม่ๆ ที่เรานําเสนอไปให้ได้ง่ายกว่าปกติ

“เพราะเขาเชื่อแล้วว่า โอเค คนนี้ทํางานจริง คนนี้เป็นคนที่พร้อมเข้าไปแก้ไขจริงๆ แล้วเราก็เข้าได้กับคนทุกกลุ่มทุกวัย ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าได้แต่เฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างเดียว ผู้สูงวัยเราก็เข้าได้ ไม่ใช่ว่าจะเข้าได้เฉพาะประชาชนอย่างเดียว อปท. ท้องถิ่นเราก็เข้าได้ มันไม่ใช่ว่าแค่เราจะมาเน้นนโยบายกระจายอํานาจ แล้วเราเข้าเฉพาะท้องถิ่น ท้องที่กํานันผู้ใหญ่บ้านเราก็เข้าได้ นายอําเภอ ข้าราชการระดับสูงมากๆ เราก็เข้าหาได้ เราเข้าหาได้ทุกกลุ่ม ถ้าจะทําให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด  ซึ่งทําให้การที่เราปูฐานมาตลอดสองปี พอมาถึงช่วงหาเสียงประมาณสองเดือน เราก็โฟกัสเต็มที่ มุ่งนําเสนอนโยบาย เพราะเรานําเสนอตัวเองมาเยอะแล้ว ที่เหลือก็คือนโยบายในพื้นที่ แล้วก็นโยบายระดับประเทศ ก็ถือว่าเป็นปัจจัยสําคัญของพรรคก้าวไกลด้วย ที่ทําให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้” 

ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 บอกย้ำว่า กระแสของพรรคก้าวไกลก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก

“ก็คือ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดว่าทําไมพรรคก้าวไกลถึงชนะ มันตอบได้ง่ายๆ เลย ก็คือความตรงไปตรงมา คือให้เราพูดร้อยครั้ง เราก็พูดเหมือนเดิมครับ เพราะนโยบายเรา มันเป็นแบบนี้ เรามีความชัดเจนว่า เราหาที่มาไปของงบประมาณอย่างชัดเจน เราไม่ได้นําเสนอแค่ว่า สูงวัย 3,000 แต่เรานําเสนอด้วยว่าที่มาของเงินตรงนี้ เราจะใช้มาจากไหน แล้วก็ประชากรผู้สูงวัยทั้งหมดของประเทศไทย  เราจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เราคํานวณหามาชัดเจนมากๆ เพื่อจะทําให้มันเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งนี่คือจุดต่างเลย ผมว่านี่คือจุดต่างระหว่างพรรคก้าวไกลกับของพรรคอื่นๆ นะครับ ทุกพรรคเลย เพราะว่าเราใส่ใจกับนโยบายจริงๆ เราโฟกัสไปถึง detail รายละเอียดขั้นตอนต่อไป”

ภัทรพงษ์ ยังเอ่ยถึงกระแสคนรุ่นใหม่ไว้ด้วยว่า ในนิยามของตน คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เป็นคนที่เราจะแบ่งด้วยอายุนะ แต่เรามองนิยามคนรุ่นใหม่ ว่าด้วยการแบ่งด้วยวิสัยทัศน์และผู้อุดมการณ์ มีคนรุ่นใหม่หลายคนมากมายที่อาจจะอายุ 60-70 ปีแล้ว แต่เรามองเห็นถึงอุดมการณ์และวิสัยทัศน์ของเขา นั่นก็คือคนรุ่นใหม่เหมือนกัน ในมุมมองของเรา ก็คือคนที่เราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้สักที

“เพราะว่าประเทศนี้ เรายอมรับนะว่าปัญหาที่ผ่านมา คือเรามีปัญหาทั้งเรื่องของการกู้ยืม หนี้สินประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาประเทศเรามีโครงการที่ไม่ได้ตอบโจทย์กับประชาชนมากเท่าที่ควร มันเยอะมากๆ ที่เราสิ้นเปลืองงบประมาณไปเยอะมากๆ เลย เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนตรงนี้ คือที่มาของการที่มีคนรุ่นใหม่ที่ว่าเขามองเห็นตรงนี้ ปัญหาอยู่ตรงนี้นะ ปัญหามันไม่ใช่เรื่องที่เราจะแก้ปัญหาผิวเผินไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันก็จะวนมาเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอของมัน และนั่นแหละเราต้องเลือกพรรคการเมืองที่ตนเองชัดเจนมากที่สุด แล้วก็ตรงไปตรงมามากที่สุด”

