Skip to main content
sharethis

นักเรียนหญิงจากโรงเรียนในรัฐนอร์ทแคโรไลนาไม่ต้องห่วงว่าจะถูกบังคับสวมเครื่องแบบอีกต่อไป เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ไม่รับอุทธรณ์ กรณีที่โรงเรียนไม่พอใจคำตัดสิน ทำให้ยังคงคำตัดสินเดิมจากศาลอุทธรณ์ที่ระบุให้การบังคับนักเรียนหญิงให้ต้องสวมเครื่องแบบที่เป็นกระโปรงถือเป็นการละเมิดกฎหมายระดับประเทศของสหรัฐฯ

ช่วงเดือน มิ.ย. 2566 ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ กรณีที่ศาลอุทธรณ์เคยตัดสินห้ามไม่ให้โรงเรียนในกำกับของรัฐนอร์ทแคโรไลนาออกกฎบังคับเครื่องแบบนักเรียนหญิงให้ต้องใส่กระโปรงและชุดอื่นๆ ตามการกำกับของโรงเรียน

สำหรับโรงเรียนที่เป็นต้นเหตุของคดีนี้คือโรงเรียน ชาร์เตอร์เดย์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนที่บริหารงานโดยไม่ได้ขึ้นตรงกับทางการรัฐนอร์ทแคโรไลนา แต่ก็ถูกจัดให้เป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐนอร์ทแคโรไลนา และได้รับงบประมาณร้อยละ 95 จากรัฐ

ต้นตอของคดีนี้มาจากการที่โรงเรียนชาร์เตอร์เดย์ต้องการจะ "เน้นค่านิยมตามประเพณี" และต้องการบังคับใช้กฎระเบียบการแต่งกาย ที่จะบังคับให้ผู้หญิงต้องสวมกระโปรง หรือกางเกงกระโปรง (skorts) กับเสื้อนอกแบบไม่มีกระดุม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกล่าวอ้างว่าการให้นักเรียนหญิงสวมกระโปรงนั้นก็เพื่ออนุรักษ์แนวคิดที่ว่าผู้หญิงเป็น "ผู้มีเรือนร่างบอบบาง ที่ผู้ชายควรจะต้องคอยดูแลและให้เกียรติ"

ผู้ที่ฟ้องร้องการบังคับสวมเครื่องแบบคือองค์กรด้านสิทธิพลเมืองที่ชื่อ สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนหญิงอีกหลายคน ทำการฟ้องร้องโรงเรียนโดยกล่าวหาว่าการบังคับให้นักเรียนหญิงต้องสวมกระโปรงนั้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในเรื่องการการันตีให้ทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดกฎหมายระดับประเทศของสหรัฐฯ คือกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่เรียกว่า Title IX ด้วย

นอกจากนี้ทนายความของพ่อแม่ผู้ปกครองยังโต้แย้งว่าข้อบังคับเรื่องให้ผู้หญิงสวมกระโปรงนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานความคิดเรื่องการเหมารวมทางเพศสภาพต่อนักเรียนหญิงโดยจำกัดความสามารถที่พวกเธอจะร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ เช่น การเล่นในสนามเด็กเล่น

การคุ้มครองเรื่องความเท่าเทียมที่ระบุในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ นั้น รองรับแค่การกระทำของภาครัฐเท่านั้น แต่ไม่คุ้มครองรวมไปถึงภาคเอกชนด้วย ซึ่งโรงเรียนชาร์เตอร์เดย์ได้อ้างเรื่องนี้เพื่อโต้ตอบการฟ้องร้อง โรงเรียนชาร์เตอร์เดย์ระบุว่าพวกเขาไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐ แต่เป็นหน่วยงานเอกชนที่ทำตามสัญญาข้อตกลงกับรัฐนอร์ทแคโรไลนา พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องถูกกำกับในเรื่องการคุ้มครองความเท่าเทียมทางเพศ ในเรื่องข้อกล่าวหาละเมิด Title IX ที่ว่าด้วยการเลือกปฏิบัตินั้น ทางโรงเรียนบอกว่ากฎหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงกฎข้อบังคับเครื่องแต่งกายตามเพศกำเนิดด้วย

เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์เคยตัดสินในเชิงคัดค้านข้ออ้างของฝ่ายโรงเรียนชาร์เตอร์เดย์โดยระบุว่าโรงเรียนนี้ถือเป็น "ผู้ดำเนินการจากภาครัฐ" จึงนับเป็นหน่วยงานที่ต้องการันตีความเท่าเทียมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ศาลยังตัดสินว่าชาร์เตอร์เดย์ "ทำการละเมิด(รัฐธรรมนูญ)อย่างเห็นได้ชัด" ในการที่พวกเขาบังคับใช้กฎข้อบังคับเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้ยังตัดสินให้การบังคับให้สวมเครื่องแบบตามเพศกำเนิดยังถือเป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วย

หลังจากนั้น ทนายความของฝ่ายโรงเรียนชาร์เตอร์เดย์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อไปยังศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เพื่อให้มีการพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง โดยกล่าวหาว่าการตัดสินของศาลอุทธรณ์เป็นการบั่นทอนอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเองของโรงเรียนชาร์เตอร์เดย์

แถลงการณ์ของโรงเรียนชาร์เตอร์เดย์ยังอ้างว่าศาลชั้นอุทธรณ์ได้ก่อให้เกิด "ความเสียหายจำนวนมากต่อนวัตกรรมของโรงเรียนและได้ทำอะไรที่ชั่วร้ายยิ่งกว่านั้น" อีกทั้งยังระบุว่าการยกเลิกคำตัดสินนั้นจะเป็นการทำให้โรงเรียนในกำกับของรัฐอย่างโรงเรียนของพวกเขาเลือกดำเนินแนวทางการศึกษาด้วยตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับหลักการรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธไม่รับฟ้องจากชาร์เตอร์เดย์ ทำให้คงคำตัดสินเดิมจากศาลอุทธรณ์ไว้

เรีย ทาบัคโค มาร์ ประธานโครงการสตรีของ ACLU ระบุว่าคำประกาศไม่รับฟ้องของศาลสูงสุดถือเป็น "ชัยชนะของนักเรียนหลายพันคน" ที่เข้าเรียนในโรงเรียนชาร์เตอร์เดย์ และนักเรียน 3.6 ล้านคนทั้วประเทศสหรัฐฯ มาร์ บอกอีกว่านักเรียนหญิงในโรงเรียนชาร์เตอร์เดย์มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแบบเดียวกับนักเรียนในโรงเรียนรัฐอื่นๆ เช่นเสรีภาพในการที่จะสวมใส่กางเกง
 

เรียบเรียงจาก
Supreme Court declines case challenging school's skirts-only dress code for girls

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net