ภัทรพงษ์ บอกทิ้งท้ายไว้ว่า พร้อมจะผลักดันแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวบ้าน ในอันดับต้นๆ เลยก็คือเรื่องของภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากว่าปีที่ผ่านมา ในเขตอําเภอหางดง สันป่าตอง เกิดน้ำท่วมหนักมาก บางพื้นที่ท่วมไป 6-7 รอบก็มี เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่เราต้องเข้าไปทําก็คือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับพ่อแม่พี่น้องให้ได้ มันเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่สามารถแก้ไขแบบเข้าไปแก้ไขได้เลย มันก็เป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องเข้าไปผ่านตัวโครงการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในระยะยาวให้ได้

“เพราะว่าปัญหานี้อยู่กับชาวบ้านมานานมากแล้ว เราก็ต้องมองวิธีการแก้ทั้งระบบ ฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมจะทำยังไง  พอถึงฤดูแล้งไม่มีน้ำ เราจะเอาน้ำมาผันมาใช้ตรงนี้ได้ยังไงบ้าง ก็จะมองเป็นระบบ มองไปถึงผังเมืองด้วยว่า ผังเมืองปัจจุบันเรา ถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการบริหารจัดการน้ำมากแค่ไหน สภาพความเป็นจริง สภาพผังเมืองที่เขาเขียนไว้ มันสอดคล้องกันมากเท่าไหร่ เราก็ต้องมามองแก้ไขทั้งระบบ แล้วก็มีประเด็นเรื่องไฟป่า หมอกควัน ก็จะมีในส่วนของพื้นที่ตําบลที่เป็นพื้นที่ป่า ในเขตพื้นที่อำเภอสันป่าตอง ก็จะมีตําบลน้ำบ่อหลวง ในเขตพื้นที่อําเภอหางดง ก็จะมีตําบลหนองควาย ตําบลน้ำแพร่ แล้วก็ที่เป็นพื้นที่ป่ามากที่สุดก็คือตําบลบ้านปง ซึ่งมีไฟป่าทุกปีเลย  เราก็มีโอกาสเข้าไปร่วมดับไฟ เข้าไปร่วมทําแนวกันไฟ แล้วก็เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ คือเราเข้าร่วมทุกทางที่เราทําได้ เราก็เห็นปัญหาว่าปัจจุบัน ว่างบประมาณมันไปไม่ถึง ซึ่งจริงๆ แล้ว ชัดเจนเลย ยกตัวอย่างเช่น ดอยสุเทพ-ปุย มีฮอตสปอตอยู่ 33 จุด แต่ว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่แค่ 150 คนคือจุดหนึ่งเฉลี่ยมีเจ้าหน้าที่ 5 คน ซึ่งเราไม่มีทางที่จะควบคุมไฟป่า  มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราเห็นแล้วว่าเราขาดอะไรบ้าง? เราขาดงบประมาณ เราขาดบุคลากร  แล้วเราก็ขาดการให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย เพราะว่าผมไม่เคยเห็นท้องถิ่นไหนที่มีจะมีศูนย์บัญชาการควบคุมไฟ หรือการบริหารจัดการไฟได้เลย เพราะว่าเขาไม่มีอํานาจและงบประมาณ”

อรพรรณ จันตาเรือง (นินนี่) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 6 พรรคก้าวไกล

อรพรรณ จันตาเรือง (นินนี่) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 6 พรรคก้าวไกล

อรพรรณ จันตาเรือง (นินนี่) ส.ส.เชียงใหม่ เขต 6 พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ที่ตนเองเลือกตัดสินใจลงสมัครในนามพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ แล้วก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.หญิงคนแรกในเขต 6 นี้เลยว่า ก็เพราะอุดมการณ์ของพรรคที่ให้โอกาส และเห็นคนเท่าเทียมกัน จึงทำให้ตน ในฐานะเป็นลูกเกษตร ลูกหลานชาวไร่ ชาวนา ด้วยเราไม่ได้มีนามสกุลที่โด่งดัง แต่พรรคได้ให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมและก็ได้ให้โอกาสลงสมัครในครั้งนี้

“และอีกอย่างหนึ่ง ก่อนหน้านั้น เราเคยทำงานการเมืองท้องถิ่น เคยเป็นรองนายก อบต.ในพื้นที่มาก่อน ทำให้เราอยู่กับการเมืองที่แบบเดิมๆ จึงอยากเห็นอะไรในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ อยากทำการเมืองเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ประโยชน์เพื่อพรรคพวกของตน ด้วยความที่เราเป็นลูกเกษตร ทำให้เรารู้ว่า ที่ผ่านๆ มา ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแต่ละคนนั้นเข้ามาขอคะแนนจากชาวบ้าน แต่สุดท้ายทุกคนพอได้เป็น  แต่ไม่มีใครนำปัญหาของพี่น้องชาวบ้านไปแก้ไขเลย รวมไปถึงที่ผ่านมา เราเจอปัญหาหลายๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการศึกษา ด้วยเราเป็นลูกคนจน ทำให้เรารู้ว่า การเข้าถึงการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ และไม่มีความเท่าเทียมในสังคม ดังนั้น เราจึงอยากอาสามาเป็นตัวแทน ถ้าหากได้โอกาส จะขอทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพื่อประชาชนของเราต่อไป”

อรพรรณ บอกว่า ตอนที่ลงพื้นที่หาเสียง แม้ว่าจะต้องแข่งขันเจอกับฐานเสียงเดิมของพรรคบ้านใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย แต่ส่วนตัว ไม่มีความหนักใจเลย เพราะว่า สิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนพร้อมจะเดินไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่ตัวเราและพรรคก้าวไกล แต่เราเชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคนนั้นพร้อมใจจะสู้ไปด้วยกัน และเราทุกคนจะทำให้ดีที่สุด

“ตอนหาเสียงนั้น เราจะใช้กลยุทธ์วิธีหาเสียง โดยสร้างทีมงาน มีการตั้งอาสาสมัคร คือ อาสาสมัครระดับอำเภอ อาสาสมัครระดับตำบล และอาสาสมัครระดับหมู่บ้าน  ทำเป็นเครือข่ายอาสาร่วมกัน รวมไปถึงหัวคะแนนธรรมชาติที่ต่างหารูปแบบ หาทางหนุนช่วยเหลือกันในแต่ละพื้นที่ จนทำให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ แน่นอน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ครั้งนี้ ก็คือ 1.กระแสของพรรคก้าวไกล 2.คนรุ่นใหม่ 3.การลงพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนได้มากที่สุด ใกล้ชิดมากที่สุด สร้างความเชื่อมั่นในตัวเราและพรรคเรามากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ เมื่อได้เข้าไปสภา เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เราก็พร้อมจะผลักดันแก้ไขปัญหาเรื่องไหนให้ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม เรื่องที่ดิน เรื่องการเกษตร เรื่องความเป็นอยู่ สวัสดิการถ้วนหน้า รวมไปถึงปัญหาเรื่องโครงสร้างต่างๆ ต่อไป”

สมดุลย์ อุตเจริญ (กว้าง) ส.ส.พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 7

สมดุลย์ อุตเจริญ (กว้าง) ส.ส.พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 7

สมดุลย์ อุตเจริญ (กว้าง) ส.ส.พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 7 บอกเล่าให้ฟังว่า ที่ตัดสินใจมาลงเล่นการเมือง แล้วลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล นั้นก็เพราะว่า ตนเองรู้สึกบอบช้ำจากการเมืองที่ผ่านมา ทั้งหมดมันเป็นการเวียนว่ายตายเกิดระหว่างการเลือกตั้งกับรัฐประหารมาเรื่อยๆ เพราะตนเองอายุค่อนข้างเยอะ และต้องเจอระบบนี้มาตลอด ตั้งแต่การเมืองท้องถิ่น จนไปถึงพรรคการเมืองมามากมาย แต่ก็รูปแบบเหมือนเดิม นั่นคือการซื้อเสียง ทำให้การเมือง มันไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะมันไปอยู่กับอํานาจของผู้มีอิทธิพลและของนายทุน

“แล้วพอดีมาเห็นพรรคอนาคตใหม่ จนมาเกิดพรรคก้าวไกล ทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไปเลยว่า อํานาจนั้นต้องกลับสู่ประชาชน ประโยชน์ต้องกลับสู่ประชาชน และเน้นการกระจายอํานาจ การตรวจสอบด้วยระบบโปร่งใส แบบนี้ผมชอบมากเลย จึงตัดสินใจลงสมัครในนามพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ ซึ่งตนไม่ได้รู้สึกหนักใจเลย ที่ต้องแข่งขันกับพรรคคู่แข่ง ซึ่งเป็นพรรคบ้านใหญ่อย่างเพื่อไทย และมีความคิดเป็นสองอย่าง คือ ตนเองทำงานกับมวลชนชาวบ้านมาโดยตลอด ก็จะรู้ว่ามันมีอะไรที่ชาวบ้านต้องการ ตนต้องการสร้างปราการอันแข็งแกร่งครั้งต่อไป เพราะตนคิดไว้ว่าถึงแม้ครั้งนี้จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่มันจะสร้างปราการอันแข็งแกร่ง  นําไปสู่ขยายมวลชน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็จะเป็นฐานคะแนนของพรรคก้าวไกลทั้งหมด เพราะฉะนั้น เป้าหมายของผมก็คือมวลชน ประชาชนเข้มแข็ง ทั้งนี้ ทําให้พวกผมมีความตั้งใจและมั่นใจว่า มันสามารถสร้างประชาธิปไตยในอนาคตได้แล้ว”

สมดุลย์ บอกว่า ในช่วงตอนหาเสียงกับพี่น้องชาวบ้าน นั้นรูปแบบการหาเสียงจะแตกต่างจากพรรคอื่นค่อนข้างมาก ข้อหนึ่งก็คือ เราไม่มีการใช้เงิน แจกของหรือสัญญาว่าจะซื้ออะไรเลย  และเราจะไม่มีหัวคะแนน ที่เป็นผู้ที่มีอํานาจ มีบารมี แต่เราจะไปหาบุคคล ชาวบ้านธรรมดา โดยเราจะใช้วิธีเดินเข้าหา สร้างความมั่นใจและสร้างความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ก็ใช้เวลาค่อนข้างที่จะนานหน่อย แต่ด้วยความมั่นใจแก่เขา สุดท้ายชาวบ้านที่เข้าใจ ก็กลายเป็นหัวคะแนนธรรมชาติไปเลย

“เพราะปกติ ถ้าเอาเงินจ้างหัวคะแนน เหมือนหลายพรรค พอหมดเงิน เขาก็จะยุติการทํางานหรือไปเป็นของคนอื่น แต่ถ้าใช้แบบความเข้าใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ก็จะกลายเป็นหัวคะแนนธรรมชาติและเป็นฐานเสียงของเราต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งพอจะสรุปได้ปัจจัยสําคัญที่ทําให้เราชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ อันดับแรกคือกระแสของพรรค  อันดับที่สอง เนื่องจากตนเองเป็นคนที่อายุมาก จึงทำให้กลายเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างคนที่อายุมาก กับคนรุ่นใหม่ เหมือนกับว่า เราก้าวไปข้างหน้า แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งคนข้างหลังไว้ ก็คือ ผมจะสร้างความเข้าใจแก่คนทุกวัย โดยเฉพาะคนอายุเยอะแล้ว  แต่อาจจะใช้เวลามากหน่อย จนเข้าใจถ่องแท้ จนเขามั่นใจ แม้ว่าจะหนึ่งคน แต่ก็คือคนที่เข้าใจแล้วพร้อมที่จะไปเผยแพร่แนวความคิดของพรรคมากกว่าเรา รูปแบบนี้จะใช้เวลาหลายวัน ถ้าเราได้ไปคุยแบบนี้ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ก็จะช่วยเราได้เยอะเลย ในขณะที่คนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เขาจะสนใจและติดตามกระแสของพรรคกันอยู่แล้ว ก็เลยเป็นปัจจัยหนุนช่วยทำให้ชนะเลือกตั้งครั้งนี้”

สมดุลย์ บอกว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ชาวบ้านต้องการให้เข้าไปช่วยแก้ไขมากที่สุด ปัจจุบันนี้ก็คือเรื่องแหล่งน้ำ ปัญหาเรื่องสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมไปถึงการพัฒนาเรื่องของการท่องเที่ยวในพื้นที่ ไชยปราการ ฝาง และแม่อาย เพราะจริงๆ แล้ว พื้นตรงนี้ มีศักยภาพ มีสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนไม่มีการบริหารจัดการเรื่องการท่องเที่ยวให้เป็นระบบ ทั้งๆ สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ ได้หมดเลย ซึ่งตนเองรู้สึกดีใจและภูมิใจอย่างมาก กับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ตนถือว่าเป็นคนแม่อาย เป็นคนท้องถิ่น เกิด เติบโตที่นี่ ดังนั้น ตนรู้สึกภูมิใจมากกว่าการเป็น ส.ส.ก็คือการได้เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวบ้าน ได้ไปเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้าน

พุธิตา ชัยอนันต์ (จีน) ส.ส.พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 4

พุธิตา ชัยอนันต์ (จีน) ส.ส.พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 4

พุธิตา ชัยอนันต์ (จีน) ส.ส.พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 4 เป็น ส.ส.อีกคนหนึ่ง ที่เป็นกระแสฮือฮากันเป็นอย่างมาก จากภาพนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิในการเลือกตั้ง จนมาลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล ในปี 2566 โดยระหว่างหาเสียง เธอกลายเป็นไวรัล เมื่อเดินหาเสียงเจอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไปหาเสียงในจ.เชียงใหม่พอดี จึงพูดผ่านโทรโข่งให้เลิกปล่อยข่าวปลอมยกเลิกเกณฑ์ทหารบิดเบือนเป็นยกเลิกทหาร จนกระทั่งได้เป็น ส.ส.ก้าวไกล เชียงใหม่ เขต 4 โดยได้รับเสียงเลือกตั้ง 62,009 คะแนน เอาชนะ นายวิทยา ทรงคำ พรรคเพื่อไทย ที่ได้รับ 21,942 คะแนน และคะแนนเสียง 62,009 คะแนนของเธอนั้น สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศอีกด้วย

พุธิตา บอกเล่าถึงที่มา ของการเป็น ส.ส. เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกลในครั้งนี้ว่า  มันเริ่มต้นจากที่ตนเองเคยเป็นนักกิจกรรมมาก่อน แล้วจริงๆ ก่อนหน้า ก็รู้สึกหมดหวังกับอนาคตของประเทศ หรือว่าอนาคตการเมืองของไทยไปแล้ว แต่ก็กลับมามีหวัง ในวันที่ได้ข่าวการก่อตั้งของพรรคอนาคตใหม่ ต่อมา ตนเองก็พร้อมอยากที่จะมาเป็นส่วนหนึ่ง  เป็นคนตัวเล็กๆ ที่จะมาช่วยงานพรรค ก็ได้มาเป็นผู้ช่วย ส. ส. ในสมัยอนาคตใหม่ คือได้เป็นผู้ช่วย ส.ส. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อมา ก็เปลี่ยนย้ายมาเป็นผู้ชำนาญการประจำตัว เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล

“สําหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ พอรู้ว่าพรรคต้องการให้มี ส.ส. เขต ตามกติกาใหม่รอบนี้ จําเป็นมากเลยที่พรรคจะต้องส่งให้ได้ครบทุกเขต ซึ่งสําหรับจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมา  เรามีประเด็นเรื่องของงูเห่า แล้วตัวเองก็คิดว่า ต้องการคนที่มีอุดมการณ์ชัดเจน  แล้วก็ประชาชนสามารถที่จะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ ของผู้แทนของเขาได้นะคะ บวกกับจังหวะชีวิตที่ตนเองเพิ่งแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก แล้วก็ได้ย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่ แล้วในช่วงจังหวะนั้น เป็นช่วงที่โควิด-19 กําลังเข้ามาใหม่ๆ ก็ รู้สึกเห็นข่าวออกมา มีข่าวคนท้องเสียชีวิต เด็กแรกเกิดเสียชีวิตจากโควิด มันเพราะอะไร? เพราะว่าตอนนั้นเรายังไม่มีวัคซีน NR NA เข้าประเทศหรือเปล่า ก็ทําให้รู้สึกว่า เฮ้ย การเมืองมันเกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรงเลย เราก็เป็นห่วงลูก จนกลับมาย้อนคิดว่า อยากจะให้ลูกของเราได้อยู่ในสังคมที่ดี ถ้าเขาได้มีโอกาสรอด คลอดเกิดออกมาแล้วเขารอด ก็อยากจะสร้างสังคมที่ดีให้กับลูก ก็ตัดสินใจว่า โอเค งั้นขอให้เราเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้กับพรรค ก็เข้าตามกระบวนการเลย กระบวนการของพรรคก็คือว่าก็ยื่นใบสมัครสอบสัมภาษณ์  สุดท้ายก็ได้รับการคัดเลือก”

แน่นอน หลายคนตั้งคำถามกันว่า รู้สึกอย่างไร หนักใจไหม ที่ต้องมาลงแข่งขันในพื้นที่เขต 4 ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยมาหลายสมัย

พุธิตา บอกว่า ไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเมื่อก่อนเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดง ก็เข้าใจ แล้วสําหรับตัวเอง จริงๆ ไม่ได้คิดว่า แข่งกับใคร หรือแข่งกับพรรคไหน เพราะว่า เราตั้งใจที่จะมองไปข้างหน้า เป้าหมายของเราคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ ดังนั้น ดวงดาวที่เราจะต้องไปให้ถึงนั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่วนการชนะการเลือกตั้งหรือไม่นั้น มันเป็นธงเล็กๆ ธงหนึ่ง ดังนั้น เราไม่สนใจว่าจะต้องชนะคู่แข่ง  แต่เรามองว่าคนที่เราจะต้องเอาชนะให้ได้ก็คือการชนะใจประชาชน  ต้องทําให้ประชาชนเห็นว่าเราคือความหวังของพวกเขา

“กับคำถามที่ชาวบ้านหรือคนทั่วไปกังวลกันว่า เธอจะไหวมั้ย เพราะหน้าตาดูเด็กมากแบบนี้ คือจริงๆ แล้ว ซึ่งเรามองว่าตัวเองอายุไม่น้อยนะ อือ ปีนี้จะสามสิบหกแล้ว แต่อาจจะดูหน้าเด็ก แล้วก็ตัวเล็กอะไรอย่างงี้ แล้วเสียงก็ดูเป็นเด็ก (หัวเราะ)  หรืออาจจะดูแบบเล่นๆ ได้ ก็ทำให้เราโอเค เข้ากับคนอื่นได้ง่าย แต่เรามองว่ามันเป็นอุปสรรคมั้ย ก็เป็นทั้งอุปสรรค แล้วก็เป็นข้อดีด้วย คือเราเปลี่ยนอุปสรรคเป็นข้อดีได้นะ เพราะการที่เรามีบุคลิกที่ดูเป็นเด็ก เวลาเราเข้าหาผู้ใหญ่ เราก็เข้าหาผู้ใหญ่ด้วยความอ่อนน้อม แล้วเขาก็สัมผัสเราได้แหละ แต่เมื่อถึงเวลาที่เราทํางาน เราทํางานได้ เราทํางานจริงนะ อันนี้ก็น่าจะเป็นข้อได้เปรียบ น่าจะพลิกมาเป็นข้อได้เปรียบได้ค่ะ บวกกับภาพ สมัยที่เราเป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิในการเลือกตั้ง ไปประท้วงแล้วโดนเจ้าหน้าที่หิ้ว อันนี้ก็เกี่ยวค่ะ เพราะว่ามันช่วยทำให้เราเป็นที่รู้จัก เพราะการลงสมัคร ส.ส. เขต  หนึ่ง คือจะต้องลงพื้นที่เยอะเยอะ เจอคนให้มากที่สุด แล้วตัวเราอาจจะโชคดีที่ว่าในอดีตของเรา มันเป็นภาพจําสําหรับคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงสื่อโซเชียล ก็จะรู้จักทีมกันอยู่แล้ว แล้วก็มีอีกจังหวะหนึ่ง วันที่เราลงพื้นที่หาเสียงในตลาด แล้วเจอพลเอกประยุทธ์ แล้วมีนักข่าวถ่ายคลิปได้พอดิบพอดี จังหวะนั้น แล้วก็พอมันเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย มันเป็นไวรัล ก็ทําให้คนในพื้นที่รู้จักเรามากขึ้นค่ะ ชาวบ้านหลายคนเห็นก็ทัก อ๋อ อ๋อ... ไอ้น้องเบอร์ห้าเหรอ? อ๋อ คือคนที่ไปตะโกนเจอประยุทธ์ในตลาดวันนั้นไง  ก็ทําให้เขารู้ว่าโอเค เราเป็นใคร ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง”

พุธิตา บอกอีกว่า แต่ตนคิดว่าที่เป็นปัจจัยสําคัญเลย คือการเป็นที่รู้จัก เพราะว่าคนไม่อยากเลือกคนที่ตัวเองไม่รู้จักหรอก  หรือว่าคนไม่อยากเลือกคนที่ไม่เคยเจอหน้า ปัจจัยที่สองก็คือ หลังจากที่เขารู้จักเราแล้ว เขาก็ต้องมั่นใจ เจอเราแล้วก็ต้องมั่นใจว่า ว่าคือเราทํางานได้ เราเป็นตัวแทนของเขาได้ แล้วก็เขาก็ต้องรู้สึกดีกับเรา เมื่อพบเราแล้ว ซึ่งจริงๆ คิดว่าตรงนี้ตนเองให้ความสําคัญมากเลย และปัจจัยคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นหัวคะแนนธรรมชาติ คิดว่าอันนี้ ก็น่าจะเป็นปัจจัยร่วมของพรรคก้าวไกล

“คือเรามีฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างที่จะแน่น เพราะว่าคนรุ่นใหม่สมัย เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ทางด้านสังคม การเมือง แล้วเขามีความคิดเป็นของตัวเอง แล้วก็การที่เขามีพื้นที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งสมัยนี้มันไม่สามารถปิดกั้นข่าวสารข้อมูลอะไรได้แล้ว  ในการส่งต่อข้อมูลกัน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้เกิดกระแสของด้อมส้มคนรุ่นใหม่ ที่ส่งเสียงทางการเมืองแล้วก็กลับมา ส่งเสียงบอกพ่อแม่ บอกญาติผู้ใหญ่ของตัวเอง ให้ช่วยกันเลือกพรรคที่เขาคิดว่าจะเป็นความหวังของอนาคตของพวกเขา”

พุธิตา บอกอีกว่า รูปแบบกลยุทธ์หาเสียง นอกจากเดินเข้าหาชาวบ้านแล้ว ไม่มีกลยุทธ์อะไรพิเศษเลย ธรรมชาติมากเลย ก็อันดับแรกที่เราให้ความสําคัญ คือการทํางานเป็นทีม เราสร้างทีมงานก่อนเป็นอันดับแรก เราจะให้ความสําคัญกับการเลือกทีมงาน  แล้วก็สร้างทีมงานที่เข้มแข็ง เพราะตนคิดว่าตัวเราคนเดียว ไม่สามารถทําอะไรได้ ก็หาทีมงาน แล้วก็อาสาสมัครที่พร้อม ที่อยากจะมาช่วยร่วมเดินทางไปกับเรา เราแข็งแรงตรงนี้  ก็จะเป็นลักษณะเด่นของเชียงใหม่ เขต 4  แล้วพอมีทีมงานเราก็ทํางานได้ อะไรที่เราทําได้ เราทําเลย ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ความเดือดร้อนของคนในพื้นที่จริง ก็นําเข้าสู่กรรมาธิการ นําเข้าสู่สภา ผ่าน ส.ส. ของพวกเรา ก็คิดว่า อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองว่าเราทํางานได้ แล้วก็ทํางานเป็นระบบ

“เราก็ไม่เชื่อหรอก วิธีการหาเสียงแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีหัวคะแนนแบบเดิม หรือว่าการหาเสียงแบบ ไหว้แล้วก็ผ่านไป เดินผ่านไปเร็วๆ  ซึ่งเราก็พยายามใช้เวลาในการลงพื้นที่ ในการพูดคุยกับชาวบ้านแต่ละคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทําได้ เพราะเรารู้สึกว่า เหมือนเราเวลาเจอนักการเมืองมาเดินไหว้ แบบขอคะแนน แนะนําตัว พูดเร็วๆ แล้วไปต่อเลย เราก็ไม่ได้รู้สึกอยากเลือกนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนปัญหาความทุกข์ร้อน มีคนรับฟัง เราก็ประทับใจคนที่พร้อมที่จะรับฟังกับเรา ดังนั้น ตนเองคิดว่าเราก็ใช้ตรงนี้แหละเป็นจุดสําคัญ ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเรา”

พุธิตา บอกว่า หลังจากนี้ก็จะวางแผนในการทำงาน ผลักดันแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวบ้าน สําหรับในพื้นที่ เราแบ่งเอาไว้ ก็คือทําแล้ว ทําอยู่ ทําต่อ ก็สิ่งที่ทําแล้ว ทําอยู่และจะทําต่อไป  ก็คือ จะติดตามปัญหาความเดือดร้อน ของคนในพื้นที่ คือในกรณีเรื่องของการขนดินของบ่อดิน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ตําบลป่าไผ่ หลายหมู่บ้าน ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จากกรณีของรถบรรทุกถมดิน แล้วก็เรื่องที่สอง ที่ทําแล้ว ทําอยู่ แล้วทําต่อ ก็คือ ติดตามงบประมาณการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่แม่แฝกใหม่ ซึ่งตรงนี้เราได้พาชาวบ้านเข้าไปยื่นหนังสือให้กับกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมในสภา ก็หลังจากยื่นหนังสือไปแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไป แล้วก็รวมถึงปัญหาร้องเรียนต่างๆ ด้วย เช่น ปัญหาที่ดิน ปัญหาไฟส่องสว่าง ปัญหาน้ำประปา แล้วก็เรื่องอื่นๆ หลายๆ เรื่องที่คนร้องเรียนเข้ามาในระบบ

“เพราะว่าตอนนี้ เราทำระบบเรื่องการร้องเรียน ก็จะรู้เลยว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาวันละไม่ต่ำกว่า 20-30 เรื่อง ก็ไล่เรียงไปว่า ตําบลนี้ เทศบาลนี้ มีเรื่องร้องเรียนอะไรบ้าง? แล้วอะไรที่ทําได้เลย ก็ทําเลย ก็ทยอยทําอยู่ค่ะ อะไรที่ยังทําไม่ได้ อะไรที่ต้องใช้ระบบสภาอะไรอย่าง ก็จะจัดหมวดหมู่ อันนี้คือเรื่องในพื้นที่ ส่วนเรื่องที่อยากจะทําเร่งด่วน ในฐานะที่เป็น ส.ส. เชียงใหม่ ก็แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องของปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่ในนโยบาย 100 วันแรกของพรรคด้วย ที่จะต้องรีบผลักดันแก้ปัญหา ก็จะต้องร่วมมือกันกับ ส.ส.เชียงใหม่ของก้าวไกลทุกเขต เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ ก็ต้องร่วมมือกันหมด นอกจากนี้ ก็เป็นวาระของพรรค 100 วันแรกของพรรค พรรค จะผลักดันอะไรบ้าง การเมืองดีแบบท้องดี มีอนาคต มีอะไรบ้าง? มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วก็เรื่องระเบียบคําสั่ง คสช. ทบทวนคดีการเมือง แล้วก็เรื่องของกฎหมาย กอรมน. อันนี้ก็ต้องรีบทํา ในฐานะของนโยบายทางการเมือง รวมไปถึงประเด็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็เป็นเรื่องของการกระจายอํานาจ แน่นอนว่าเราต้องร่วมผลักดันอย่างแน่นอนค่ะ”

เมื่อถามว่า ยังเชื่อมั่นในทิศทางการเมืองแนวใหม่ของพรรคก้าวไกล ว่าจะฝ่าด่านการเมืองที่กำลังร้อนระอุและเต็มไปด้วยความขัดแย้งและซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเหล่า ส.ว.และ ส.ส.แต่ละพรรค ในการเตรียมโหวตเลือกประธานสภาฯ นายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่?

พุธิตา บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่าเรามาได้ไกลมาก เรามาได้ไกลแบบแรงมาก เพราะถ้าสมมติว่า เขาจะล้มเราครั้งนี้นะ ครั้งหน้าเขาก็ล้มเราไม่ได้ กระแสคือคนตื่นรู้แล้ว  โลกสมัยนี้ คนติดตามข่าว ตามอะไรมันเร็วมาก  ใครทําอะไรรู้หมด จริงๆ ก็หวังว่าจะเป็นแบบนั้น ว่าเรายังคงได้รัฐบาลก้าวไกลอยู่นะ

“ก็ยังหวังอยู่นะคะ  แต่สุดท้าย ถ้ามันไม่ได้ รอบนี้ไม่ได้ ก็ยังมีรอบหน้า แต่เราเป็นห่วงประชาชนมากกว่านะ สงสารประชาชน เพราะเขาตั้งใจเลือกพวกเราเข้ามาแก้ไขปัญหาของพวกเขา เขาเลือกเราไม่ใช่เพราะแค่คําว่าก้าวไกล  แต่ตนเชื่อว่าประชาชนฉลาดกว่า  ฉลาดกว่านั้น คือเขาเลือกเราเพราะเขาเห็นว่าเราชัดเจน เราบอกหมดเลย พรรคเราบอกหมดเลยว่า เรามี เราจะทําอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ หรือ 100 วันแรกเราจะทําอะไร หนึ่งปีเราจะทําอะไร เปิดเผยหมดเลย ชัดเจน  แล้วคนก็อยากได้สิ่งที่เราทํานี่แหละ เขาเลือกเรา เขาเลือกนโยบายอยู่ และเขาเลือกชีวิตของเขาด้วย เขาเลือกอนาคตของลูกหลานเขาด้วย แต่ถ้าการเมืองมันไม่โอเค เราบอกว่า โอเค  ไม่เป็นไร ไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้  เป็นฝ่ายค้านก็ได้ ใช่ เราเป็นฝ่ายค้านก็ได้ แต่ว่าหลายๆ อย่าง สี่ปีก็มีค่า หนึ่งปีก็มีค่า แม้กระทั่ง วันพรุ่งนี้หนึ่งวัน  นับเวลาไปแต่ละวัน มันผ่านไป มันมีค่าหมดเลย เราคิดอย่างเดียวคือ สงสารชาวบ้าน ชีวิตเขารอความหวังจากพวกเราอยู่ คนที่เดือดร้อน เรารู้สึกแค่นั้นแหละ  คือสําหรับเรายังไงก็ได้  ให้เป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นได้ จนสุดท้ายแทบจะไม่ให้ตัวเองเป็นอะไรเลย เราก็ได้  ก็ยังจะอยากจะทํางานผลักดันเป็นเบื้องหลังให้พรรค ให้สังคม หรือจะเป็นเอ็นจีโอ เป็นอะไรก็ได้ ก็จะทําต่อไป สงสารแต่อนาคต ลูกหลานเรานี่แหละ  ช้าไปนิดหนึ่ง ยกตัวอย่างเรื่องฝุ่นPM 2.5 ช้าไปปีหนึ่ง ปีหนึ่งเขาหายใจเอาอากาศเป็นพิษเข้าไป ปอดเขาจะเป็นยังไงบ้าง หรือเรื่องโควิด  ช้าไปหนึ่งเดือนมีคนเสียชีวิตกี่คน เราเป็นห่วงตรงนี้แหละ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net